สุนิสา กาญจนกุล รายงาน
เพื่อแสวงหาหนทางผลิตพลังงานทดแทนที่สะอาดกว่าพลังงานฟอสซิล ทุกพรมแดนบนโลกและนอกโลกล้วนแต่ถูกสำรวจค้นหา แม้แต่พื้นที่ลึกลงไปใต้ผิวโลกก็ยังไม่รอดพ้น จนกระทั่งเกิดแนวคิดนำความร้อนใต้พิภพมาแปลงเป็นพลังงาน
แม้จะไม่ใช่ของใหม่ แต่ความคืบหน้าล่าสุดดูเหมือนจะทำให้พลังงานรูปแบบนี้มีแววว่าจะรุ่งโรจน์ขึ้นมาอย่างฉับพลัน นั่นคือการที่ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลก้าวเข้าไปจับมือกับสตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่จะทำหน้าที่ผลิตพลังงานปราศจากคาร์บอนป้อนให้กับศูนย์ข้อมูลของบริษัท ซึ่งทุกคนรู้กันดีว่าเป็นจอมเขมือบพลังงานที่แสนตะกละ

พลังงานอันร้อนแรง
พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) เป็นพลังงานสะอาดที่ถูกกักเก็บอยู่ใต้พื้นผิวโลก มีอุณหภูมิสูงมากถึง 5,000 องศาเซลเซียส เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
พลังงานความร้อนใต้พิภพที่สะสมอยู่ใต้เปลือกโลกมีปริมาณมหาศาล และยิ่งขุดลึกลงไป อุณภูมิก็จะยิ่งสูงขึ้น เป็นพลังงานสะอาดที่เชื่อถือได้และยั่งยืนในหลายภูมิภาคที่ยากต่อการสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ
อีกทั้งยังปล่อยก๊าซพิษและอนุภาคต่างๆ ในปริมาณที่ต่ำมาก และเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สามารถคงอยู่ได้อีกหลายพันล้านปี เป็นแหล่งพลังงานที่ค่อนข้างเสถียร เนื่องจากไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม พลังงานความร้อนใต้พิภพยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพใช้วิธีพึ่งพิงแหล่งน้ำร้อน เช่น น้ำพุร้อน ซึ่งมีอยู่จำกัด แต่เทคโนโลยียุคใหม่จะเจาะลึกลงไปในผืนโลกและดึงความร้อนจากใต้ดินมาใช้โดยตรง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเทคโนโลยีที่ยังคงมีการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียกันอยู่
จุดอ่อนที่น่ากังวล
ความท้าทายในการพัฒนาโครงการพลังงานจากความร้อนใต้พิภพคือปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากในขั้นตอนการผลิตพลังงานต้องใช้น้ำหลายล้านแกลลอน และถึงแม้จะเป็นการผลิตในระบบปิด แต่ก็ยังมีการสูญเสียน้ำไปเนื่องจากการระเหยและการรั่วไหล
แต่ถ้ามองในแง่บวก การผลิตพลังงานจากความร้อนใต้พิภพไม่จำเป็นต้องใช้น้ำสะอาด แต่สามารถใช้ได้ทั้งน้ำฝน น้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด หรือแม้แต่น้ำเค็ม
ปัญหากวนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือการผลิตพลังงานจากความร้อนใต้พิภพนั้นใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า แฟรกกิ้ง (fracking) ซึ่งพัฒนามาจากการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ขั้นตอนการแฟรกกิ้งนั้นอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวเล็กน้อยได้ ทำให้มีความกังวลว่าจะเป็นการรบกวนความร้อนที่แกนกลางโลกได้หรือไม่
แต่นักวิชาการบางรายก็เชื่อว่านั่นเป็นความกังวลที่เกินกว่าเหตุ เนื่องจากตามธรรมชาตินั้น ภูเขาไฟก็ปลดปล่อยพลังงานออกมามากมายอยู่แล้ว แกนกลางโลกจึงน่าจะคงความร้อนต่อไปอีกนานกว่าสองสามพันล้านปี
กูเกิลนำขบวน
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านไอทีรายใหญ่ของโลก กูเกิลถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้งเนื่องจากศูนย์ข้อมูลของบริษัทบริโภคพลังงานและน้ำอย่างสิ้นเปลือง เพื่อปรับปรุงจุดอ่อนด้านนี้ กูเกิลพยายามหลายวิถีทางที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด กูเกิลตัดสินใจประกาศความร่วมมือกับเฟอร์โว เอเนอร์จี (Fervo Energy) บริษัทสตาร์ตอัปด้านพลังงานความร้อนใต้พิภพซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดยเฟอร์โวใช้เทคนิคการขุดเจาะที่บุกเบิกโดยอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเพื่อใช้ประโยชน์จากความร้อนใต้ดินในเนวาดา
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่สามารถผลิตพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ โดยใช้ที่ดินน้อยกว่าการผลิตพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นๆ
โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพรูปแบบใหม่ที่ใช้ระบบความร้อนใต้พิภพแบบเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากการดึงน้ำร้อนจากแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์
โดยมีการเจาะอุโมงค์สองแห่งที่ลึกลงไปกว่า 7,000 ฟุต และเชื่อมต่อกันในแนวขวางเพื่อสร้างชั้นน้ำใต้ดินเทียม น้ำจะไหลผ่านอุโมงค์เพื่อดูดซับความร้อนจากเปลือกโลก จากนั้นก็จะถูกดึงขึ้นสู่ผิวดินในรูปของไอน้ำเพื่อขับเคลื่อนกังหันที่ผลิตไฟฟ้า
รวมทั้งมีการติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพื่อจับภาพข้อมูลที่แสดงการไหลเวียนของความร้อน อุณหภูมิ และประสิทธิภาพของระบบความร้อนใต้พิภพแบบเรียลไทม์ เพื่อปรับปรุงความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของระบบให้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน กูเกิลยังประกาศความร่วมมือกับโพรเจกต์ อินเนอร์สเปซ (Project InnerSpace) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งพัฒนาการนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ประโยชน์อีกด้วย
ทั้งนี้ กูเกิลมีเป้าหมายที่จะให้ศูนย์ข้อมูลของบริษัทใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดภายในปี 2030 และกลายเป็นองค์กรปลอดคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากกูเกิลแล้ว บางทีบริษัทเอไอรายอื่นๆ ก็อาจจะเข้าร่วมขบวนพลังงานความร้อนใต้พิภพด้วยเช่นกัน เพราะการถูกโจมตีเรื่องความสิ้นเปลืองพลังงานของศูนย์ข้อมูลคือสาเหตุที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีหลายรายประกาศต่อสาธารณะว่าจะจริงจังเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยในปัจจุบัน หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจพลังงานนิวเคลียร์อย่างชัดเจน ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟต์ และอเมซอน
แต่ในระยะยาวแล้ว พลังงานความร้อนใต้พิภพอาจกลายเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เพราะปลอดภัยกว่าและไม่มีของเสียที่คนส่วนใหญ่หวาดกลัวอย่างกากปรมาณู ความรุ่งเรืองของเอไอจึงอาจเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพอย่างจริงจังก็เป็นได้
ข้อมูลอ้างอิง:
https://scitechdaily.com/harnessing-hellfire-the-geothermal-breakthrough-set-to-transform-clean-energy/
https://blog.google/outreach-initiatives/sustainability/google-fervo-geothermal-energy-partnership/
https://www.thinkgeoenergy.com/google-to-increase-geothermal-power-supply-to-data-centers-via-nevada-utility/
https://www.forbes.com/sites/christopherhelman/2024/11/19/fracking-hot-rocks-could-revolutionize-clean-energy-if-trump-doesnt-get-in-the-way/?utm_source=newsletter&utm_medium=email&utm_campaign=forbesweekly&cdlcid=5d1670561802c8c524c3d91a