ThaiPublica > เกาะกระแส > World Bank ปรับลด GDP ปี 2567 เหลือ 2.4% เตือนทำนโยบายแบบทั่วถึง ส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะ

World Bank ปรับลด GDP ปี 2567 เหลือ 2.4% เตือนทำนโยบายแบบทั่วถึง ส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะ

3 กรกฎาคม 2024


ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ของธนาคารโลก(World Bank) ซึ่งทบทวนเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2567 โดยมุ่งเน้นไปที่พัฒนาการที่สําคัญในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาและแนวโน้มเศรษฐกิจของปี 2568 ได้คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัว 2.4% ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัว 1.9% ในปี 2566 อย่างไรก็ตามตัวเลขที่คาดการณ์ดังกล่าวลดลงจากตัวเลขที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน 0.4 จุด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐในช่วงต้นปีที่น้อยกว่าคาดการณ์

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม ธนาคารโลกแถลงข่าวเปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย Thailand Economic Monitor เดือนกรกฎาคม 2567 ในหัวข้อ “ปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง”

ปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 2.4% ปี2567

รายงานคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปี 2567 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็น 2.4% ในปี 2567

  • ธนาคารโลกชี้ไทยฟื้นตัวตามหลังอาเซียน เศรษฐกิจปีนี้โต 2.8%
  • ในปี 2568 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐหลังจากความล่าช้าในช่วงต้นปี

    การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแต่การเติบโตจะเป็นไปอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ในด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2568 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

    รายงานคาดว่าจะมีจํานวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 36.1 ล้านคนในปี 2567 โดยสูงกว่าในปี 2566 ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 28.2 ล้านคน และใกล้เคียงกับจำนวนสูงสุดของช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า ในปีหน้าจะมีจํานวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้น 41.1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนได้กลับมาท่องเที่ยวเป็นจํานวนมาก

    ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ได้นำเสนอแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ระยะปานกลาง มีความท้าทายพอสมควร แต่ก็ยังมีโอกาสในระยะปานกลาง

    “สามเดือนที่แล้ว มีความกังวลกันว่าเศรษฐกิจจะประสบกับภาวะถดถอย และได้มีการจับตาไปที่ตัวเลข GDP แต่ก็เห็นว่า GDP ยังโตและผ่านจุดถดถอยไปได้ และตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้น” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

    ธนาคารโลกได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 ลงมาที่ 2.4% แต่ปีหน้าจะขยายตัว 2.8% ถือว่าเป็นการพื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การฟื้นตัวค่อนข้างช้า

    สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจไทยมีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่

      1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อการค้าและภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว
      2) ความล่าช้าในการจัดงบประมาณของปีงบประมาณ 2567 ส่งผลถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
      3) การเติบโตระยะปานกลาง ซึ่งธนาคารโลกได้ปรับให้ชะลอลง

    ดร.เกียรติพงศ์กล่าวถึงความท้าทายด้านแรก เศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจประเทศพัฒนาชะลอตัวลง แต่ก็เริ่มทรงตัว เศรษกิจสหรัฐยังแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจจีนลดลง และส่งผลต่อการค้า โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน

    ตั้งแต่ไตรมาส 1 มียอดซื้อสินค้ามากขึ้นในระดับโลกและของไทย ซึ่งเป็นสัญญานหนึ่งว่า การส่งออกเริ่มฟื้นตัว และผ่านจุดที่ต่ำสุดแล้ว หลังจากหดตัวหลายไตรมาส

    สำหรับเศรษฐกิจไทยเมื่อพิจารณาจาก GDP รายไตรมาส พบว่า 7 ไตรมาสที่ผ่านมา การเติบโตของ GDP ค่อนข้างต่ำไม่ถึง 2% ซึ่งธนาคารโลกมองว่าเป็นภาวะ “down cycle” หลักๆมาจากการส่งออก การท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัว แต่ไม่ได้กลับไปสู่ระดับเดิมเท่าโควิด นอกจากนี้การลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

    ในไตรมาสล่าสุด คือ ไตรมาสแรก มีปัจจัยใหม่เกิดขึ้น คือ “การลงทุนภาครัฐเริ่มหดตัว” เนื่องจากมีการชะลอตัวของการจัดสรรงบประมาณปีงบ 2567 และการส่งออกติดลบค่อนขัางมากในไตรมาสแรก

    ไทยตามหลังอาเซียนเพราะตำแหน่งในห่วงโซ่การผลิตอยู่กับที่

    เมื่อมองย้อนกลับไปก่อนการระบาดของโควิด เพื่อให้เห็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเทียบกับอาเซียน โดยใช้ปี 2562 เป็นปีฐาน เพื่อให้การเปรีบเทียบบนฐานเดียวกัน ว่าประเทศไหนฟื้นเร็วที่สุด ซึ่งพบว่า ประเทศไทยฟื้นตัวช้าสุด และห่างจากฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม 9-15% ของ GDP “หมายความว่า ถ้าจะกระโดดกลับไปสู่ GDP เท่าประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องเพิ่ม 9% หรือ 15% ณ วันนี้ สะท้อนว่าเป็นโอกาสหรือรายได้ที่สูญเสียไป เนื่องจากเราโตค่อนข้างช้า”

    ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า สาเหตุที่การเติบโตของไทยห่างจากประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ทั้งๆที่เจอ shocks จากต่างประเทศ เหมือนกัน และประเทศอาเซียนเป็นประเทศที่ค่อนข้างเปิด พี่งพาสินค้าส่งออกเช่นกัน ได้แก่ ไทยเป็นประเทศที่เปิดมาก คือ พึ่งการส่งออกและภาคท่องเที่ยวสูงมาก ถึงกว่า 10% ของ GDP

    “ทำไมไทยเจอมากกว่า เราเริ่มเห็นสัญญานแล้วว่า ไทยมีความท้าทายในแง่โครงสร้างเศรษฐกิจ ถ้าดูตำแหน่งการส่งออกไทย จะเห็นว่าตำแหน่งในห่วงโซ่การผลิตไทยก็อยู่ในตำแหน่งเดิมมาประมาณสิบกว่าปี ยังไม่ก้าวสู่สินค้าใหม่ๆ บริการใหม่ๆ ที่ได้มูลค่าเพิ่มมากกว่า จะเห็นจากแนวโน้มของ FDI(การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ)” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

    ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา FDI ของไทยค่อนข้างต่ำและติดลบ แต่ล่าสุดแนวโน้มกลับมาเป็นบวก FDI ถือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิต เป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงการเกิดของกลุ่ม(sector)ใหม่ ซึ่งมีสัญญานที่ดีใน EV ในอิเล็กทรอนิคส์ แต่ยังน้อยกว่า เวียดนาม มาเลเซีย ที่เข้าไปอยู่ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

    เงินเฟ้อปี 2567 ลดลงเหลือ 0.7% ต่ำสุดในภูมิภาค

    ในด้านเสถียรภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถือว่าค่อนข้างเด่นในอาเซียน เสถียรภาพภายนอกที่วัดจากดุลบัญชีเดินสะพัด ปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก แต่ก็มีความเปราะบาง เนื่องจากการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คาดว่าฟื้นตัวในปี 2568 กลับไปสู่ระดับเดิมก่อนโควิด ประกอบกับมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จากความตึงเครียดในทะเลแดง

    ด้านเสถียรภาพในประเทศ โดยใช้เงินเฟ้อเป็นตัวชี้วัด เงินเฟ้อไทยก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ค่อนข้างเด่นในอาเซียน ในกว่าปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อติดลบอยู่ช่วงหนึ่ง แม้ตอนนี้กลับมาเป็นบวกแต่ยังต่ำที่สุดในอาเซียน

    ในปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 0.7% โดยลดลงจาก 1.3% ในปีที่ผ่านมาและเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีสาเหตุจากราคาอาหารและพลังงานที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นสู่ 1.1% ในปี 2568

    ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า โดยรวมประมาณของธนาคารโลกคาดว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆกลับเข้าอยู่ในกรอบของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นสัญญานที่ดี แต่ภายใต้พลวัตเงินเฟ้อยังมีความเปราะบาง เนื่องจากมีหลายราคาที่เป็นราคาที่ตรึงราคา เช่น ราคาน้ำมัน ไฟฟ้า ปัจจุบันมีการยกเลิกการตรึงราคาดีเซล ส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก แต่บางหมวดยังมีการตรึงราคา ดังนั้นแรงกดดันยังอยู่ในระบบ มีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาได้ หากมีการยกเลิกการตรึงราคา หรือ มีการเพิ่มขึ้นของราคาโลกในหมวดพลังงาน

    ‘เงินเฟ้อเป็นความท้าทายหนึ่งของแบงก์ชาติ ซึ่งแบงก์ชาติต้องดูแลทั้งเงินเฟ้อและการเติบโต เนื่องจากว่ามีแรงกดดันที่อาจจะยังอยู่ในระบบ สอง มีเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังมา แต่มีความไม่แน่นอนว่า จะมาเมื่อไร จะมีผลต่อ GDP เงินเฟ้อเท่าไร ทำให้แบงก์ชาติตัดสินใจยาก ที่จะดำเนินนโยบายการเงิน” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

    ธนาคารโลกมองว่า ณ ปัจจุบัน ภายใต้ความไม่แน่นอนเหล่านี้ แบงก์ชาติควรจะยังคงดอกเบี้ย รอความชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะดำเนินนโยบายที่อาจจะเป็นนโยบายลดดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ย

    หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นใช้งบประมาณให้คุ้มค่า

    ความท้าทายด้านต่อมา คือ การคลัง การคลังโดยเฉพาะการลงทุน เป็นตัวดึงการเติบโตของ GDP หลังจากช่วงโควิด การขาดดุลการคลังที่ขาดดุลเยอะ ตอนนี้ขาดดุลน้อยลง และอยู่ในช่วง consolidation(การปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล) ก็เหมือนประเทศอาเซียนหลังจากโควิดที่ลดรายจ่าย เนื่องจากผ่านวิกฤติแล้ว แต่ไทยเป็นการปรับตัวที่ค่อนข้างเยอะ เพราะความล่าช้าของการใช้งบประมาณปีนี้ ล่าช้าประมาณ 7 เดือน

    “เมื่อดูสัดส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ประมาณเกือบ 0% มีความล่าช้าสูงมาก” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

    หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 64.6% ในปี 2568 และการขาดดุลการคลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาเป็นปกติ ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อส่งเสริมการบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลางของรัฐบาล

    ดร.เกียรติพงศ์กล่าวถึงหนี้สาธารณะว่า แม้หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดจากประมาณ 40% ของ GDP เป็นกว่า 60%ของ GDP ก็ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 64% ของ GDP แม้จะมีแรงกดดันจากการใช้จ่ายที่มากขึ้นเพื่อดูแลสังคมสูงอายุ แต่ก็อยู่ภายใต้กรอบการคลังยั่งยืนที่ประมาณ 70%

    “ที่น่าเป็นห่วงคือทิศทางของหนี้ เริ่มเห็นสัญญานว่าอยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

    ส่วนความท้าทายที่สาม คือ การเติบโตในระยะปานกลาง หรือ potential growth การเติบโตเต็มศักยภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารโลกปรับ potential growth ลงมาที่ 2.7% สาเหตุจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการลงทุนที่ลดลง

    ดร.เกียรติพงศ์กล่าวถึงสิ่งที่ไทยอาจจะทำได้ในแง่นโยบายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ ว่า ในประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเต็มศักยภาพนั้น ธนาคารโลกได้ประเมินไว้หลายกรณี เพื่อดูว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ในการยกระดับระยะปานกลาง พบว่า “ที่ 2.7% เป็นไปที่ได้ที่จะยกขึ้นได้ 1% กว่า หากมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายมานาน แต่ก็เป็นโอกาสเพราะยังมีศักยภาพในการลงทุน”

    นอกจากนี้ต้องมีการเพิ่มคุณภาพการศึกษา ในภาคแรงงานต้องปรับปรุงการคุ้มครองแรงงาน ดุแลผู้ที่ตกงาน หรือผู้ที่ต้องการการฝึกอบรม ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับโครงสร้าง ส่งเสริมให้คนย้ายเข้าไปสู่งานที่มีมูลค่าเพิ่ม รายได้ดี บางงานจะอยู่ในเมืองรอง

    “ในระยะปานกลางอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ความแข่งแกร่งทางการคลัง fiscal resilience ทำให้นโยบายการคลังสามารถตอบโจทย์สังคมสูงอายุ แต่มีพื้นที่การคลังเพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกินไป สิ่งที่ควรจะทำคือ นโยบายที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย targeted เช่น คนยากจน หรือผู้สูงอายุ ถ้าทำนโยบายแบบทั่วถึง ก็จะส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะ’ ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

  • World Bank ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตดันหนี้สาธารณะแตะ 66% เตือนจะใช้ “พื้นที่ทางการคลัง” อย่างไร
  • ในปีที่แล้ว ธนาคารโลกได้จัดทำรายงานการจัดเก็บรายได้ spending assessment พบว่า ไทยยังมีโอกาสที่จะเพิ่มภาษี เพื่อเอาไปลงทุน

    สำหรับในระยะสั้น ดร.เกียรติพงศ์กล่าวว่า ธนาคารโลกว่ามีความสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องมองระยะยาวได้ด้วย เพราะฉะนั้นต้องประเมินผลต่อเศรษฐกิจและผลต่อทางการคลัง “ต้องชั่งดูว่ามีผลได้ผลเสียอย่างไร”

    ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังขณะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการคลังท่ามกลางความต้องการด้านการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือทางสังคมและการให้เงินช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้ภาษี ส่งเสริมความเสมอภาค สร้างช่องว่างทางการคลัง และกระตุ้นการลงทุนได้

    โดยจากการประเมินใน 4 มิติ ระยะสั้น ระยะปานกลาง ของผลการกระจายความมั่งคั่ง เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และประเมินโอกาสและความท้าทาย ของดิจิทัลวอลเล็ต การตรึงราคาดีเซล เบี้ยผู้สูงอายุแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และการลงทุนภาครัฐ ก็ได้ข้อสรุปว่า “ถ้าอยากใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยส่งเสริมการเติบโดเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว ควรจะดูมาตรการที่มีผลบวกค่อนข้างเยอะ เรื่องเบี้ยผู้สูงอายุแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และการลงทุนโดยเฉพาะในเศรษฐกิจสีเขียว” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว