ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > บินถูกกว่านั่งรถไฟ 30 เท่า ปรากฏการณ์ในยุโรปที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

บินถูกกว่านั่งรถไฟ 30 เท่า ปรากฏการณ์ในยุโรปที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

26 มีนาคม 2024


สุนิสา กาญจนกุล รายงาน

นโยบายภาษีที่บิดเบี้ยวและการอุดหนุนอุตสาหกรรมการบินส่งผลให้สายการบินต้นทุนต่ำในยุโรปสามารถเสนอขายตั๋วเครื่องบินด้วยราคาแสนประหยัด จนกระทั่งการบินไปประเทศเพื่อนบ้านเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการนั่งรถไฟไปยังเมืองใกล้เคียงในประเทศ กลายเป็นสร้างแรงจูงใจที่ไม่สมเหตุผลให้ผู้คนเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่สร้างมลพิษต่อสภาพอากาศมากที่สุด แทนที่จะนั่งรถไฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ไรอันแอร์ สายการบินต้นทุนต่ำที่ประหยัดทุกอย่างจนกลายเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป มีรายได้ 9.7 พันล้านยูโร แม้จะถูกประณามเรื่องคุณภาพของการให้บริการ ที่มาภาพ: https://www.europeanceo.com/home/featured/eu-travel-industry-urges-governments-to-rethink-restrictions/

ถูกกว่า เร็วกว่า การถือกำเนิดของสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินกลายเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้มากกว่าที่เคย

หากมองในแง่หนึ่งอาจดูเหมือนว่าการที่สายการบินต้นทุนต่ำเติบโตอย่างรวดเร็ว พาผู้คนเดินทางท่องเที่ยวได้บ่อยครั้งขึ้น ถือเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย นักท่องเที่ยวได้เที่ยวในราคาประหยัด สายการบินมีกำไร สนามบินคึกคัก ธุรกิจท่องเที่ยวเบ่งบาน

แต่เบื้องหลังราคาแสนเย้ายวนใจเหล่านั้น แอบแฝงต้นทุนราคาแพงที่เรามองไม่เห็น นั่นคือ ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม

การบินและการนั่งรถไฟเป็นเสมือนถนนคู่ขนานที่พาผู้โดยสารไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันได้ แต่การที่ค่าโดยสารเครื่องบินในยุโรปมีราคาถูกกว่าค่ารถไฟอย่างน่าตกใจ ผนวกกับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนเลือกนั่งเครื่องบินมากกว่านั่งรถไฟ

ลองจินตนาการว่าคุณอาศัยอยู่ในนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ และวางแผนจะไปเยี่ยมเพื่อนที่เบอร์มิงแฮมซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 270 ไมล์ แต่พบว่าต้องจ่ายค่าตั๋วรถไฟไปกลับราคาสูงถึง 105 ปอนด์ ขณะที่การเดินทางด้วยสายการบินราคาประหยัดไปมาลากาในสเปนซึ่งอยู่ห่างออกไป 1,200 ไมล์ แล้วย้อนกลับมาอังกฤษ เสียใช้จ่ายแค่ 50 กว่าปอนด์เท่านั้น

เมื่อความแตกต่างด้านราคาชัดเจนแบบนี้ ผลก็คือชาวยุโรปบางรายเลือกบินไปพบปะสังสรรค์กันในต่างประเทศ แทนที่จะนั่งรถไฟไปเจอกันที่เมืองใกล้บ้าน

ความแตกต่างของราคาตั๋วเครื่องบินและตั๋วรถไฟอาจเห็นได้อย่างชัดเจนจากรายงานที่องค์กรกรีนพีซทำขึ้นเพื่อเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบินและรถไฟใน 112 เส้นทางทั่ว ยุโรป (สหภาพยุโรป อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์) ใน 9 ช่วงเวลาที่ต่างกัน

การสำรวจดังกล่าวพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วค่าโดยสารรถไฟในยุโรปแพงกว่าค่าตั๋วเครื่องบินสองเท่า เส้นทางบรัสเซลส์-มิวนิค ค่าบินถูกกว่ารถไฟถึง 8 เท่า ส่วนเส้นทางปารีส-บาร์เซโลนา ค่าตั๋วเครื่องบินก็ถูกกว่ากว่า 4 เท่า สำหรับเส้นทางลอนดอน-บาร์เซโลนานั้น ค่าโดยสารรถไฟแพงกว่าค่าตั๋วเครื่องบินถึง 30 เท่าเลยทีเดียว โดยตั๋วเครื่องบินจากลอนดอนไปบาร์เซโลนามีราคาเพียง 10 ปอนด์ ในขณะที่ตั๋วรถไฟราคา 300 ปอนด์

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผู้คนจะเลือกเดินทางด้วยเครื่องบินแทนที่จะใช้วิธีการเดินทางอื่นที่แพงกว่าและสะดวกรวดเร็วน้อยกว่า

เลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อม

“เมื่อราคาเครื่องบินถูกเกินไป ผู้คนก็พากันมองข้ามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และหันมาเลือกบินกันมากขึ้น โดยไม่รู้เลยว่ามันกำลังทำลายโลกของเราอย่างไร” จอห์น เคนท์ จากกรีนพีซกล่าว

การเดินทางทางอากาศนั้นสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการบินในยุโรปในปี 2018 คิดเป็นปริมาณราว 171 ล้านตัน หรือราว 3.8% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 23% ภายในปี 2050 ถ้าหากไม่มีมาตรการจำกัดปริมาณที่เข้มงวด

ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ การปล่อยมลพิษอื่นๆ จากการบิน เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนบล็อก รวมถึงเขม่าควันจากการเผาไหม้ เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพอากาศ สร้างปัญหาหมอกควันและฝนกรด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยรวม

ราคาไม่เป็นธรรมเพราะนโยบายที่บิดเบือน

สาเหตุที่ค่าโดยสารเครื่องบินมีราคาถูกกว่ารถไฟหลายเท่าตัวเป็นผลมาจากนโยบายภาษีที่ผิดพลาดและการอุดหนุนอุตสาหกรรมการบิน เช่น การยกเว้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ รวมถึงการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสนามบิน ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินไม่สะท้อนถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง จึงจูงใจให้ผู้คนหันไปเลือกใช้การบินมากกว่ารถไฟทั้งที่ยุโรปกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงแบบทำลายสถิติ

กรีนพีซระบุว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเลวร้ายกว่าการนั่งรถไฟถึง 80 เท่า แต่ถึงอย่างนั้น สายการบินก็ยังได้รับการยกเว้นภาษีน้ำมันก๊าด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำมันเครื่องบิน

องค์กรการเดินทางและสิ่งแวดล้อมประมาณการณ์ว่า ผู้เสียภาษีในยุโรปสูญเสียเงินไปทั้งสิ้น 34,000 ล้านยูโรต่อปี เนื่องจากการยกเว้นภาษีน้ำมันก๊าดและการยกเว้นภาษีประเภทอื่นๆ ให้กับสายการบิน ในขณะที่การเดินทางด้วยรถไฟไม่มีการยกเว้นภาษีพลังงาน โดยขณะนี้แผนการปรับแก้ไขการยกเว้นภาษีน้ำมันก๊าดสำหรับสายการบินยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของสหภาพยุโรป

การตลาดจูงใจให้บิน

นอกจากค่าใช้จ่ายการเดินทางที่ถูกกว่า และสะดวกสบายกว่า บริษัทบัตรเครดิตก็มีส่วนในการจูงใจให้เดินทางด้วยเครื่องบินเช่นกัน ผ่านทางโปรแกรมสะสมไมล์สำหรับผู้โดยสารบินบ่อย (Frequent Flyer Programmes) ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางทางอากาศมากเกินความจำเป็น เพื่อให้ได้จำนวนไมล์สะสมมากขึ้น

แม้ว่าดูเผินๆ แล้ว โปรแกรมสะสมไมล์ช่วยให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์หลายอย่าง เช่น บัตรโดยสารฟรี ปรับชั้นโดยสารให้แพงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วลูกค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายแอบแฝงให้กับธนาคารและร้านค้าต่างๆ ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตและนำไปจ่ายค่าไมล์สำหรับบริษัทสายการบิน ขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง

หลายฝ่ายพยายามแก้ไข

บางประเทศในยุโรปตระหนักถึงปัญหานี้และพยายามกำหนดแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศเจตนารมณ์ที่จะเสนอนโยบายกำหนดราคาค่าโดยสารเครื่องบินขั้นต่ำต่อสหภาพยุโรป ซึ่งถ้ามีผลบังคับใช้ เมื่อใด ก็อาจหมายถึงการสิ้นสุดของค่าตั๋วเครื่องบินที่ราคาถูกจนเกินไปในยุโรป

โดยที่นายคลีแมงต์ โบน รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า ค่าโดยสารเครื่องบินที่ราคาต่ำเกินไปนั้น “ไม่ได้สะท้อนถึงราคาที่ต้องจ่ายให้กับโลก”

ฝรั่งเศสยังลงมือก่อนหน้าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ด้วยการสั่งห้ามเส้นทางการบินระยะสั้นบางเส้นทางในกรณีที่มีเส้นทางรถไฟที่ใช้เวลาต่ำกว่า 2.5 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมให้ใช้รถไฟแทน นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีแผนที่จะนำแรงบันดาลใจจากบัตรรถไฟราคาประหยัดรายเดือนของเยอรมนีมาใช้งาน โดยโครงการประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยการอนุญาตให้เดินทางแบบไม่จำกัดด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท รวมทั้งรถไฟระหว่างเมือง ในราคาประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน

ขณะที่ท่าอากาศยานคิปโฮลในอัมสเตอร์ดัมประกาศจะยกเลิกเที่ยวบินกลางคืนภายในสิ้นปี 2025 และจำกัดเที่ยวบินเครื่องบินส่วนตัวให้น้อยลงกว่าเดิม

บินบ่อยควรจ่ายภาษีแพง

กลุ่มขยันบินถือเป็นกลุ่มผู้โดยสารส่วนน้อยแต่ปล่อยคาร์บอนสูงสุด โดยข้อมูลจากกลุ่มรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศชื่อพอสซิเบิล (Possible) ระบุว่า ในฝรั่งเศส การบินครึ่งหนึ่งมาจากประชากรเพียง 2% ในสหราชอาณาจักร การบิน 70 % มาจากประชากรเพียง 15% และในเนเธอร์แลนด์ การบิน 42 % มาจากประชากรเพียง 8%

นักสิ่งแวดล้อมมองว่าวิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือการเก็บภาษีสำหรับผู้โดยสารบินบ่อยครั้ง พอสสิเบิลจึงรณรงค์เพื่อนำระบบภาษีผู้โดยสารบินบ่อยมาใช้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอัตราภาษีบุคคลตามจำนวนเที่ยวบินที่เดินทางต่อปี เพื่อให้ผู้ที่เดินทางทางอากาศเป็นประจำรับภาระมากกว่าผู้ที่บินเป็นครั้งคราว

แนวทางแก้ไขอื่นๆ

หากต้องการแก้ปัญหานี้ ประเทศต่างๆ ในยุโรปจำเป็นต้องดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การยกเลิกการยกเว้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีคาร์บอนสำหรับการบิน พร้อมทั้งกำหนดภาษีคาร์บอนในอัตราที่เพียงพอและสะท้อนต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง เพื่อลดแรงจูงใจในการใช้การบินเป็นทางเลือกหลัก

องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ยังแนะนำให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีสำหรับการเดินทางทางอากาศ เนื่องจากสร้างความไม่เป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น ตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารที่บินจากปารีสไปบาร์เซโลนาไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีน้ำมันเครื่องบิน แต่หากเดินทางด้วยรถไฟจะต้องจ่ายภาษีพลังงานและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้โดยสาร

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการบิน เช่น การยกเลิกนโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสนามบิน ขณะที่รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายและระบบรถไฟ เพื่อเป็นทางเลือกที่สะดวก คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

แนวทางอื่นๆ ที่ควรดำเนินการควบคู่กันไป ได้แก่ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกสะอาดสำหรับการบิน รวมถึงการรณรงค์สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้ระบบรถไฟและขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปนั้นขึ้นชื่อเรื่องความล่าช้าในการนำกฎใหม่มาใช้ เพราะต้องได้รับการอนุมัติจากทุกประเทศสมาชิก ความคืบหน้าต่างๆ จึงต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งจึงจะเห็นผล

แต่คนทั่วไปในฐานะประชากรโลกสามารถมีส่วนร่วมช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้ในทันที โดยไตร่ตรองเรื่องการเดินทางให้มากขึ้น เลือกวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรกับโลกมากกว่า แม้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ลำบากกว่าและช้ากว่า ก่อนที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลกจะก้าวไปสู่จุดที่ไม่อาจย้อนกลับคืนได้อีกต่อไป

แหล่งอ้างอิง:

https://www.greenpeace.org/eu-unit/issues/climate-energy/46764/the-shocking-extent-people-are-encouraged-to-fly-in-europe/

https://www.theguardian.com/environment/2023/jul/20/flying-in-europe-up-to-30-times-cheaper-than-train-says-greenpeace

https://www.timeout.com/news/this-country-is-on-a-mission-to-end-super-cheap-flights-in-europe-090823

https://www.forbes.com/sites/alexledsom/2023/09/07/the-end-of-cheap-europe-flights-france-proposes-eu-wide-minimum-price/?sh=332a66995d67

https://www.euronews.com/2023/06/12/air-traffic-is-booming-again-and-environment-activists-arent-happy

https://www.eceee.org/all-news/news/every-hour-european-governments-lose-out-on-4-million-in-aviation-taxes/