หลังจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 โดยมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าครองชีพ โดยให้ความสำคัญไปที่กลุ่มเปราะบาง เป็นลำดับแรก ประกอบสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) พบว่าขยายตัวเพียง 1.9% ต่อปี และคาดว่าทั้งปี 2567 จะขยายตัว 2.5% ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 2.3 – 2.8% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพ (Potential Growth) และต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ อาทิ การหดตัวของผลผลิตอุตสาหกรรม และผลผลิตภาคการเกษตรในช่วงครั้งแรกของปี, การหดตัวของการบริโภค,ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผู้ผลิตอุตสาหกรรม และ SMEs ลดลงอย่างต่อเนื่อง, หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในหลายภูมิภาค เป็นต้น
การเติบโตที่ต่ำเตี้ยต่อเนื่องมาถึงปี 2568 สะท้อนมาที่โอกาสในการทำมาหากินของภาคธุรกิจ ประชาชน เมื่อจีดีพีไม่โต รายได้ในกระเป๋าหดลง กลุ่มเปราะบางที่เปราะบางอยู่แล้ว ก็ยากลำบากมากขึ้น นโยบายรัฐบาลยังใช้มาตรการเดิมๆคือการแจกเงิน และยังเชื่อแบบเดิมๆว่าแจกเงินแล้ว เงินจะหมุนได้อีกหลายรอบ และเชื่ออีกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้จะได้ผลพยุงจีดีพีให้พุ่งขึ้น ยิ่งนโยบายที่ตั้งเป้าประชานิยมแจกเงินตั้งแต่แรกจำเป็นต้องผลักดันทำให้ได้ ทั้งๆที่มีเสียงแย้งว่าไหนๆก็แจกเงินอยู่แล้ว แต่แจกแล้วจ้างงานไปด้วยได้โครงการที่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ด้วยดีไหม อาทิ การสร้างแหล่งน้ำ หรือกิจกรรมอื่นๆในชุมชน การฟื้นตัวจะได้แข็งแรง แต่ไม่เป็นผล…
เฟสแรก ผ่านผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ ให้ที่ประชุม ครม.วันที่ 17 กันยายน 2567 มีมติเห็นชอบโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 12,405,954 คน และคนพิการอีก 2,149,286 คน รวมทั้งสิ้น 14,555,240 คน โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ 3 แหล่ง รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้นไม่เกิน 145,552.40 ล้านบาท ประกอบไปด้วย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 2567 ในหมวดงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไม่เกิน 122,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในหมวดงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น วงเงินไม่เกิน 2,059.54 ล้านบาท และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านคนพิการ ใช้เงินจากงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2567 ในหมวดงบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินและจำเป็น วงเงินไม่เกิน 21,492.86 ล้านบาท โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวนี้จะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.05% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการดังกล่าว
เฟสที่ 2 ที่ประชุม ครม.วันที่ 24 ธันวาคม 2567 มีมติเห็นชอบโครงกระต้นเศรษฐกิจ เฟสที่ 2 โดยการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป) ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สำเร็จจำนวนไม่เกิน 4 ล้านคน โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในหมวดงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.07 – 0.1%ต่อปี
เฟส 3 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2568 ที่มีนายกรัฐมนตรี ก็มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 3 โดยการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับเด็กอายุ 16 -20 ปี ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐแล้ว 2.7 ล้านคน โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 27,000 ล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการลงทะเบียน เพื่อสำรวจประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟน โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการฯ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
หลายรัฐบาลที่แจกเงินให้เปล่ามาอย่างต่อเนื่อง ภาระหนี้ของรัฐบาลที่สูงขึ้นๆ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อให้การแข่งขันของไทยดีขึ้น ยังไม่ได้รับการดูแล ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำทั้งประเทศ ระบบการขนส่งทางรางทั้งคนทั้งสินค้าที่ยังเชื่อมต่อไม่สมบูรณ์ การปรับปรุงกฏหมาย ทุนสำหรับเด็กยากจนที่ต้องออกนอกระบบการศึกษา การupskill reskill กลุ่มต่างๆให้พร้อมที่จะใช้ชีวิตและทำงาน ในภาวะวิกฤติโครงสร้างประชากรที่คนแก่เยอะเด็กเกิดน้อย และอื่นๆอีกมากมาย ที่รัฐจำเป็นต้องทำ ต้องลงทุน แทนการแจกๆมาตลอด
ยิ่ง’แจก’ยิ่งทำให้ประชาชนอ่อนแอๆ เปราะบางลงเรื่อยๆ
หรือนี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องกา่ร!!