ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทำไม!! ปมตัดงบแบงก์รัฐ-แจก ‘เงินหมื่น’ เป็นเหตุต้อง ‘รีเซ็ต ครม.-รัฐสภา’

ทำไม!! ปมตัดงบแบงก์รัฐ-แจก ‘เงินหมื่น’ เป็นเหตุต้อง ‘รีเซ็ต ครม.-รัฐสภา’

5 พฤษภาคม 2025


ทำไม!! ปมตัดงบแบงก์รัฐ-แจก ‘เงินหมื่น’ เป็นเหตุต้อง ‘รีเซ็ต ครม.-รัฐสภา’ เปิดบันทึกการประชุม กมธ.หั่นงบ ม.28 แบงก์รัฐ 35,000 ล้านบาท กมธ.ถามสำนักงบฯทำไมไม่ใช้วิธียกร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ แทน – เสียงข้างน้อยแย้งโอนงบกลาง 1,256 ล้าน เข้ากองทุนสมาชิกรัฐสภาฯ ‘Conflict’ เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144

ต่อกรณีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วย นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. , ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 และนายนิติธร ล้ำเหลือ ไปยื่นคำร้อง พร้อมหลักฐานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 หลังจากที่นายชาญชัย และคณะได้ตรวจพบการกระทำที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 รวม 2 ประเด็น

ประเด็นแรกเรื่องการตัดงบฯชำระหนี้ให้แบงก์รัฐในปีงบประมาณ 2568 หรือ “หนี้ มาตรา 28 ”bวงเงิน 35,000 ล้านบาท แล้วโยกไปใส่ไว้ในงบกลาง เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท

ประเด็นที่ 2 ปรับเพิ่มวงเงินงบกลางของปีงบประมาณ 2568 จากเดิมมีวงเงิน 95,300 ล้านบาท เพิ่มเป็น 96,556 ล้านบาท โดยงบกลางส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 1,256 ล้านบาท ไปให้ “กองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

จากการรวบรวมเอกสารหลักฐานมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี , คณะรัฐมนตรี , คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หาก ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วมีมูล ขอให้ ป.ป.ช.เสนอความเห็นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายชาญชัยอธิบายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ว่าเป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี , ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือ “งบกลางปี” และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ มาตรานี้มีความยาวเกือบเต็มหน้ากระดาษ พร้อมกำหนดบรรจุบทลงโทษเอาไว้เสร็จสรรพในมาตราเดียว สาระสำคัญของมาตรา 144 วรรคแรกนั้น ห้าม สส.เสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือ เพิ่มเติมรายการเข้าไปในร่างกฎหมายงบประมาณตามที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งห้าม สส.ไปตัดทอนงบฯชำระต้นเงินกู้ , ดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย หรือ “รายจ่ายตามข้อผูกพัน”

เจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ เข้าใจว่าต้องการรักษาวินัยการคลัง ป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจแปรญัตติโยกงบประมาณรายจ่ายที่มีข้อผูกพันไปใช้จ่ายในวัตถุประสงค์อื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดผิดนัดชำระหนี้ และส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศได้

ส่วนวรรค 2 ที่ระบุว่า “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือ คณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ กรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรง หรือ ทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้” นายชาญชัยกล่าวว่าวรรคนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้กรรมาธิการ , สส. หรือ สว.ใช้อำนาจหน้าที่ของตนมาแสวงประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณให้ตนเองทั้งทางตรง และทางอ้อม เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)

นายชาญชัยได้ลำดับเหตุการณ์การกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 สำนักงบประมาณ ทำหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอความเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 และปฏิทินประมาณปี 2568 ก่อนนำเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ครม.ผ่านความเห็นชอบในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 และเสนอ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,600,000 ล้านบาท ในวันที่ 16 มกราคม 2567 และมีการปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณปี 2568 เป็น 3,752,700 ล้านบาท ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 และต่อมาที่ประชุม ครม.วันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ซึ่งผ่านการตรวจทานจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จึงให้เสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นวาระเร่งด่วน

จากนั้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 โดยมีสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี 18 คน และตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆอีก 54 คน รวมทั้งหมด 72 คน

ตั้งงบฯผ่อนหนี้แบงก์รัฐ 3.5 หมื่นล้าน จากยอดค้างจ่าย 1 ล้านล้าน

นายชาญชัย กล่าวต่อว่า โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ฉบับดังกล่าวนี้ได้ผ่านมาความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ภายในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯฉบับนี้ ได้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายมาชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ “แบงก์รัฐ” 5 แห่ง วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ได้แก่ 1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 31,749 ล้านบาท 2. ธนาคารออมสิน วงเงิน 3,813 ล้านบาท 3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ วงเงิน 592 ล้านบาท 4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงิน 330 ล้านบาท และ 5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยวงเงิน 72 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อนำเงินงบประมาณไปชดเชยต้นทุนทางการเงินจากการให้สินเชื่อดอกเบี้ยเบี้ยต่ำ , ชดเชยภาระดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ , ชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และชดเชยส่วนต่างระหว่างรายได้ของดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรม มาตรการ และโครงการตามนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะต้องรับภาระชดเชยค่าใช้จ่าย หรือ การสูญเสียรายได้ให้กับแบงก์รัฐทั้ง 5 แห่ง ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หรือที่เรียกว่า “หนี้ มาตรา 28” ซึ่งในมาตรา 20 (5) แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กำหนดให้รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่ายมาชำระหนี้มาตรา 28 ให้กับแบงก์รัฐ “ในโอกาสแรกที่กระทำได้” ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 รัฐบาลมีหนี้ มาตรา 28 คงค้าง 1,005,783 ล้านบาท

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์

“จากการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้ผมและคณะเข้าใจว่าการตั้งงบประมาณรายจ่ายมาใช้หนี้มาตรา 28 ให้กับแบงก์รัฐ 5 แห่งนั้น ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.และที่ประชุมสภาฯ วาระที่ 1 มาแล้วนั้น ย่อมถือว่าเป็นการตั้งงบประมาณรายจ่าย…ให้ ในโอกาสแรกที่กระทำได้แล้ว ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 20 (5) ซึ่งอาจเข้าข่ายข้อห้ามแปรญัตติปรับลด หรือ ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายที่เป็นข้อผูกพันที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย หรือ งบฯชำระต้นเงินกู้ หรือ ดอกเบี้ย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 วรรคหนึ่ง”

สำนักงบฯชง กมธ.ตัดงบใช้หนี้แบงก์รัฐ โยกข้ามมาตรา – แจก ‘เงินหมื่น’

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงบประมาณทำเรื่องขอเพิ่ม และเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ส่งไปให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 พิจารณา โดยรัฐบาลจะขอลดงบฯใช้ “หนี้ มาตรา 28” ของแบงก์รัฐ 5 แห่ง รวมวงเงิน 35,000 บาท เคยผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 มาแล้ว ซึ่งงบฯใช้หนี้แบงก์รัฐดังกล่าวเดิมบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มาตรา 29 โดยรัฐบาลจะขอโอนย้ายงบฯก้อนนี้ไปอยู่ในมาตรา 6 ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในหมวดของงบกลาง โครงการค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (แจกเงินหมื่น)

เปิดบันทึกการประชุม กมธ.หั่นงบฯแบงก์รัฐ-โยกแจก ‘เงินหมื่น’

จากนั้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำเรื่องที่สำนักงบประมาณขอเพิ่ม และเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ครั้งที่ 38 ในระเบียบวาระที่ 3 โดยมีสำนักงบประมาณ คอยตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯอยู่หลายเรื่อง อาทิ เรื่องที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอตั้งงบฯเพิ่มอีก 300 ล้านบาท เพื่อนำไปลดหนี้สะสมในส่วนที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ปัจจุบันรัฐบาลติดค้างหนี้ สปส. ทั้งหมด 66,452 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 รัฐบาลตั้งงบฯมาใช้หนี้ สปส. 9,710 ล้านบาท คงเหลือหนี้ 56,741 ล้านบาท หากได้งบฯมาเพิ่มอีก 300 ล้านบาท จะทำให้หนี้ลดลงเหลือ 56,441 ล้าบาท

กมธ.เห็นแย้งโยกงบกลาง เข้า ‘กองทุนสมาชิกรัฐสภาฯ’ อาจผิด รธน.

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่นายชาญชัยไปร้อง ป.ป.ช.จะมีอยู่ 2 เรื่อง

ประเด็นแรก คือ เรื่องการขอเพิ่มวงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น 1,256.71 ล้านบาท ทางสำนักงบประมาณ ชี้แจ้งว่า ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ตั้งงบกลาง รายการดังกล่าวเอาไว้ 95,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.54% ของวงเงินงบประมาณ 3,752,700 ล้านบาท หากมีการเสนอเพิ่มงบฯอีก 1,256.71 ล้านบาท จะทำให้งบกลางรายการดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นเป็น 96,556.71 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.57% ซึ่งยังอยู่ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนดให้ตั้งงบกลาง รายการสำรองจ่ายฯไม่น้อยกว่า 2.0-3.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตว่า “การเพิ่มงบประมาณดังกล่าวให้กับ “กองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาจเป็นปัญหาประเด็นข้อกฎหมาย ตามมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560”

ประเด็นที่ 2 เรื่องขอเปลี่ยนแปลงงบฯชำระหนี้แบงก์รัฐ 5 แห่ง รวมวงเงิน 35,000 ล้านบาท โดยขอโยกงบรายการดังกล่าวอยู่ในหมวดงบกลาง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (แจกเงินหมื่น) โดยในวันนั้นมีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 68 คน ลาประชุม 4 คน ได้แก่ นายพิชัย ชุณหวชิร, นายธาดา ไทยเศรษฐ์, นายวราเทพ รัตนากร และ รศ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ซึ่งประเด็นนี้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมได้เปิดให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แสดงความคิดเห็น และสอบถามสำนักงบประมาณหลายประเด็น ที่สำคัญๆ มีดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ของแบงก์รัฐ 5 แห่ง วงเงิน 35,000 ล้านบาท ย้ายไปอยู่งบกลาง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เนื่องจากที่มาของเงินดังกล่าวเป็นงบประมาณที่มาจากรายการชำระหนี้ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 5 แห่ง และเป็นรายการชำระหนี้ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงขอทราบว่าในทางกฎหมายจะสามารถดำเนินการได้ หรือไม่
  • การเปลี่ยนแปลงงบฯดังกล่าวมาไว้ในงบกลาง เพื่อเตรียมไว้ใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาม ผ่าน Digital Wallet ในขณะนั้นยังต้องรอการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่
  • เนื่องจากมาตรา 20 (5) แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 บัญญัติว่า “ภาระทางการเงินเพื่อชดเชยต้นทุนทางการเงิน และการบริหารจัดการ รวมทั้งความเสียหายจากการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือ โครงการตามมาตรา 28 ต้องตั้งงบประมาณายจ่ายให้ในโอกาสแรกที่กระทำได้” คณะกรรมาธิการวิสามัญ ถามย้ำว่า “งบฯที่ตั้งไว้เพื่อจ่ายคืนให้แบงก์รัฐตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่จะโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณในครั้งนี้ เป็นการคืนเงินโครงการตามาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ ใช่หรือไม่”
  • กรณีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ของ 5 แบงก์รัฐ วงเงิน 35,000 ล้านบาท ไปไว้ที่งบกลาง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 เพราะถ้าหากมีกรณีปัญหาที่จะต้องมีการโอนเปลี่ยนแปลงบประมาณอยู่บ่อยครั้ง ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ หากยังไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขกฎหมายได้ ควรจะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นในการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว ขอให้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.โอนงบระมาณรายจ่าย พ.ศ… น่าจะเหมาะสมมากกว่าการที่จะลดรายการจ่ายเงินคืนแบงก์รัฐ 5 แห่ง
  • ในการโอนงบประมาณ 35,000 ล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจ เป็นรายการเลื่อนชำระหนี้ของรัฐบาลที่มีภาระผูกพันสำหรับการทำธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account) หากมีการอนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณ โดยโอนเปลี่ยนงบฯที่จะจ่ายให้กับ 5 แบงก์รัฐ 35,000 ล้านบาท ไว้ในงบกลาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมกับเงินที่มีอยู่ 152,700 ล้านบาท จะต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน เพราะการดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกรณีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้
  • การโอนเปลี่ยนแปลงงบฯ 35,000 ล้านบาท ของรัฐวิสาหกิจไปสู่งบกลาง คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่า ปัจจุบันมีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณดังกล่าว เนื่องจากงบฯดังกล่าวเป็นเงินสำหรับชำระหนี้ให้กับยแบงก์รัฐ ซึ่งควรดำเนินการชำระหนี้ไปก่อน เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 หลังจากนั้นรัฐบาลสามารถใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับจัดสรรได้เอง อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะใช้งบประมาณของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ก็สามารถขยายระยะเวลาออกไปได้ และดำเนินการนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้ในงบกลางก่อนได้ หรือไม่
  • แจงเหตุตัดงบใช้หนี้ ม. 28 ของ ธ.ก.ส.กว่า 3 หมื่นล้าน

    จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ให้สำนักงบประมาณตอบข้อซักถามคณะกรรมาธิการวิสามัญฯตามที่กล่าวข้างต้นมีประเด็นที่สำคัญๆดังนี้

  • ตอบคำถาม กรณีปรับลดงบประมาณใช้หนี้ มาตรา 28 ของ ธ.ก.ส. สำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส.ไว้แล้วตามแผนบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มาตรา 40 เป็นงบประมาณรายจ่าย สำหรับแผนบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ได้ตั้งงบฯใช้หนี้ให้ ธ.ก.ส. 28,049.59 ล้านบาทไว้แล้ว ส่วนที่มีการเสนอเปลี่ยนแปลงงบฯในครั้งนี้ (งบฯใช้หนี้มาตรา 28 ให้ ธ.ก.ส.วงเงิน 31,749 ล้านบาท) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีความจำเป็นน้อย จึงสามารถเสนอขอปรับลดงบประมาณได้ ซึ่งสำนักงบประมาณได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การชำระหนี้ ซึ่งจะจ่ายได้ตามแผนบริหารราชการแผ่นดินได้ครบถ้วน ซึ่งเป็นไปตามที่หน่วยรับงบประมาณเสนอ
  • ตอบ กมธ.ทำไมสำนักงบฯต้องเสนอตัดงบใช้หนี้แบงก์รัฐ

  • กรณีหากมีความจำเป็นที่จะใช้งบประมาณของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ซึ่งสามารถขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไปได้ แล้วโยกเงินงบประมาณดังกล่าวนี้มาไว้ในงบกลาง ประเด็นนี้ สำนักงบประมาณ ชี้แจงกว่า “ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติคนละมาตรา สำนักงบประมาณไม่มีอำนาจในการโอนงบประมาณข้ามมาตราได้ ทั้งนี้ จะต้องมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ… เพื่อเข้าสู่กระบวนการงบประมาณอีกครั้ง”
  • ชี้ตั้งงบฯใช้หนี้ตาม พ.ร.บ.วินัยการคลังฯแล้ว กมธ.ฯมีอำนาจตัดได้

  • กรณีมาตรา 20 (5) แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายให้ในโอกาสแรกกที่กระทำได้นั้น สำนักงบประมาณ ชี้แจงกรรมาธิการฯว่า ได้ดำเนินการผ่านมาแล้วในสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 ด้วยการลงมติ ซึ่งเป็นขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติ คณะกรรมาธิการฯมีหน้าที่พิจารณาแปรญัตติเพิ่ม หรือ ปรับลด และเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในการวินิจฉัยดังกล่าว และในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ได้ดำเนินการโดยคำนึงถึงมาตรา 20 (5) แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสำหรับชำระหนี้ในปี 2568 ไว้ทั้งหมด 410,254 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีงบฯชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. 28,049 ล้านบาท ”
  • กรณีการรับลดงบฯชำระหนี้แบงก์รัฐ 5 แห่ง มาไว้ที่งบกลาง สำนักงบประมาณ ชี้แจงว่า “ได้มีการประชุมหารือกับแบงก์รัฐทั้ง 5 แห่งแล้วว่าสามารถปรับลดงบประมาณส่วนนี้ได้ ยืนยันว่าไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของแบงก์รัฐทั้ง 5 แห่ง ซึ่งสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้”
  • ส่วนที่กังวลว่าจะเกิดภาวะสุญญกาศในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่ยังไม่มีความแน่นอนว่า รัฐบาลชุดใหม่ (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) จะดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อไปหรือไม่ สำนักงบประมาณ ชี้แจงว่า “จากข้อเท็จจริงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มาเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความชัดเจนที่จะดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นโดยเร็ว เพราะฉะนั้น โครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการบรรจุระเบียบวาระเรื่องดังกล่าวมาที่ชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมาแล้ว และมติ ครม.ที่เห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท Digital Wallet ก็ยังคงมีอยู่ หาก ครม.ชุดใหม่เข้ามาแล้วให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว ก็เป็นอำนาจหน้าที่ ครม.ชุดต่อไป แต่ในฐานะที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ และในส่วนของสำนักงบประมาณในปัจจุบัน เมื่อไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงก็ต้องดำเนินโครงการต่อไป ตามกรอบของกฎหมายที่ดำเนินการตามข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรี ซึ่งการขอปรับลดงบฯใช้หนี้แบงก์รัฐ 35,000 ล้าน ไปสู่งบกลาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงกการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะกรรมาธิการมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย”
  • อ่าน บันทึกการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568 ฉบับเต็มได้ที่นี่

    ที่ประชุม สส.-สว.ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’68 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

    สุดท้ายที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2568 ก็มีมติเห็นชอบให้มีการตัดทอนงบฯใช้หนี้มาตรา 28 ของแบงก์รัฐ 5 แห่ง วงเงิน 35,000 ล้านบาท เอาไปไว้ในงบกลาง โครงการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ

    โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ด้วยคะแนน เห็นด้วย 309 เสียง ไม่เห็นด้วย 155 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

    และที่ประชุมวุฒิสภา วันที่ 9 กันยายน 2567 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 174 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง

    ครม. ‘แพทองธาร’ อนุมัติแจก ‘เงินหมื่น’ ผู้สูงอายุ

    วันที่ 12 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำ ครม.ชุดใหม่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และวันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการคนละ 10,000 บาท และต่อมาที่ประชุม ครม.วันที่ 24 ธันวาคม 2567 ก็มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุ โดยใช้งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท

    จากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานต่างๆตามที่กล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้นายชาญชัย และคณะ มีความเห็นว่า การพิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2568 โดยมีการเสนอปรับลดงบใช้หนี้แบงก์รัฐทั้ง 5 แห่ง วงเงิน 35,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ในมาตรา 29 ของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ย้ายมาอยู่ในมาตรา 6 ในหมวดงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น อาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 วรรคที่ 1 และ วรรคที่ 2 สำหรับการเพิ่มวงเงินงบกลาง เพื่อนำเงินไปให้กองทุนผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภานั้น อาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 วรรคที่ 2 จึงนำความมาแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาไต่สวน หากเห็นว่ามีมูล ให้เสนอความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณต่อไป ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 วรรคที่ 3 ระบุว่า “กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติตามวรรคสอง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้กระทำการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี ครม.เป็นผู้กระทำการ หรือ อนุมัติให้กระทำการ หรือ รู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และ ให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย”

    นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 88 ได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน เมื่อความปรากฎต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่ามีการดำเนินการฝ่าฝืน มาตรา 144 และหากสอบสวนแล้วเห็นว่ามีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ดำเนินการตามมาตรา 144 วรรค 3 และเรียกเงินงบประมาณดังกล่าวคืนแผ่นดินตามกฎหมายต่อไป…

  • ‘ชาญชัยและคณะ’ ยื่น ป.ป.ช.รีเซ็ต ครม. ถึงรัฐสภา ปมตัดงบใช้หนี้แบงก์รัฐ-แจกเงินหมื่น ผิด รธน.144
  • รัฐบาลเบี้ยวหนี้แบงก์รัฐ 35,000 ล้านบาท โยกงบฯ ปี ’68 แจก “เงินหมื่น” ทั้งที่ค้างจ่ายกว่า 1 ล้านล้านบาท
  • คลังกลับลำ ครั้งที่ 4 ไม่ยืมเงิน ธ.ก.ส. – ใช้งบฯ ปกติ 4.5 แสนล้าน แจก ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’
  • เงินดิจิทัล 10,000 บาท แจก 5.6 แสนล้านบาท บริหารอย่างไร-ไม่ต้องกู้
  • ครม. กลับลำจัดงบกลางปี ’67 ทำ “ดิจิทัลวอลเล็ต” แทนโยกงบ กู้ชดเชยขาดดุลได้ 815,000 ล้าน เคาะวงเงิน 28 พ.ค.นี้
  • เงินหมื่นเฟส 1- 3 แจก 21.25 ล้านคน ใช้เงิน 2.1 แสนล้าน คุ้มค่าไหม!!
  • ป้ายคำ :