ThaiPublica > คอลัมน์ > “ความมั่นคงด้านพลังงาน” : แดด VS ก๊าซธรรมชาติ อย่างไหนมั่นคงกว่ากัน?

“ความมั่นคงด้านพลังงาน” : แดด VS ก๊าซธรรมชาติ อย่างไหนมั่นคงกว่ากัน?

30 พฤษภาคม 2023


ประสาท มีแต้ม

ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนก็เพราะว่า “ว่าที่รัฐบาลพรรคก้าวไกล” ได้มีบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ทั้งระหว่าง 8 พรรคการเมืองด้วยกันเอง และระหว่างพรรคร่วมกับประชาชน จำนวน 23 ข้อ โดยข้อที่ 12 มีความว่า “ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน”

ผมเชื่อว่า ข้อความใน MOU ข้อดังกล่าวเป็นที่เข้าใจกันพอสมควรของประชาชนทั่วไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความในส่วนแรก เพราะได้ติดตามข่าวสารและต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แพงกว่าของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียถึง 2-3 เท่าตัว แต่ที่เป็นปัญหาในเชิงวิชาการก็คือข้อความในตอนท้าย คำว่า “ความมั่นคงทางพลังงาน” นั้นหมายถึงอะไรกันแน่

ศาสตราจารย์ Evan Hillebrand แห่งมหาวิทยาลัย Kentucky สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน (energy security) มีความซับซ้อน มีหลายมิติ มีความหมายมากกว่าการมีพลังงานเพื่อใช้เองอย่างเพียงพอ มากกว่าความเป็นอิสระทางพลังงาน แต่มันเกี่ยวกับว่าเราได้พลังงานมาจากไหน ตลอดจนเรื่องราคา ความน่าเชื่อถือ ความยั่งยืน และขนาดของพลังงานด้วย นอกจากนี้ ยังเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์และผลกระทบซึ่งกันและกันของปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วด้วย ความมั่นคงด้านพลังงานจึงไม่ใช่แค่ความสำคัญของพลังงานเองเท่านั้น แต่มันเกี่ยวพันกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไรด้วย”

ผมเองจำได้แม่นว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยตั้งคำถามกับผู้สื่อข่าวแล้วตอบเองว่า “ความมั่นคงด้านพลังงานหมายถึงการมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่พอจ่ายได้ตลอดไป” เราจะเห็นได้ว่า คำตอบดังกล่าวเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความหมายในเชิงวิชาการข้างต้นเท่านั้นเอง

เพื่อจะทำความเข้าใจให้มากกว่านี้ เรามาดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเองใน 3 ฉบับล่าสุด แม้ไม่มีนิยามหรือคำอธิบายโดยตรง แต่พอจะทำให้เราเห็นร่องรอยของพัฒนาการและเจตนารมณ์ที่เกี่ยวข้องได้

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เรียกกันว่า “ฉบับประชาชน” ไม่มีการบัญญัติคำว่า “พลังงาน” แม้แต่คำเดียว แต่มีคำว่า “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” มาแทน อยู่ในหมวด “สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย” มาตรา 46 ความว่า “บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 หมวดแนวนโยบายเช่นเดียวกัน มาตรา 86 (3) ความว่า “ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งได้จากธรรมชาติและเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ”

“ความมั่นคงด้านพลังงาน” เพิ่งได้รับการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นครั้งแรก ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 72 (5) ความว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน”

ผมขอสรุปรวมทั้ง 3 ฉบับได้ว่า “ให้รัฐส่งเสริมให้ชนชาวไทยได้ใช้พลังงานที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน”

ในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นได้ว่าสภาพภูมิอากาศของโลกไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน โลกร้อนขึ้นมาก นักวิทยาศาสตร์พบว่า 3 ใน 4 ของสาเหตุเกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิล ส่งผลให้โลกทั้งใบไม่มีความมั่นคง อย่าว่าแต่ระดับชาติไม่มั่นคงเลย แต่ไม่มั่นคงกันทั้งโลก รวมถึงสิงสาราสัตว์และพืชด้วย

ผมขอพักเรื่องความหมายของคำว่าความมั่นคงด้านพลังงานเอาไว้แค่นี้ก่อน เรามาดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้า (ที่เป็นประเด็นใน MOU) ของประเทศไทยเราเองและประเทศอื่นๆ กันก่อน เผื่อว่าจะทำให้เราเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่า พลังงานจากแสงแดดซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ไม่ได้มีน้อยอย่างที่เราถูกทำให้เชื่อกัน

ข้อมูลจากภาพแรก บอกเราว่า ในปี 2564 ประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดโดยใช้แผ่นโซลาร์เซลล์ได้มากถึงร้อยละ 11, 10 และ 9 ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่แต่ละประเทศผลิต ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศไทยเราผลิตได้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น น้อยกว่าของประเทศกัมพูชาและค่าเฉลี่ยของโลก

หากคิดเป็นปริมาณไฟฟ้า ออสเตรเลียและเวียดนามผลิตได้ประมาณ 28,000 และ 25,000 ล้านหน่วย แต่ของไทยเราได้เพียง 4,000 ล้านหน่วยเท่านั้น ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 95 ผลิตโดยโซลาร์ฟาร์มที่ได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (adder) จากค่าไฟฟ้าในราคาปกติต่างหากอีก 6-8 บาทต่อหน่วย

หากย้อนหลังไปถึงปี 2562 ประเทศไทยเราเคยผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก มากกว่าของเวียดนามและกัมพูชา ข้อมูลดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงนโยบายพลังงานของประเทศไทยในยุครัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่เน้นการตอบสนองต่อกลุ่มทุน (เจ้าของฟาร์ม) และทุนใหญ่ที่ผูกขาดก๊าซธรรมชาติรวมทั้งระบบท่อขนส่งด้วย การกดให้ตัวเลขร้อยละของการผลิตด้วยโซลาร์เซลล์ต่ำลง ก็เท่ากับเป็นการช่วยให้การผลิตด้วยก๊าซธรรมชาติมากขึ้นนั่นเอง

อยากให้ดูของประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งครับ ทั้งๆ ที่โดยภูมิศาสตร์แล้วเขามีแสงแดดน้อยกว่าเรา แต่เขาสามารถผลิตจากแสงแดดได้มากถึงเกือบ 9 หมื่นล้านหน่วย เกือบครึ่งของไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้ทั้งประเทศ

ถ้าเราคิดคร่าวๆ ว่า ต้นทุนก๊าซฯ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยประมาณ 3 บาท เราก็สามารถประหยัดเงินตราของประเทศได้หลายแสนบาทต่อไป

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ขออภัยที่ต้องกล่าวถึงบ่อย) เคยกล่าวว่า “แสงแดดมีน้อย แพง ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาอะไรใช้” ฟังดูเผินๆ ก็อาจรู้สึกว่าจริง

ผมมีตัวอย่างการผลิตไฟฟ้าจากประเทศออสเตรเลียมาให้ดูกันว่าเขาจัดการอย่างไร เขาใช้หลักการง่ายๆ คือ เมื่อไหร่ที่มีแดดและลมซึ่งไม่เสถียร ก็ปล่อยให้แดดและลมผลิตให้เต็มที่ไปเลย พร้อมกับการลดการผลิตจากก๊าซฯ และถ่านหินลงมาให้พอกับความต้องการ เวลากลางคืนก็ผลิตจากก๊าซฯ และถ่านหินเพิ่มขึ้นจนพอ ไม่ได้มีปัญหาในเชิงเทคนิค วิศวกรรมใดๆ เช่น โรงไฟฟ้าฐานแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว

เราไม่สามารถควบคุมแดดและลมได้ก็จริง แต่ทำเพียงเท่านี้เราก็สามารถเก็บก๊าซฯ (ซึ่งใช้แล้วหมดไปและปล่อยก๊าซเรือนกระจก) เอาไว้ให้คนรุ่นลูกหลานได้ใช้ในอนาคตไม่ดีกว่าหรือ อย่างนี้มิใช่หรือที่เขาเรียกว่าความมั่นคงด้านพลังงาน

ท่านที่รู้สึกว่ากลัวการอ่านกราฟ ก็กรุณาอ่านบทสรุปในกล่องข้อความสีแดงนะครับ

ปัจจุบันประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากรเพียง 26 ล้านคน แต่ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วจำนวนกว่า 3 ล้านหลังคาเรือน โดยใช้ระบบแลกหน่วยไฟฟ้ากับทางการไฟฟ้า (net metering) ทำไมประเทศเขาทำได้ แต่ประเทศไทยไม่ยอมทำ ทั้งๆ ที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีไปแล้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 จึงขอฝากรัฐบาลใหม่ช่วยติดตามและสานต่อด้วยครับ

คราวนี้มาดูการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติของประเทศต่างๆที่กล้าวมาแล้วกันบ้าง รวมทั้งแหล่งที่มาของก๊าซฯ ในประเทศไทยด้วย

จำได้นะครับว่า ในกรณีการใช้แสงแดดผลิตไฟฟ้า ประเทศไทยมาเป็นที่โหล่สุด (ตามรูปแรก) แต่พอมาถึงการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า ประเทศไทยเรานำโด่งเป็นที่หนึ่ง ทิ้งอันดับสองเกือบเท่าตัว (ตามรูปสุดท้าย)

สำหรับแหล่งที่มาของก๊าซธรรมชาติ พบว่า เราผลิตจากในประเทศได้เพียง 62% ที่เหลือเป็นการนำเข้าทางท่อจากประเทศเมียนมาและนำเข้าทางเรือในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน นี่ก็สะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้านพลังงานของประเทศเรา

ขออีกนิดครับ เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง คือรัฐบาลมีนโยบายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีนำก๊าซฯ ในอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาถูกกว่า) ไปใช้ก่อน เมื่อไม่พอใช้จึงให้นำเข้า LNG มาใช้ผลิตไฟฟ้า โปรดสังเกตข้อความในวงรีสีแดง (ตารางทางขวามือ) ว่า ก๊าซฯ ที่ผลิตได้ในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่าที่ใช้ผลิตไฟฟ้า

นี่คืออีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่า รัฐบาลลุงตู่เอื้อกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ แทนที่จะเอื้อชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540

กลับมาที่นโยบายของว่าที่รัฐบาลพรรคก้าวไกล พบว่า ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างก็มีนโยบายที่จะเปิดเจรจาเพื่อหาแหล่งก๊าซฯ ใหม่บนพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ผมขอเรียนด้วยความเคารพว่าขอได้โปรดทบทวนใหม่เถิดครับ ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว

ผมขอปิดบทความนี้ด้วยคำพูดของ Dr. Hermann Scheer ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว” ว่า “การปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” ผมมิได้ขอร้องเฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ผมกำลังเรียกร้องต่อวงการวิชาการ ภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วประเทศด้วยครับ