ThaiPublica > สู่อาเซียน > บทเรียนจาก “ปฏิบัติการ 1027”

บทเรียนจาก “ปฏิบัติการ 1027”

7 ธันวาคม 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ทหารพม่านำคนไทยที่หนีภัยจากการสู้รบในเมืองเล่าก์ก่ายชุดแรก จำนวน 41 คน ส่งให้กับทหารไทย ที่สะพานมิตรภาพ 1 ชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2666 ที่มาภาพ : Shan East News Mandrel

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 พล.ต. ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง พ.อ. ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง และประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย นำคณะเจ้าหน้าที่ ทั้งทหาร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ารับตัวคนไทย 41 คน เป็นชาย 23 คน หญิง 18 คน ซึ่งเคยทำงานอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ชายแดนรัฐฉาน-จีน ในเขตปกครองตนเองชนชาติโกก้าง และได้หนีภัยจากการสู้รบที่เกิดขึ้นอยู่ในภาคเหนือของรัฐฉาน ข้ามชายแดนจากฝั่งท่าขี้เหล็กมายังฝั่งไทยทางสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

คนไทยกลุ่มนี้เป็น “เหยื่อ” จากสงครามกลางเมืองในเมียนมา ระหว่างกองทัพพม่ากับ “พันธมิตรภาคเหนือ” ที่กำลังสู้รบกันอยู่ในหลายจุด หลายเมือง จาก “ปฏิบัติการ 1027” ซึ่งจนถึงขณะนี้ ในหลายพื้นที่สถานการณ์ยังไม่สงบ

นอกจากเป็น “เหยื่อ” สงครามแล้ว คนไทยกลุ่มนี้รวมถึงคนไทยอีกหลายร้อยคนที่ถูกช่วยออกมาได้แล้วภายหลัง และอีกหลายคนที่ยังตกค้างอยู่ตามชายแดนรัฐฉาน-จีน เกือบทั้งหมดล้วนเป็น “เหยื่อ” ของขบวนการค้ามนุษย์ โดยกลุ่มอาชญากรชาวจีนที่เรียกกันว่า “จีนเทา” ที่เอาตัวเลขรายได้สูงหลักหมื่นหลักแสนมาล่อให้ยอมเดินทางข้ามประเทศเพื่อไปทำงานกับธุรกิจมืดที่เปิดอยู่ในเมืองต่างๆ ตามตะเข็บชายแดน ห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน โดยมีคนไทยบางคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ร่วมมือกับพวกจีนเทาหลอกลวงคนชาติเดียวกัน

“ปฏิบัติการ 1027” เป็นปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนาม “พันธมิตรภาคเหนือ” ได้แก่ กองทัพโกก้าง (MNDAA), กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) เริ่มขึ้นตอนเช้ามืดของวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ด้วยการสนธิกำลังบุกโจมตีและยึดฐานที่มั่นของทหารพม่าในเมืองเล่าก์ก่าย ชิงส่วยเหอ กุ๋นโหลง หมู่เจ้ แสนหวี ล่าเสี้ยว จ๊อกแมฯลฯ

เมืองเหล่านี้ โดยเฉพาะเมืองเล่าก์ก่ายและชิงส่วยเหอ ชายแดนรัฐฉาน-จีน ในเขตปกครองตนเองโกก้าง เป็นศูนย์รวมอาชญากรรมฉ้อโกงทางออนไลน์ของพวกจีนเทา ทั้งบ่อนการพนันออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ คนไทยหลายร้อยคนถูกหลอกให้ไปทำงานกับธุรกิจมืดในเมืองเหล่านี้ จนต้องตกอยู่ท่ามกลางภาวะสงคราม จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้ออกนอกพื้นที่อันตรายโดยด่วน…

  • “ปฏิบัติการ 1027” เขย่า “ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา!”
  • ความสัมพันธ์ของ “ปฏิบัติการ 1027” กับการ “กวาดล้างจีนเทา” ชายแดนรัฐฉาน
  • คณะเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองของไทยและเมียนมา ที่ร่วมกันประสานงานจนสามารถช่วยเหลือคนไทย 331 คน หนีจากเมืองเล่าก์ก่าย กลับมายังประเทศไทยได้โดยสวัสดิภาพ ที่มาภาพ : Shan East News Mandrel

    คนไทย 41 คน ที่ข้ามชายแดนกลับเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับความช่วยเหลือ หลังปฏิบัติการ 1027 ปะทุขึ้นมาแล้ว 4 สัปดาห์ ถัดจากกลุ่มนี้ ยังมีคนไทยอีก 2 กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับบ้านตามมา ได้แก่

  • วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 03.00 น. เครื่องบินไทยแอร์เอเซีย เที่ยวบินที่ FD9702 และไทยไลอ้อนแอร์ เที่ยวบินที่ SL7007 นำผู้โดยสาร 273 คน เป็นคนไทย 266 คน ฟิลิปปินส์ 6 คน และสิงคโปร์อีก 1 คน บินจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาลงยังสนามบินดอนเมือง คนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ตกอยู่ท่ามกลางจากสงครามในเมืองเล่าก์ก่าย และได้รับความช่วยเหลือให้ข้ามไปหลบภัยในเขตจีน จากนั้น หน่วยราชการไทยได้ประสานงานเช่าเหมาเครื่องบินโดยสาร 2 ลำ บินไปรับคนกลุ่มนี้กลับประเทศไทย
  • วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 พ.อ. ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง และประธาน TBC ฝ่ายไทย นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สาย ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปรับตัวคนไทยอีก 24 คน ที่หนีมาจากเมืองเล่าก์ก่าย และได้รับความช่วยเหลือนำตัวกลับประเทศไทยผ่านจุดผ่านแดนถาวร สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ในอำเภอแม่สาย
  • คนไทยทั้ง 24 คน เป็นชาย 16 คน หญิง 8 คน ผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นหญิงสาวอายุ 18 ปี และผู้ที่อายุมากที่สุดเป็นชายอายุ 35 ปี

    รวมคนไทยที่ได้รับความช่วยเหลือออกมาหลังต้องตกอยู่ท่ามกลางภาวะสงครามจากปฏิบัติการ 1027 ในพื้นที่เมืองเล่าก์ก่าย ชายแดนรัฐฉาน-จีน ในเขตปกครองตนเองโกก้าง เบื้องต้นมีจำนวนรวม 331 คน

    แต่เชื่อว่า คนไทยที่ถูกล่อลวงให้เดินทางไปทำงานกับเหล่าจีนเทาชายแดนรัฐฉาน-จีน และชายแดนเมียนมาจุดอื่นๆ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้!

    ……

    จากข้อมูลที่สื่อหลายสำนักนำเสนอ เส้นทางเดินทางขึ้นไปทำงานกับพวกจีนเทาตามตะเข็บชายแดนของคนไทยที่ถูกหลอก มีหลากหลายช่องทาง และทุกช่องทางล้วนลำบาก ไม่ราบรื่น

    เหยื่อที่ถูกช่วยกลับมาบางคนบอกกับสื่อว่า ในตอนแรกที่ติดต่อสมัครงาน ฝั่งนายจ้างบอกว่าจะให้ไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน โดยนายจ้างออกค่าตั๋วเครื่องบินและเดินเรื่องเอกสารออกนอกประเทศให้ ในวันเดินทางเครื่องบินที่โดยสารได้บินไปลงยังสนามบินมัณฑะเลย์ ตัวแทนนายจ้างที่ไปด้วยบอกว่าเป็นเพียงการแวะพักชั่วคราวไม่กี่วันก่อนเดินทางต่อไปไต้หวัน แต่หลังจากถึงมัณฑะเลย์แล้ว พวกเขากลับถูกนำตัวขึ้นรถยนต์เดินทางต่อขึ้นไปยังชายแดนรัฐฉานโดยทันที

    เหยื่อบางคนบอกว่า ตอนติดต่อสมัครงาน นายจ้างหลอกว่าสถานที่ทำงานอยู่ในเมืองท่าขี้เหล็ก ติดกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายของไทย ทำให้พออุ่นใจเพราะไม่ไกลจากบ้าน แต่ปรากฏว่า หลังจากได้ข้ามชายแดนไปยังท่าขี้เหล็กแล้ว รถที่มารับกลับพาเดินทางต่อขึ้นไปอีกหลายชั่วโมง จนถึงชายแดนรัฐฉานภาคเหนือ

    หลายคนบอกว่า นอกจากการเดินทางโดยรถยนต์แล้ว พวกเขายังต้องลงเดินเท้า ลัดเลาะไปตามท้องนา ป่าเขา หลายครั้งต้องหลบซ่อนตัวในป่า ใช้เวลาเป็นวันกว่าจะเดินถึงเมืองที่เป็นสถานที่ทำงาน

    เมื่อถึงเมืองเล่าก์ก่าย ทุกคนถูกกักตัวไว้ ถูกยึดหนังสือเดินทาง ถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นชื่อในสัญญาจ้างซึ่งเขียนเป็นภาษาจีน หากใครไม่ทำตาม ต้องถูกทำร้าย อดข้าว อดน้ำ หลายคนถูกยึดโทรศัพท์ ทำให้ติดต่อกลับทางบ้านไม่ได้ หากใครอยากกลับประเทศไทย ต้องติดต่อให้ทางบ้านส่งเงินมาเป็นค่าไถ่หัวละ 2-3 แสนบาท

    กระทั่งเมืองเกิดปฏิบัติการ 1027 ทหารพันธมิตรภาคเหนือนำกำลังบุกโจมตีเมืองเล่าก์ก่าย ทุกคนหลบหนีออกมา จนได้รับความช่วยเหลือพากลับบ้าน

    ส่วนเส้นทางเดินทางกลับไทย ก็ลำบากไม่น้อยไปกว่าตอนขาไป (ดูแผนที่ประกอบ)

    เส้นทาง 3 สาย ที่คนไทย 3 กลุ่ม ใช้หลบหนีจากเมืองเล่าก์ก่าย เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

    จากข้อมูลที่คนไทยซึ่งลี้ภัยกลับมาจากเมืองเล่าก์ก่ายบอกกับสื่อหลังมาถึงเมืองไทยแล้ว ระบุว่า เมื่อเริ่มเกิดการสู้รบ คนไทยกลุ่มแรก 41 คน ถูกช่วยให้หนีออกจากเมืองจากเล่าก์ก่าย ข้ามชายแดนไปหลบภัยในเมืองหนานเติ้ง เขตปกครองตนเองชนชาติไตและว้า กึ่งม้า จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน กระทั่ง วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 จึงได้เดินทางข้ามกลับเข้ามายังเขตปกครองตนเองชนชาติว้า ในรัฐฉาน และเดินทางต่อลงไปยังเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง ในพื้นที่ซึ่งมีทหารจากกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ดูแลอยู่

    ต่อมาทหารกองทัพสหรัฐว้าได้ส่งมอบคนไทยกลุ่มนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลของกองบัญชาการทหาร ภาคสามเหลี่ยม กองทัพพม่า ในเมืองเชียงตุง เพื่อส่งให้เดินทางต่อลงมายังเมืองท่าขี้เหล็ก ก่อนข้ามชายแดนกลับเข้าประเทศไทย ทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อีกทอดหนึ่ง

    คนไทยกลุ่มที่ 2 จำนวน 266 คน ถูกช่วยให้ข้ามชายแดนไปหลบภัยในเมืองหนานซาน อำเภอเจิ้นคัง จังหวัดหลินชาง ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองเล่าก์ก่าย จากนั้นเดินทางต่อภายในดินแดนจีนเพื่อไปยังนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 500 กิโลเมตร เพื่อขึ้นเครื่องบินที่รัฐบาลไทยได้เช่าเหมาลำให้บินไปรับกลับประเทศไทยมายังสนามบินดอนเมือง

    กลุ่มที่ 3 อีก 24 คน ออกเดินทางจากเมืองเล่าก์ก่าย ไปยังเมืองป๋างซาง เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชนชาติว้า ที่อยู่ห่างลงมาทางทิศใต้กว่า 200 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางต่อมายังเมืองเชียงตุง และท่าขี้เหล็ก ก่อนข้ามกลับเข้ามาในประเทศไทยทางอำเภอแม่สาย

    ในการช่วยเหลือคนไทยทั้ง 3 กลุ่ม ให้ได้เดินทางกลับบ้าน มีการประสานงานกันจากหลายฝ่าย หลายระดับ ตั้งแต่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ นายทหารอาวุโสในกองทัพบก กองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ กองทัพภาคที่ 3 จังหวัดเชียงราย กองทัพพม่า กองทัพโกก้าง กองทัพสหรัฐว้า และที่สำคัญที่สุด คือหน่วยงานของรัฐบาลจีน ในมณฑลยูนนาน

    ……

    ปฏิบัติการ 1027 ทำให้รู้ตัวเลขเบื้องต้นว่า อย่างน้อย มีคนไทย 331 คน ที่ได้ข้ามไปทำงานอยู่กับแก๊งจีนเทาในเมืองเล่าก์ก่าย และถูกช่วยเหลือกลับมายังประเทศไทยได้แล้ว

    แต่แหล่งประกอบอาชญากรรมของเหล่าจีนเทาตามแนวชายแดนรัฐฉานยังมีอีกหลายเมือง ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในธุรกิจสีเทาเหล่านี้ แท้จริงแล้วมีจำนวนเท่าใดกันแน่ และปัจจุบัน ยังมีคนไทยที่ถูกหลอก เหลือตกค้างอยู่ตามชายแดนรัฐฉานอีกกี่คน ท่ามกลางสงครามที่ยังไม่สงบ

    ขณะเดียวกัน การโฆษณาหลอกลวงรับสมัครคนไปทำงานในพื้นที่ชายแดนรัฐฉาน และที่อื่นๆ ในเมียนมา โดยให้เงินเดือนสูงๆ ล่อใจ ยังคงปรากฏอยู่ตามชุมชนออนไลน์ ยังมีคนไทยอีกหลายคนที่ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และอาจตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้

    โพสต์ของเพจ LOOK Myanmar เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 หลังปฏิบัติการ 1027 เกิดขึ้นมาแล้ว 11 วัน

    วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 หลังปฏิบัติการ 1027 เกิดขึ้นแล้ว 11 วัน เพจ LOOK Myanmar นำภาพข้อความที่คนไทยคนหนึ่งเพิ่งโพสต์สอบถามเข้าไปในกลุ่ม “ชมรมคนไทยในพม่า” สอบถามถึงการข้ามไปทำงานกับเว็บพนันออนไลน์เว็บหนึ่งในเมียนมาทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเตือนสติว่า งานที่กำลังจะข้ามไปทำนั้นเป็นสิ่งผิดกฏหมาย

    รุ่งขึ้น วันที่ 7 พฤศจิกายน เพจสถานทูตไทยในเมียนมามีโพสต์เตือนออกมาอีกครั้ง เนื้อความว่า

    “สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ขอย้ำเตือน คนไทยอย่าได้หลงเชื่อกลลวงเครือข่ายนายทุนสีเทา โฆษณาชวนเชื่อว่าพอไปทำงานในเมียนมาแล้ว จะได้รายได้หลักหมื่นหลักแสน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเดินทางไปถึงก็จะถูกยึดหนังสือเดินทางทำให้กลับไทยไม่ได้ โดนบีบบังคับให้ทำงานสายดำ เช่น Call Center งาน Scammer งานขายบริการทางเพศ ตลอดจนให้เสพยาเสพติด ตกเป็นหนี้หลักแสน โดนเรียกค่าไถ่ ถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ หากไม่สามารถทำยอดหรือปฏิเสธที่จะทำงานหรือถูกขายต่อเป็นทอดๆ ซึ่งเมื่อเดินทางเข้าไปแล้ว การช่วยเหลือจากภาครัฐของเมียนมาจะกระทำได้ลำบากหรือไม่ได้เลย และใช้ระยะเวลานานยิ่ง และเมื่อช่วยเหลือออกมาได้แล้ว ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายของเมียนมา

    เมื่อไม่นานมานี้ มีขบวนการในรูปแบบ “romance scammer” เกิดขึ้นในย่างกุ้ง หลอกลวงคนไทยและต่างชาติไปทำงานหลอกให้คนอื่นหลงรักทางออนไลน์ และหลอกให้ร่วมลงทุนแล้วเชิดเงินหนีไป คนไทยที่ถูกหลอกมาบางส่วนอาจถูกส่งต่อไปทำงานในเมืองที่เป็นเขตปกครองตนเองในเมียนมา เช่น เมืองเล่าก์ก่าย เมืองป๊อก เมืองลา มูเซ และอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ลึกในดินแดนเมียนมา เป็นป่าเขา และมีความทุรกันดาร ยากที่จะเข้าไปช่วยออกมา

    จึงโปรดอย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ไปทำงานประเภทให้บริการรูปแบบต่างๆ ในเมียนมา

    ดู Scoop คนไทยโดนหลอกลวงมาทำงาน romance scammer ที่ย่างกุ้ง และอาจโดนขายต่อไปที่อื่น และขอความร่วมมือช่วยกันเตือนคนที่คุณรัก เพื่อไม่ให้โดนหลอกมาแบบนี้”

    โพสต์ของสถานทูตไทยประจำเมียนมา ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

    อีก 2 วันถัดมา วันที่ 9 พฤศจิกายน เพจสถานทูตไทยในเมียนมา ได้โพสต์หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงศุล ซึ่งเป็นช่องทางสอบถามข้อมูลและสถานภาพของคนไทยในเมืองเล่าก์ก่าย

    จากนั้น กระบวนการช่วยเหลือคนไทย 331 คน ที่ติดค้างอยู่ในเมืองเล่าก์ก่ายให้ได้กลับบ้าน ก็เริ่มต้น…

    คนไทยทั้ง 331 คน ที่ได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางกลับประเทศไทย หลังตกอยู่ท่ามกลางสงครามระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ในนามพันธมิตรภาคเหนือ กับกองทัพพม่า ในเมืองเล่าก์ก่าย ไม่ใช่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งหมด หลายคนในนี้ คือผู้ร่วมในขบวนการหลอกลวงคนไทยด้วยกัน ให้ข้ามประเทศไปทำงานในธุรกิจมืดกับพวกจีนเทา ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคงของไทย ที่ต้องพิสูจน์

    สถานทูตไทยประจำเมียนมา เผยแพร่หมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อสอบถามข้อมูลแลสถานภาพของคนไทยในเมืองเล่าก์ก่าย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยจากปฏิบัติการ 1027 การประสานงานและกระบวนการช่วยเหลือคนไทยเหล่านั้นให้กลับบ้านได้โดยสวัสดิภาพ เป็นประสบการณ์ที่ทุกหน่วยงานต่างได้รับ และสมควรนำไปปรับใช้ เพื่อวางมาตรการป้องกัน และจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ ไม่ให้ต้องมีคนไทยตกเป็น “เหยื่อ” เพิ่มขึ้นมาอีก

  • ดินแดนต้องห้ามของหญิงสาวไทย…ที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน
  • “จีน-เมียนมา-ลาว-ไทย” ส่งสัญญานเอาจริง! … ปราบปราม “จีนเทา”