ThaiPublica > เกาะกระแส > การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (1) : World Bank แนะวิเคราะห์ต้นทุน-ประโยชน์ให้ชัด เพื่อจัดลำดับความสำคัญมาตรการป้องกัน

การรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งของไทย (1) : World Bank แนะวิเคราะห์ต้นทุน-ประโยชน์ให้ชัด เพื่อจัดลำดับความสำคัญมาตรการป้องกัน

1 กรกฎาคม 2023


วันที่ 28 มิถุนายน ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัว รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ในหัวข้อ “การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัย” เพื่อสร้างอนาคตที่อยู่รอดและยั่งยืน” โดย ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และมีนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทย” รวมทั้งรองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) บรรยายพิเศษเรื่อง “อุทกภัย ภัยแล้ง และอนาคตของกรุงเทพมหานคร” และ ดร.เชลลี แม็คมิลลาน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำอาวุโส ธนาคารโลก นำเสนอแนวทางการรับมือกับอุกทกภัยและภัยแล้งในประเทศ พร้อมการเสวนา “ประชาชนไทยจะอยู่กับอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างไร?” โดยนายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด และกรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, แอนโทนี เอ็ม. วาตานาเบะ Chief Sustainability Officer จาก Indorama Ventures PCL และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.ฟาบริซิโอกล่าวเปิดงานว่า รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย เป็นการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกและภาวะภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการคาดการณ์แนวโน้มในระยะต่อไป โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะชะลอตัวลงมาที่ 2.1% จากที่เติบโต 3.1% ในปีก่อน เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ในปี 2024 จะขยายตัวดีขึ้นที่ 2.4%

สภาวะการเงินที่ตึงตัวทั่วโลกรวมทั้งความต้องการที่อ่อนตัวลง จะส่งผลกระบทบต่อการเติบโตของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging market หรือ EM) และประเทศกำลังพัฒนา เงินเฟ้อยังคงสูงแต่คาดว่าจะค่อยๆ ลดลง เพราะความต้องการลดลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในระยะยาวคาดว่าเงินเฟ้อยังสูง การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจจะน้อยกว่าที่คาด หากว่ายังมีสถานการณ์ปั่นป่วนในภาคธนาคาร หรือยังคงมีแรงกดดันเงินเฟ้อที่ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินยิ่งเข้มงวดขึ้น

สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ช้ากว่าประเทศคู่เทียบ โดยคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นที่ 3.9% ในปี 2023 เพิ่มจาก 2.6% ในปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์จากจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีความแข็งแกร่งเกินกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

การเติบโตของไทยในปี 2024 จะอยู่ในระดับปานกลางที่ 3.6% และ 3.4% ในปี 2025 โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศลดลง อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะลดลงในปี 2023 เหลือ 2% ท่ามกลางราคาและเพดานราคาพลังงานที่ผ่อนคลายมากขึ้นทั่วโลก แม้ว่าราคาอาหารและพลังงานจะไม่ผันผวนแล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

การกลับมาของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้แนวโน้มการท่องเที่ยวแข็งแกร่งขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะสูงถึง 28.5 ล้านคน คิดเป็น 84% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2019 และคาดว่ากลับมาเท่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ภายในครึ่งปีหลังของปี 2024

แม้จะมีการเติบโตที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกอ่อนแอกว่าที่คาด บวกกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญกับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น ภาวะประชากรสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูง ซึ่งต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

“รายงานตามติดเศรษฐกิจโดยปกติแล้ว จะมีบทหนึ่งที่เป็นแนวคิดหลักของรายงานที่เน้นถึงการเติบโตอย่างทั่วถึงของไทย ในรายงานฉบับนี้ก็เช่นกัน โดยมีแนวคิดหลักคือ การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัย เพื่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน” ดร.ฟาบริซิโอกล่าว

ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย

ส่วนหนึ่งของรายงานกล่าวถึงการรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้ง โดยนำเสนอข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยในการปกป้องชีวิตและความเป็นอยู่ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ออุทกภัยและภัยแล้งอย่างมากเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ และจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง

“ความถี่ของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงทุนมนุษย์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ มีความสำคัญต่อประเทศไทย” ดร.ฟาบริซิโอกล่าว “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งกว่าเดิมในการจัดลำดับความสำคัญของการวางแผนลดความเสี่ยง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ และการจัดการการใช้ที่ดินและน้ำ”

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ของโลกในการจัดอันดับ INFORM Risk Index ซึ่งเป็นดัชนีเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านอุทกภัย รองจากเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ค่าใช้จ่ายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว หากไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก หากในปี 2030 เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2554 อีก อาจทำให้สูญเสียการผลิตมากกว่า 10% ของจีดีพี

ภาคการเกษตรซึ่งมีสัดส่วนราว 9% ของจีดีพี มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าวที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ และคิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของจีดีพี ก็มีความเสี่ยงสูงต่ออุทกภัยเช่นกัน

“คำถามก็คือ เราจะทำอย่างไร รายงานฉบับนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะไว้หลายข้อ แต่ผมขอหยิบยกมา 3 ข้อสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีอนาคตที่ยั่งยืน” ดร.ฟาบริซิโอกล่าว

ดร.ฟาบริซิโอกล่าวว่า ประเทศไทยต่างจากประเทศอื่นตรงที่ยังมีพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งยังสามารถเพิ่มรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประชากรสูงวัย และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ หากมีการปฏิรูปรายจ่ายและรายได้ ซึ่งการปฏิรูปนั้นครอบคลุมการดำเนินนโยบายดูแลสังคมแบบเจาะจง และเพิ่มการจัดเก็บรายได้จากภาษี ส่วนการลงทุนเพื่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะเพิ่มขึ้นได้ เช่น การเพิ่มการกักเก็บน้ำ และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานแหล่งน้ำเดิม

นอกจากนี้ ก็ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำจำนวนมาก ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด การปฏิรูปที่ริเริ่มในปี 2017 และ 2018 ก็ควรส่งเสริมให้เข้มแข็งมากขึ้น และต้องมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อยกระดับความสามารถในการรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งได้มากยิ่งขึ้น

มาตรการเดิมต้องทำต่อ-ออกมาตรการเสริมและใหญ่พอ

ดร.เชลลี แมกมิลแลน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำอาวุโส ธนาคารโลก นำเสนอแนวทาง “การรับมือกับอุกทกภัยและภัยแล้งในประเทศ” โดยกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ตระหนักดีว่าภาวะตึงเครียดของน้ำ (water stress) สูงขึ้น ทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบสถานการณ์แบบนี้ และเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ข้อมูลจากปี 1900-1950 สามารถใช้ข้อมูลประชากรมาเป็นตัวแทนในการประเมินการดึงน้ำ (water withdrawal) ได้ แต่นับจากปี 1950 เป็นต้นมา การดึงน้ำมีปริมาณมาก และนำหน้าการเติบโตของจำนวนประชากรในอัตราที่สูงหลายเท่า ส่วนใหญ่เป็นผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่จำนวนประชากรก็ยิ่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

ดร.เชลลีเจาะลึกไปที่เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก โดยกล่าวว่ามีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate risk) โดยเฉพาะไทยที่เศรษฐกิจสังคม 3 ด้านนั้นพึ่งพาการใช้น้ำสูง ทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการที่มีสัดส่วน 22% ของ GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วน 9% ของ GDP และภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน 20% ของ GDP และทั้งสามภาคเศรษฐกิจนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

โดยทั่วไปแล้วคนจนได้รับกระทบมากกว่า เมื่อใดก็ตามที่มีความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ที่มีผลต่อชีวิต ทรัพย์สิน และตกงาน

ดร.เชลลี แมกมิลแลน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำอาวุโส ธนาคารโลก

ประเทศไทยมีความเสี่ยงทั้งจากน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่พื้นที่ภัยแล้งค่อนข้างกระจุกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำหลักก็มีความเสี่ยงจากทั้งสองภัยด้วยเช่นกัน จำนวนประชากรที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ก็นับว่ามีไม่น้อย

ดร.เชลลีกล่าวถึงผลกระทบของ climate change ว่า มีจะผลให้ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งนี้เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น ผลการศึกษาภาวะการเกิดฝนในประเทศไทย 1981-2019 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 และใน 2017 ซึ่งมีมากกกว่าปี 2011 และเมื่อเกิดเอลนีโญ ก็มีผลเช่นเดียวกัน

ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมและภัยแล้งนี้ค่อนข้างสูง และจะยิ่งสูงขึ้นอีกจากผลกระทบของ climate change โดยความเสียหายของไทยจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 สูงถึง 3.7% ของรายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี หรือ 2.6 พันล้านดอลลาร์ซึ่งถือว่ามีนัย ส่วนภัยแล้งที่เกิดขึ้นล่าสุด คือในช่วง 2015-2016 ความเสียหายก็ไม่ได้ต่างจากน้ำท่วม โดยมีมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์

ดร.เชลลีได้เจาะลึกไปที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ รวมทั้งปริณฑล เนื่องจากมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อพิจารณาจากทั้งจำนวนประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีสัดส่วนกว่า 50% ใน GDP ของประเทศ ที่มีมูลค่า 500 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้ 250 พันล้านดอลลาร์มาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเป็นที่ทราบกันดีว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีตั้งในที่ลุ่มต่ำ และค่อนข้างหนาแน่น ไม่ไกลจากปากน้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเล ซึ่งถือว่ามีความเปราะบางอย่างมากต่อ climate risk

“เราต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะปกป้องพื้นที่นี้ ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูง และมีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมากอย่างไร และยังเป็นพื้นที่มีทรัพย์สินเชิงวัฒนธรรมอีกจำนวนมาก การปกป้องพื้นที่นี้จึงต้องเน้นเป็นพิเศษ” ดร.เชลลีกล่าว

ธนาคารโลกได้ทำงานร่วมกับหลายประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจในเชิงลึก ยกตัวอย่างเวียดนามซึ่งพบว่า อาจจะเสียหายถึง 6% ของ GDP แม้จะมีมาตรการออกมาบางส่วนเพื่อเสริมสร้างการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่มีมาตรการสำคัญอย่างแท้จริง ตัวอย่างนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยได้

ประเทศไทยยังประสบกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2022 แม้ได้มีการดำเนินการเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเป็นภาระของรัฐบาลในการชดเชยความเสียหาย ดังนั้น จึงต้องคำนึงไปในข้างหน้า เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต แต่ EEC ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องมีแนวทางรับมือ

ธนาคารโลกตระหนักดีว่ารัฐบาลและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในประเทศ นับตั้งแต่จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีการประสานงานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวางแนวทางป้องกันและบรรเทา แต่แม้จะมีมาตรการที่ดำเนินการต่อเนื่องก็ต้องมีมาตรการเพิ่มเติม รวมไปถึงมาตรการใหญ่ๆ ที่ปรับไปตามขนาดของภัยที่เกิดขึ้น

ดร.เชลลีกล่าวว่า ธนาคารโลกได้จัดทำรายงานใหม่ An EPIC Response ที่เสนอแนะ 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่

    1) ลดภัยพิบัติ (reduce the hazard) ด้วยมาตรการป้องกันรวมทั้งมีกำลังและขีดความสามารถ ในการรับมือความถี่และความรุนแรงของภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
    2) ควบคุมและป้องกันอันตราย (control and protect against the hazard) พัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อป้องกัน
    3) กำกับและปรับการใช้ที่ดิน (regulate and adapt land use) ที่ผ่านมามีการใช้ที่ดินในการรับมือกับภัยน้ำท่วม และมาตรการจะช่วยให้บริหารจัดการกับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นอีกด้วย โดยเฉพาะในเมืองและนอกรอบ เช่น การมีพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ใกล้ตัวเมืองก็จะช่วยได้มาก
    4) เพิ่มความตระหนักรู้และการเตรียมความพร้อม (raise awareness to and increase preparedness) เช่น การมีระบบเตือนภัย
    5) บรรเทาหรือลดความเสี่ยง (mitigate hazard risk) แม้มีการปก้องกันดีแค่ไหน บางครั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้งยังเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ก็ควรมีแนวทางในการลดความเสี่ยงให้น้อยลง หรือมีการบรรเทาผลกระทบซึ่งมีเครื่องมือให้ใช้มากมาย เช่น การให้สินเชื่อบรรเทาผลกระทบ

นอกจากนี้ ควรมีการผลักดันนวัตกรรมให้มากขึ้น ทั้งแนวทางที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (nature-based solution) เช่น ในจีน สถาบันการเงินในเซี่ยงไฮ้ได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมใน 20 เมืองในการบริหารจัดการน้ำ

ธนาคารโลกเองก็ได้มีความคิดริเริ่มที่ชื่อว่า Water in Circular Economy and Resilience (WICER) โดย Global Water Practice เพื่อให้นำหลักการหมุนเวียนและความยืดหยุ่นไปใช้ในเมืองต่างๆ ทั่วโลก

“ในประเทศไทยเราได้ยินว่าระดับน้ำลงไปถึงระดับที่จะมีผลต่อความยั่งยืนของเรา ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เราต้องรักษาสมดุล ด้วยการคำนึงถึงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งใช้ได้กับบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องมีการหาแนวทางบรรเทาผลจากการขาดแคลนน้ำ” ดร.เชลลีกล่าว

ดร.เชลลีกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการให้ความสำคัญกับการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และถ้าจะให้ได้ประโยชน์จริง ต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นระบบมากขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เพื่อประเมินอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนจากกลยุทธ์และการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่แตกต่างกันแต่ละรูปแบบ

วิเคราะห์ต้นทุน-ประโยชน์ให้ชัด จัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกัน

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย Thailand Economic Monitor Building A Resilience Future:Cope with Droughts and Floods ของธนาคารโลกในส่วนที่เกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทยระบุว่า ประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียนมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 680 ราย ส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคน และสร้างความเสียหายและความสูญเสียต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท (46.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็น 12.6% ของ GDP

สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) (2563) ประเมินความสูญเสียจากอุทกภัยเฉลี่ยต่อปีคิดเป็นมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปัจจุบันกรุงเทพฯ และพื้นที่อุตสาหกรรมส่งออกโดยรอบยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับอุทกภัยแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการควบคุมแล้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาภัยแล้งเนื่องจากการขาดแคลนปริมาณน้ำฝน การลดลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำผิวดินและใต้ผิวดิน รวมทั้งการจัดการที่ดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงทั่วประเทศ ในปี 2522, 2537 และ 2542 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นภาคที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุด เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยแล้งมากที่สุด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความถี่และความรุนแรงของปัญหาอุกทกภัยในทศวรรษต่อไป รูปแบบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เพิ่มผลกระทบของปัญหาอุทกภัย แม้ว่าแบบจำลองจะยังมีความไม่แน่นอน แต่การคาดการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝนต่อปี

นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อปัญหาอุทกภัย และค่าความผิดปกติของฝนในปี 2560 สูงเกินกว่าในปี 2554 แล้ว โดยประเมินว่าในกรณีที่ไม่มีมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในรอบ 50 ปี เช่นเดียวกับกรณีของปี 2554 อาจรุนแรงขึ้นเป็นสองเท่า

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของปัญหาภัยแล้งในอนาคต ค่าเฉลี่ยจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคตแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 1.8 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 แม้ว่าปริมาณน้ำฝนทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนวันที่จะเกิดปัญหาภัยแล้งในช่วงนอกฤดูฝนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความถี่และความรุนแรงของภัยแล้งในอนาคต ประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อปัญหาภัยแล้งอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และความถี่ของ ‘ปัญหาภัยแล้งทางอุตุนิยมวิทยาที่รุนแรง’ จะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากปี 2593 ในฉากทัศน์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง

นอกจากนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการรุกล้ำของน้ำเค็ม (saline incursion) จะยิ่งทำให้ผลกระทบมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอุทกภัยและภัยแล้งเป็นจำนวนมากและจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ประมาณ 3.7% ของรายได้ภาษีในปี 2554 และ 2.6% ของรายได้รวมในปี 2555 ภาครัฐสูญเสียทรัพย์สิน จำนวน 141,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินประมาณ 388,000 ล้านบาท (3.4% ของ GDP) ในปี 2562 มีรายงานว่า รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 25,000 ล้านบาท (0.15% ของ GDP) ให้แก่เกษตรกรเพื่อชดเชยความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย นอกจากนี้ยังมีการประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีค่าใช้จ่ายจำนวน 60,000 ล้านบาท (0.36% ของ GDP) และเมื่อเวลาผ่านไป คาดว่าค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการชดเชย (ส่วนใหญ่ให้กับเกษตรกร) จะยิ่งเพิ่มขึ้นต้นทุนด้านเศรษฐกิจมหภาคจากปัญหาอุทกภัยจะเพิ่มขึ้น อุทกภัยในรอบ 50 ปี (เช่น กรณีอุกภัยในปี 2554) ในปี 2573 จะส่งผลต่อความสูญเสียด้านการผลิตมากกว่า 10% ของ GDP

เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความรุนแรงและความถี่ของปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน หากปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นในวงกว้างธุรกิจจำนวนมากจะต้องลดการผลิตลงในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัยและช่วงของการฟื้นฟู ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาอุทกภัย อาจถูกบีบให้ลดการผลิตลงเนื่องจากปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน การสูญเสียรายได้ยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อีกด้วย

โดยรวมแล้ว ผลกระทบจากอุทกภัยในรอบ 50 ปี อาจทำให้เกิดความสูญเสีย 10% ของการผลิต แต่หากไม่มีการปรับห่วงโซ่อุปทานเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ความสูญเสียด้านการผลิตอาจกลายเป็น 15% ดังนั้น การรักษาความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน จะช่วยให้ธุรกิจสามารถชดเชยผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยจะยังคงอยู่ หากไม่มีมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากรัฐบาล

ความคืบหน้าในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความท้าทายบางประการยังคงอยู่ตั้งแต่มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) การประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอุทกภัยและภัยแล้งก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ สทนช. ได้สนับสนุนการวางแผนมาตรการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีคำแนะนำอีกหลายประการจากการประเมินความต้องการหลังเกิดภัยพิบัติจากอุทกภัยในปี 2554 ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข กระบวนการปฏิรูปเชิงสถาบันและกฎหมายที่เริ่มต้นในปี 2560 เนื่องจากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ (2561) ยังมีผลใช้บังคับไม่สมบูรณ์ และภูมิทัศน์เชิงสถาบันยังคงมีความแยกส่วน เพราะแต่ละหน่วยงานต้องการปกป้องอำนาจหน้าที่ในส่วนที่ตนเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ มักจะเผชิญกับความท้าทายด้านการจัดหาเงินทุนและพนักงาน ซึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ การให้บริการ ตลอดจนการดำเนินการที่เหมาะสมและการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอายุมาก

การวิเคราะห์ต้นทุน-ผลประโยชน์ที่มีความชัดเจนมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเหมาะสม เครื่องมือดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในแง่จำนวนประชากรและเศรษฐกิจ มาตรการในการบริหารจัดการควรครอบคลุมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการที่มีความนุ่มนวล เช่น ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ และระบบการปรับตัวในระดับชุมชน กรอบการทำงานที่ครอบคลุมและมีการบูรณาการ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นสำคัญ 4 ประการใน An EPIC Response: Innovative Governance for Flood and Drought Risk Management (Browder et al., 2020) ได้แก่ 1) สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย 2) การจัดลำดับความสำคัญของแผนลดความเสี่ยง 3) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ และ 4) การควบคุมการใช้ที่ดินและน้ำ ความก้าวหน้าล่าสุดในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำ ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และแนวทางการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

ข้อแนะนำจากธนาคารโลกในการบริหารจัดการน้ำและลดความเสี่ยงภัยพิบัติประกอบด้วย
1) การป้องกันและการบริหารจัดการน้ำ สำหรับการจัดการความผันผวนทางอุทกวิทยาที่เพิ่มขึ้น

  • ปรับปรุงและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นขึ้น เช่น แผนการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ําเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งมีจํานวน 9 แผนงาน
  • เพิ่มการกักเก็บน้ำโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • กำหนดหน่วยงานหลักในการจัดการน้ำท่วมและภัยแล้ง
  • พัฒนาระบบติดตามภัยแล้งที่เชื่อถือได้
  • ใช้นวัตกรรมต่างๆ เช่น การบริหารจัดการที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ (nature-basedsolutions), การจัดการที่อาจใช้สิ่งป้องกันที่ทำจากคอนกรีตและเหล็ก (สีเทา) และการใช้พืชป้องกัน (สีเขียว) หรือ green-grey combined solutions การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่
  • ปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น แนวปะการังและป่าชายเลนเป็นเกราะป้องกันพายุตามธรรมชาติ

2) การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

  • ยกระดับและนำระบบเตือนภัยล่วงหน้ามาใช้ซึ่งปกป้องชีวิตและผลประโยชน์เกินต้นทุนโดยปัจจัยอย่างน้อย 4 ถึง 10
  • พิจารณาใช้ Parametric Insurance (การประกันที่จะมีการจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่อเกิดเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ตกลงกันไว้ เช่น เกิดน้ำท่วม หรือภัยพิบัติรูปแบบอื่นๆ) วงเงินสินเชื่อ และพันธบัตรภัยพิบัติ
  • ลงทุนในและใช้ประโยชน์จากแบบจำลองความเสี่ยงภัยพิบัติที่น่าจะเป็นเพื่อแจ้งการตัดสินใจเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ