
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
นายกฯกลัวตอบเรื่องบัญชีทรัพย์สินผิด – ให้เบอร์นักข่าวถามทนาย เผยขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ช่วยลดรถยนต์ได้วันละ 5 แสนคัน เตรียมถก ‘สี จิ้นผิง’ ช่วยแก้คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นควันข้ามแดน มองเลือกตั้ง อบจ.เหมือนกีฬา -ไม่ห่วงกระทบพรรคร่วม ย้ำทุกกระทรวงให้ใช้เงินนอกงบฯ ก่อนขอรับจัดสรรงบฯปี’69 สั่ง รฟท.ศึกษารถไฟทางคู่ ‘หาดใหญ่-สุไหงโกลก’ มติ ครม.อนุมัติงบฯผูกพัน 125,232 ล้าน สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไฟเขียว พ.ร.ก.ปราบ ‘โกงออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ชง ‘วัดมหาธาตุฯ เมืองคอน’ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน 5 ปี 29,765 ล้าน ไฟเขียวงบฯ 16,961 ล้าน ก่อสร้าง ‘สถาบันการแพทย์ศิริราชนานาชาติ’ ต่ออายุ “อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ” นั่งเลขาฯ กพร.อีก 1 ปี
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและแถลงผลการประชุม ครม.มีรายละเอียดดังนี้
เห็นชอบ กม.ปราบคอลเซ็นเตอร์
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เรื่องการออก พ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาในรายละเอียดต่อไป
เคาะงบกลาง 620 ล้าน แก้ไฟป่า – PM2.5
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบกลางปี 2568 ภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ปี 2568 วงเงิน 620 ล้านบาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเร่งมือในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นละออง
จัดงบฯ 7.9 พันล้าน ให้ กสศ. เดินหน้า ‘Zero Dropout’
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2569 วงเงิน 7,987 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแผนการศึกษาและการเรียนรู้ให้เต็มศักยภาพ และแผนพัฒนาครู แผนการเสริมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย แผนการพัฒนาองค์ความรู้ และแผนอื่นๆ
“นโยบายของรัฐบาลก็สนับสนุนภาคการศึกษา Zero Dropout ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1.35 ล้านคน” นางสาวแพทองธาร กล่าว
เผยขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ช่วยลดรถยนต์ได้วันละ 5 แสนคัน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ได้นำเสนอแผนการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 และก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงแยกกันไปทำและดูว่าเกี่ยวข้องในเนื้องานกันอย่างไร รายละเอียด ดังนี้
-
• กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ และออกประกาศห้ามเผาและให้มีการบริหารจัดการซังข้าวโพด ต้นอ้อยแห้ง เป็นการฝังกลบแทนการเผา และให้ทำปุ๋ยอินทรีย์ และใช้เครื่องแพ็คฟาง ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง กระทรรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรฯ ในการเตรียมรับมือในการดับไฟป่า
• กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดูแลกลุ่มเปราะบางโดยให้หน้ากาก N95 และห้องที่ให้กลุ่มเปราะบางเข้ามาอยู่ได้
• กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติการเชิงรุกที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้งบกลางที่จัดสรรไปจัดจ้างบุคลากรที่เข้ามาดูแลพื้นที่ไฟป่า
• กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ให้มีการเผาในทุกพื้นที่เกษตร ถ้าพบเจอจะตัดการสนับสนุนเงินเยียวยาจากรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 – 31 พฤษภาคม 2569 นอกจากนี้ใช้ปฏิบัติการฝนหลวงลดฝุ่นละอองในอากาศ
• กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะมาตรการให้ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมาก และได้สำรวจแล้วว่ารถบนท้องถนนลดลง 500,000 คันต่อวัน
• กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขอความร่วมมือโรงงานและสมาคมชาวไร่อ้อยที่จะไม่ให้รับอ้อยจากการเผาเกิน 25% ต่อวัน โดยทุกโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
• กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับอาเซียน เช่น ลาว เมียนมา และมีกรอบความร่วมมือ Clear Sky Policy ในประเทศภูมิภาคเอเซีย และร่วมมือกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่จะร่วมมือทางเทคนิคและ know-how ว่าเทคโนโลยีแต่ละประเทศมีอะไรที่ซัพพอร์ตซึ่งกันและกันได้
จากนั้น ผู้สื่อข่าวถามถึงรายละเอียดที่นายกฯ ได้ฝากไปยังแต่ละกระทรวง โดยนางสาวแพทองธาร ตอบว่า “อย่างที่รายงานไป ทั้งกระทรวงอุตฯ กระทรวงอะไร ก็ติดตามอย่างใกล้ชิด เป็นงานของรัฐบาลและแต่ละกระทรวงตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ถ้ายังไงก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในแต่ละกระทรวงที่แจ้งไว้”
เตรียมถก ‘สี จิ้นผิง’ ช่วยแก้คอลเซ็นเตอร์-ฝุ่นควันข้ามแดน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 5 – 8 กุมภาพันธ์ 2568 โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “นี่เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะคุยกับจีน และคิดว่าจีนเองก็น่าจะอยากได้ความร่วมมือกับเราเช่นกัน เรากับจีนเป็นความสัมพันธ์แบบพี่น้องกันมาอยู่แล้ว อย่างไรก็มีเรื่องคอลเซ็นเตอร์และฝุ่นควันแน่นอน และการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไป เพราะปีนี้เป็น 50 ปีระหว่างไทยจีน และแน่นอนว่าถ้ามีโอกาสยังไงก็ต้องเปิดโอกาสเรื่องการค้าของไทยจีน เป็นประเด็นคร่าวๆ ที่คุยกันไว้”
“ถ้าคุยกับท่านสีเอง (สี จิ้นผิง) คงไม่ได้คุยในดีเทลที่มันละเอียดมากเกินไป อันนั้นคงส่งต่อให้ดีอีคุยต่อ แต่ตัวดิฉันเองก็เป็นห่วงเรื่องคอลเซ็นเตอร์ เรื่องอะไรก็ตามในหัวข้อหลัก” นางสาวแพทองธาร กล่าว
เมื่อถามถึงนายทักษิณกับประเทศจีน นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า “ที่คุณทักษิณกล่าว จริงๆ แล้วนโยบายของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้วในเรื่องการปราบ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฝุ่นควันหรืออะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งการได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านช่วยเร่ง process นี้ให้เร็วขึ้นแน่นอน”
“อย่างฝุ่นตอนนี้ประเทศเราถ้าดู hotspot เราดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต้องขอความร่วมมือกันต่อไปเพราะบางทีฝุ่นมันอยู่ในอากาศ ลมพัดมา ลมพัดไป จากเราไปหาเขา จากเขามาหาเรา มันก็ทำให้ส่งผลกระทบทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยความร่วมมือ และถ้าได้ความร่วมมือก็เกิดผลเร็วแน่นอน” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ถามต่อเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นควัน นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทางดีอีหารือโดยตรงแล้ว แน่นอนว่าที่ดิฉันไปเองต้องขอความร่วมมือเรื่องนี้อยู่แล้ว อย่างที่เราทำเป็นเอไอภาษาจีน เมื่อกี้จีนที่มาสวัสดีปีใหม่ก็บอกว่าได้รับผลการตอบรับอย่างดี เพราะคนจีนก็ชอบที่เราอยากจะสื่อสารกับเขาเป็นภาษาของเขา”
ถามต่อว่า รัฐบาลได้มอนิเตอร์ข่าวที่รายงานในประเทศจีนหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทำค่ะ ทำอยู่แล้วค่ะ ในการตั้งทีมมอนิเตอร์ว่ามีข่าวเท็จอะไรบ้างที่เกี่ยวกับประเทศเรา มันเป็นกลไกหนึ่งของดีอีอยู่แล้ว ของประเทศเลยว่าเราต้องป้องกันประเทศเราอย่างไร ไม่ให้ข่าวลือมา”
กลัวตอบเรื่องบัญชีทรัพย์สินผิด – ให้เบอร์นักข่าวไปถามทนาย
ผู้สื่อข่าวบอกว่า ขอถาม 2 ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน แต่ยังไม่ทันพูดจบ นางสาวแพทองธาร บอกว่า “ท่านนี้มาทีไร ‘ทรัพย์สิน’ ทุกทีเลย (หัวเราะ) เดี๋ยวเอาคอนแทรคทนายให้เลยดีกว่า เดี๋ยวดิฉันตอบผิด ดิฉันมีเบอร์ ฝากท่านเลขาให้หลังไมค์เลย เดี๋ยวดิฉันตอบผิด”
“เชิญอีกคำถามที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ค่ะ…ไม่มี ขอบคุณมากค่ะ ช่วยเซฟดิฉันด้วยนะคะ” นางสาวแพทองธาร กล่าว
มองเลือกตั้ง อบจ.เหมือนกีฬา ไม่ห่วงกระทบพรรคร่วม
เมื่อถามว่า ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกนายก อบจ. ว่ามีอะไรน่ากังวลหรือไม่ โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เราไม่มีอยู่แล้ว ถ้าพูดในนามหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เราก็หาเสียงเต็มที่ไปเพื่อจะหวังว่าคนของพรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสดูแลพี่น้องในท้องถิ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ เป็นทุกๆ คนทราบหน้าที่ตัวเองดีอยู่แล้ว ไม่ได้กังวลอะไร อย่างตำรวจก็ดูแลอยู่แล้ว สั่งการให้ดูแลท้องที่อยู่แล้ว”
ผู้สื่อข่าวบอกว่า นายทักษิณ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง หาเสียงอย่างดุเดือด ทำให้นางสาวแพทองธาร พูดว่า “ผู้ช่วยหาเสียงของดิฉันดุเดือดพอสมควรใช่ไหม ตัวจริงก็ใจดี เวลาหาเสียงทีไร ดุเดือดทุกที งงเหมือนกัน”
ถามต่อว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยหาเสียงแข่งกัน จะส่งผลกระทบต่อพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “การลงแข่งเลือกตั้งก็คือการกีฬา เหมือนกีฬาเลย ใครส่งทีมไหนก็เชียร์ทีมตัวเองให้ชนะ ไม่จำเป็นว่าต้องจบจากการกีฬาต้องโกรธกันเกลียดกัน อย่างการเมืองเราสู้ด้วยประเด็น ออกจากห้องก็มานั่งทานข้าวเหมือนเดิม ก็อย่ามองการเมืองให้มองหน้ากันไม่ได้เลย จริงๆ หาเสียงทุกคนทุกพรรคมีสิทธิที่จะส่ง เราก็เต็มที่กับการหาเสียงเท่านั้นเอง”
“ให้มองเหมือนกีฬาว่าทุกพรรคมีสิทธิส่ง รัฐบาลทำงานร่วมกันในเชิงนโยบาย เชิงการบริหารประเทศ พอถึงเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อจะผลักดันกฎหมาย นโยบายสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับประชาชน ส่วนการลงแข่งเลือกตั้งของท้องถิ่นเราเป็นคนละพรรคกัน” นางสาวแพทองธาร กล่าว
“อันนี้ชัดเจนอยู่แล้วไม่ต้องงง เราเป็นคนละพรรคกันอยู่แล้ว แต่เราคือรัฐบาลเดียวกัน งงไหม ไม่ต้องงง เพราะเราเป็นรัฐบาลหลายพรรคนั่นเอง” นางสาวแพทองธาร กล่าว
จี้พาณิชย์เร่งเปิด FTA ไทย – อียู
ด้านนายจิรายุ รายงานว่า จากการร่วมประชุม World Economic Forum 2025 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นการนำเอาศักยภาพของไทยในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ไปโชว์ในเวทีโลกครั้งนี้ ซึ่งคณะรัฐบาลและผู้แทนประเทศไทยในทุกภาคส่วนได้มีโอกาสพบผู้นำระดับประเทศหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ ภูฏาน มอนเตเนโกร สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ อาร์เมเนีย รวมถึงผู้นำภาคเอกชน เช่น Google, Bayer, DP world, Coca-Cola, AstraZeneca และ AWS รวมๆ แล้วกว่า 20 รายการตลอดการประชุม 3 วัน และได้แสดงศักยภาพของไทย 3 ด้าน คือ
-
• Logistic hub of Asia โดยเชิญชวนนักลงทุนว่าประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ได้เปรียบ มีความมั่นคง และเป็นกลางทางการเมือง รัฐบาลจึงได้สานต่อโครงการ Land Bridge รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รวมถึง Aviation hub ที่จะมีการสร้างสนามบินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากนโยบายในรัฐบาลนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน โดยขอให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนและเร่งรัดกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Landbridge เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งในเรื่องแผนงาน และกรอบระยะเวลาของโครงการต่อไป
• Kitchen of the World รัฐบาลได้มุ่งเน้นที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security สู่การเป็น World Food storage เพราะไทยมีผลผลิตทางการเกษตรที่เพียงพอและมั่นคง ซึ่งจะเป็น soft power ที่สำคัญของไทย ขอให้ ประทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำแผนร่วมกันเพื่อให้เกิดการส่งออกสินค้าเกษตรไทย และวัตถุดิบอาหารไทย ไปยังตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่าการส่งออก
• Green energy resources ประเทศไทยพร้อมในการผลักดันด้านพลังงานสะอาด รองรับการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น AWS, Google, Microsoft โดยพลังงานสะอาดถือเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน ขอให้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผน และแนวทางในการสร้างพลังงานสะอาด ที่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนจากต่างชาติ
นอกจากนั้น การเดินทางไปครั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ นายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ของประเทศไทย โดยได้มีการทำ Business Matching ที่จะให้บริษัทของไทย และต่างประเทศได้มีการร่วมทำธุรกิจ ตลอดจนหาแนวทางที่จะยกระดับศักยภาพของคนไทย Upskill / Reskill เพื่อรองรับ Future Industry ที่จะเกิดการลงทุนในไทย
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้คือ การลงนาม FTA Thai-EFTA โดยกระทรวงพาณิชย์จะทำให้การค้าการลงทุนของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ มีศักยภาพที่เพิ่มขึ้น
นายจิรายุ เสริมว่า นายกฯ ขอให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เร่งรัดการเจรจา FTA ในเขตการค้าอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA Thai-EU ให้สำเร็จโดยเร็ว
ยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีน เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน นายกฯ ขอให้ทุกกระทรวงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามภารกิจของกระทรวง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น เช่น
-
• ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาสถาปนาความสัมพันธ์แบบเมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดของไทยกับเมืองหรือมณฑลกับประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีอยู่แล้วถึง 38 คู่ความสัมพันธ์ โดยเพิ่มเป็น 50 คู่ความสัมพันธ์
• ให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาเร่งรัดกรณีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างไทยและ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศจีนได้ร้องขอให้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว
• ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัด Promotion ส่งเสริมการท่องเที่ยว ไทย-จีน
สั่ง รฟท.ศึกษารถไฟทางคู่ ‘หาดใหญ่-สุไหงโกลก’
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ให้ดำเนินการศึกษาเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วง อ.หาดใหญ่ไปยัง อ.สุไหงโกลก จากการที่นายกรัฐมนตรีไปตรวจราชการ และมีการประชุมที่จังหวัดยะลา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอเส้นทางรถไฟทางคู่ ระยะที่สอง ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อจากระยะที่หนึ่ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งในด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร
นายจิายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้การรถไฟฯ ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่ไปยังสุไหงโกลก โดยขอให้สำนักงบประมาณช่วยสนับสนุนงบประมาณในการศึกษา และออกแบบเบื้องต้นตามที่จำเป็นและเหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย
ย้ำทุกกระทรวงให้ใช้เงินนอกงบฯ ก่อนขอรับจัดสรรงบฯปี’69
นายจิรายุ กล่าวถึงเรื่องการเสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 ในวันนี้มีหน่วยรับงบประมาณที่เสนอคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีที่มีวงเงินตั้งแต่ 1000 ล้านบาทขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 มีอยู่อย่างจำกัด และมีภาระหนี้ที่เกือบชนเพดาน ตลอดจนเกิดภาระหนี้ผูกพันข้ามปีเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพ และสามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนตามนโยบายที่ได้ให้ไว้ขอมอบหมาย ดังนี้
-
• ให้รัฐมนตรี เจ้าสังกัดทุกท่านกำกับดูแลหน่วยรับงบประมาณให้จัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สุงสุดแก่ประชาชน รวมทั้ง พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลตลอดจนให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณ พิจารณานำเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ และเงินสะสม มาใช้ในการดำเนินภารกิจเป็นลำดับแรก
• ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน และสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศต่อไป
สั่ง อก.กวดขันการเผาอ้อย
นายจิรายุ กล่าวถึงข้อสั่งการเรื่องปัญหา PM 2.5 ว่า นายกฯ ขอให้แต่ละกระทรวงนำเสนอว่ามีมาตรการอะไรบ้าง และขอย้ำกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องอ้อย ซึ่งยังเห็นการเผาไร่อ้อยในบางพื้นที่ ดังนั้น ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมกวดขันเรื่องนี้ และหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ PM 2.5
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
ไฟเขียว พ.ร.ก.ปราบ ‘โกงออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์’
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงดีอีนำเสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีเหตุผลความเร่งด่วนตามการชี้แจง ในที่ประชุม ครม. ดังนี้
-
• รัฐบาลพบว่าประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60 – 70 ล้านบาท (ก่อนการดำเนินการมาตรการต่างๆ ของ ดศ. ภายใต้ รนรม. ประเสริฐ อยู่ที่ 100 – 120 ล้านบาทต่อวัน) จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ปัญหานี้
• พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ยังขาดอำนาจหน้าที่และการกำหนดโทษ หลาย ๆ ประเด็นโดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์ม P2P, อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน, และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
ทั้งนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้มีสาระสำคัญ ในการเสนอการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ดังนี้
-
1. เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
2. เพิ่มหน้าที่ให้ telco provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
3. เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
4. เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย
5. เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
6. เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงการประกาศใช้เป็น พ.ร.ก. ว่า จะสามารถจัดการกระบวนการหลอกลวงที่เป็นปัญหาสังคมอยู่ในขณะนี้ ได้อย่างไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้มีความเห็นอย่างไร
โดยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า “หาก ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าวได้”
ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. ดีอี รายงานในที่ประชุมว่ากฎหมายฉบับนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และจะสามารถป้องกันและปราบปรามได้มากยิ่งขึ้น
จากนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงดิจิทัล ฯเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับร่าง พ.ร.ก. ไปพิจารณาปรับรูปแบบ โดยให้รับความเห็นหน่วยงานไปประกอบการพิจารณาสำหรับร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้หลัง ครม. เห็นชอบ และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งเลขาธิการกฤษฎีกา ระบุจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คาดว่าประกาศบังคับใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือ เดือนหน้านี้
พ.ร.ก. ฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ อาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบกัน เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินการอีกทั้งยังมีมาตรการอื่นอีก เช่น การทำงานร่วมกับต่างประเทศในการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีฐานที่ตั้งบริเวณชายแดน ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลครั้ง ล่าสุดได้นำเสนอเรื่องนี้เป็นรายงานในที่ประชุม ซึ่งทุกประเทศก็เห็นพ้องในการยกระดับร่วมกันและถือว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงในโซเชียล เป็นภัยที่ทุกประเทศต้องตระหนัก จึงต้องทำงานร่วมกัน” นายจิรายุ กล่าว
รายละเอียดเหตุผลการตรา พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 (ฉบับปัจจุบัน) ยังมีมาตรการบังคับทางกฎหมายที่ยังไม่เพียงพอกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 – พ.ย. 67 มีจำนวนคดีออนไลน์รวม 402,542 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 42,662 ลบ. เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ก.ดิจิทัลฯ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยเพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ เช่น
-
1. ห้ามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending (P2P) โดยห้ามให้บริการซื้อขาย หรือ แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล เพื่อการใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์ และให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ปฏิเสธการเปิดบัญชี และระงับการให้บริการหรือการทำธุรกรรมกับ ลูกค้าที่มีรายชื่อ หรือ ใช้กระเป้าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ลดปัญหาการฟอกเงินโดยนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล)
2. ให้ สนง.กสทช. หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีหน้าที่สั่งระงับการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือ เป็นการชั่วคราว เมื่อพบเหตุอันควรสงสัย
3. ให้สถาบันการเงิน หรือ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หากหน่วยงานดังกล่าว ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังที่พึงปฏิบัติในวิชาชีพ
4. ให้อำนาจแก่คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน เป็นผู้พิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย โดยไม่ต้องรอให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล เพื่อพิจารณามีคำสั่งถึงที่สุดก่อน
อนุมัติงบฯผูกพัน 125,232 ล้าน สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีอนุมัติให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) รวม 35 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 286,791.84 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการปี 2569-2574) โดยมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 55,003.85 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
ในครั้งนี้ คค. โดย ทล. ทช. รฟท. รฟม. และ สทร. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 35 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2569-2574 รวมวงเงินทั้งสิ้น 286,971.84 ล้านบาท โดยจะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 55,003.85 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สรุปได้ ดังนี้
1) ทล. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 30 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2572 วงเงินรวม 60,630 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเพิ่มช่องจราจร รวมถึงบูรณะและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่ง ทล. จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 12,126 ล้านบาท
2) ทช. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 2 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2571 วงเงินรวม 3,600 ล้านบาท โดยจะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 720 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่ง ทช. จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 720 ล้านบาท
3) รฟท. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 1 โครงการ คือ รายการเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2573 วงเงินรวม 125,232.45 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวเป็นการ ดำเนินการให้สอดคล้องกับการแก้ไขเงื่อนไขของสัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จากเดิมรัฐจะแบ่งจ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง เป็นรัฐจะจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท. ตรวจรับ ซึ่ง รฟท. จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 21,014.92 ล้านบาท ดังนี้
4) รฟม. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ รายการเงินสนับสนุนค่างานโยธาตามสัมปทานฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรม ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2574 วงเงินรวม 95,432.04 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (28 มกราคม 2563) อนุมัติให้ดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยกำหนดให้การก่อสร้างงานโยธาในช่วงตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ – สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) งานจัดหาระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งระบบจัดอยู่ภายใต้สัญญาเดียวกันในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานก่อสร้าง งานโยธาในช่วงตะวันออก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – สถานีสุวินทวงศ์) และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก และเอกชนลงทุนค่างานก่อสร้างงานโยธาในช่วงตะวันตก และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษา และเห็นชอบสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง โดยกำหนดวงเงินค่างานโยธาที่รัฐจะสนับสนุนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ภายในวงเงิน 91,983 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นวงเงินสำรองจ่าย (Provisional Sum) จำนวน 4,029 ล้านบาท หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายให้พิจารณาตามขั้นตอน ทั้งนี้ รฟม. จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 20,223.13 ล้านบาท ดังนี้ วงเงินงบประมาณ (ล้านบาท) ดังนี้
5) สทร. ได้เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการพัฒนารถไฟต้นแบบตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2569-2571 วงเงินรวม 1,897.35 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบาย คค. ที่มุ่งเน้นผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถไฟด้วยตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรฐานระดับโลก เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและเพื่อขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค รวมถึงสามารถออกแบบการผลิตให้ตรงกับความต้องการภายในประเทศ นอกจากนี้การก่อสร้างรถไฟยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการด้านการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ภายในประเทศด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้มีศักยภาพพร้อมขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมราง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้ไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่ง สทร. จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 919.80 ล้านบาท ดังนี้
ตั้งงบฯผูกพันสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำ 8,167 ล้าน
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน รายการ (ภายใต้โครงการ จำนวน 4 โครงการ) วงเงินรวม 1,633.39 ล้านบาท (จากวงเงินที่ขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรวมจำนวน 8,166.97 ล้านบาท) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
-
1. โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จังหวัดน่าน ใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในฤดูแล้งและบรรเทาปัญหาอุทกภัย (เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น) จำนวน 2,441.65 ล้านบาท ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้วได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงาน Environmental Impact Assessment (EA) แล้ว
2. โครงการปรับปรุงคลองชักแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนและช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย (ปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา สัญญาที่ 1) จำนวน 1,215.32 ล้านบาท ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้วจะดำเนินการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมประมาณ 850 แปลงเนื้อที่ประมาณ 1,386-3-35 ไร่และไม่เข้าข่ายจัดทำรายงาน EIA
3. โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ชลประทานบริเวณ 2 ฝั่งคลองชลประทาน (ระบบส่งน้ำสายซอยพร้อมอาคารประกอบพื้นที่ฝั่งซ้าย สัญญาที่ 1) จำนวน 2,050.00 ล้านบาท ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้ว สำรวจรังวัดที่ดินแล้ว 2,637 แปลง จ่ายค่าที่ดินและค่ารื้อย้ายสิ่งก่อสร้างแล้ว 117 แปลง เนื้อที่ 121 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว
4. โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกทะเลอ่าวไทยให้รวดเร็วขึ้น (ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 พร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 1) จำนวน 2,460.00 ล้านบาท ดำเนินการออกแบบเสร็จแล้วจะดำเนินการจัดหาที่ดินประมาณ 682 แปลง เนื้อที่ประมาณ 637-1-80 ไร่ เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี และไม่เข้าข่ายจัดทำรายงาน EIA
“การขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป จำนวน 4 รายการ (ภายใต้โครงการจำนวน 4 โครงการ) ที่ กษ. เสนอมาในครั้งนี้ มีจำนวน 3 รายการ ที่เคยขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แต่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำ น้ำกิ จังหวัดน่าน โครงการปรับปรุงคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา จังหวัดสุโขทัย และโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ กษ. จึงเสนอขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2569 ภายใต้กรอบวงเงินเดิม” นายอนุกูล กล่าว
จัด ครม.สัญจรลงพื้นที่ 4 จว.ใต้ฝั่งอ่าวไทย 18 ก.พ.นี้
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบกำหนดการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 ณ จังหวัดสงขลา ในวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา) ระหว่างวันอาทิตย์ที่ 16 – วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568
นายอนุกูล กล่าวว่า ประเด็นการตรวจราชการสำคัญในครั้งนี้ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาการเกษตรสู่เกษตรทันสมัยและเกษตรมูลค่าสูง (ด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ สมุนไพร และไม้เศรษฐกิจ) (2) การพัฒนาการท่องเที่ยวและท่องเที่ยวชุมชนสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน (3) การพัฒนาอุตสาหกรรม เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) การค้า การลงทุนและการค้าชายแดน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัด (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งโลจิสติกส์ เครือข่ายการสื่อสาร และพลังงาน เพื่อเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มจังหวัด (5) การพัฒนาสังคมสู่สังคมเป็นสุข และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และ (6) การฟื้นฟูอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้
อนุมัติงบฯผูกพัน 3,140 ล้าน สร้าง รพ.สงขลาฯที่ภูเก็ต
ครม.อนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต (พ.ศ. 2569 – 2572) วงเงินงบประมาณ 3,140.31 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2569 – 2572) โดยขอผูกพันงบประมาณ ดังนี้
-
• ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 749.50 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 1,031.89 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ พ.ศ. 2571 จำนวน 938.92 ล้านบาท
• ปีงบประมาณ พ.ศ. 2572 จำนวน 420.00 ล้านบาท
2. ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อสำนักงบประมาณ (สงป.)
นายอนุกูล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีภารกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติของประเทศ โดยในปัจจุบันพบว่า พื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มพื้นที่อันดามัน เกิดปัญหาเกี่ยวกับช่องว่างของระบบสาธารณสุขที่ยังขาดความพร้อมของบุคลากรที่มีความสามารถในการดูแลรักษาโรคที่มีความซับซ้อนในพื้นที่ รวมทั้งขาดกำลังคนตัวด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาธารณสุขเพื่อรองรับการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะการตอบสนองการท่องเที่ยวมูลค่าสูง หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้จัดทำแผนการผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนทางด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพและสาธารณสุข ตลอดจนการร่วมพัฒนาศักยภาพกำลังคนในพื้นที่อันดามันและภาคใต้ในลักษณะการยกระดับทักษะการทำงาน (Upskill) การปรับปรุงและฝึกฝนทักษะการทำงานเดิม (Reskill) และการเพิ่มเติมทักษะการทำงานใหม่ (Newskill) ให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในระบบสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งมีเป้าหมายในการเป็นสถาบันหลักที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมเชิงการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ สาธารณสุข และการบริการสุขภาพที่หลากหลายให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งหลอมรวมเป็นบริบทการพัฒนาอันเข้มแข็งและเป็นเอกลักษณ์แก่พื้นที่ภาคใต้ การหนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าสูงภายใต้หมุดหมายของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโลกหรือ Medical Hub ของประเทศไทย (ไทย) ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20
“โครงการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต เป็นการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ เฉพาะทางขนาด 300 เตียง เน้นการบริการในระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) การแพทย์แม่นยำ การแพทย์ทางไกล และการบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับ Premium ซึ่งเป็นการให้บริการรักษาแบบเฉพาะทางและโรคที่มีความซับซ้อนเพื่อเสริมการให้บริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในพื้นที่อันดามัน รวมถึงการผลิตและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Phuket Health Sandbox ” นายอนุกูล กล่าว
ชง ‘วัดมหาธาตุฯ เมืองคอน’ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช” เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก
2. เห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงนามในเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
3. กรณีที่ศูนย์มรดกโลกมีความเห็นต่อความครบถ้วนสมบูรณ์ (Complete) ของเอกสารนำเสนอฯ และมีข้อเสนอแนะในการปรับแก้ไขเอกสารโดยไม่กระทบต่อสาระสำคัญของเอกสารนำเสนอฯ โดยหากกรมศิลปากรพิจารณาแล้วไม่กระทบต่อสาระสำคัญของเอกสารนำเสนอฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เห็นควรให้กรมศิลปากรดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวตามความเห็นของศูนย์มรดกโลก โดยพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนนำเสนอเอกสารดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเรียนคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ก่อนจัดส่งให้ศูนย์มรดกโลก ตามรอบการจัดส่งภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ต่อไป (ประเทศไทยต้องเสนอเอกสารนำเสนอฯ ต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้การขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสามารถดำเนินการได้ทันภายในรอบการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกปี 2568)
ผ่อนคลายระเบียบ “ถังเก็บน้ำมันดีเซล”
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556 โดยแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ไม่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ถังเก็บน้ำมันดีเซล ชนิดที่ไวไฟมากกว่า เก็บน้ำมันดีเซลชนิดที่ไวไฟน้อยกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน และเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3
โดย ตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17 (3) กำหนดให้กิจการควบคุมประเภทที่ 3 ได้แก่ กิจการที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะประกอบการได้ เช่น คลังน้ำมัน ปั๊มน้ำมัน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว เห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง โดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สศก.) ได้ตรวจพิจารณาร่างกำกระทรวงดังกล่าวเป็นการล่วงหน้า และกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณมีความเห็นว่า พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งประชาสัมพันธ์การแก้ไขข้อกฎหมาย สร้างความรู้ความเข้าใจและกำกับติดตามให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
อนุมัติโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน 15,990 ล้าน
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
-
1. อนุมัติในหลักการโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (GeV) และห้องปฏิบัติการ (โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนฯ)
2. อนุมัติวงเงินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนฯ โดยให้รวมค่าที่ปรึกษาในการคาดการณ์ราคาโดยวิเคราะห์แนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจ (Price Escalation) งบสำรองสำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงไว้ก่อนได้ (Physical Contingency) ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรนำเข้า ค่างานออกแบบอาคารในสถานที่ตั้งใหม่ ค่าเช่าที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคลากรดำเนินงาน ลูกจ้างโครงการ การตลาด ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวนรวมทั้งสิ้น 15,990 ล้านบาท โดยเป็นรายการลงทุนจำนวน 14,365.43 ล้านบาท และรายการดำเนินงาน จำนวน 1,624.57 ล้านบาท
3. อนุมัติให้สถานบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สถาบันฯ) นำค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว ตามข้อ 2 ตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อสำนักงบประมาณ (สงป)
4. มอบหมายให้ สงป. จัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมและให้กระทรวงการคลัง (กค.) ประสานงานแหล่งเงินกู้ต่อไป
ประโยชน์ที่จะได้รับ
-
1. การพัฒนาและวิจัยของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจากการมีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลดล็อกองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร การแพทย์ สุขภาพ พลังงาน สิ่งแวดล้อม
2. ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศสู่อุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลิตอุปกรณ์ภายในประเทศมากกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และเป็นรากฐานสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เทคโนโลยีการรักษามะเร็งด้วยโปรตอน เทคโนโลยีการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก
3. พัฒนากำลังคนภายในประเทศให้มีความสามารถและความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์สำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนและระบบลำเลียงและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีซินโครตรอนในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม
ตั้งงบฯผูกพัน 4,215 ล้าน ยกระดับการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล – เครดิตพอร์ตโฟลิโอ
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติโครงการก่อหนี้ผูกพัน ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
-
1. เห็นชอบให้ ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะ และเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital SklUCredit Portfolio: Empowering Educations) (โครงการระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะ และเครดิตพอร์ตโฟลิโอฯ) งบประมาณจำนวน 4,214.74 ล้านบาท
2. อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการระบบดิจิทัล พัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2573 วงเงินทั้งสิ้น 4,214.74 ล้านบาท โดยขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 1,906.53 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอฯ และส่วนที่เหลือ จำนวน 2,308.21 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2570 – 2573
ประโยชน์ที่จะได้รับ
-
(1) ผู้เรียนได้รับการเสริมสร้างให้มีทักษะ และคุณลักษณะที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งฝึกฝนความสามารถที่สามารถนําไปใช้ในการทำงาน และสร้างเสริมทักษะด้านอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการที่สำคัญของประเทศ
(2) ครูและบุคลากรทางการศึกษามีเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการจัดการเรียนรู้ โดยปรับบทบาทสู่การเป็นผู้สนับสนุนที่กระตุ้นความสนใจชี้แนะแนวทาง และส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
(3) สร้างโอกาสให้กับนักเรียนในการเตรียมความพร้อมและทักษะ เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
(4) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม
(5) สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นหาความสนใจ เพิ่มพูนทักษะและสามารถเข้าถึงการศึกษาและหลักสูตรตามความถนัดที่มีความสอดคล้องตรงตามความต้องการของตลาด
(6) สร้างมาตรฐานและลดภาระของผู้เรียนในการเตรียมตัว และจัดทำพอร์ตโฟลิโอ สำหรับใช้ประกอบการสมัครเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น
จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน 5 ปี 29,765 ล้าน
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ/อนุมัติ โครงการก่อหนี้ผูกพัน ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
-
1. เห็นชอบให้ ศธ. ดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 (โครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ ระยะที่ 2) งบประมาณจำนวน 29,765.25 ล้านบาท
2. อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ ระยะที่ 2 เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2573 วงเงินทั้งสิ้น 29,765.25 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 5,953.05 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์ฯ ระยะที่ 2 และส่วนที่เหลือจำนวน 23,812.20 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 – 2573 ต่อไป
นายคารม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับจัดสรรงบประมาณ 482.26 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา : กิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (เป็นรายการปีเดียว ไม่ผูกพันงบประมาณ) โดยมีผลการดำเนินงาน เช่น เช่าใช้ระบบคลาวด์ จ้างที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (NDLP) สำหรับโรงเรียนคุณภาพในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 349 โรงเรียน [ไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเช่าใช้อุปกรณ์การเรียนการสอน (อุปกรณ์)] ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมจำนวน 3,395.47 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : กิจกรรมจัดหา อุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2572 (ผูกพัน 5 ปี) เพื่อดำเนินกิจกรรม ดังนี้
-
(1) การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เช่น การเช่าใช้ระบบประมวลผลแบบคลาวด์ การจัดทำนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ และ
(2) การจัดหาอุปกรณ์ฯ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) เพื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าว
ในครั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้กระทรวงศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในส่วนของการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา โดยวิธีการเช่า โดยขออนุมัติก่อหนี้ผูกผันข้ามปีงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2573 วงเงินทั้งสิ้น 29,765.25 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 5,953.05 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ และส่วนที่เหลือจำนวน 23,812.20 ล้านบาท ขอผูกผันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 – 2573 ต่อไป (ปีละ 5,953.05 ล้านบาท)
ประโยชน์ที่จะได้รับ
-
(1) นักเรียนและครูผู้สอนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่สามารถเข้าใช้ NDLP สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ที่มีคุณภาพ
(2) นักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนสามารถพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับโลกการทำงาน รวมถึงทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
(3) ส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่ โดยปรับบทบาทจาก “ครูสอน” เป็น “โค้ช” หรือ “ผู้อํานวยการการเรียนรู้” ทำหน้าที่กระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ แนะนําวิธีเรียนรู้ และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ รวมทั้งออกแบบกิจกรรม และสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ตลอดจนมีเครื่องมือและระบบการจัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและทันสมัย
ไฟเขียวงบฯ 16,961 ล้าน ก่อสร้าง ‘สถาบันการแพทย์ศิริราชนานาชาติ’
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
-
1. การดำเนินโครงการสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลฯ) (โครงการฯ) (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2574) งบประมาณจำนวน 16,960.59 ล้านบาท [แบ่งเป็นงบลงทุน ได้แก่ ค่าก่อสร้าง 7,720.00 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ทางการแพทย์และครุภัณฑ์สารสนเทศ 8,430.00 ล้านบาท และงบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 810.59 ล้านบาท] และสนับสนุนโครงการฯ ให้แล้วเสร็จ โดยขออนุมัติจากเงินงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2574 จำนวน 11,048.33 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ จำนวน 5,912.27 ล้านบาท
2. ให้มหาวิทยาลัยมหิดลนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ตามข้อ 1 ตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อสำนักงบประมาณ (สงป.)
นายคารม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการสถาบันการแพทย์ศิริราชระดับนานาชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลฯ) (โครงการฯ) (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2574) งบประมาณรวม 16,960.59 ล้านบาท [แบ่งเป็นงบลงทุน ค่าก่อสร้าง 7,720.00 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ทางการแพทย์และครุภัณฑ์สารสนเทศ 8,430.00 ล้านบาท และงบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 810.59 ล้านบาท] โดยเป็นเงินงบประมาณ จำนวน11,048.33 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ จำนวน 5,912.27 ล้านบาท รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยมหิดลนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการดังกล่าว ตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อสำนักงบประมาณ (สงป.) โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในทวีปเอเชีย ส่งมอบการบริการทางการแพทย์ชั้นสูงระดับเหนือตติยภูมิ มีมาตรฐานระดับสากล สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต รวมทั้งเป็นศูนย์การฝึกอบรมตามมาตรฐานสากลสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ โครงการฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
-
(1) เป็นสถาบันการแพทย์ภาครัฐแห่งแรกของประเทศไทยที่เป็นต้นแบบ และเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับเหนือตติยภูมิ เป็นที่ยอมรับและทัดเที่ยมในระดับสากล
(2) ยกระดับการเป็นสถาบันทางการแพทย์ระดับชั้นนำของประเทศ สร้างศักยภาพในการเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งอ้างอิงด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเป็นศูนย์การฝึกอบรมระดับนานาชาติตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นผู้นำในวงการสาธารณสุขไทยและระบบสุขภาพระดับโลก
(3) ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 6 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2574 และระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2573
ผ่าน กม.ให้นายจ้างจ่าย OT รปภ.-วันหยุดรับ 2.5 เท่า
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการกำหนดค่าล่วงเวลา และค่าตอบแทนการทำงานที่เกินกว่าแปดชั่วโมงในงานเฝ้าดูแลสถานที่ หรือ ทรัพย์สิน อันเป็นหน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
นายคารม กล่าวว่า กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงาน กรณีทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมงในงานเฝ้าดูแลสถานที่ หรือ ทรัพย์สิน อันเป็นหน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้างในวันทำงานปกติ ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 1.25 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง และสำหรับการทำงานในวันหยุด ให้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดสำหรับการทำงาน 8 ชั่วโมงและค่าล่วงเวลาในอัตราไม่น้อยกว่า 2.5 เท่า เพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของค่าตอบแทนในการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ทั้งนี้ กรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกำหนดเวลาทำงานปกติเกินกว่า 8 ชั่วโมง เมื่อรวมเวลาทำงานปกติต่อสัปดาห์แล้วจะต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง (เดิม ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันทำงานและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ) โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 365 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันหยุด พ.ศ. 2552
ขยายเวลาจ่ายเงินสมทบ สปส.ในพื้นที่น้ำท่วม 3 จว.ภาคใต้
นายคารม กล่าวว่า ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงจากวาตภัยและอุทกภัยเพิ่มเติม รวม 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และพัทลุง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและผู้ประกันตนในงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ถึงงวดเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ขยายออกเป็นถึง 15 มีนาคม 2568 – 15 มิถุนายน 2568 ตามลำดับ
สำหรับร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการลดหย่อนการออกเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงเพิ่มเติม รวม 3 จังหวัดดังกล่าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและผู้ประกันตน โดยให้การลดหย่อนการออกเงินสมทบมีผลใช้บังคับในงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ถึงงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 (ซึ่งในงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เดิมในส่วนนายจ้างซึ่งขึ้นทะเบียนนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนจะต้องนำส่งร้อยละ5 ซึ่งตามร่างประกาศฉบับนี้ลดให้เหลือร้อยละ 3 และเดิมในส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินสมทบ จากเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 283 บาท ทั้งนี้ ให้มาตรการลดหย่อนนี้มีระยะเวลา 6 เดือน และไม่กระทบต่อเงินสมทบของรัฐบาล)
ทั้งนี้ ร่างประกาศรวม 2 ฉบับในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้วสำหรับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบและการลดหย่อนการออกเงินสมทบจะทำให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง อย่างไรก็ดี การขยายระยะเวลาดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาภาระด้านการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน และการปรับลดอัตราเงินสมทบดังกล่าวจะส่งผลดีต่อนายจ้างและผู้ประกันตนในส่วนของนายจ้างจะเป็นการช่วยแบ่งเบาและลดภาระค่าใช้จ่ายในสถานประกอบการ โดยส่งผลให้นายจ้างมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นสามารถนำเงินดังกล่าวมาฟื้นฟูสถานประกอบการจากความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากภัยพิบัติ ส่วนผู้ประกันตนสามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจและลดปัญหาสภาพคล่องและปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตน เพื่อให้สามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้จ่ายเพื่อช่วยลดความเสียหาย อันเกิดจากภัยพิบัติและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ที่ได้รับผลกระทบจากการประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงจากกรณีวาตภัยและอุทกภัย
ต่ออายุ “อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ” นั่งเลขาฯ กพร.อีก 1 ปี
นายคารม กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายปรีชา เวชศาสตร์ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ วิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) กำกับการบริหารราชการ สั่งและปฏิบัติราชการสำนักงาน ก.พ.ร. ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง เลขาธิการ ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ.ร.สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบการต่อเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2569
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวภคนันท์ ศิลาอาสน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้ง นางศศิพร ปาณิกบุตร ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทระทรวง
2. นายอุเทน ชนะกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้
-
1. นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2. นายวิศรุต ปู่เพ็ง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
3. นายพิษณุ พลธี ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ [ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)]
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
7. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายกองเอก วิสาร เตชะธีราวัฒน์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยแล้ว
8. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดที่ดิน (กระทรวงมหาดไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการจัดที่ดิน จำนวน 7 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้
-
1. นายสมมาตร มณีหยัน (ด้านการจัดการที่ดิน)
2. นายสมโสถติ์ ดำเนินงาม (ด้านทรัพยากรดิน)
3. นายนภดล ตันติเมฆิน (ด้านการปฏิรูปที่ดิน)
4. นายมนต์สังข์ ภู่ศิริวัฒน์ (ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
5. นายณรงค์ สืบตระกูล (ด้านกฎหมาย)
6. นางศุปกิจ สกลเสาวภาคย์ (ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ)
7. นายจุมพล ริมสาคร (ด้านเศรษฐศาสตร์)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
9. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เสนอแต่งตั้ง นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารจัดการและทรัพยากรบุคคล) ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แทน นายวุฒิรักษ์ เดชะพงษ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2568 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทคงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 28 มกราคม 2568 เพิ่มเติม