ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > World Bank คาดเศรษฐกิจปี 2568 โต 2.9% แนะเสริมความแข็งแกร่ง SMEs และสตาร์ทอัพ

World Bank คาดเศรษฐกิจปี 2568 โต 2.9% แนะเสริมความแข็งแกร่ง SMEs และสตาร์ทอัพ

17 กุมภาพันธ์ 2025


รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุด จาก ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567 พร้อมชี้ว่านวัตกรรมและ SMEs มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตความสามารถในการแข่งขันของไทย

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่ Thailand Economic Monitor รายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 ที่จัดทำในแนวคิด ปลดล็อกการเติบโต – นวัตกรรม SMEs และสตาร์ทอัพหรือ Unleashing Growth:Innovation, SMEs and Startups

แรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากการลงทุนที่ฟื้นตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้นและการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผน นอกจากนี้ การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก นวัตกรรม ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความยืดหยุ่นและพลวัตสูง จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

พัฒนาการล่าสุดและแนวโน้มเศรษฐกิจ

รายงานระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง คาดว่าอัตราการเติบโตจะเร่งขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567

การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม โดยคาดว่าคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านคน จาก 35.3 ล้านคนในปี 2567

การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการโอนเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามีส่วนช่วยให้ GDP เติบโตขึ้น 0.3 จุดร้อยละในปี 2567 อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีต้นทุนทางการคลังสูงถึง 145,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP

รายงานยังคาดว่าอัตราความยากจนจะลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2568 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและโครงการโอนเงิน นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจคาดว่าจะลดลงประมาณ 1.5 จุดตามดัชนีจินี

นอกจากนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2568 จะอยู่ที่ 0.8% ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

การส่งออกสินค้าคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตามก็ตาม

เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมอย่างตรงเป้าหมาย เพิ่มการระดมรายได้จากภาษี และเร่งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และทุนมนุษย์ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเอกชน

รายงานระบุว่า ท่าทีทางนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างระมัดระวังถือเป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน คาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2554-2564 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการในการเป็นประเทศรายได้สูง

เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา

เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า “ประเทศไทยมี ความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต”

จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและโครงการโอนเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล อัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2567 จาก 8.5% ในปี 2566 อย่างไรก็ดี แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่ GDP ของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรเป็น โดยความท้าทายหลัก ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสังคมผู้สูงอายุ

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีโอกาสในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน การขยายฐานภาษีและการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโตในด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความ ยั่งยืนในระยะยาว”

เมื่อมองไปข้างหน้า รายงานระบุว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถจะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต แต่ SMEs และสตาร์ทอัพ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของธุรกิจในประเทศไทยและ เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และตลาดต่างประเทศ

การพัฒนาสตาร์ทอัพดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ยังเป็นอีกหนึ่งด้านที่ควรได้รับการปรับปรุง โดยจำเป็นต้องเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแล โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน การค้า และการลงทุน รวมถึงการขยายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้

การศึกษาและการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลและการเป็นผู้ประกอบการจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ แรงงานไทยในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและขยายธุรกิจ นอกจากนี้ การเสริมสร้างบทบาทของไทยใน ห่วงโซ่มูลค่าโลกและการบูรณาการระดับภูมิภาคจะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศใน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

  • World Bank ประเมิน Real GDP ไทยปี 2567 ที่ 2.4% ตามหลังอาเซียน

  • ดร. เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก

    นวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ทอัพ

    รายงานระบุว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเพิ่มผลิตภาพของภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับรายได้และมาตรฐานการครองชีพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

    ประเทศไทยเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการหากไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้ โดยอาจเสี่ยงต่อการล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องนำแนวทางการผลิตที่ยั่งยืนมาใช้ มิฉะนั้นอาจเสี่ยงต่อการถูกตัดออกจากห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก นอกจากนี้ ความท้าทายเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การดูแลสุขภาพ และระบบโลจิสติกส์ จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยวิธีแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม

    SMEs ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยคิดเป็น 99.5% ของบริษัททั้งหมดในประเทศ 69.5% ของการจ้างงาน และ 35.3% ของ GDP อย่างไรก็ตาม การขาดนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมที่จำกัดในห่วงโซ่มูลค่าโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ SMEs ที่ยังไม่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

    SMEs และผู้ประกอบการในประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายหลัก 4 ประการ ได้แก่

  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำกัด
  • การขาดการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะเริ่มต้น เช่น โครงการบ่มเพาะธุรกิจ(Incubator) และโครงการเร่งการเติบโตของธุรกิจ (Accelerator)
  • ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตที่ไม่เพียงพอ
  • อุปสรรคด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะในเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม การค้า และการลงทุน

    ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายถึงจำนวนผู้ประกอบการที่ค่อนข้างน้อยในการพยายามบุกเบิกตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในภาคดิจิทัล ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรม

    ประเทศไทยมีประวัติในการเอาชนะความท้าทายต่างๆ และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนนวัตกรรม การจัดการกับอุปสรรคด้านการวิจัยและพัฒนา การจัดหาแหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะ ตลอดจนการเสริมสร้างการแข่งขันและการเข้าถึงตลาด จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค ความร่วมมือที่ประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาคส่วนต่างๆ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้มั่นใจว่านโยบายด้านนวัตกรรมมีความสอดคล้องและดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    คริสเตียน กิฮาดา ตอร์เรส ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านภาคเอกชนของธนาคารโลก กล่าวว่า “นวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปในเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเสริมสร้างศักยภาพให้ SMEs และสตาร์ทอัพด้วยเครื่องมือ แหล่งเงินทุน และทักษะที่เหมาะสมจะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทย เพื่อการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนในระยะยาว”