ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยันไม่ได้รับสัญญาณดีล “ทักษิณ” กลับไทย – มติ ครม.สั่งหน่วยงานรัฐให้บริการ ปชช.ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

นายกฯยันไม่ได้รับสัญญาณดีล “ทักษิณ” กลับไทย – มติ ครม.สั่งหน่วยงานรัฐให้บริการ ปชช.ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

9 พฤษภาคม 2023


เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯยันไม่ได้รับสัญญาณดีล “ทักษิณ” กลับไทย
  • แจงยิงเลเซอร์หาเสียง สะพานพระราม 8 รทสช.ไม่รู้เรื่อง
  • ปัดหารือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
  • โยน กกต.แจงปัญหาจัดเลือกตั้งล่วงหน้าเอง
  • มติ ครม.สั่งหน่วยงานรัฐให้บริการ ปชช.ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง
  • เห็นชอบปฏิญญาอาเซียนผลักดันระบบการชำระเงินในภูมิภาค
  • ตั้ง “วิชาวัฒน์ อิศรภักดี” ประธาน “ฟุลไบรท์”
  • เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    แจงยิงเลเซอร์หาเสียง สะพานพระราม 8 รทสช.ไม่รู้เรื่อง

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการยิงเลเซอร์เชิญชวนให้ประชาชนเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติว่า “ตอนนี้ทางพรรคกำลังจะชี้แจง ต้องไปดูว่ากฎหมายเขียนไว้ว่าอย่างไร ซึ่งทางพรรคไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน เข้าใจว่าเป็นความหวังดีของคนทำ

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าได้พูดคุยกับนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรครวมไทยสร้างชาติแล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ต้องคุยสิ คุยกันแล้วเมื่อเช้า ถามเรื่องดีๆกันบ้างได้ไหม”

    ปัดหารือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย พลเอก ประยุทธ์ ถามกลับว่า “ผลการเลือกตั้งออกมาหรือยัง ซึ่งก็ยัง และได้มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองหรือยัง ซึ่งก็ยังอีก ผลเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ ดังนั้น มันควรจะเป็นไปในสิ่งที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น”

    ถามต่อว่า นายกฯจะไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยใช่หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ยังไม่ได้มีการหารือกันในเรื่องนี้ ยังไม่มี แต่จะพยายามทำในสิ่งที่ดี และถูกต้อง ขอให้ทุกคนช่วยกันทำให้บ้านเมืองปลอดภัยอยู่ในความสงบเรียบร้อย อย่าทะเลาะกัน อย่าตีกัน เพราะประชาชนทุกคนฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าใครจะได้เข้ามาบริหารประเทศ ขอให้ช่วยกันทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน”

    โยน กกต.แจงปัญหาจัดเลือกตั้งล่วงหน้าเอง

    พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกโจมตี จากความผิดพลาดในการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า “ต้องตรวจสอบกันเอง กกต.ต้องชี้แจง ขอให้ฟังเหตุผลกันบ้าง ผมคิดว่า กกต.ก็ตั้งใจทำหน้าที่ แต่การทำอะไร เพื่อคนหมู่มาก อาจมีปัญหา แต่ก็ต้องแก้ไข”

    ถามว่า กกต. จะไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งเหมือนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็มีกติกาอยู่ หรือ เปล่าหล่ะ เขาเขียนมาแล้วใช่ไหม ของเดิม ก็คือ ของเดิมของใหม่ ก็คือ ของใหม่ เป็นเรื่องของ กกต.เขา”

    ถามต่อว่า เป็นเรื่องใหม่และกระชั้นชิดเกินไป เพราะใกล้วันเลือกตั้งหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต. ส่วนจะเป็นการสร้างเงื่อนไขทำให้การเลือกตั้งไม่โปร่งใสหรือไม่นั้น ก็ต้องไปดู ความไม่โปร่งใสมีตั้งหลายอย่าง

    เมื่อถามถึงงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ ตอบย้ำว่า “เป็นเรื่องของ กกต. ผมก็ให้งบประมาณไป เป็นเรื่องของ กกต. ที่จัดการการเลือกตั้งไม่ใช่หรือ ผมไม่มีสิทธิไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว มันอยู่ที่พวกเรา ทุกอย่างมันมีปัญหาหมด การทำอะไรเพื่อคนเยอะๆ ก็มีปัญหา ก็สุดแล้วแต่จะชี้แจงว่าอะไร ชี้แจงได้ก็จบ ไม่เป็นเรื่อง ชี้แจงไม่ได้ก็เป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ มีแค่นี้”

    ยืนยันไม่ได้รับสัญญาณ – ดีล “ทักษิณ” กลับไทย

    พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวิตข้อความในทวิตเตอร์ขออนุญาตกลับมาเลี้ยงหลานในกรกฎาคมนี้ และจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมว่า “ไม่ได้อ่าน ช่วงนี้ไม่ได้อ่าน”

    ถามต่อว่า ในทางปฏิบัติ ถ้านายทักษิณกลับมาในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการจะประเมิน และดำเนินการอย่างไร โดยพลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ต้องดูว่าเขากลับมาด้วยเหตุผลอะไร ก็สุดแล้วแต่กระบวนการยุติธรรม”

    ถามต่อว่า ช่วงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นรัฐบาลรักษาการ อาจถูกมองเจตนาเป็นอย่างอื่น พลเอกประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า “ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม ผมไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับศาล”

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าไม่ได้มีสัญญาณส่งตรงมาถึงพลเอกประยุทธ์ เพื่อดีลกันใช่หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “เขาส่งมาทางไหน มาทางอากาศ หรือ ผมไม่ได้รับคลื่นตรงนี้กลับมา

    พลเอกประยุทธ์ ยังย้ำอีกว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม

    ผู้สื่อข่าวถามว่า นายก ฯ มองเจตนาอย่างไรที่นายทักษิณเคลื่อนไหวช่วงใกล้เลือกตั้ง โดยพลเอกประยุทธ์ ไม่ตอบคำถาม และบอกว่า “ถามเอง ก็ตอบเอง”

    เผยสถานการณ์ PM 2.5 ดีขึ้น

    นายอนุชา รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ แจ้งในที่ประชุมถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่าตนได้รับรายงานว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีการปรับตัวดีขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนราชการ และประชาชน โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลขอความร่วมมือและประสานงานในหลายจังหวัด

    “ในช่วงนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลด้วย อาจทำให้มีอากาศแปรปรวน นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและความเดือดร้อนต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดทุกพื้นที่ และขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายอนุชา กล่าว

    สั่งประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ รับทราบจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทย ตั้งแต่ต้นปี 2566 ว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ย 2 ล้านคนต่อเดือน ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมหลังจากมีโควิด-19

    นอกจากนี้ นายอนุชา กล่าวต่อว่า การบริการต่างๆ ไม่ว่า Health Tourism และ Medical Tourism และการท่องเที่ยวสภาพแวดล้อมเชิงนิเวศต่างๆ ก็มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้น

    นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และการบริการที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไป เพื่อให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอยู่แล้วได้ทราบถึงการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศในการเสนอ health tourism และ medical tourism มากขึ้น ที่สำคัญ นายกฯ เน้นความปลอดภัยที่ต้องดูแลประชาชนไทย รวมถึงให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาด้วย

    ชวน ปชช.เชียร์ทัพนักกีฬาไทยกวาดเหรียญทอง “ซีเกมส์”

    นายอนุชา รายงานว่า นายกฯ กล่าวถึงเรื่องการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 840 คน ในจำนวน 36 ชนิดกีฬา

    นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการแข่งขัน โดยช่วงนี้นายกฯ ขอเชิญชวนให้คณะรัฐมนตรีและประชาชนร่วมกันส่งกำลังใจและเชียร์นักกีฬาทีมชาติไทย และเชื่อมั่นว่านักกีฬาไทยจะทุ่มเททั้งพลังกายและจิตใจในการแข่งขันอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อนำชัยและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ

    ทั้งนี้ การติดตามการรับชมการถ่ายทอดสด มีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลทีวี หรือ แอปพลิเคชั่นของการกีฬาแห่งประเทศไทย ขอให้ประชาชนร่วมกันเป็นกำลังใจให้ทัพนักกีฬาของไทยในการกวาดเหรียญทองกลับมาสู่ประเทศ

    อย่างไรก็ตาม นายกฯ กังวลว่าอาจมีการกระทบกระทั่งเรื่องการเมือง จึงขอให้ระมัดระวังในการแสดงความเห็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    สั่งหน่วยงานรัฐให้บริการ ปชช.ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรก ตาม ม.19 แห่ง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) โดยหน่วยงานที่ยังไม่มีช่องทางการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้นำงานบริการมาพัฒนาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางดังกล่าวเป็นทางเลือกแรก ส่วนหน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้นำงานบริการมาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ยังมอบให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณากรอบเวลาดำเนินการและติดตามเป็นระยะ เพื่อให้งานบริการของรัฐอยู่ในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว

    1. แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย

    1) กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน

      1.1) ขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นคำแนะนำการใช้เครื่องมือตามระดับความพร้อมของหน่วยงาน เช่น ไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ ไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ ๆ อื่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่อให้หน่วยงานทราบถึงภาพรวมว่าควรใช้เครื่องมือใดในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการติดต่อ หรือขออนุมัติอนุญาตต่าง ๆ เช่น – การจัดทำแบบคำขอและยื่นคำขอ โดยหน่วยงานที่มีความพร้อมระดับเริ่มต้น สามารถใช้ฟอร์มสาเร็จรูป เช่น Google Forms ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงกว่าควรใช้ แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) ในแอปพลิเคชันของหน่วยงาน/ขั้นตอนการจัดส่งใบอนุญาต ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีความพร้อมระดับเริ่มต้นสามารถจัดส่งผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงกว่าควรจัดส่งผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงาน
      1.2) รายละเอียดการดำเนินการโดยสังเขปสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลที่แจ้งให้หน่วยงานทราบถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การจัดหา ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านการบริหารจัดการ (องค์ความรู้ เจ้าหน้าที่ เป็นต้น) การนำไปใช้ให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนข้อแนะนำ/ข้อพึงระวังของการใช้เครื่องมือ เช่น การจัดหาที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์กลาง หน่วยงานสามารถสร้างที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอง หรือเลือกใช้บริการของ สพร. ได้ และให้แจ้งที่อยู่เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ สพร. ในส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชันต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และต้องได้มาตรฐานสากล

    2) วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการกำหนดแนวทางและมาตรฐานในการใช้ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการประชาชน

      2.1) สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น ที่มีข้อจำกัดด้านบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ สามารถจัดทำบริการอย่างง่ายโดยอาศัยช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับเริ่มต้นได้อย่างครบถ้วน
      2.2) หน่วยงานระดับมาตรฐาน กำหนดมาตรฐานและคุณสมบัติขั้นต่ำ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการผ่านระบบ e-Service เว็บแอปพลิเคชัน แอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ หรือบริการภายใต้ แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น บริการในแอปพลิเคชันทางรัฐ สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อม ทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ ระดับมาตรฐาน

    โดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองฉบับ ยังแบ่งรายละเอียดออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

    • การสร้างช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานระดับเริ่มต้นควรสร้างที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่สารบรรณควบคุมดูแลบัญชี และตรวจสอบจดหมายที่ได้รับ ส่วนหน่วยงานระดับมาตรฐานควรใช้ระบบ e-Service
    • การรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานระดับเริ่มต้น ให้เจ้าหน้าที่สารบรรณตรวจสอบจดหมายที่ได้รับผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และจัดทำทะเบียนหนังสือรับ ด้วยโปรแกรม Microsoft Excel ส่วนหน่วยงานระดับมาตรฐาน ให้มีการลงทะเบียนเรื่องที่ได้รับ จากระบบ e-Service เข้าสู่ฐานข้อมูล
    • การดำเนินการภายในหน่วยงานหลังจากได้รับเรื่องทางอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวทาง การดำเนินการสำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐานคล้ายคลึงกัน เช่น การตรวจสอบ ความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารหลักฐาน (ประชาชนส่งไฟล์สำเนาเอกสารเพียงชุดเดียว และส่งในสกุลไฟล์ใดก็ได้ที่ใช้กันทั่วไป เช่น PDF JPG) การพิสูจน์และยืนยันตัวตน (อาจใช้ Digital ID หรือวิดีโอคอล) การรับเงินค่าคำขอ ค่าธรรมเนียม (ควรชำระเงิน เข้าบัญชีด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Mobile Banking)
    • การออกใบอนุญาต การแจ้งผลการพิจารณา หรือการออกหลักฐานอื่นใดให้ประชาชน ที่ยื่นคำขอหรือติดต่อมาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวทางการดำเนินการสำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น และระดับมาตรฐานคล้ายคลึงกัน เช่น การจัดทำใบอนุญาตในรูปแบบ PDF และหากเป็นไปได้ควรจัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับรองเอกสารที่จัดส่งให้ประชาชน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ
    • การจัดทำฐานข้อมูลใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ ในที่เปิดเผย เช่น การรวบรวมข้อมูลใบอนุญาตแล้วเปิดเผยในเว็บไซต์ของหน่วยงาน (สำหรับ หน่วยงานทั้งสองกลุ่ม) ในระบบ e-Service (สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน)
    • อื่น ๆ เช่น ช่องทางในการสอบถามข้อมูล คำแนะนาเพิ่มเติมจาก สำนักงาน ก.พ.ร. การให้หน่วยงานระดับมาตรฐานหาวิธีการฯ ระดับเริ่มต้นมาใช้ได้หากระบบ e-Service ยังมีคุณสมบัติ ตามวิธีการฯ ระดับมาตรฐาน ไม่ครบถ้วน

    2. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) เพื่อบูรณาการการให้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ตอบโจทย์ประชาชนในมิติต่าง ๆ

    • ระบบ Biz Portal ตอบโจทย์การประกอบอาชีพหรือธุรกิจ ของประชาชนและผู้ประกอบการ ผ่านเว็บไซต์ www.bizportal.go.th เช่น การขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียน SME เพื่อขอรับบริการภาครัฐ การขอใบรับรอง แหล่งผลิตพืชอินทรีย์ เป็นต้น
    • ระบบ Citizen Portal ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชน โดยพัฒนางานบริการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เช่น การแจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป การตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาในระบบ ประกันสังคม เป็นต้น

    3. ข้อมูลงานบริการภาครัฐ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนางานบริการที่สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์งานบริการภาครัฐตามคู่มือมาตรฐานกลางทั้งหมด จำนวน 3,830 งานบริการสามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 2,420 งานบริการ แบ่งเป็น

    • งานบริการที่พัฒนาให้สามารถบริการในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว จำนวน 1,395 งานบริการ เช่น การขออนุญาตโฆษณาอาหาร (อย.) งานให้บริการข้อมูลราคาประเมิน (กรมธนารักษ์) งานการติดตามสถานะคดี (กรมบังคับคดี) การออกบัตรประจำตัว คนพิการ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) เสนอให้นำมาเชื่อมโยงกับระบบ Biz Portal หรือ Citizen Portal เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการ กับประชาชน
    • งานบริการที่ยังไม่มีช่องทางให้บริการในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,025 งานบริการ เช่น การขอเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประโยชน์อย่างอื่น (กรณียกเว้นการประมูลและมีอัตราค่าเช่าคงที่แล้ว) (กรมธนารักษ์) การจดทะเบียนผู้ส่งออกผัก และผลไม้ไปต่างประเทศ (กรมวิชาการเกษตร) การขอเทียบโอนผลการเรียนของนักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ.เสนอให้นำมาพัฒนาบนระบบ Biz Portal และ Citizen Portal เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดภาระและค่าใช้จ่ายของหน่วยงาน ในการพัฒนาระบบ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการทำงานและการให้บริการของภาครัฐ เช่น การอนุญาต การให้บริการ หรือการให้สวัสดิการแก่ประชาชน สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ ลดภาระและต้นทุนของประชาชนในการติดต่อกับภาครัฐ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

    รับรองผลประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 จำนวน 8 ฉบับ โดยให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสาร ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 10 – 11 พ.ค. 2566 ณ เมืองลาบวน บาโจ อินโดนีเซีย

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างเอกสารทั้ง 8 ฉบับ เกี่ยวข้องกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ 4 ฉบับ กระทรวงมหาดไทย 1 ฉบับ กระทรวงแรงงาน 2 ฉบับ และกระทรวงสาธารณสุข 1 ฉบับ โดยเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือ และต่อยอดการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ และเป็นสิ่งที่ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งไม่ ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายเพิ่มเติมต่อไทยแต่อย่างใด โดยมีรายละเอียดดังนี้

      1. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนต่อวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลัง ปี ค.ศ. 2025 แสดงการสนับสนุนการทำงานของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ.2025 ในการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง ครอบคลุม รับมือต่อ ความท้าทายและแนวโน้มในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในและนอกภูมิภาค อาเซียน ภายในกรอบระยะเวลา 20 ปี
      2. ร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถ และประสิทธิภาพเชิงสถาบันของอาเซียน ยืนยันความมุ่งมั่นของอาเซียนในการส่งเสริมความสามารถและประสิทธิภาพเชิงสถาบันของอาเซียน ให้เข้มแข็ง เพื่อรับมือกับความท้าทายและรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
      3. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยี โดยผิดวัตถุประสงค์ พัฒนาระบบการป้องกันระดับชาติ โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์อันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด เพิ่มพูนการควบคุมข้ามชายแดน และเสริมสร้างการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
      4. ร่างแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ – เลสเต กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณารับติมอร์ – เลสเต เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ
      5. ร่างแถลงการณ์ร่วมผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดตั้งเครือข่ายหมู่บ้านอาเซียน เห็นชอบที่จะจัดตั้งเครือข่ายหมู่บ้านอาเซียน ให้มีเวทีสำหรับชุมชนและการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน ส่งเสริมความร่วมมือและการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหมู่บ้าน
      6. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการดูแลและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ที่ประสบสถานการณ์ฉุกเฉิน
      7. ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการบรรจุงานและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการดูแลและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมง
      8. ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มสุขภาพหนึ่งเดียว ประกาศความมุ่งมั่นในข้อริเริ่มสุขภาพหนึ่งเดียวของผู้นำอาเซียน จัดตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหนึ่งเดียวของอาเซียน/เครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว

    ชื่นชมทีมนักกีฬาหญิงไทย คว้าแชมป์ “ฮอกกี้น้ำแข็ง” สมัยที่ 2

    นายอนุชา กล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีกับทีมนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งหญิงทีมชาติไทย ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ประเภททีมหญิง “2023 IIHF Ice Hockey Women’s Asia and Oceania Championship” ณ สนามฮอกกี้น้ำแข็ง Thailand International Ice Hockey Arena กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยทีมฮอกกี้น้ำแข็งหญิงไทย สามารถรักษาแชมป์เอเชียเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ผ่านเข้าสู่การแข่งขัน IIHF Women’s World Championship ในปีต่อไป ยืนยันถึงศักยภาพทางด้านกีฬาของไทยในเวทีระดับโลก

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรอบคัดเลือกโซนเอเชียและโอเชียเนีย เพื่อรับสิทธิ์ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายเพื่อไปแข่งขันในระดับโลก IIHF Women’s World Championship ซึ่งจะจัดในปีต่อไป โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นการพบกันระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติอิหร่าน โดยในช่วงแรกของการแข่งขัน ไทยทำประตูนำอิหร่านไป 1-0 ประตู จากนั้นในช่วงที่สอง อิหร่านสามารถตีเสมอไทยมาได้เป็น 1-1 ประตู และในช่วงที่สามไทยกลับมาขึ้นนำอีกครั้งเป็น 2-1 ประตู โดยในเกมการแข่งขัน ไทยและอิหร่าน สลับกันขึ้นนำจนกระทั่งก่อนหมดเวลา 5 นาทีสุดท้าย ไทยเอาชนะอิหร่านไปได้ 3-1 ประตู สามารถป้องกันแชมป์เอเชียเป็นสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ และรับสิทธิ์เข้าแข่งขัน IIHF Women’s World Championship ในปีต่อไป

    นอกจากนี้สมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มีการพูดคุยกับมนตรีซีเกมส์ในเรื่องการบรรจุกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเข้าไปในการชิงชัยซีเกมส์ 2025 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งประเภททีมชายและทีมหญิง ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนก็ยินดีที่จะส่งทีมฮอกกี้น้ำแข็งเข้าแข่งขันด้วยเช่นกัน หากได้รับการบรรจุในซีเกมส์ที่ประเทศไทย

    “นายกรัฐมนตรียินดีและชื่นชมกับความสำเร็จของทีมนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งหญิงไทย สำหรับการสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมสามารถรักษาแชมป์เอเชียเป็นสมัยที่ 2 และผ่านเข้ารอบสุดท้ายซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลกได้สำเร็จ แสดงให้เห็นว่าถึงศักยภาพ และความสามารถของนักกีฬาไทย รวมถึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเท ตั้งใจฝึกซ้อม ฝึกฝนของนักกีฬา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณไปถึงทีมงานผู้ฝึกสอน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬา พร้อมเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้เหล่านักกีฬาไทยในการแข่งขันในครั้งต่อไป” นายอนุชา กล่าว

    ตั้ง “วิชาวัฒน์ อิศรภักดี” ประธาน “ฟุลไบรท์”

    นายอนุชา กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษา ไทย-อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2566-2567

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติองค์ประกอบคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2566 – 2567 รวม 7 คน โดยมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาไทย – อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ประจำปี 2564 – 2565 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

      1. นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ประธานกรรมการ
      2. อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ หรือผู้แทน กรรมการ
      3. อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือผู้แทน กรรมการ
      4. ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรรมการ
      5. ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
      6. นายกสมาคมฟุลไบรท์ไทย กรรมการ
      7. นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

    2. แต่งตั้งกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง พลอากาศตรี จักรวัชร จงสืบสุข เป็นกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) ในคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แทนกรรมการอื่น (ผู้แทนกองทัพอากาศ) เดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป

    เห็นชอบปฏิญญาอาเซียนผลักดันระบบการชำระเงินในภูมิภาค

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค และการส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น (ASEAN Leaders’ Declaration on Advancing Regional Payment Connectivity and Promoting Local Currency Transition) โดยผู้นำอาเซียนจะพิจารณาการรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 (42nd ASEAN Summit) ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

    โดยร่างปฏิญญาฯ ได้จัดทำขึ้นตามเป้าหมายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจตามแผนงาน ประชาคมอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) เศรษฐกิจอาเซียนรวมกลุ่มอย่างแน่นแฟ้น และแข็งแกร่ง สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างยั่งยืน รวมถึงมีภาคการเงินที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีเสถียรภาพ โดยมี สาระสำคัญ ดังนี้

    การผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค

    • ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนให้มีการชำระเงินข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อและปลอดภัย
    • ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้อให้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนสามารถทำงานร่วมกันได้
    • ส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเอื้อให้ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนสามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

    การส่งเสริมธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่น

    • สนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานด้านการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Transaction Task Force)
    • กำกับดูเเลภาคการเงินเพื่อลดความเปราะบางของภูมิภาคต่อความผันผวนจากภายนอก
    • พิจารณาให้เกณฑ์การเเลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าการลงทุน เเละสร้างความเเข็งแกร่งให้กับประเทศในภูมิภาค

    ผู้นำอาเซียนมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนเป็นผู้ดูแลการดำเนินการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค และพิจารณาแนวทางพัฒนากรอบการส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่น โดยให้ประสานกับคณะทำงานของภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

    นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า สาระของร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองระดับผู้นำอาเซียนในการส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคโดยใช้เทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสนับสนุนการจัดตั้ง Local Currency Transaction Task Force สนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรม อย่างไรก็ดี ร่างปฏิญญาฯ ไม่มีถ้อยคำ ที่ให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่มีการลงนาม ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เพิ่มเติม