ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ชี้ “ทักษิณ” กลับไทยก็ดำเนินคดี ไม่ต้องประสาน – มติ ครม. ส่งเสริมเอทานอลผลิต “ไบโอพลาสติก”

นายกฯ ชี้ “ทักษิณ” กลับไทยก็ดำเนินคดี ไม่ต้องประสาน – มติ ครม. ส่งเสริมเอทานอลผลิต “ไบโอพลาสติก”

13 มิถุนายน 2023


เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ชี้ ‘ทักษิณ’ กลับถึงไทยก็ดำเนินคดี – ไม่ต้องประสานอะไรทั้งสิ้น
  • มอบฝ่ายความมั่นคงติดตามประชามติตั้ง “รัฐปัตตานี”
  • จี้ ผบ.ตร. แก้ส่วยรถบรรทุก พบ จนท. มีเอี่ยวลงโทษทั้งวินัย-อาญา
  • โยน กทม. เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว
  • มติ ครม. ส่งเสริมเอทานอลผลิต “ไบโอพลาสติก”
  • ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจังหวัดชายแดนใต้อีก 3 เดือน ยกเว้น 10 อำเภอ
  • ชง กกต. ตั้ง “ศุภกิจ ศิริลักษณ์” นั่ง ผอ.สวรส.
  • เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าว

    เตรียมมาตรการรับมือราคาพลังงาน

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้บอกในที่ประชุม ครม. ว่าต้องอดทน เพราะปัญหาต่างๆ เข้ามาตลอดเวลา โดยเฉพาะการบริหาร โดยรัฐบาลก็มีหน้าที่ใช้อำนาจบริหารให้ถูกต้อง แก้ปัญหาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ในที่ประชุมมีการหารือหลายมิติ เช่น เรื่องพลังงาน ต้องหาวิธีการดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนมากจนเกินไป

    “ทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหาด้านพลังงานมันยังมีอยู่ ก็ต้องเตรียมมาตรการรองรับ ก็สุดแล้วแต่ว่าเราจะทำได้แค่ไหน เพราะเราเป็นรัฐบาลรักษาการ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    มอบฝ่ายความมั่นคงติดตามประชามติตั้ง “รัฐปัตตานี”

    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแนวคิดการทำประชามติ เพื่อขอแยกให้จังหวัดปัตตานีเป็นรัฐเอกราช พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายดำเนินการ เขาตรวจสอบอยู่แล้ว ในความคิดของเรามันถูกไหมล่ะ มันทำได้ไหม”

    ผู้สื่อข่าวบอกว่า ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ที่ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้”

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “เดี๋ยวกฎหมายดำเนินการเอง กระบวนการก็มีอยู่ ฝ่ายความมั่นคงก็ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญก็คือไม่อยากให้สถานการณ์กลับไปสู่ที่เดิม คือ ความรุนแรงมันเกิดขึ้น ความมุ่งหมายของเราคือต้องรักษาสถานการณ์นี้ไว้ให้ได้ การพูดคุยอะไรต่างๆ ก็มีคณะพูดคุยอยู่แล้ว อยู่ในกรอบของรัฐบาลและประเทศเพื่อนบ้าน”

    “แต่ที่เราทำมาหลายปีก็ทำให้ทุกอย่างไปสู่ความสงบเรียบร้อยให้ได้มากยิ่งขึ้น เน้นเรื่องการพัฒนา และรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก การพูดคุยต่างๆ ก็เป็นการพูดคุยสันติสุข ไม่ใช่เจรจา เขาเรียกอะไร ‘สันติภาพ’ ใช่ไหม เราไม่ได้รบกัน ใช้คำให้มันถูกต้อง” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    โยน กทม. เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

    พลเอก ประยุทธ์ ยังตอบเรื่องความคืบหน้าประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เป็นเรื่องของการดำเนินการตามกฎหมาย และตามความรับผิดชอบ โดยเบื้องต้นเห็นว่า มีการหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. รัฐบาลก็ดำเนินการตามกฎหมายทุกประการในช่วงที่ผ่านมาในกรอบอำนาจของรัฐบาล

    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่กรุงเทพมหานคร เตรียมจ่ายหนี้ 2 หมื่นล้านบาทให้เอกชน ต้องรอจนกว่ามีรัฐบาลใหม่หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ไม่รู้ สุดแล้วแต่เขาหารือว่าอย่างไร คุยเรื่องการใช้จ่ายหนี้สินอะไรต่างๆ ก็ว่ากันไป เพราะทั้งหมดเป็นในกรอบของผู้ว่าราชการ กทม. และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อดำเนินการไม่ได้ ก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป กทม. ต้องหาทางแก้ปัญหา”

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “มันจะถึงรัฐบาลใหม่หรือเปล่า ก็ต้องไปดูอีกทีว่าไหวหรือไม่ไหว อย่างไร และเราควรทำได้แค่ไหน อย่างไร เราก็อยากให้มันเปิดให้ได้ อยากให้แก้ปัญหาให้ได้ เพราะดำเนินการตามนั้นมาตลอด แต่มันทำไม่ได้”

    “ตอนหลังมันมีปัญหาพันกันหลายเรื่อง เราก็ไม่ได้ลงไปในความขัดแย้งตรงนั้น เราก็จะแก้ปัญหา ปรากฏว่ามันแก้อย่างเดิมๆ ไม่ได้ เรื่องกฎหมาย เรื่องข้อตกลง ความรับผิดชอบ มันก็ต้องแก้ตามนั้น ก็สุดแล้วแต่ รอฟังอีกทีแล้วกันนะจ๊ะ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ไม่ก้าวล่วงคดี ITV ฟ้อง สปน. เป็นอำนาจตุลาการ

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องคดีหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่า ตนไม่ได้มีการพูดคุยกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอยู่แล้ว

    “อย่าลืมว่าที่ยืนอยู่นี่คือ ‘อำนาจบริหาร’ อำนาจนิติบัญญัติ และตุลาการมันคนละอำนาจกันอยู่ ใครอยู่ตรงนั้น ก็ทำตรงนั้นไปแล้วกัน อย่างนั้นดีกว่า ถ้าไปก้าวล่วงซึ่งกันและกันมันก็ยุ่งกันหมด วันนี้มันก็ยุ่งพออยู่แล้ว ให้เขาทำงานไป โอเคนะจ๊ะ” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    จี้ ผบ.ตร. แก้ส่วยรถบรรทุก พบ จนท. มีเอี่ยวลงโทษทั้งวินัย-อาญา

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ว่า ตนเรียกมาหารือเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย และหลายเรื่องได้กำชับไป และต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ อย่างไรก็ตาม ประเด็นคือต้องร่วมมือกัน ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย และยึดถือกฎหมายเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องส่วยรถบรรทุก

    “ผมเคยบอกมาหลายครั้งแล้วว่า ถ้าประชาชนออกมาช่วยกัน ออกมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เราก็ดำเนินการให้ทุกประการ ไม่ได้เบี่ยงเบนประเด็นอะไรทั้งสิ้น มันต้องมาดูว่าทำความผิดหรือเปล่า ถ้าทำผิดด้วยและเสนอผลประโยชน์ให้กับเขา หรือเขาเรียกมาแล้วให้ผลประโยชน์ ตัวเองก็ผิด คิดว่าวันนี้สั่งการทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน ในส่วนกระทรวงคมนาคม น้ำหนักบรรทุกด้วย วันนี้ก็เข้มงวดทุกคัน จับทุกคัน ตำรวจที่เกี่ยวข้องก็ต้องถูกลงโทษทางวินัย หรืออาญาก็ว่าไป พลเอกประยุทธ์ กล่าว

    ชี้ ‘ทักษิณ’ กลับถึงไทยก็ดำเนินคดี – ไม่ต้องประสานอะไรทั้งสิ้น

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หลังจากพบกับพลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีการคุยถึงกรณีกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศจะเดินทางกลับประเทศไทย หรือไม่ โดย พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่คุย ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า นายทักษิณมีคดี ในการกลับประเทศไทยจะต้องประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้พลเอกประยุทธ์ พูดทันทีว่า “ผมควรจะไปยุ่งกับเขาไหมล่ะ”

    เมื่อผู้สื่อข่าวย้ำว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
    พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า “อำนาจใครล่ะ เรื่องกระบวนการไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เป็นเรื่องของกฎหมาย…ประสานได้อย่างไร ผมถามว่าประสานอย่างไร ผมจะไปรับปากกับท่านได้อย่างไร”

    พลเอก ประยุทธ์ ยังตอบคำถามเรื่องเงื่อนไขการประกาศกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานงานว่า ไม่ต้องประสานอะไรทั้งสิ้น กลับมาก็ดำเนินคดี ก็จบ อยู่ในขั้นตอนกฎหมายก็มีอยู่แล้ว ผมไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น ผมไม่ใช่ศัตรูของใครทั้งสิ้น มันมีประเด็นทางกฎหมาย ก็ไปแก้กันทางกฎหมาย”

    พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “ไม่ใช่นายกฯ ทำได้ทุกอย่าง จะบอกให้นะ ต้องทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง อำนาจของใครๆ ก็ว่ากันไป ไม่อย่างนั้นจะเกิดความขัดแย้งแบบนี้ไง ถ้าเราเอาความขัดแย้งมามากๆ ประเทศชาติมันก็เดินไม่ได้ อย่าลืมว่าเราอยู่ในสายตาของโลก ปัญหามันจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลระวังอย่างที่สุด ในเรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลัง เราก็อยู่ในเกณฑ์ดีในขณะนี้”

    “ทำอะไรก็ต้องคิดไปให้ไกล อย่าคิดให้ใกล้ คิดใกล้มันก็ไม่พ้นสักที มันก็ติดหล่มตรงนี้ ปัญหาก็เกิดขึ้นอยู่อย่างนี้ ก็ต้องมองว่าจะอยู่กันยังไงในระยะยาว ผมไม่ได้ขัดแย้งกับใคร ก็ยินดีด้วยซ้ำถ้าจะมีรัฐบาลใหม่ในกรอบเวลาที่กำหนด มันก็ดีใช่ไหม เพราะต่างประเทศก็รอดูตรงนี้อยู่” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

    สุดท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าถึงเวลาที่ต้องสลายขั้วชินวัตรกับขั้วอื่นๆ หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มีขั้วอะไรทั้งนั้น เราไปสร้างขั้วกันเอง” และจบการให้สัมภาษณ์ทันที

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ส่งเสริมเอทานอลผลิต “ไบโอพลาสติก”

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือ จากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model ครั้งที่ 2/2565 โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

      1. การจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอล เพื่อให้การอนุญาตนำเอทานอลแปลงสภาพหรือบริสุทธิ์ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น โดยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถ เป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน และให้มีการจัดตั้งหน่วยรับรองเพื่อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลด้วย
      2. การจัดทำ MOU ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล โดยกำหนด รายละเอียดปริมาณเอทานอลที่ต้องส่งมอบและระยะเวลาอย่างชัดเจน เพื่อเป็นกลไก การจัดซื้อและจัดหาเอทานอลล่วงหน้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
      3. การแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อกำหนดปริมาณการซื้อขายเอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้า และกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าอัตราพิเศษจากการนำเข้าเอทานอล เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเอทิลีนชีวภาพสำหรับสินค้าพลาสติกชีวภาพ ในกรณีที่ผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอลและไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล
      4. การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศ ให้สามารถผลิตเอทานอลที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
      5. การออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาต ผลิตสุรากลั่นชนิดเอทานอลสามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น การเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลและควบคุม การใช้เอทานอลในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นและกำหนดให้มีอัตราภาษีศูนย์

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเอทานอลอยู่ที่ 3,123 ล้านลิตร/ปี ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 1,583 ล้านลิตร แบ่งเป็นเพื่อใช้ในประเทศ 1,579 ล้านลิตร และเพื่อส่งออก 4 ล้านลิตร ซึ่งการผลิตในปัจจุบันยังไม่เต็มกำลัง โดยมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเอทานอลประมาณ 1,337 ล้านลิตร ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ดังนั้น แนวทางดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมการปรับตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลให้เกิดความยั่งยืน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อนำเอทานอล เป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติก ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่องและยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมากด้วย ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญในการบริหารประเทศ โดยเน้นการทำงาน เพื่อประโยชน์ในวันนี้และอนาคต วางรากฐานเพื่อการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน

    รับทราบ กนง.รายงานภาวะเศรษฐกิจ Q1/2566

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยมีการประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1/2566 ดังนี้

      1. เศรษฐกิจโลก : เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.9 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากแรงส่งของภาคบริการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยุโรป และเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวหลังการยกเลิกมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของประเทศเศรษฐกิจหลักยังสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ส่งผลให้นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวด เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
      2. เศรษฐกิจไทย : มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ 28 ในปี 2566 และ 35 ล้านคน ในปื2567 การบริโภคของภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 จากการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีตามของอุปสงค์โลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566
      3. ภาวะการเงิน โดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างตามอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยไตรมาสก่อนเนื่องจากการประกาศเปิดประเทศของจีนและการคาดการณ์ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย

    ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามพัฒนาการตลาดการเงินโลก และปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคของเอกชนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ต้องสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งมติ กนง. ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี

    ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจังหวัดชายแดนใต้อีก 3 เดือน ยกเว้น 10 อำเภอ

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบตามมติ ของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 2/2566 เห็นชอบแผนปฏิบัติการ ปรับลดพื้นที่การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้วงปี 2566-2570 (ฉบับแก้ไข) ของ กอ.รมน. และให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอเบตง อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา) ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2566 และสิ้นสุดในวันที่ 19 กันยายน 2566 เป็นครั้งที่ 72 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ต่อไปด้วย

    รับทราบผลประชุมความหลากหลายทางชีวภาพ

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยเข้าประชุมร่วมกับรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ 139 ประเทศ

    ทั้งนี้ ในที่ประชุมระดับสูงได้แสดงความกังวลต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเลขาธิการ สผ. ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยร่วมกับประชาคมโลกในการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ซึ่งไทยได้ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

    โดยเน้นย้ำการส่งเสริม BCG Model โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งทวิภาคีและพหุภาคี การสนับสุนกลไกทางการเงิน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและเสริมสร้างสมรรถนะเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลาหลายทางชีวภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ. 2030 ซึ่งส่งผลให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายใน ค.ศ. 2050

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ในส่วนของการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ได้มีการหารือในหลากหลายด้าน เช่น ด้านนโยบาย ได้มีการรับรอง (ร่าง) กรอบงานความหลากหลายชีวิตภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนชื่อเป็นกรอบงานคุณหมิง-มอนทรีออล และกำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่จะให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2050 และหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ค.ศ. 2030

    ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของอนุสัญญาฯ ภาคีอนุสัญญาฯ ได้พิจารณาแนวทางที่จะจัดตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่และขอให้ภาคีจัดทำแผนการเงินระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อกระตุ้นรัฐบาล สถาบันการเงิน ธนาคาร และธุระกิจให้การสนับสนุนดำเนินงานมากขึ้น ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการนั้นได้มีการหารือถึงความหลาหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง สุขภาพ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกรุกราน (Invasive Alien Species หรือ IAS) สิ่งมีชีวิตดันแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms หรือ LMOs) เป็นต้น

    ชง กกต. ตั้ง “ศุภกิจ ศิริลักษณ์” นั่ง ผอ.สวรส.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งมนตรีฝ่ายไทยประจำมูลนิธิเอเชีย-ยุโรปคนใหม่

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการแต่งตั้งนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ ดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยประจำมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation หรือ ASEF) สืบแทนนายดามพ์ สุคนธทรัพย์ โดยให้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ภายในเดือนมิถุนายน 2566 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอและให้ กต. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป (มนตรีฝ่ายไทยคนใหม่จะเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะมนตรี ASEF ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2566 ณ นครบาร์เซโลนา ราชอาณาจักรสเปน)

    2. แต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เนื่องจากผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเดิมจะครบวาระการดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้างในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว

    3. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงคมนาคม)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งนายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

    4. แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ดังนี้

      1. นายภาณุ สุขวัลลิ กรรมการ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร)
      2. นายณฐกร สุวรรณธาดา กรรมการ (ผู้แทนสถาบันเกษตรกร)
      3. นายสำเริง แสงภู่วงค์ กรรมการ
      4. นายวีรวัฒน์ ยมจินดา กรรมการ
      5. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการ
      6. นายกวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ กรรมการ
      7. นายณัฐชา ลิขิตกิจวรกุล กรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เพิ่มเติม