ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > เอไอคือจอมเขมือบพลังงานและน้ำ ต้นทุนซ่อนเร้นที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

เอไอคือจอมเขมือบพลังงานและน้ำ ต้นทุนซ่อนเร้นที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

24 เมษายน 2024


สุนิสา กาญจนกุล

ทุกวันนี้ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence) กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คน เนื่องจากศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและสามารถทำงานประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และรวดเร็ว

พัฒนาการของเอไอก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งและมีการนำมาประยุกต์ใช้ในหลายสาขาอาชีพ ทั้งด้านการแพทย์ วิศวกรรม การเงิน การตลาด และอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงในชีวิตประจำวัน เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง ระบบนำทางอัจฉริยะ ฯลฯ

ขณะที่เอไอสร้างประโยชน์มากมาย แต่เอไอคือจอมเขมือบผู้หิวโหย เนื่องจากเอไอจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาลในการทำงาน จนคาดกันว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเอไออาจสูงพอๆ กับการใช้ไฟฟ้าของบางประเทศเลยทีเดียว

ความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเอไออาจทำให้ต้องมีการเพิ่มระบบสายส่งไฟฟ้าถึง 20% ภายในปี 2030

นอกจากนั้น เอไอยังต้องการน้ำจำนวนมากเพื่อระบายความร้อนขณะทำงาน ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น แม้จะรู้กันดีว่าประโยชน์ของเอไอมีมากมาย แต่การขยายตัวของเอไอก็ส่งผลกระทบและสร้างภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เบื้องหลังพลังการทำงานที่ล้ำเลิศของเอไอ คือการบริโภคพลังงานปริมาณมหาศาลจนอาจส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ ที่มาภาพ: https://penntoday.upenn.edu/news/hidden-costs-ai-impending-energy-and-resource-strain

ผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม

รายงานขององค์กรเพื่อนแห่งโลก (Friends of the Earth) สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลเอาไว้หลายด้าน ทั้งเปลืองไฟ เปลืองน้ำ และมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบทางตรง

ขณะเดียวกัน เอไอยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อมอีกหลายอย่าง เช่น พบหลักฐานในสหรัฐฯ ว่ามีการยืดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานไม่สะอาดออกไปจากเดิม เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของเอไอ พลังงานที่ใช้ในการฝึกและใช้งานเอไอส่วนใหญ่ก็ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนที่ทวีความรุนแรงให้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบุคคลและองค์กรต่างๆ ใช้ประโยชน์จากเอไอในการเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จหรือมีความคลาดเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ง่ายกว่าเดิม จนอาจทำให้ชุมชนออนไลน์บางแห่งกลายเป็นแหล่งปฏิเสธความเชื่อด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ กลายเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

เอไอใช้ไฟมากแค่ไหน

ในความเป็นจริงนั้น เป็นเรื่องที่ยากที่จะประเมินอย่างแม่นยำว่าเอไอใช้พลังงานไฟฟ้ามากแค่ไหน เนื่องจากมีตัวแปรมากมายที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุหลักที่ทำให้การประเมินปริมาณการใช้พลังงานของเอไอทำได้ลำบาก เป็นเพราะบริษัทพัฒนาเอไอไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานของตนอย่างชัดเจน และการใช้พลังงานของเอไอยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของเอไอ การปรับแต่งรูปแบบการทำงาน และประเภทของงานที่ทำ ฯลฯ โดยศูนย์ข้อมูลซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพสำหรับการฝึกฝนและใช้งานเอไอนั้น อาจต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2026

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ภาคอุตสาหกรรมเอไออาจใช้พลังงานไฟฟ้ามากถึง 85-134 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากพอๆ กับความต้องการพลังงานของประเทศเนเธอร์แลนด์ทั้งประเทศ

ขณะที่บทความทางวิชาการชิ้นหนึ่งระบุว่า ในปี 2030 เอไออาจใช้ไฟฟ้าในระดับใกล้เคียงกับที่อาร์เจนตินาใช้ในหนึ่งปี ซึ่งเท่ากับประมาณ 0.5% ของการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของโลก และหากกูเกิลเปลี่ยนไปใช้เอไอในธุรกิจการค้นหาทั้งหมด จะทำให้การใช้พลังงานของกูเกิลเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งเท่ากับปริมาณพลังงานที่ไอร์แลนด์ใช้ในหนึ่งปี

ทั้งเปลืองน้ำ ทั้งปล่อยน้ำเสีย

อุตสาหกรรมเอไอส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำทั้งในแง่การบริโภคน้ำอย่างฟุ่มเฟือยและการปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำ

อัตราการใช้น้ำของอุตสาหกรรมเอไอนั้นไม่มีตัวเลขโดยรวมที่ชัดเจน แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมากในการระบายความร้อนให้กับศูนย์ข้อมูล หน่วยประมวลผล เซิร์ฟเวอร์ และการผลิตฮาร์ดแวร์ โดยการสร้างศูนย์ข้อมูลและการผลิตซอฟต์แวร์เอไออาจมีความต้องการใช้น้ำมากถึง 6.6 พันล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2027

นอกจากนั้น บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ยังต้องใช้น้ำเพื่อการบริโภคเป็นจำนวนมหาศาล เช่น กูเกิลใช้น้ำดื่มไปกว่า 21 พันล้านลิตรในปี 2022 และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มปริมาณขึ้นอีก

ที่ผ่านมา การใช้น้ำของอุตสาหกรรมเอไอถูกประเมินไว้ต่ำเกินไป เช่น ศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ในเนเธอร์แลนด์ใช้น้ำมากกว่าประมาณการณ์เริ่มต้นถึง 4 เท่า และความต้องการน้ำสำหรับระบบระบายความร้อนของอุตสาหกรรมเอไอยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้โลกร้อนกว่าเดิม

นอกจากการใช้น้ำโดยตรงในการดำเนินงานแล้ว การผลิตฮาร์ดแวร์ของเอไอยังต้องใช้แร่ธาตุหายากหลายชนิด ซึ่งการทำเหมืองเพื่อให้ได้แร่ธาตุเหล่านั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งน้ำเช่นกัน ส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และไมโครชิปก็ใช้น้ำปริมาณมากในขั้นตอนการผลิต

ความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมนี้อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำจืด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชน บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งจึงเริ่มหันมาสร้างศูนย์ข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เพียงเพื่อแสวงหาแหล่งน้ำราคาถูก เช่น โครงการสร้างศูนย์ข้อมูลในอุรุกวัย ซึ่งเพิ่งประสบภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี

ยิ่งฉลาดยิ่งเปลืองทรัพยากร

ส่วนใหญ่แล้ว ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมเอไอเป็นเพราะปฏิบัติการของเอไอมีความซับซ้อนกว่าเดิมมาก เพื่อตอบสนองคำขอของผู้ใช้งาน เอไออาจต้องใช้พลังการประมวลผลมากถึง 10 เท่าของการค้นหาออนไลน์ทั่วไป การฝึกฝนเอไอให้ฉลาดขึ้นอาจต้องใช้พลังงานมากเท่ากับการใช้พลังงานของครัวเรือนอเมริกัน 120 ครัวเรือนในช่วงเวลาหนึ่งปี

และขณะที่การค้นหาด้วยกูเกิลใช้น้ำเพียงครึ่งมิลลิลิตร แต่เอไออย่างแชตจีพีทีกลับใช้น้ำมากถึง 500 มิลลิลิตรสำหรับการตอบสนองพรอมต์ (prompt) 5-50 ครั้ง

สถิติที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือ ขนาดของแบบจำลองเอไอที่ใหญ่กว่าเดิมและซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าพลังการคิดคำนวณที่จำเป็นต้องใช้ในการฝึกแบบจำลองเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก 3.4 เดือนนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา การเติบโตในอัตราที่น่ากลัวนี้ส่งผลให้ความต้องการพลังงานสำหรับการพัฒนาเอไอเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบทางอ้อม

นอกจากผลกระทบทางตรงต่อสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้อย่างชัดเจน ยังมีผลกระทบทางอ้อมเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่าง แต่เรื่องที่สำคัญก็คือความสามารถของเอไอในการช่วยแพร่กระจายข้อมูลเท็จ

ที่ผ่านมา แม้เราจะเห็นได้ชัดเจนและรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่าสิ่งแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ก็ยังมีผู้คนบางกลุ่มปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลก็เสียประโยชน์จากการพัฒนาพลังงานสะอาด

กลุ่มคนเหล่านี้พยายามเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โฆษณาออนไลน์เฉพาะกลุ่ม และเครื่องมือค้นหา มาโดยตลอด เช่น กล่าวหาว่ากังหันลมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าคือสาเหตุของการตายของปลาวาฬในนิวเจอร์ซีย์ และเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในเท็กซัส

เอไอจึงกลายเป็นเครื่องมือทรงคุณค่าที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยให้ข้อมูลเท็จของคนกลุ่มนี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำได้ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายต่ำลง เผยแพร่ออกไปได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น และรวดเร็วกว่าเดิม

เอไอใช่จะไร้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

เอไอเป็นเหมือนดาบสองคม มันไม่ได้มีเพียงผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม แต่การวิจัยด้านเอไอที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วก็สามารถนำไปประยุกต์เพื่อสร้างประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

เอไอสามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสายส่งพลังงาน สร้างแบบจำลองทำนายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือตรวจสอบสนธิสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ

ศักยภาพของเอไอในการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำในภาคเกษตรกรรมก็เห็นได้ชัดเจนผ่านการสร้างเครื่องจักร หุ่นยนต์ และเซนเซอร์อัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบเกษตร ไบโอเซนเซอร์ที่ทำงานด้วยเอไอสามารถตรวจจับสารเคมีที่เป็นพิษในน้ำดื่มได้อย่างแม่นยำกว่าวิธีการตรวจสอบคุณภาพในปัจจุบันเสียอีก

ประโยชน์เหล่านี้ล้วนเป็นที่ยอมรับ แต่ที่ต้องคำนึงก็คือวิธีสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากเอไอกับผลกระทบที่เอไอมีต่อสิ่งแวดล้อม

ทางรอดสำหรับอนาคต

รายงานขององค์กรเพื่อนแห่งโลกเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการแบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเอไอ โดยต่อไปนี้เป็นบางแนวทางที่รายงานได้กล่าวเอาไว้

  • พัฒนาอัลกอริทึมเอไอที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมในการใช้พลังงาน เพื่อลดการใช้พลังงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • เลือกใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมในการจ่ายพลังงานให้ศูนย์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ส่งเสริมการพัฒนาเอไออย่างรับผิดชอบ โดยเลือกแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนและคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและการใช้งาน
  • หากการพัฒนาเอไอสามารถทำได้อย่างเปี่ยมความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ภาพน่ากังวลเรื่องต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเอไอก็อาจเปลี่ยนเป็นงดงามกว่าเดิมได้ในวันข้างหน้า

    แหล่งข้อมูล:

    https://penntoday.upenn.edu/news/hidden-costs-ai-impending-energy-and-resource-strain

    https://e360.yale.edu/features/artificial-intelligence-climate-energy-emissions

    https://www.forbes.com/sites/christopherhelman/2024/03/28/jerry-jones-bet-big-on-natural-gas-last-week—the-rise-of-energy-hungry-ai-means-you-should-too/?utm_source=newsletter&utm_medium=email&utm_campaign=dailydozen&cdlcid=5d1670561802c8c524c3d91a&section=tech&sh=454db223e018

    https://theconversation.com/ais-excessive-water-consumption-threatens-to-drown-out-its-environmental-contributions-225854#:~:text=By%20comparison%2C%20Google’s%20data%20centres,cost%20126%2C000%20litres%20of%20water

    https://www.theguardian.com/technology/2024/mar/07/ai-climate-change-energy-disinformation-report

    https://www.euronews.com/next/2023/10/10/demand-for-ai-could-mean-technology-consumes-same-energy-as-a-country-analysis-shows

    https://www.theverge.com/24066646/ai-electricity-energy-watts-generative-consumption

    https://foe.org/wp-content/uploads/2024/03/AI_Climate_Disinfo_v6_031224.pdf