ทิศทาง “เมืองลา” ภายใต้ “เจ้าเถ่งลืน” ประธานคนใหม่…?

เจ้าเถ่งลืน ประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ที่มาภาพ : เพจ THE MONGYANG

ตลอดเวลาเกือบ 2 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่เกิดความไม่สงบในรัฐฉาน หลังกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพโกก้าง(MNDAA) กองทัพตะอั้ง(TNLA) และกองทัพอาระกัน(AA) ในนามพันธมิตรภาคเหนือ เปิดปฏิบัติการ “1027” โจมตีฐานที่มั่นทหารพม่า และยึดเมืองต่างๆในภาคเหนือของรัฐฉานไว้ได้หลายแห่ง

“เมืองลา” พื้นที่ปกครองตนเองในรัฐฉานภาคตะวันออก ที่ผู้นำมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกองกำลังติดอาวุธทั้ง 3 กลุ่ม ได้ประกาศวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกับปฏิบัติการ 1027

กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่อื่นของรัฐฉานเกิดความวุ่นวาย แต่ในเมืองลากลับมีโอกาสทางเศรษฐกิจปรากฏให้เห็น เพราะที่ตั้งเมืองลา อยู่ในตำแหน่งที่เป็นทางเลือกสำหรับใช้เป็นประตูติดต่อค้าขายกับจีน

แต่ในช่วง 1 ปีนี้เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในเมืองลา ผู้ก่อตั้งเมืองลาเสียชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นผู้นำสูงสุด

ผู้นำคนใหม่จะปรับภาพลักษณ์เมืองลา และใช้โอกาสทางเศรษฐกิจนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพหรือไม่?

……

อาณาเขตปัจจุบันของเขตพิเศษหมายเลข 4 กินพื้นที่ฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำหลวย ตั้งแต่ท่าปิงไปจนถึงสบหลวย ที่มาภาพ : Wikipedia

30 มิถุนายน 2568 เป็นวันครบรอบ 36 ปี การสถาปนาเขตพิเศษหมายเลข 4 รัฐฉานภาคตะวันออก ที่คนส่วนใหญ่รู้จักและเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “เมืองลา”

ชาวเมืองลาเรียกวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันก่อตั้งสันติภาพ” เนื่องจากการสถาปนาเมืองลาเป็นเขตพิเศษ เป็นผลจากการลงนามในสัญญาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลทหารสหภาพพม่าที่นำโดย SLORC หรือสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council) กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆที่เคยอยู่ใต้ปีกของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า(Communist Party of Burma : CPB) เมื่อปี 2532 หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าล่มสลายลง

กองกำลังติดอาวุธภายใต้ปีกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่เซ็นสัญญาหยุดยิงกับ SLORC ในปี 2532 ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง(MNDAA) กองทัพสหหรัฐว้า(UWSA) กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ และกองทัพเมืองลา(NDAA)

SLORC ให้เงื่อนไขจูงใจแก่กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ ด้วยการมอบพื้นที่ให้ดูแลปกครองกันเอง เกือบทั้งหมดตั้งอยู่ตามแนวชายแดนเมียนมา-จีน ยกเว้นพื้นที่ของกองทัพรัฐฉานเหนือ ที่อยู่เข้ามาข้างใน…

กองทัพเมืองลามีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ” (National Democratic Alliance Army Eastern Shan State : NDAA-ESS) สวมเครื่องแบบทหารสีเขียวอ่อน ปัจจุบันมีกำลังพลไม่เกิน 10,000 นาย

หลังเซ็นสัญญาหยุดยิงกับ SLORC กองทัพเมืองลาได้พื้นที่อำเภอเมืองลา จังหวัดเชียงตุง เป็นเขตปกครองตนเอง มีพรมแดนติดกับอำเภอเมืองฮาย เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน

ประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลาในตอนนั้นเป็นชาวลื้อที่เป็นเครือญาติพี่น้องกับชาวลื้อในสิบสองปันนา นอกจากนั้น ยังมีชาวไตหรือไทใหญ่ ชาวอาข่า ชาวลัวะ และชาวพม่า ภาษาที่ใช้พูด-เขียนกันในเมืองลา มีทั้งภาษาลื้อ ภาษาขืน ภาษาไต ภาษาพม่า และภาษาจีน

เจ้าจายลืน เมื่อครั้งเป็นประธานจัดงานฉลองครบ 20 ปี “วันก่อตั้งสันติภาพ” เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ที่มาภาพ : เพจ THE MONGYANG

“เจ้าจายลืน” คือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทำให้เมืองลาได้สถาปนาขึ้นเป็นเขตพิเศษ มีอำนาจปกครองตนเอง

สื่อภาษาไทใหญ่บางค่ายบอกว่า เจ้าจายลืนเป็นคนไต เกิดที่เมืองป่างซาย จังหวัดหมู่เจ้ เมืองชายแดนในภาคเหนือของรัฐฉานที่อยู่ติดกับเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน

แต่ประวัติเจ้าจายลืนที่มีการบันทึกไว้นานแล้ว รวมถึงข้อมูลในวิกิพีเดีย ระบุว่า เจ้าจายลืนเป็นคนจีน เกิดบนเกาะไหหลำ เมื่อปี 2489 แต่ไปโตในนครกวางโจว มีชื่อในภาษาจีนว่า “หลินหมิงเสียน” (林明贤)

ด้วยความที่เป็นคนแซ่หลิน เมื่อเข้ามาอยู่ในรัฐฉาน จึงถูกเรียกชื่อตามสำเนียงในภาษาไตว่า “จายลืน” ออกเสียงตามสำเนียงภาษาพม่าว่า “อู ซายลิน”

ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน(2509-2519) เจ้าจายลืนซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม “เรดการ์ด” หรือ “ยุวชนแดง” ได้ขันอาสาพรรคคอมมิวนิสต์จีนลงมาทำงานในมณฑลยูนนาน เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า เขาได้เป็นผู้นำปฏิบัติการในพื้นที่ 815 ของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งก็คือพื้นที่ที่เป็นเมืองลาในปัจจุบัน

ปี 2530 หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าสลายตัว เจ้าจายลืนรวบรวมสมัครพรรคพวกในพรรคคอมมิวนิสต์พม่า แยกตัวออกมาตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธในชื่อ National Democratic Alliance Army หรือ NDAA มีกำลังพลในช่วงเริ่มต้นประมาณ 3,000-4,000 นาย

ปี 2532 NDAA เซ็นสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่า จากนั้นได้สถาปนาเมืองลาเป็นเขตพิเศษหมายเลข 4 โดยเจ้าจายลืนเป็นประธาน

เจ้าจายลืนมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้นำกองกำลังติดอาวุธที่เคยอยู่ใต้ปีกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอีกหลายกลุ่ม เขาสนิทสนมและเคยทำงานร่วมกับเป่า โหย่วเฉียง ผู้ก่อตั้งและประธานเขตพิเศษหมายเลข 2 พื้นที่ปกครองตนเองชนชาติว้า และผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐว้า(UWSA)

ภรรยาของเจ้าจายลืนชื่อ เผิง ชินซุน เป็นลูกสาวคนโตของเผิง เจี่ยเซิง ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเขตพิเศษหมายเลข 1 พื้นที่ปกครองตนเองชนชาติโกก้าง และเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพโกก้าง(MNDAA)

ช่วงเริ่มต้น หลังจากได้สถาปนาเป็นเขตปกครองตนเอง แหล่งรายได้แทบทั้งหมดของเมืองลามาจากธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะจากฝิ่น ธุรกิจบันเทิงและกาสิโน

ระหว่างปี 2532-2548 เมืองลาได้ชื่อว่าเป็นลาสเวกัสแห่งรัฐฉาน นักธุรกิจการพนันจากจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ข้ามมาลงทุนเปิดบ่อนกาสิโน และสถานบันเทิง “ครบวงจร” ขนาดใหญ่หลายแห่งในเมืองลา

หนึ่งในนั้น คือ“เจ้าเหว่ย” เจ้าของคิงส์โรมันกรุ๊ป

สภาพเมืองลาเมื่อปี 2532 เปรียบเทียบกับในปี 2567 ที่มาภาพ : เพจ Mongla SR4 News Agency

ปี 2548 รัฐบาลจีนกดดันให้เจ้าจายลืน ในฐานะประธานเมืองลา ปิดบ่อนการพนันที่มีอยู่ทั้งหมดในเมืองลา เนื่องจากเห็นว่า ทั้งคนจีนรวมถึงข้าราชการจีน ต่างขนเงินข้ามชายแดนมาเล่นการพนันที่นี่ จนสูญเสียเงินไปมหาศาล ทางการมณฑลยูนนานได้ประกาศปิดด่านท่าล้อ ด่านชายแดนที่เชื่อมเมืองลากับเมืองฮาย สิบสองปันนา ในปี 2549

เจ้าเหว่ยตัดสินใจย้ายจากเมืองลา ขนเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ข้ามมาสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่ริมแม่น้ำโขง ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน

ช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้อาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์เฟื่องฟู เมืองลาก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เหล่าจีนเทา หรือแก๊งสแกมเมอร์ชาวจีน ข้ามไปใช้เป็นฐานเพื่อตั้งกลุ่มฉ้อโกงและเปิดบ่อนการพนันทางออนไลน์ ทางการจีนต้องกดดันทุกรูปแบบให้รัฐบาลเมียนมาลงมาปราบปรามธุรกิจสีเทาเหล่านี้ที่เปิดกระจายอยู่ทั่วไปตลอดแนวชายแดนรัฐฉาน-จีน อย่างจริงจัง และเป็นหนึ่งในที่มา ที่ทำให้เกิดปฏิบัติการ 1027

ภาพพจน์เมืองลา ในสายตาของคนทั่วไปติดลบ หลายคนมองว่าเมืองลาคือแหล่งที่ตั้งของธุรกิจสีเทา

การหลั่งไหลเข้ามาของทุนกาสิโนจากจีน และแก๊งจีนเทา ทำให้ในเมืองลาทุกวันนี้ มีสภาพไม่แตกต่างไปจากเมืองหนึ่งของจีน

เมืองลาปัจจุบันใช้เงินสกุลหยวนเป็นหลัก ป้ายชื่อธุรกิจ ป้ายโฆษณา ป้ายชื่อร้านค้าตามริมถนน มีแต่ตัวอักษรจีน ภาษาทางการ หนังสือราชการ ใช้ภาษาจีนมากกว่าภาษาพม่า ขณะที่ภาษาลื้อ ภาษาไต ตัวอักษรไต อักษรขืน ที่เคยมีคนพูดหรือพบเห็นได้อย่างดาษดื่นเมื่อ 30 ปีก่อน ปัจจุบันเหลือให้เห็นหรือได้ยินไม่มากนัก

เจ้าจายลืน เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อกลางปีที่แล้วด้วยวัย 76 ปี ในวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 22.40 น.(ตามเวลาเมียนมา)

ขบวนแห่ศพเจ้าจายลืนเพื่อให้ผู้คนได้คารวะเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่มาภาพ : เพจ Mongla SR4 News Agency

ตามข่าวที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการจากฝ่ายบริหารเมืองลา เจ้าจายลืนเสียชีวิตด้วยโรคชราในบ้านพักของเขา แต่สำนักข่าวหลายแห่งของรัฐฉานระบุว่า เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในนครกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง และเคลื่อนศพมาไว้ที่เมืองลาในภายหลัง

พิธีฌาปนกิจศพ “เจ้าจายลืน” ถูกจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567

สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นของเจ้าจายลืนกับผู้นำกับกองทัพพม่า และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มในเมียนมา เห็นได้จากสารแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเขาที่ถูกส่งมาถึงฝ่ายบริหารเมืองลา ซึ่งมีมากมายจากหลากหลายกลุ่ม

ผู้คนจำนวนมาก ที่มาร่วมเคารพศพเจ้าจายลืน มาภาพ : เพจ Mongla SR4 News Agency

มีทั้งสารจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) และผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า สารจากผู้นำ 3 กองกำลังติดอาวุธในนามพันธมิตรภาคเหนือ คือ กองทัพโกก้าง กองทัพตะอั้ง และกองทัพอาระกัน สารจากผู้นำกองทัพสหรัฐว้า กองทัพรัฐฉานเหนือ กองทัพเอกราชคะฉิ่น(KIA) สาร

จากผู้นำกองกำลังติดอาวุธ 7 กลุ่ม ที่ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว รวมถึงสารจากองค์กรและบุคคลสำคัญในจีนฯลฯ…

ปฏิบัติการ 1027 ของกองทัพโกก้าง ตะอั้ง และอาระกัน ได้สร้างอุปสรรคใหญ่หลวงให้แก่ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ทางหลวงหมายเลข 3 ที่เป็นเส้นทางการค้าหลักในการขนส่งสินค้าที่จีนและเมียนมาซื้อขายกัน ในรัฐฉานภาคเหนือ ถูกขัดขวางจากเหตุสู้รบที่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆแทบตลอดทั้งแนว ตั้งแต่ชายแดนรัฐฉาน-จีน ลงไปถึงเมืองหนองเขียว จังหวัดจ๊อกแม จุดเชื่อมต่อรัฐฉานกับภาคมัณฑะเลย์

ด่านชายแดนที่เป็นประตูการค้าหลักระหว่างเมียนมากับจีนในภาคเหนือของรัฐฉาน ได้แก่ ด่านหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ ถูกปิดเป็นระยะ มูลค่าสินค้าที่ถูกส่งผ่านด่านชายแดนทั้ง 2 แห่ง ลดวูบ

ด้วยความที่เมืองลาที่อยู่ภาคตะวันออก มีชายแดนติดกับจีนทางเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มีด่านท่าล้อ เป็นประตูหลักสำหรับเชื่อมต่อระหว่างเมืองลากับเมืองฮาย ในฝั่งจีน

เดิมด่านท่าล้อเคยเปิดให้เฉพาะคนท้องถิ่นที่อยู่ตามแนวชายแดนของ 2 ฝั่ง สามารถข้ามไปมาหากันได้เท่านั้น แต่ช่วงที่มีปฏิบัติการ 1027 ด่านแห่งนี้ได้ถูกอนุโลมให้ใช้เป็นประตูเพื่อขนส่งสินค้าจีน-เมียนมาชั่วคราว

อาณาเขตเมืองลาปัจจุบัน ยังขยายครอบคลุมพื้นที่ฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำหลวยแทบตลอดแนวลำน้ำ ตั้งแต่ด่านท่าปิง รอยต่อเมืองลากับเชียงตุง ไปจนถึงสบหลวย จุดบรรจบของแม่น้ำหลวยกับแม่น้ำโขง

แม่น้ำหลวยมีต้นทางมาจากชายแดนรัฐฉาน-จีน ในพื้นที่เมืองป๊อก ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ จากนั้นไหลคดเคี้ยวทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเมืองยาง เมืองเชียงตุง เมืองยุ ไปออกแม่น้ำโขงที่สบหลวย พื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเมืองลา เมืองเชียงตุง กับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้ามสบหลวย คือ เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ของลาว

ท่าเรือสบหลวยเป็นท่าเรือหลักแห่งหนึ่ง สำหรับขนส่งสินค้าทางน้ำที่ซื้อขายกันระหว่างจีนกับเมียนมาทางแม่น้ำโขง

จากท่าเรือสบหลวยขึ้นไปทิศเหนือตามลำน้ำโขง ยังมีท่าเรือกวนเหล่ย ที่เมืองหล้า สิบสองปันนา ซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำตอนบน เขตรอยต่อ 3 ประเทศ เมียนมา จีน ลาว และท่าเรือจิ่งหง ที่เมืองเชียงรุ่ง เมืองเอกของสิบสองปันนา

ถัดจากท่าเรือสบหลวยลงมาทางใต้ เป็นที่ตั้งสะพานมิตรภาพเมียนมา-ลาว เชื่อมเมืองเชียงลาบกับเมืองลอง และถัดลงไปอีก คือ สามเหลี่ยมทองคำ รอยต่อ 3 ประเทศ เมียนมา ลาว ไทย

พื้นที่เมืองลาถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบทางด้านโลจิสติกส์

ประเทศไทยเอง ก็มองเห็นความได้เปรียบของเมืองลาในจุดนี้มานานกว่า 20 ปีมาแล้ว

เส้นทาง R3a ที่ถูกสร้างเพื่อเชื่อมชายแดนไทยกับจีนผ่านลาว และ R3b ที่เชื่อมผ่านรัฐฉาน ซึ่งมีปลายทางอยู่ที่เมืองลา

ช่วงที่ประเทศต่างๆในลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มตื่นตัว วางยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่เรียกว่า “สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” จีน-ลาว-เมียนมา-ไทย มีการสร้างถนนเชื่อมจากชายแดนประเทศไทยไปยังชายแดนจีน 2 สายด้วยกัน

สายแรก ใช้ชื่อว่าถนน R3a ระยะทาง 240 กิโลเมตร สร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2551 มีจุดเริ่มต้นจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ข้ามไปยังเมืองห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว ต่อไปยังแขวงหลวงน้ำทา บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 13 เหนือของลาวที่สามแยกนาเตย และเลี้ยวซ้ายขึ้นไปยังชายแดนลาว-จีน ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา

สายที่สอง ใช้ชื่อว่าถนน R3b ระยะทาง 253 กิโลเมตร สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2547 มีจุดเริ่มต้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ข้ามไปฝั่งท่าขี้เหล็ก ผ่านเมืองท่าเดื่อ เมืองพยาก ต่อขึ้นไปยังเมืองเชียงตุง โดยมีปลายทางอยู่ที่เมืองลา

ถนนสายนี้สร้างโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างของกองทัพสหรัฐว้า หลังถนนสร้างเสร็จในปี 2547 แม้ยังไม่ได้ถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการ แต่มีการจัดทัวร์จากประเทศไทยพากลุ่มนักท่องเที่ยวข้ามไปเสี่ยงโชคที่เมืองลาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

จนกระทั่งทางการมณฑลยูนนานสั่งปิดด่านท่าล้อเพื่อป้องกันไม่ให้คนจีนข้าไปเล่นการพนันในเมืองลา ในปี 2549 คณะทัวร์เสี่ยงโชคจากประเทศไทย จึงต้องหยุดชะงักไปด้วยโดยปริยาย

ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าจากไทยไปยังจีนผ่านถนน R3b ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีต้นทุนสูง เพราะตามเส้นทางต้องผ่านพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม และเมื่อมีผู้ใช้งานน้อย สภาพถนนจึงทรุดโทรม ขาดการซ่อมบำรุง…

หลังเจ้าจายลืนเสียชีวิต ผู้ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลาคนใหม่ คือ “เจ้าเถ่งลืน” ออกเสียงตามสำเนียงภาษาพม่าว่า “อู เถ่งลิน” ลูกชายของเจ้าจายลืน

THE MONGYANG เพจที่ข่าวเน้นนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองลา ได้รายงานประวัติของเจ้าเถ่งลืนไว้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า เจ้าเถ่งลืนเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2517 ที่บ้านผ่าย รัฐฉานตะวันออก เคยผ่านการศึกษาทั้งในประเทศไทย ในจีน และในเมียนมา

ปี 2542 เริ่มเข้าเป็นทหารในกองทัพเมืองลา ผ่านการเป็นผู้บังคับหน่วยในหลายกรมกอง มีประสบการณ์ร่วมแก้ปัญหาหลายเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองลา แต่เพจ THE MONGYANG ไม่ได้ระบุให้ชัดว่าเป็นปัญหาใดบ้าง

ปี 2550 ได้เข้าเป็นคณะกรรมการสร้างสรรค์สันติภาพ และร่วมอยู่ในคณะเลขานุการเขตพิเศษหมายเลข 4 ก่อนขึ้นเป็นประธานเมืองลา เจ้าเถ่งลืนได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่เมืองลา เป็นเวลา 12 ปี

…….

แม้ทุกวันนี้ ภายในเมืองลามีการพัฒนาทางวัตถุหลายด้าน จากพื้นที่เกษตรกรรมเมื่อกว่า 30 ก่อน ปัจจุบัน ตามถนนหนทางต่างๆ มีอาคารสูงใหญ่ ตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นเต็มไปหมด

แต่คนส่วนใหญ่ ก็ยังมองเมืองลาว่าเป็นแหล่งทำมาหากินของธุรกิจสีเทา!

การล้างภาพลักษณ์เชิงลบของเมืองลา และการใช้จุดได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งได้อย่างเต็มศักยภาพ น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของ”เจ้าเถ่งลืน” ในฐานะประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 คนใหม่…

อ่านเพิ่มเติม