นายกฯ ปัดให้ความเห็น “เพื่อไทย” จับมือ “ภูมิใจไทย” ตั้งรัฐบาล เผย “บิ๊กป้อม” ลาประชุม ครม. ยันไม่มีเกาเหลา ปลื้มผลงาน คสช. ออก กม. แก้ปัญหาที่ดินทำกิน ชี้คดีเหมืองทองอัคราจบแล้ว อย่ารื้อฟื้น มติ ครม. เพิ่มค่ารักษาพยาบาลลูกจ้างเป็น 65,000 บาท ขยายเวลาแรงงาน 4 สัญชาติ ทำงานต่อถึงสิ้น ก.ย. นี้ เคาะเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ระยอง 10 ก.ย. นี้ จัดงบฯ 2.99 พันล้าน จ่ายค่าเสี่ยงภัยบุคลากรการแพทย์
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้า
ปลื้มผลงาน คสช. ออก กม. แก้ปัญหาที่ดินทำกิน
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยเดินหน้ามามากพอสมควรจากนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุขที่มีการนำ AI ไปใช้ หรือเยาวชนที่ไปแข่งขันร้องเพลงที่ต่างประเทศ และได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 ตลอดจนเรื่อง Soft Power ต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การแปรรูปสินค้าการเกษตร เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ฯลฯ
พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงประเด็นการจัดหาที่ดินให้กับประชาชน ซึ่งเป็นผลจากกฎหมายของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลที่ทำกินของประชาชนโดยใช้กลไกกฎหมาย คสช. โดยเกี่ยวข้องถึงการทำงานของกระทรวงต่างๆ ปัจจุบันกฎหมายได้ออกมาหลายปีแล้ว ทำให้ประชาชนได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนมากพอสมควร แต่ทั้งนี้ที่ดินทั้งหมดยังเป็นของรัฐ เพียงแต่เปิดให้ประชาชนเช่า และอยู่อาศัยได้
“นี่คือวิธีแก้ไขที่น่าจะดีที่สุด เพราะการยกให้ไปเลย ที่ดินเรามีจำกัด แต่อันนี้สามารถถ่ายทอดถึงทายาทได้ ก็ต้องดูรายละเอียด จะเห็นว่ามีความแตกต่าง ถ้าเราไม่ยึดหลักการมันก็เป็นปัญหาในอนาคตต่อไป” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว
ชี้คดีเหมืองทองอัคราจบแล้ว อย่ารื้อฟื้น
ผู้สื่อข่าวจึงถามเรื่องเหมืองทองอัครา โดย พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “จบไปตั้งนานแล้ว เขารับทราบอะไรไปแล้ว เรื่องอะไรที่จบไปแล้ว อย่าเอาขึ้นมาใหม่เลย เราก็สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตทองคำอย่างครบวงจรไปแล้ว ชี้แจงไปแล้ว เป็นเรื่องของหน่วยงาน ผ่านอนุญาโตตุลาการ เข้าใจกันด้วย”
“เรื่องดีๆ มีเยอะแยะ (สื่อ) ช่วยกันทำให้ประชาชนเข้าใจละกัน วันนี้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่หมดอายุทำงานต่อ เราขยายไปถึง 30 กันยายน 2566 เพื่อให้สามารถทำงานได้ในช่วงนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว
เผย “บิ๊กป้อม” ลาประชุม ครม. ยันไม่มีเกาเหลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่เข้าประชุม มีอะไรหรือไม่ โดยพลเอก ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “มีอะไร” และพูดต่อว่า “ไม่มี ไม่มี ก็อย่าให้มันมีก็แล้วกัน ผมไม่มีอะไรกับท่าน หลายคนก็ลา ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ก็มีคณะทำงานเข้าร่วมประชุมอยู่แล้ว ลาตั้งหลายคน”
เตือนม็อบเคารพ กม. อย่ากระทบสิทธิผู้อื่น
เมื่อถามถึงสถานการณ์การชุมนุมของผู้เห็นต่างทางการเมือง พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ระวังข้อกฎหมายแล้วกัน ตอนนี้ก็เห็นมีการฟ้องร้องกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม เราต้องรู้จักเคารพกฎหมายไม่ว่าทำอะไรก็ตาม อย่ามีผลกระทบกับคนอื่น อย่าทำความเสียหายในทรัพย์สินของทางราชการ ตอนนี้ตำรวจก็ดำเนินการฟ้องร้องไป”
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ไม่อยากให้ทุกคนตกเป็นจำเลย แต่มันต้องอยู่ในกรอบบ้าง และให้นึกถึงคนที่ไม่ได้มาชุมนุม คนที่อยู่เป็นปกติสุข และคนที่ประกอบอาชีพที่ต้องมาเจอปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่เสรีภาพที่แท้จริง
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทะลุวังเข้าไปก่อกวน พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “มันควรไหม สื่อก็บอกสิ มันไม่ควร ไม่ใช่เสนอว่ามีแต่อย่างนี้ๆ แล้วตีกัน คุณก็ต้องบอกไปว่าสื่อมวลชนเห็นแล้วว่า ไม่สมควร ช่วยอย่างนี้สิ ไม่ใช่ให้นายกฯ พูดทุกเรื่อง มันต้องช่วยกันบ้านเมืองจะสงบมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง มีความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน มีการลงทุน ธุรกิจ คนทั้งประเทศ ต้องช่วยกันใช่ไหม ถ้าเราต่างคนต่างเสนอความขัดแย้ง มันก็แย้งอยู่อย่างนี้ มีปัญหา คนที่ทำก็ทำไปเรื่อยๆ”
พลเอก ประยุทธ์ เสริมว่า “เมื่อวานนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยแสนกว่าคน แล้วเขาจะมาทำไมในเมื่อทะเลาะกันอย่างนี้ จะทำอะไรก็อยู่ในกรอบหน่อยสิครับ เพราะทุกอย่างตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว บางทีมันก็ไม่ใช่เรื่อง คุณอย่าไปขยายให้เขาเท่านั้นเอง มันก็ลดลง”
ปัดให้ความเห็น “เพื่อไทย” จับมือ “ภูมิใจไทย” ตั้งรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามถึงเสถียรภาพทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยที่จับมือกันจัดตั้งรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่ทราบ ผมไม่มีความคิดเห็นตรงนี้ ผมบอกแล้วว่าผมไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย เป็นเรื่องของการเมือง ก็ว่ากันไปนะจ๊ะ ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ต้องยอมรับกติกาไม่ใช่หรอ ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกคนก็รู้แล้ว แล้วมันจะมีปัญหาอะไรกันนักหนากับรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่า”
มติ ครม. มีดังนี้
เพิ่มค่ารักษาพยาบาลลูกจ้างเป็น 65,000 บาท
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563 จากเดิม 50,000 บาท เป็น 65,000 บาท และแก้เงื่อนไขลักษณะการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ จากเดิมบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ และต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เป็นบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงและช่วยให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ลดความเดือดร้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง
ร่างกฎกระทรวงนี้ ยังครอบคลุมผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บจนเกิด ภาวะไม่รู้สึกตัว หรือ อัมพาตที่มีค่าใช้จ่ายสูงสามารถเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงข้อนี้ได้ เช่น อาการบาดเจ็บที่มีลักษณะ หรือการรักษา ดังต่อไปนี้
-
(1) การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะจนไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน ตามปกติเกินกว่า 20 วัน
-
(2) กรณีศีรษะบาดเจ็บรุนแรง แต่อาจไม่ต้องผ่าตัดหรือไม่อาจผ่าตัดได้ เช่น กะโหลกศีรษะ แตกจนมีเลือดออกในช่องสมอง บางรายอาจผ่าตัดไม่ได้ หรือไม่ต้องผ่าตัด
-
(3) กรณีตกจากที่สูงมีเลือดคั่งในสมอง แต่ไม่ต้องผ่าตัด นอนรักษาในห้องดูแล ผู้ป่วยหนัก (ICU) จำนวน 3 คืน มีเลือดออกในช่องท้อง และไม่ต้องผ่าตัด ซี่โครงหักหลายซี่ มีเลือดในช่องอกเล็กน้อย หายใจขัดเล็กน้อย ไม่ผ่าตัด
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีวิธีการรักษาการบาดเจ็บรุนแรงของศีรษะ ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เช่น การเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อระบายเลือด และน้ำในสมองออก หรือ การรักษาด้วยยาอาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้ หากต้องมีการสังเกตอาการ ในห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Units หรือ ICU) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวงเงินเดิมที่ 50,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ ดังนั้น การปรับเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างในการได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเหมาะสมแก่อันตราย หรือ ความเจ็บป่วยเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกจ้าง โดยกระทรวงแรงงานได้ประมาณการผลกระทบต่อสถานะของกองทุนเงินทดแทนที่เพิ่มขึ้น รายจ่ายในส่วนของค่ารักษาพยาบาลระหว่างปี 2566-2567 ประมาณ 2,270 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความตั้งใจสร้างความเป็นธรรม ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะด้านค่ารักษาพยาบาลถือเป็นของขวัญวันแม่ให้กับนายจ้าง ลูกจ้างทั่วประเทศด้วย
ขยายเวลาแรงงาน 4 สัญชาติ ทำงานต่อถึงสิ้น ก.ย. นี้
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ภายหลัง 31 กรกฎาคม 2566 โดยอนุมัติ/เห็นชอบในหลักการร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 (ฉบับที่ ..) และ ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 (ฉบับที่ ..) เมื่อนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกรมการจัดหางานภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 แล้ว ให้คนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยเป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนนายจ้างและสถานประกอบการ สามารถจ้างคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายทำงานต่อไป
กระทรวงแรงงานรายงานว่า ปัจจุบันมีนายจ้างยื่นบัญชีเพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรี (5 กรกฎาคม 2566) แล้ว ประมาณ 417,261 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ) ซึ่งหากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้วคนต่างด้าวดังกล่าว จะกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกกฎหมาย ไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรหรือทำงานต่อไปได้ และนายจ้างหรือสถานประกอบการยังคงจ้างงานคนต่างด้าวดังกล่าว อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ดังนั้น จึงได้มีการเสนอร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ แก้ไขมติ ครม. (5 กรกฎาคม 66) แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลัง 31 กรกฎาคม 66 ให้สามารถจ้างคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายท้างานต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าสามารถครอบคลุมช่วงเวลาได้รัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมายด้วย
เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม รมต. พลังงานเอเปค
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค (APEC Energy Ministers’ Statement) ครั้งที่ 13 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2566 ณ เมืองชีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริก การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Creating a Resilient and Sustainable Future for All” ซึ่งเป็นเวทีในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีพลังงาน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคในการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต การรับมือกับความท้าทายต่อความมั่นคงด้านพลังงาน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค (APEC Energy Ministers’ Statement) ครั้งที่ 13 นี้ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ในการกำหนดทิศทางและวางกรอบนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนความร่วมมือตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy: BCG) และวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ที่มุ่งเน้น “การเปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสันติภาพ” เพื่อให้เขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานของเอเปค (APEC Energy Goals) ได้แก่ 1) เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่าภายในปี ค.ศ. 2030 2) เป้าหมายการลดค่าความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลงร้อยละ 45 ภายในปี ค.ศ. 2035 เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ 3) เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและพลังงานที่มีความยั่งยืนร่วมกัน
ยิ่งไปกว่านั้น การประชุมครั้งนี้จะเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วน การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงปลอดคาร์บอนและแหล่งเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ประมาณร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ. 2035 และร่วมกันลดการปล่อยมีเทนอย่างน้อยร้อยละ 50 จากภาคพลังงานฟอสซีลภายในปี ค.ศ. 2023 (เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2020) โดยลดการปล่อยมีเทนจากกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าช และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคถ่านหิน นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเสนอการจัดตั้งข้อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม (Just Energy Transition Initiative) Just Energy Transition Initiative) เพื่อส่งเสริมความพยายามในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นธรรมและครอบคลุม ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคแรงงาน
ดร.รัชดา กล่าวว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ เป็นการให้แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด รวมถึงการจัดทำเป้าหมายใหม่ด้านพลังงานของเอเปค เพื่อสนับสนุนความพยายามของโลกในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและปรับปรุงการเข้าถึงพลังงานให้ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับท่าทีของไทยโดยรวมในเอเปค รวมทั้งสานต่อการทำงานของเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นผลลัพธ์สูงสุดของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปี 2565
รับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ “ต่อต้านก่อการร้าย”
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ไทยรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติ ครั้งที่ 4 และหลักการขั้นสูงสำหรับการปกป้องเด็กซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในอนุภูมิภาค ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ โดยให้รองเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ดำเนินการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และหลักการขั้นสูงฯ ต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงข้ามชาติจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้หารือแนวทางการรับมือกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและเดินทางกลับมาตุภูมิในภูมิภาคของกลุ่มนักรบก่อการร้ายต่างชาติ (Foreign Terrorist Fighters: FTFs) รวมทั้งภัยคุกคามข้ามชาติอื่นๆ ซึ่งการประชุมที่ผ่านมา มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย บรูไน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงข้ามชาติ ครั้งที่ 4 มีประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ต้องดำเนินการร่วมกัน เช่น 1) เสริมสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานด้านความมั่นคง 2) เสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะการป้องกันการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงในกลุ่มเยาวชนผ่านทางช่องทางออนไลน์ 3) พัฒนาระเบียบปฏิบัติหรือแผนเผชิญเหตุร่วมกันทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคสำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง 4) สร้างความต้านทานต่อภัยคุกคามของระบบคอมพิวเตอร์ในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและห่วงโซ่อุปทาน 5) ประสานความร่วมมือและแบ่งปันความรู้ในการต่อสู้กับปัญหาการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานในภูมิภาคร่วมกัน
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า หลักการขั้นสูงสำหรับการปกป้องเด็กซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในอนุภูมิภาค เป็นเอกสารเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะเหยื่อของภัยการก่อการร้ายที่ไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิด มีแนวปฏิบัติดังนี้
-
1. เด็กที่เกี่ยวข้องกับหรือถูกชักจูงโดยกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง รวมถึงลูกของนักรบก่อการร้ายต่างชาติ ควรได้รับการพิจารณาในลักษณะของเหยื่อของอาชญากรรมและการทารุณกรรม และควรปฏิบัติโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็ก
-
2. มุ่งเน้นมาตรการเชิงป้องกันที่ช่วยเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อปกป้องเด็กจากการเข้าถึงแนวคิดก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันมีการแพร่กระจายของเนื้อหาสนับสนุนแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงทางออนไลน์
-
3. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการรับกลับ การกลับคืนสู่สังคม และการบำบัดเด็กที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง
ผ่านร่าง พ.ร.ฎ. ตั้ง “องค์การบริหารไนท์ซาฟารี”
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเสนอ เพื่อให้มีความคล่องตัวและงบประมาณที่น้อยลงและคุ้มค่าในทางเลือกที่ให้จัดตั้งสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเป็นองค์การมหาชนขึ้นใหม่ แทนที่จะโอนไปเป็นขององค์การสวนสัตว์ โดยให้มีการประเมินความคุ้มค่า เมื่อดำเนินการครบ 5 ปี
สรุปสาระสำคัญ ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ได้แก่
-
1. ให้จัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารี (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมบนพื้นฐานทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวไนท์ซาฟารี รวมทั้งส่งเสริมและจัดให้มีการดำเนินการบำรุงและเพาะพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิดเพื่อรักษาและอนุรักษ์ไว้มิให้สูญพันธุ์ และเพื่อการศึกษา การวิจัย และการแลกเปลี่ยนหรือเผยแพร่การเลี้ยงสัตว์เพื่อการอนุรักษ์ ตลอดจนดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกิจการสวนสัตว์และธุรกิจอื่นเพื่อประโยชน์แก่องค์กร
-
2. ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินกิจการขององค์การบริหารไนท์ซาฟารีฯ ประกอบด้วย เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่น รวมทั้งจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินกิจการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ และดอกผลหรือรายได้ จากเงินทรัพย์สินขององค์การบริหารไนท์ซาฟารีฯ
-
3. ให้โอนบรรดากิจการและทรัพย์สินของสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ ไปเป็นขององค์การบริหารไนท์ซาฟารีฯ ที่จัดตั้งตามร่าง พ.ร.ฎ. นี้
-
4. ให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ ที่ประสงค์จะปฏิบัติงานในองค์การบริหารไนท์ซาฟารีฯ ต่อไป แสดงความจำนงได้ในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ. มีผลใช้บังคับ และกำหนดค่าตอบแทนการเลิกจ้างในอัตราค่าจ้าง 300 วันสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานครบ 3 ปีขึ้นไปและในอัตราค่าจ้าง 180 วันสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี และเงินช่วยเหลือเยียวยาสำหรับเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างทุกคนที่ไม่ประสงค์จะปฏิบัติงานหรือไม่ได้ปฏิบัติงานต่อในอัตราค่าจ้าง 6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย
“สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จะมีสาระสำคัญในการยกเลิกการกำหนดให้เงินและทรัพย์สินของสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ เป็นทุนขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งองค์การบริหารไนท์ซาฟารีฯ ตาม พ.ร.ฎ. จัดตั้งองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2563” นางสาวทิพานัน กล่าว
เคาะเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ระยอง 10 ก.ย. นี้
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. โดยความจำเป็นในการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งฯ นี้ เนื่องด้วยนายนครชัย ขุนณรงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 ได้มีหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 66 เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3)
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ได้กำหนดให้ในกรณีที่ ส.ส. ที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือ เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง
ดังนั้น เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้ยกร่าง พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้งฯ และร่างแผนการจัดการเลือกตั้งขึ้นและเสนอต่อ ครม.
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3 แทนตำแหน่งที่ว่างนั้นมีลำดับสำคัญ เช่น วันที่ 14 สิงหาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งฯ จะมีผลใช้บังคับ วันที่ 15 สิงหาคม 2566 กกต. ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายในการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้ง และรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, วันที่ 17-21 สิงหาคม 2566 เป็นวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง เขตเลือกตั้งที่ 3
สำหรับวันที่คาดว่าเป็นวันเลือกตั้งฯ คือวันที่ 10 กันนายน 2566 ส่วนวันที่ 11-17 กันนายน 2566 เป็นวันแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
จัดงบฯ 2.99 พันล้าน จ่ายค่าเสี่ยงภัยบุคลากรการแพทย์
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานระหว่างเดือนกรกฎาคม 2564 – มิถุนายน 2565 ของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขและนอกสาธารณสุข รวม 8 หน่วยงาน ดังนี้
1) กระทรวงสาธารณสุข 1,362.77 ล้านบาท 2) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ 561.46 ล้านบาท 3) กระทรวงกลาโหม 385.10 ล้านบาท 4) กระทรวงมหาดไทย 420.39 ล้านบาท 5) กระทรวงยุติธรรม 92.16 ล้านบาท 6) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 52.16 ล้านบาท 7) สภากาชาดไทย 111.78 ล้านบาท และ 8) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 10.13 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ความจำเป็นของเรื่องที่นี้เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อโควิด- 19 พบว่ายังมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขค้างจ่ายในปีงบประมาณ 2564 – 2565 ของหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ค่าตอบแทนบุคลากรนอกเหนือภารกิจปกติ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนอกสถานพยาบาล ดังนั้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเสนอเรื่องให้มีการอนุมัติในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานต่อไป
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบกลางให้ในวงเงิน 2,995.95 ล้านบาทในครั้งนี้ เป็นกรณีค่าเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานช่วงกรกฎาคม 2564 – มิถุนายน 2565 จะมีส่วนของค่าเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานช่วง มิถุนายน-กันนายน 2565 อีก 3,745.64 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขจะขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีในลำดับต่อไป
ออก กม. กำกับดูแลโฆษณา “สถานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด”
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษา หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาต การออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการโฆษณาการบำบัดรักษา หรือการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งกำหนดค่าธรรมเนียมในการโฆษณา ซึ่งไม่เกินอัตราค่าธรรมเนียมที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ การออกร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวนี้เนื่องมากจากที่ผ่านมายังไม่มีการควบคุมกำกับการโฆษณาของสถานพยาบาลยาเสพติด และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คงมีแต่การโฆษณาเกี่ยวกับสถานพยาบาลที่ถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 จึงทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้มีหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ชัดเจนในการควบคุม และกำกับดูแลโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษา หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อป้องกันการโฆษณาที่เป็นเท็จ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่น และความมั่นใจในการเข้ารับการบำบัดรักษาให้แก่ผู้ติดยา ตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการโฆษณานั้นจะนำเข้าเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การเสนอขออนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงนี้เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทได้บัญญัติให้อำนาจไว้และไม่ได้เป็นกรณีที่ ครม.กระทำการอันเป็นผลการอนุมัติงาน หรือ โครงการ หรือ มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป ตามมาตรา 196 (1) ของรัฐธรรมนูญ ครม. จึงสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงนี้ได้
เสนอชื่อ “ประยงค์ ปรียาจิตต์” นั่ง บอร์ด ป.ป.ท.
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย จำนวน 4 คน ดังนี้
-
1. นายปริญญา ประหยัดทรัพย์
2. นายมูหมัดลูตฟี อุเซ็ง
3. นายสมรรถ พุ่มอ่อน
4. นายมนูญพันธ์ รัตนเจริญ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
2. การสรรหาบุคคล เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แทนตำแหน่งที่ว่าง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเสนอชื่อ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เป็นบุคคลที่คณะรัฐมนตรีสรรหา และเสนอรายชื่อต่อคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ แทนนายชาติชาย สุทธิกลม กรรมการ ฯ เดิม ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2566 เพิ่มเติม