ThaiPublica > เกาะกระแส > World Bank ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตดันหนี้สาธารณะแตะ 66% เตือนจะใช้ “พื้นที่ทางการคลัง” อย่างไร

World Bank ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตดันหนี้สาธารณะแตะ 66% เตือนจะใช้ “พื้นที่ทางการคลัง” อย่างไร

14 ธันวาคม 2023


ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี2566 เป็น 3.2% ในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคง แต่เตือนความท้าทายที่มีอยู่ทั่วโลก

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ธนาคารโลก (World Bank)เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ประจำเดือนธันวาคม 2566 Thailand Economic Monitor December 2023) เรื่อง “เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย – บทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน (Thailand’s Pathway to Carbon Neutrality – The Role of Carbon Pricing)” รายงานฉบับนี้จะเป็นการทบทวนการพัฒนาเศรษฐกิจล่าสุดของประเทศไทยปี 2566 และคาดการณ์ของปี 2567 โดยมุ่งเน้นในประเด็นที่ว่า ประเทศไทยจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถฟื้นตัวได้ท่ามกลางอุปสรรคอันท้าทายที่มีอยู่ทั่วโลก

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก นำเสนอ“แนวโน้มเศรษฐกิจไทย: แนวทางในการฟื้นตัว” ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามโตน้อยกว่าที่คาด 1.5% จากการลดลงของสินค้าคงคลัง ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เนื่องจากการส่งออกและการนำเข้าหดตัวลง แต่ยังมีตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การบริโภค

เศรษฐกิจที่อ่อนแอในไตรมาสที่สามซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมทุนที่ลดลงอย่างมากและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้เนื่องจากการส่งออกสินค้าหดตัว ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 2.6% ในปี 2565 เป็น 2.5% ในปี 2566

ในปี 2567 และพ.ศ. 2568 การเติบโตคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากประมาณ 2.5% ในปี 2566 เป็น 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคงคาดว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเติบโต การส่งออกสินค้าในปี 2567 คาดว่าจะฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ไว้ และภาวะการเงินโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม

  • ธนาคารโลก ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.4% หนี้ครัวเรือนกดดัน การคลังเข้าสู่สมดุลล่าช้า
  • การกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากประเทศจีน ส่งผลต่อแนวโน้มการท่องเที่ยว แม้ว่าการพื้นตัวจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกก็ตาม ในปี 2567 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 90% ของระดับก่อนการแพร่ระบาดในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 28.3 ล้านคนในปี
    2566

    ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า และมีช่องว่างระหว่างเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน 7-8% ของ GDP

    การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าและห่างจากประเทศในภูมิภาคจะระบุสาเหตุว่ามาจากเศรษฐกิจโลกอย่างเดียว ก็ไม่ได้ เพราะยังมีเศรษฐกิจประเทศอื่นในภูมิภาคโตเร็ว บางประเทศได้รับผลบวกจากสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาปรับสูงขึ้น เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ขณะที่เวียดนามได้รับผลบวกจาก Global value chain ห่วงโซ่อุปทานโลก ส่วนฟิลิปปินส์ก็เป็นเรื่องอุปสงค์ภายในประเทศ

    แต่ไทย มีความเปราะบางเชิงโครงสร้าง คือ พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างสูงถึง 13% ของ GDP และพึ่งพาพลังงานนำเข้าสูงสุดในอาเซียน ประมาณ 7% ของ GDP คือ น้ำมันเชื้อเพลิง (Fossil Fuel)และก๊าซ ส่งผลกระทบต่อเศรษบกิจไทยในปีนี้และปีที่ผ่านมา

    สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง การส่งออกอ่อนตัวลง ปริมาณการส่งออกลดลงจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ส่งผลให้การค้าขายโดยรวมจากอาเซียนไปสู่สหรัฐลดลง โดยเฉพาะช่วงหลังของ Inflation Reduction Act ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทย ให้ภาคอุตสาหกรรมติดลบ และยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิด อีกทั้งยังทิศทางที่ต่างจากภาคบริโภคและภาคบริการ

    ทางด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment -FDI) ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลในการดึง FDI ในภาคที่มีนวัตกรรม โดย FDI ที่ไหลเข้าไทยในหลายปีที่ผ่านมา ในปี 2020 มีจำนวนลดลง แต่ก็ดีขึ้นในช่วงหลัง ในแง่ยอดสะสม(stock) FDI ไทยสูงที่สุดในอาเซียน แต่ในแง่ยอดหมุนเวียน(Flow) ที่ไหลเข้ามาถือว่าค่อนข้างน้อย

    ดร. เกียรติพงศ์ กล่าวถึงดุลบัญชีเดินสะพัดว่า กลับมาเป็นบวกแต่ยังมีความเปราะบาง เพราะการส่งออกการนำเข้าหดตัว แต่มองไปข้างหน้าหากการท่องเที่ยวฟื้นตัวก็จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก อย่างไรก็ตามมองว่าการท่องเที่ยวจากจีนจะยังไม่กลับไปสู่ระดับเดิมในปี 2024-2025 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง

    ด้านเงินเฟ้อในช่วงกลางปีไทยมีเงินเฟ้อสูงที่สุดในอาเซียน 8% แต่ปัจจุบันกลับมาติดลบในช่วง 2 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศประมาณ 7% ของ GDP แต่ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีมาตรการตรึงราคาเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้เงินเฟ้อลดลงจากมาตรการลดค่าไฟฟ้า และติดลบ แต่มองไปข้างหน้าที่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อจะกลับไปอยู่ในเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

    ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ 1.1% ในปี 2567 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น แต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นและราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูงกลายเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ

    สำหรับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยสูงทั่วโลก ไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เมื่อพิจารณาจากตลาดพันธบัตร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำสุดของอาเซียน เงินเฟ้ออยู่ในกรอบและนโยบายของไทยมีความยั่งยืนพอสมควร

    ดร. เกียรติพงศ์ กล่าวถึงความท้าทายของเศรษฐกิจว่า จากการที่รัฐบาลมีมาตรการตรึงราคาก็มีประเด็นว่านโยบายการคลังมีความยั่งยืนหรือไม่ โดยเมื่อพิจารณาจากการขาดดุลทางการคลัง ก็ยังขาดดุลแต่ค่อยๆลดลง แต่เมื่อเทียบกับการคาดการณ์พื้นฐาน(baseline)แล้ว การเข้าสู่ความสมดุลทางการคลังช้าลง เพราะมีมาตรการตรึงราคาเพิ่มขึ้น ต้นทุนการคลังของเงินอุดหนุนน้ำมัน คิดเป็น 0.05-02% ของ GDP ซึ่งไม่ได้น้อย แต่ไม่มาก และไม่สูงเท่ากับอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย การแก้ไขในระยะยาวคือการลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

    ดร. เกียรติพงศ์ กล่าวว่า “ไทยยังมีความยั่งยืนทางการคลัง แต่ต้องมีทางเลือกต้องตัดสินใจว่าจะใช้พื้นที่ทางการคลังอย่างไร” เพื่อลงทุน เพื่่อดูแลสังคมผู้สูงอายุ

    ธนาคารโลกได้ประมาณการหนี้สาธารณะ โดยในกรณีที่มีการใช้จ่ายเพื่อดูแลสังคมอย่างเต็มที่ และลงทุนในภาคการศึกษาก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะไม่ยั่งยืน สูงถึงกว่า 100% ของ GDP แต่หากปรับนโยบายให้เจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็น หนี้สาธารณะก็จะลดลงจากระดับ 100% แต่หากไม่ทำอะไรเลยหนี้สาธารณะก็มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็ไม่โตอยู่ที่ระดับประมาณ 3%

    “ในกรณีที่น่าสนใจมาก คือ กรณีที่ดูแลภาคสังคม ลงทุนในมนุษย์ ดูแลสิ่งแวดล้อม และเพิ่มรายได้ จากการเก็บภาษีมากขึ้น ก็จะสามารถเพิ่มพื้นที่ทางการคลังและจะลดหนี้สาธารณะให้อยู่ที่ีะดับประมาณ 40% ของ GDP”

    สำหรับโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ซึ่งมูลค่าโครงการคิดเป็นประมาณ 2.7% ของ GDP นั้น ดร. เกียรติพงศ์ กล่าวว่า ไม่ได้นำมาคำนึงในการประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในกรณีฐาน

    “โดยการคาดการณ์เศรษฐกิจของธนาคารโลกสำหรับปีนี้อยู่ที่ 2.5% ปีหน้า 3.2% และ 3% ในปีถัดไป ไมไ่ด้รวม ดิจิทัลวอลเล็ต หากรวมดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะเพิ่มการเติบโต GDPได้ 1% แต่กระจายในช่วงเวลา 2 ปีระหว่างปี 2567 และ 2568”

    ตัวเลขนี้ได้จากกรณีตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งมองว่าประเทศที่มีผลกระทบเข้าสู่ GDP จะมีลักษณะโครงการที่เจาะจงและมีความครอบคลุมมาก ดังจะเห็นว่ามีผู้ที่มีสิทธิประมาณ 50 ล้านคน แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4% ถึง 5% ของ GDP ในขณะที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65% ถึง 66% ของ GDP จาก 62% GDP

    ดร. เกียรติพงศ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมี output gap การเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพหรือ output gap เมื่อเทียบกับก่อนโควิด และยังไม่กลับไปที่ศักยภาพอย่างเต็มที่ จึงมีคำถามว่าจะปิด gap ได้อย่างไร ซึ่งหากจะทำก็ต้องมีการลงทุน และการปฏิรูปประเทศ ต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการแข่งขันมากขึ้น ต้องมีการลงทุนในทุนมนุษย์มากขึ้น รวมทั้งต้องส่งเสริมให้มี FDI ในภาคส่วนที่มีนวัตกรรม และจากการที่หลายภาคส่วนพึ่งพาการบริการ หากมีการเปิดเสรีบริการมากขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

    และสุดท้ายฐานะการคลัง “ไทยยังมีจุดเด่นตรงที่ยังมีพื้นที่ทางการคลัง แต่พื้นที่ค่อยๆน้อยลง เพราะฉะนั้นต้องตัดสินใจให้ดีว่าความสำคัญอยู่ตรงไหน และสามารถเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง โดยการขยายภาษีได้ก็จะลงทุนในสิ่งแวดล้อมได้”

  • World Bank เผย 3 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย การเติบโตเต็มศักยภาพน่าห่วงสุด ขึ้นประเทศรายได้สูงช้ากว่าแผน 20 ปี
  • World Bank ประเมินไทยฟื้นตัวแม้เศรษฐกิจโลกชะลอ แนะเพิ่มพื้นที่ทางการคลังรองรับผลกระทบด้านลบในอนาคต