ThaiPublica > สู่อาเซียน > ‘จีน-เมียนมา-ลาว-ไทย’ ส่งสัญญานเอาจริง! … ปราบปราม ‘จีนเทา’

‘จีน-เมียนมา-ลาว-ไทย’ ส่งสัญญานเอาจริง! … ปราบปราม ‘จีนเทา’

13 กันยายน 2023


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ตำรวจลาวนำตัวผู้ต้องหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 164 คน ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่หน่วย S.W.A.T. จีน ที่สนามบินนานาชาติวัดไต เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เพื่อนำตัวกลับไปดำเนินคดีและรับโทษในจีน ที่มาภาพ : วารสารป้องกันความสงบ

วันที่ 11 กันยายน 2566 กระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว ได้ทำพิธีส่งมอบตัวผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงทรัพย์ผ่านทางระบบโทรคมนาคมข้ามชาติ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (S.W.A.T.) จากกรมตำรวจจีน เพื่อนำตัวกลับไปดำเนินคดีและรับโทษทัณฑ์ในจีน

พิธีส่งมอบจัดขึ้นที่สนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ มี พ.อ. มัก วิไลพน รองหัวหน้ากรมประสานงานต่างประเทศ กระทรวงป้องกันความสงบของลาว เป็นตัวแทนส่งตัวผู้ต้องหา และ พ.ท. หยาง ว่านฟาง หัวหน้าแผนกสืบสวนสอบสวน กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตัวแทนผู้รับมอบ

มีผู้ต้องหาที่ถูกส่งตัวกลับประเทศครั้งนี้รวม 164 คน เป็นเพศหญิง 13 คน ชาย 151 คน ทั้งหมดเป็นชาวจีน แบ่งเป็นผู้ที่ถูกจับกุมได้ในพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ 77 คน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว 46 คน ในพื้นที่แขวงเวียงจันทน์ 22 คน และในแขวงสะหวันนะเขตอีก 19 คน

การจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 164 คน ครั้งนี้ เป็นไปตามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงป้องกันความสงบของลาว และกระทรวงมหาดไทยของจีน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ที่ให้กรมตำรวจลาวและจีนร่วมมือกันปราบปรามคดีอาชญากรรมในดินแดนลาวที่แก๊งคนจีนก่อขึ้น และจับกุมคนเหล่านั้นนำกลับไปดำเนินคดีและรับโทษทัณฑ์ในจีน…

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 สื่อหลายสำนักในเมียนมาพร้อมใจกันเผยแพร่ภาพข่าวการลำเลียงผู้ต้องหา ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวจีนที่ถูกจับกุมได้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจว้า (Wa State Police หรือ WSP) ภายในพื้นที่พิเศษหมายเลข 2 เขตปกครองตนเองชนชาติว้า ชายแดนเมียนมา-จีน ในภาคเหนือของรัฐฉาน นำตัวมาส่งมอบข้ามแดนให้ตำรวจหน่วย S.W.A.T. ของจีนนำตัวกลับไปดำเนินคดีในประเทศ

จุดสนใจที่สื่อแทบทุกสำนักต่างให้ความสนใจนำเสนอข่าวชิ้นนี้อย่างแพร่หลาย คือ จำนวนผู้ต้องหาที่ถูกลำเลียงตัวมาส่งมอบครั้งนี้ มีมากถึง 1,207 คน

จีนเทา 1,207 คน ที่ตำรวจว้านำมามอบข้ามแดนให้หน่วย S.W.A.T. จีน ที่ชายแดนเมืองป๋างซาง ใช้เวลาส่งมอบตลอดทั้งวันยาวไปถึงช่วงกลางคืน ที่มาภาพ : เพจ WSTV

ต้นทางของข่าวนี้มาจากเพจ WSTV เนื้อหาข่าวบรรยายเพียงสั้นๆ ว่า… “วันที่ 6-7 กันยายน 2566 ตำรวจว้าได้จับกุมผู้กระทำผิดในข้อหาฉ้อโกง หลอกลวงเหยื่อผ่านเครือข่ายออนไลน์ ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดเป็นชาวจีน รวม 1,207 คน และได้นำตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมดส่งมอบให้กับตำรวจจีน”

มีภาพประกอบข่าวรวม 11 ภาพ แสดงขั้นตอนการแบ่งผู้ถูกจับกุมออกเป็นกลุ่มๆ ให้ตำรวจว้าคุมแต่ละกลุ่มเดินเรียงแถวข้ามพรมแดนไปส่งมอบให้กับหน่วย S.W.A.T. ของจีนที่ยืนรอรับอยู่อีกฟาก แต่เนื่องด้วยจำนวนผู้ถูกจับกุมที่ต้องส่งมอบมีมากถึง 1,207 คน กระบวนการตรวจสอบรายชื่อของแต่ละคน ไปจนถึงขั้นตอนการนำตัวส่งมอบ กินเวลานานตั้งแต่ตอนกลางวันไปจนถึงช่วงค่ำที่มืดมิดแล้ว

เพจสถานีวิทยุเอเซียเสรี ภาคภาษาพม่า (RFA Burmese) มีรายงานเพิ่มเติมเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ อู ญีราน หัวหน้าสำนักงานตัวแทนกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army หรือ UWSA) ประจำเมืองล่าเสี้ยว ในฐานะโฆษกกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งได้บอกกับ RFA Burmese เพียงว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมตำรวจจีน

RFA Burmese ยังได้อ้างคำบอกเล่าจากแหล่งข่าวที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ระบุว่า ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกจับกุมได้ที่เมืองป้อก เมื่อวันที่ 6 กันยายน จากนั้นรุ่งขึ้น ในวันที่ 7 กันยายน มีรถยนต์ทหารจำนวน 6 คันมารับตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมดเดินทางไปยังเมืองป๋างซาง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติว้า เพื่อส่งตัวกลับเข้าไปรับโทษในจีน

เมืองป้อกอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองป๋างซาง ตามการแบ่งเขตปกครองในรัฐฉาน เมืองป้อกเป็นตำบลหนึ่งที่ขึ้นกับอำเภอเมืองยาง จังหวัดเชียงตุง แต่ในทางปฏิบัติ กองทัพสหรัฐว้าได้ส่งคนมาควบคุมการปกครองทั้งหมดของเมืองป้อกเอาไว้แล้วอย่างเบ็ดเสร็จ ทุกวันนี้มีนักลงทุนทั้งที่เป็นชาวว้าและชาวจีน เข้ามาสร้างตึกรามบ้านช่อง อาคารขนาดใหญ่ เปิดเป็นกิจการหลากหลายประเภทอยู่ในเมืองป้อก

ทั้งเมืองป้อกและเมืองป๋างซาง อยู่ติดชายแดนรัฐฉาน-จีน ฝั่งตรงข้ามเป็นพื้นที่ของเขตปกครองตนเองชนชาติไต ลาหู่ และว้า เมิ่งเหลียน จังหวัดผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน…

ไม่เพียงแต่ในเมียนมาและลาว ในจีนเอง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปราม เขตปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองปันนา ร่วมมือกับตำรวจเมียนมา บุกทลายรังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 11 แก๊ง ที่เข้ามาใช้พื้นที่ชายแดนจีน-เมียนมา เป็นแหล่งทำมาหากิน สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 269 คน ในนี้ 186 คนเป็นชาวจีน อีก 66 คนเป็นคนสัญชาติเมียนมา 15 คนเป็นชาวเวียดนาม และอีก 2 คนเป็นชาวมาเลเซีย

เขตปกครองตนเองสิบสองปันนาเป็นพื้นที่สามเหลี่ยม มีชายแดนติดกับเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ซึ่งเป็นพื้นที่ปกครองตนเองของชาวไตลื้อ กับแขวงหลวงน้ำทา ในภาคเหนือของลาว

ตามข่าวระบุว่า ในกลุ่มผู้ที่ถูกจับกุม มี 21 คนเป็นถึงระดับหัวหน้า หรือผู้สนับสนุนเงินทุนอยู่เบื้องหลัง และมีถึง 13 คนเป็นคนร้ายหนีการจับกุมที่ตำรวจจีนกำลังต้องการตัว และมีอยู่ 1 คนที่ทางการจีนพยายามติดตามจับกุมตัวมานานถึง 19 ปีแล้ว

ในข่าวชิ้นเดียวกันยังให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจเหอหนาน มณฑลทางตอนกลางของจีน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมา สามารถทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่แห่งหนึ่งในภาคเหนือของเมียนมา โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ถึง 225 คน และได้นำตัวผู้ต้องหาเหล่านั้นกลับไปดำเนินคดีและรับโทษต่อในจีน

ภาพที่สถานทูตจีนประจำเมียนมาได้เผยแพร่ออกมาเอง เป็นการส่งตัวผู้ต้องหาจีนเทาที่จับได้โดยตำรวจเมียนมากลับไปรับโทษในจีน 3 รอบ ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน-26 สิงหาคม 2566 ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง

……

คอลเซ็นเตอร์หรือการฉ้อโกงทรัพย์ทางออนไลน์ผ่านระบบโทรคมนาคมข้ามชาติ เป็น 1 ในหลายพฤติกรรมที่แก๊งอาชญากรชาวจีน หรือที่คนไทยเรียกสั้นๆ ว่าแก๊ง “จีนเทา” ได้เข้ามาอาศัยพื้นที่ของ 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ เมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนของแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบอาชญากรรม

นอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว อาชญากรรมที่จีนเทาเหล่านี้ทำยังมีอีกหลายประเภท เช่น บ่อนการพนันออนไลน์ ธุรกิจบันเทิง ขายบริการ นำมาซึ่งอาชญากรรมต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ทรมาน และฆาตกรรม

การเติบโตของแก๊งจีนเทาในเมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา เกิดจากการปราบปรามอาชญากรรมอย่างหนักภายในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายปีก่อน ทำให้แก๊งคนร้ายเหล่านี้ต้องหนีออกมาแสวงหาแหล่งทำมาหากินใหม่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับจีน โดยเฉพาะเมียนมา ยังคงมีหลายพื้นที่ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ จากนั้น แก๊งจีนเทาเหล่านี้ได้กระจายออกไปยังดินแดนต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ในลาว กัมพูชา และพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศไทย

  • ดินแดนต้องห้ามของหญิงสาวไทย…ที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน
  • ทางการจีนเองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ กว่า 1 ปีมาแล้วที่รัฐบาลจีนพยายามประสานงาน หาความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงของหลายประเทศ เพื่อติดตามปราบปรามและจับกุมอาชญากรจีนเทาเหล่านี้กลับไปดำเนินคดีในประเทศ แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามก็ไม่ทราบได้ ความพยายามของทางการจีนในเรื่องนี้ ที่ผ่านมากลับค่อนข้างเงียบ ไม่ได้เปิดเผยเป็นข่าวออกมาแพร่หลายเท่าใดนัก

    ……

    เสอ จื้อเจียง(คนกลาง) ประธานบริษัท Yatai International Holding Group ซึ่งถูกจับกุมได้โดยตำรวจไทยในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 และถูกส่งตัวกลับไปรับโทษในจีนแล้ว ที่มาภาพ : The Irrawadd

    วันที่ 15 สิงหาคม 2565 The Irrawaddy รายงานข่าวโดยอ้างการสัมภาษณ์ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัท Myanmar Yatai International ถึงกรณีที่ตำรวจไทยสามารถจับกุมตัว “เสอ จื้อเจียง” (She Zhijiang) ประธานบริษัท Yatai International Holding Group ได้ ตามหมายจับของทางการจีนได้ เนื้อข่าวที่ The Irrawaddy นำเสนอระบุว่า การที่ เสอ จื้อเจียง ถูกจับ ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการเมืองใหม่ “ฉ่วยก๊กโก” ที่กำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง แต่อย่างใด

    เสอ จื้อเจียง วัย 40 ปี ถูกตำรวจไทยจับกุมตัวได้ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 แต่กลับไม่ปรากฏเป็นข่าวแพร่หลายในสื่อไทย ทั้งๆ ที่เขาเป็นที่ต้องการตัวอย่างมากของทางการจีน หลังจากได้หลบหนีออกจากประเทศจีนตั้งแต่ปี 2555 ในความผิดเกี่ยวกับการพนันผิดกฏหมาย เมื่อ เสอ จื้อเจียง ถูกจับได้ในกรุงเทพฯ ตำรวจไทยได้ส่งตัวเขากลับไปดำเนินคดีต่อในจีน

    Yatai International Holding Group ของ เสอ จื้อเจียง มาได้สัมปทานทำโครงการเมืองใหม่ “ฉ่วยก๊กโก” ซึ่งแปลว่า “จามจุรีทอง” จาก พ.อ. ซอ ชิดตู่ หรือ “หม่องชิดตู่” ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 กองกำลังรักษาชายแดน (BGF) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อปี 2559 สัมปทานมีอายุ 50 ปี และสามารถต่อได้อีก 20 ปี

    ที่ตั้งเมืองใหม่ “ฉ่วยก๊กโก”

    โครงการนี้ตั้งอยู่ในเขตบ้านก๊กโก ทางตอนเหนือของเมืองเมียวดี ตรงข้ามกับตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด และตำบลแม่จะเรา อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เป็นการพัฒนาพื้นที่ 30,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 75,900 ไร่ สร้างเป็นเมืองใหม่ขนาดใหญ่ ภายในประกอบด้วย คาสิโน บ่อนพนันออนไลน์ แหล่งบันเทิงครบวงจร โรงแรมขนาด 1,200 ห้อง นอกจากนี้ ยังมีเขตพาณิชย์ เขตอุตสาหกรรม และเขตที่พักอาศัย ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19.45 ล้านล้านจัต (ตามค่าเงินเมื่อปี 2560)

    Yatai International Holding Group ร่วมทุนกับบริษัท ชิดลินมาย ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของ BGF จดทะเบียนตั้งบริษัท Myanmar Yatai International ขึ้นเพื่อดำเนินการโครงการเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก การก่อสร้างเริ่มต้นในปี 2560 Yatai International Holding Group วางเป้าหมายไว้ว่า เมื่อโครงการฉ่วยก๊กโกสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะมีชาวจีนเข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในเมืองใหม่แห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการก่อสร้างเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโกยังไม่เสร็จทั้ง 100% แต่บ่อนการพนันและสถานบันเทิงหลายแห่งในฉ่วยก๊กโกที่เปิดให้บริการแล้ว ได้ดึงดูดนักเที่ยวชาวไทยจำนวนมากให้ลักลอบข้ามชายแดนไปเสี่ยงโชค รวมถึงมีหญิงไทยอีกหลายคนที่แอบข้ามไปทำงาน หรือถูกหลอก ถูกล่อลวงให้ไปทำงานกับแหล่งบันเทิงเหล่านี้ รวมถึงแหล่งบันเทิงของจีนเทากลุ่มอื่น ที่มาเปิดขึ้นใหม่บริเวณริมแม่น้ำเมยในฝั่งเมียวดีอีกหลายแห่งในภายหลัง

    เรื่องราวของเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก เพิ่งมาเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าสื่อของไทยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อทางการเมืองเมียวดีได้ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อำเภอแม่สอด ยกเลิกการจ่ายกระแสไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเมยไปยังบ้านก๊กโก ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการเมืองใหม่ฉ่วยก๊กโก ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2566 โดยทางการเมืองเมียวดีให้เหตุผลว่า อายุของสัมปทานที่เมืองเมียวดีให้กับบริษัทซึ่งซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ. เพื่อนำไปขายต่อให้กับโครงการฉ่วยก๊กโกได้หมดลงไปแล้ว และทางการเมืองเมียวดีไม่ต่อสัมปทานให้

    อย่างไรก็ตาม มีรายงานที่ยืนยันออกมาภายหลังว่า เหตุผลของการระงับการจ่ายไฟฟ้าให้กับโครงการฉ่วยก๊กโก แท้จริงแล้วเป็นความประสงค์ของสถานทูตจีนประจำเมียนมา ที่ได้ประสานงานมาผ่านทางการเมืองเมียวดี เพราะต้องการตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มนักลงทุนจีนที่มาลงทุนทำธุรกิจสีเทาอยู่ตามแนวลำน้ำเมยในเมืองเมียวดี ในทุกช่องทาง

    ……

    ทั้งเมียนมา ไทย ลาว และกัมพูชา เป็น 4 ประเทศ ที่อยู่บนยุทธศาสตร์ 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโครงการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน หมายมั่นปั้นมือไว้อย่างมาก อาชญากรรมที่แก๊งจีนเทาก่อไว้ในทั้ง 4 ประเทศจึงเป็นอุปสรรคใหญ่อันหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ ที่ทำให้คนในประเทศตามเส้นทาง BRI มองภาพ “จีน” ในด้านลบ รัฐบาลจีนจึงพยายามใช้ทุกช่องทาง เพื่อประสานความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งจีนเทาที่กระจายตัวอยู่ให้เด็ดขาด

    เติ้ง ซีจุน (ซ้ายเสื้อสีเทา) เดินทางไปประชุมกับรองประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566

    ในเมียนมา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 เติ้ง ซีจุน ซึ่งเพิ่งมารับตำแหน่งทูตพิเศษฝ่ายกิจการเอเซีย ของกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อปลายปี 2565 ได้เดินทางขึ้นไปยังเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา ภาคตะวันออกของรัฐฉาน ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับ อู ซานเป้ รองประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 และประธานคณะกรรมการสันติภาพและความเป็นปึกแผ่น เมืองลา

    หนึ่งในหัวข้อหลักของการประชุมวันนั้นเป็นเรื่องความมั่นคง การร่วมกันปราบปรามอาชญากรรม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ รวมถึงบ่อนการพนันออนไลน์ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนระหว่างเมืองลากับเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน

    วันที่ 19 มิถุนายน 2566 เพจสถานทูตจีน ประจำเมียนมา ได้เผยแพร่ภาพการส่งตัวผู้ต้องหาชาวจีน 6 คน กลับไปดำเนินคดีและรับโทษในจีน ทั้ง 6 คน เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถูกตำรวจเมียนมาจับกุมได้ในบริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย

    การมอบ-รับตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 ทำที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง โดยตัวแทนตำรวจจีนและเมียนมา ถือเป็นการส่งตัวผู้ต้องหาจีนเทากลับประเทศชุดแรกที่ถูกเผยแพร่เป็นข่าวออกมาอย่างเป็นทางการ โดยสถานทูตจีนเอง… แต่เรื่องนี้ ในเมียนมาเอง ก็ไม่ได้เป็นข่าวที่แพร่หลายเท่าใดนัก

    การประชุมร่วมกันของเอกอัครราชทูตประจำเมียนมาจาก 3 ประเทศ เฉิน ไห่ จากจีน (กลาง) มงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ จากไทย (ซ้าย) และเฮืองแสง คำดาลาวง จากลาว (ขวา) เพื่อหารือความร่วมมือปราบปรามจีนเทา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่มา : สถานทูตจีน ประจำเมียนมา

    วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่สถานทูตจีน ประจำเมียนมา ในกรุงย่างกุ้ง เฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีน ได้เชิญ มงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทย และ เฮืองแสง คำดาลาวง เอกอัครราชทูตลาว ไปร่วมปรึกษาหารือกัน หัวข้อหลักที่ทูตประจำเมียนมาจากทั้ง 3 ประเทศ พูดคุยกันในวันนั้น คือความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมของเหล่าจีนเทา ที่เกิดขึ้นในพื้นที่และตามแนวชายแดนของทั้ง 4 ประเทศ โดยเฉพาะการฉ้อโกงทรัพย์ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมข้ามชาติ หรือคอลเซ็นเตอร์ และบ่อนการพนันออนไลน์

    วันที่ 23 สิงหาคม 2566 เพจสถานทูตจีน ประจำเมียนมา เผยแพร่ภาพการส่งตัวผู้ต้องหาจีนเทากลับประเทศรอบที่ 2 ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้งเช่นเดิม มีผู้ต้องหา 2 คน ทั้งคู่ถูกถุงดำคลุมหน้าไว้อย่างมิดชิด เนื้อข่าวที่สถานทูตจีนเผยแพร่ ระบุว่า 1 ในนี้เป็นเจ้าของกิจการบ่อนการพนันออนไลน์รายใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดน

    เพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา ยังได้เผยแพร่ภาพการส่งตัวผู้ต้องหาจีนเทากลับประเทศ ที่สนามบินนานาชาติย่างกุ้ง รอบที่ 3 ในวันที่ 26 สิงหาคม 2566 อีก 5 คน ระบุความผิดว่าทั้งหมดเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ เนื้อข่าวของสถานทูตจีนในโพสต์เดียวกันยังได้เขียนว่า ตลอด 4 วันก่อนหน้านั้น ตำรวจเมียนมาได้ส่งตัวผู้ต้องหาที่เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้กับตำรวจจีนไปแล้ว รวม 24 คน

    ในลาว หลังมีการเซ็นบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงป้องกันความสงบ ของลาว และกระทรวงมหาดไทย ของจีน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ให้กรมตำรวจลาวและจีนร่วมมือกันปราบปรามคดีอาชญากรรมที่ก่อขึ้นโดยแก๊งจีนเทาในดินแดนลาว และจับตัวกลับไปดำเนินคดีและรับโทษทัณฑ์ในจีน อันเป็นที่มาของการส่งตัวผู้ต้องหา 164 คน ที่สนามบินนานาชาติวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมาแล้ว

    ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 กองบัญชาการป้องกันความสงบ แขวงอุดมไซ ซึ่งเป็นแขวงที่มีคนจีนเข้ามลงทุน ทำงาน และพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ทำพิธีเผาทำลายของกลาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์เล่นการพนันหลากหลายประเภท หลายรายการ เช่น ตู้เกม 3 เครื่อง หน้าจอคอมพิวเตอร์ 66 เครื่อง แป้นหมุนรูเล็ต 2 แป้น ไพ่ โต๊ะแจกไพ่ เครื่องสล็อตแมชชีน 6 เครื่อง ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้ เป็นผลจากการลงพื้นที่กวาดล้างบ่อนการพนัน 4 แห่งภายในเขตเทศบาลเมืองไซ เมืองเอกของแขวงอุดมไซ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566

    พิธีเผาทำลายของกลาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์เล่นการพนันจำนวนมาก เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ซึ่งตำรวจแขวงอุดมไซจับได้ในเขตเทศบาลเมืองไซ แหล่งที่มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว
    …..

    การที่ตำรวจลาวและตำรวจสหรัฐว้า จัดพิธีส่งมอบตัวผู้ต้องหาที่เป็นแก๊ง “จีนเทา” จำนวนมากนับพันคน ให้กับตำรวจหน่วย S.W.A.T. ของจีน ในเวลาใกล้เคียงกัน ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่สื่อมวลชนที่อยู่ทั้งในลาวและเมียนมา จนมีการเผยแพร่ภาพข่าวออกไปอย่างกว้างขวาง

    กลวิธีดังกล่าว เป็นประหนึ่ง “สัญญาน” ที่กำลังถูกส่งออกไปว่า นับจากนี้ ทั้ง จีน เมียนมา ลาว และไทย กำลัง “เอาจริง” กับการปราบปรามเหล่าจีนเทาที่ได้เข้ามาทำมาหากินอยู่ในประเทศเหล่านี้แล้ว…