ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามออกกฎใหม่ส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม

ASEAN Roundup เวียดนามออกกฎใหม่ส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม

24 มีนาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 มีนาคม 2567

  • เวียดนามออกกฎใหม่ส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม
  • บริษัทเวียดนามและดัตช์ลงนามในข้อตกลง 18 ฉบับ
  • Lam Research จากสหรัฐจับมือเกาหลีใต้ลงทุนผลิตชิปในเวียดนาม
  • จีน-เวียดนามขยายชั่วโมงการค้าชายแดน
  • ลาวขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับไปที่ 10%
  • อินโดฯ เตรียมนำเข้าข้าว 22,500 ตันจากกัมพูชา ฉลองวันอิดิ้ลฟิตริ
  • ญี่ปุ่น-อาเซียนเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Codeปี 2568

    เวียดนามออกกฎใหม่ส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม

    https://hanoitimes.vn/ที่มาภาพ:hanoi-to-build-up-to-20-new-industrial-clusters-in-2022-320270.html
    รัฐบาลได้ออกกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนและส่งเสริมความโปร่งใสในการจัดการและการพัฒนา

    คำสั่งหมายเลข 32/2024/ND-CP ลงวันที่ 15 มีนาคม 2567 ได้สรุปนโยบายที่เป็นประโยชน์หลายประการรวมทั้งมาตรการสนับสนุนสำหรับการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม

    โดยให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนสำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เผชิญกับความท้าทายด้านภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม และพิจารณาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคสำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ที่เป็นอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่มีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์จูงใจในการลงทุน

    กฎระเบียบนี้ยังกำหนดให้ งบประมาณท้องถิ่นจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคทั้งภายในและภายนอกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ดำเนินงาน

    การสนับสนุนจะขยายไปยังโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคสำคัญที่ใช้ร่วมกัน ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ยากลำบากหรือมีความท้าทายอย่างมาก รวมไปถึงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นไปที่การบูรณาการภาคส่วน ความเชี่ยวชาญ บริการสนับสนุน ระบบนิเวศ และการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิม

    รัฐจะสนับสนุนมากถึง 30% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ต้องใช้ สำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคในคลัสเตอร์อุตสาหกรรม คณะกรรมการประชาชนระดับจังหวัดจะรายงานการตัดสินใจหรือการตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่และบทบัญญัติทางกฎหมายต่อสภาประชาชน ในเรื่องการสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมภายในเขตปกครองของตน

    งบประมาณกลางจะจัดหาเงินทุนสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ดำเนินการโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งรวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การสอบสวน การจัดทำและดูแลฐานข้อมูลสำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรม การจัดการประชุมและสัมมนา และการประสานงานการส่งเสริมการลงทุนสำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะมีการวิจัยเพื่อพัฒนาเกณฑ์ในการระบุรูปแบบที่มีประสิทธิภาพของการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    งบประมาณท้องถิ่นจะดูแลให้มีเงินทุนสำหรับกิจกรรมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ดำเนินการโดยหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนสำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรม การสำรวจองค์กรและบุคคลที่สนใจย้ายหรือลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ประเมินข้อเสนอในการจัดตั้งหรือขยายคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และการจัดหาเงินทุนสนับสนุนการจัดตั้งโครงการลงทุน นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงต้นทุนการขนส่งและการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับวิสาหกิจ สหกรณ์ และครัวเรือนในหมู่บ้านหัตถกรรมและพื้นที่อยู่อาศัยที่ย้ายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรม

    บริษัทเวียดนามและดัตช์ลงนามในข้อตกลง 18 ฉบับ

    ที่มาภาพ: https://vir.com.vn/dutch-and-vietnamese-businesses-sign-cooperation-agreements-for-mekong-delta-109776.html
    บริษัทเนเธอร์แลนด์ รวมถึงฟิลิปส์ กลุ่มบริษัทข้ามชาติของเวียดนามที่บริหารโดยผู้หญิงที่รวยที่สุดของเวียดนาม รวมทั้งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรได้ลงนามข้อตกลง 18 ฉบับในอุตสาหกรรมตั้งแต่การบินไปจนถึงการเกษตร ในโอกาสที่คณะผู้แทนการค้าของเนเธอร์แลนด์ 140 คนนำโดย คริสเตียน ฟาน เดอ วาล(Christianne van der Wal) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ธรรมชาติ และคุณภาพอาหารของเนเธอร์แลนด์ ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมและนายจ้างแห่งเนเธอร์แลนด์อิงกริด ธิจเซ่น(Ingrid Thijssen) และ มาร์ค ฮาร์เบอร์ส(Mark Harbers) รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ เดินทางเยือนนครโฮจิมินห์ในวันที่ 18-21 มีนาคม

    นักลงทุนและนักการเมืองจากเนเธอร์แลนด์และเวียดนาม กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ธุรกิจต่างๆ ที่เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ฟาร์มกุ้งที่เรียนรู้วิธีการดำเนินงานรอบๆ ป่าชายเลน

    เนเธอร์แลนด์เป็นตลาดและนักลงทุนในยุโรปที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ซึ่งรวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่ใช้เนเธอร์แลนด์เป็นฐาน อันเป็นผลจากท่าเรือ เทคโนโลยี และกฎเกณฑ์ด้านภาษี

    หนึ่งในข้อตกลง 18 ฉบับลงนามโดย Sovico กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินการโดย เหงียน ทิ เฟือง เถา(Nguyen Thi Phuong Thao) ผู้ก่อตั้งสายการบินเวียตเจ็ท บริษัทจะทำงานร่วมกับ NACO ที่ปรึกษาด้านการบินของเนเธอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ขณะที่บริษัทอื่นๆ อีก 2 แห่ง ได้แก่ Vanderlande และ IC Ictas Insaat ตกลงที่จะติดตั้งระบบสัมภาระสำหรับสนามบินล็องถั่ญซึ่งเป็นสนามบินแห่งที่ 2 ของนครโฮจิมินห์ที่พัฒนาล่าช้ามานาน ขณะที่ Philips Vietnam บรรลุข้อตกลงในการจัดหาเทคโนโลยีอัจฉริยะให้กับโรงพยาบาล Carmel International Hospital เช่น อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ

    ข้อตกลงอื่นๆ ที่ได้รับการยืนยันในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การลงทุน 1 พันล้านยูโรจาก Triple I ใน Sokfarm ซึ่งผลิตสารให้ความหวานจากดอกมะพร้าวเพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกร และข้อตกลงโดย Greenant และ Eurofins Vietnam เพื่อรับรองบริษัทที่หลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่า

    นอกจากนี้มี 4 โครงการที่อยู่ภายใต้โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่โอกาสทางเศรษฐกิจของการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน มีจุดมุ่งหมายเพื่อระดมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชนให้ทำงานร่วมกันและสนับสนุนการเติบโตของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาตามธรรมชาติ การลดโรคและการใช้ยาปฏิชีวนะ และการสนับสนุนเกษตรกรและสหกรณ์ด้วยความรู้และ เทคโนโลยี

    โครงการอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ การเลี้ยงกุ้งแบบอินทรีย์ การปลูกข้าวแบบยั่งยืน และการใช้สารทดแทนน้ำตาล

    ทั้งสองฝ่ายยังได้ดำเนินการสร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในยุโรปที่เพิ่มขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นสำหรับบริษัทเกษตรกรรมของเนเธอร์แลนด์ในเวียดนามผ่านแพลตฟอร์มไอทีที่เป็นนวัตกรรม

    อีกทั้งยังมีโครงการปรับใช้กระบวนการทำฟาร์มแบบครบวงจรด้วยเทคนิคการบำบัดเมล็ดพันธุ์และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปลูกข้าวแบบบูรณาการเพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพสูงหนึ่งล้านเฮกตาร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินกู้มูลค่า 90 ล้านดอลลาร์

    โครงการความร่วมมือนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างการจ้างงานระยะยาว และส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

    นายฮาร์เบอร์สกล่าวว่า เวียดนามและเนเธอร์แลนด์มีความคล้ายคลึงกันตรงที่ทั้งสองประเทศมีสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน ดังนั้นจึงมีความท้าทายเดียวกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การรุกล้ำของน้ำเค็ม และการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม เนเธอร์แลนด์มีประสบการณ์ 50 ปีในด้านธรรมาภิบาลน้ำเช่นเดียวกับเวียดนาม แต่ประสบการณ์เหล่านั้นยังไม่เพียงพอและต้องพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมในอนาคต

    เจิ่น แทงห์ นัม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เวียดนามกล่าวในการเสวนาว่า “สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีส่วนประมาณ 56% ของผลผลิตข้าวทั้งหมดของเวียดนาม ด้านผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 70% และผลผลิตผลไม้ 64% ซึ่งมีการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการกับความท้าทายของภูมิภาค เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และราคาตลาดที่ผันผวน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อการผลิตทางการเกษตร

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทระบุว่า กระทรวงฯให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่า และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 3 แนวทาง ที่จะเรียกร้องให้บริษัทจากทั้งสองประเทศเข้าร่วม

    “ประการแรก เรากำลังมุ่งเน้นไปที่การใช้เครื่องจักรในการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกัน เพื่อลดการใช้แรงงานคนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ประการที่สอง เราจะมุ่งเน้นไปที่โซลูชันดิจิทัลในการผลิตและการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และประการที่สาม เรากำลังพัฒนาโครงการสร้างห่วงโซ่โลจิสติกส์ทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าเพิ่ม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าว

    เหงียน เฟือง ลัม(Nguyen Phuong Lam) ผู้อำนวยการหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามในเมืองเกิ่นเทอ(Can Tho) ระบุว่าข้อตกลงความร่วมมือทั้ง 18 ฉบับมุ่งเน้นไปที่ประเด็นด้านเทคโนโลยี สาขาโลจิสติกส์ และห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรม

    “เราต้องการความร่วมมืออย่างเร่งด่วนในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกับธุรกิจนอกภูมิภาค โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประสบการณ์มากมายในด้านการบำบัดน้ำและการถมดิน” ลัมกล่าว

    Lam Research จากสหรัฐจับมือเกาหลีใต้ลงทุนผลิตชิปในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/lam-research-to-partner-with-seojin-in-2-billion-chip-manufacturing-project-in-vietnam-326391.html
    Lam Research ซึ่งเป็นบริษัทในสหรัฐฯ วางแผนที่จะร่วมมือกับ Seojin Vietnam ของเกาหลีใต้เพื่อพัฒนาโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ด้วยเงินลงทุนเริ่มแรก 1-2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การลงทุนครั้งนี้มีการเผยแพร่ในระหว่างการเข้าพบนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ของเวียดนาม กับ Lam Research และ Seojin Company (เกาหลีใต้) ในกรุงฮานอยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม

    หลังจากระยะเริ่มแรก บริษัทสหรัฐฯ จะพิจารณาการลงทุนโดยตรงและการขยายธุรกิจในประเทศในเอเชียใต้ นายคาร์ทิค รามโมฮันรองประธานและผู้บริหารฝ่าย Global Operations ของ Lam Research Group กล่าว

    Lam Research มีสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย และเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ชั้นนำของโลกด้านอุปกรณ์การผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทสร้างรายได้ 19 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 และมีพนักงานมากกว่า 18,700 คน ณ เดือนมีนาคม 2566

    นายรามโมฮัน เน้นย้ำว่า Lam Research กำลังพิจารณาขยายการดำเนินงานและกระจายห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชีย

    นายรามโมฮันชี้ว่า การลงทุนและความคิดริเริ่มของ Lam Research เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และระบบนิเวศของห่วงโซ่อุปทานในเวียดนาม

    ตัวแทนของ Seojin เน้นย้ำว่าโครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสองบริษัท บริษัทเกาหลีใต้มีโรงงานในจังหวัดบั๊กนิญและบั๊กซางทางตอนเหนือ

    ภายในงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ให้ภาพรวมนโยบายและเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยในทำเลการลงทุนเป้าหมายของทั้งสองบริษัท

    นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์กล่าวว่า สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมของเวียดนาม โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นพื้นที่สำคัญของความร่วมมือ และเน้นย้ำว่าเวียดนามยินดีต้อนรับและสนับสนุนนักลงทุนในสาขานี้ด้วยกลไกและสิทธิประโยชน์จูงใจที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจง ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและสอดคล้องกัน

    ในขณะที่ FDI ทั่วโลกยังคงมีการโยกย้ายสับเปลี่ยน เวียดนามตั้งเป้าที่จะดึงดูดเงินลงทุนคุณภาพสูง โดยเฉพาะจากบริษัทชั้นนำ เช่น Lam Research ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและเซมิคอนดักเตอร์ นายกรัฐมนตรีกล่าว

    นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความมุ่งมั่นของเวียดนามในการฝึกอบรมวิศวกรจำนวน 50,000 ถึง 100,000 คนภายในปี 2573 ผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Samsung, Intel, Foxconn และอื่นๆ ได้มีการดำเนินงานในเวียดนามแล้ว บริษัทชั้นนำระดับโลกอื่นๆ อีกหลายแห่งยังคงสำรวจโอกาสและวางแผนการลงทุนในเวียดนาม

    นายกรัฐมนตรีคาดหวังว่าทั้งสองบริษัทจะให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเติบโตของระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม นอกเหนือจากกิจกรรมการลงทุนและการผลิต และเสนอแนะให้ดำเนินการเฉพาะกับหน่วยงานและท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องต่อไปเพื่อดำเนินงานและขั้นตอนตามกฎหมาย

    เวียดนาม สิงคโปร์ กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ-พลังงาน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-singapore-deepen-economic-energy-cooperation/283231.vnp

    เมื่อวันที่ 20 มีนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม นายเหงียน ฮง เดียน ได้พบปะกับรัฐมนตรีคนที่สองของสิงคโปร์ด้านการค้าและอุตสาหกรรม นายตัน ซีเล้ง ในกรุงฮานอย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

    รัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ยกย่องความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ว่า เป็นต้นแบบสำหรับความร่วมมือทวิภาคีที่ประสบความสำเร็จในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมรับทราบถึงความสนใจร่วมกันในการขยายความร่วมมือนอกเหนือจากภาคส่วนดั้งเดิม เพื่อตอบรับแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว

    พลังงานกลายเป็นประเด็นสำคัญของการหารือ โดยทั้งสองฝ่ายต่างยกย่องโครงการร่วมที่ยังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด โดยย้ำถึงผลประโยชน์ร่วมกันที่ได้จากการยกระดับความร่วมมือในภาคส่วนนี้

    การที่ยังคงมีโอกาสจากทั้งความร่วมมือเดิมและศักยภาพความร่วมมือมีอยู่อีกมาก นายตัน จึงเสนอให้มีการวิจัยและการนำไปปฏิบัติร่วมกับเวียดนาม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพันธมิตรรายอื่นๆ โดยเน้นไปที่พลังงานลมและพลังงานสะอาดเป็นพิเศษ

    ด้านนายเดียนคาดหวังว่า สิงคโปร์จะแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างกลไกนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงานที่แข็งแกร่งและพลังงานสะอาดกับสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ

    และเสนอให้คณะทำงานของทั้งสองกระทรวงแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคเพื่อแปลงศักยภาพไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

    รัฐมนตรีเวียดนามยังเสนอแนะเพิ่มเติมในการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคพลังงานผ่านความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย นอกจากนี้ และยังขอความช่วยเหลือจากสิงคโปร์ให้กับหน่วยงานในกระทรวงของเวียดนาม ในการสร้างกลยุทธ์การพัฒนาสำหรับอุตสาหกรรม พลังงาน การค้า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสีเขียว

    ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของเวียดนามในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2

    มูลค่าการค้าระหว่างกันแตะ 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และในช่วงสองเดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    เมื่อปีที่แล้ว เวียดนามและสิงคโปร์ได้ลงนามในข้อตกลงยกระดับกรอบการเชื่อมโยง ซึ่งความร่วมมือด้านพลังงานได้กลายเป็น 1 ใน 5 เสาหลัก

    จีน-เวียดนามขยายชั่วโมงการค้าชายแดน

    ด่านหล่าวกาย เวียดนาม มีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนานของประเทศจีน
    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/economy/china-vietnam-increase-border-trading-hours-4724550.html
    เวียดนามและจีนตกลงที่จะเพิ่มชั่วโมงการค้าชายแดนที่ ด่านสากลหูหงิ (Huu Nghi) อีก 2 ชั่วโมงจนถึง 20.00 น.ทุกวันท่ามกลางการนำเข้าของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น

    หลังวันหยุดตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ มีความต้องการซื้อขายเพิ่มขึ้นและมีสินค้ารอการขนถ่ายจำนวนมาก ฮว่าง คั้ญ ดุย(Hoang Khanh Duy) รองหัวหน้าคณะกรรมการบริหารด่านนานาชาติด่งดัง-หล่างเซิน ในจังหวัดหล่างเซิน ทางตอนเหนือ กล่าว

    เมื่อวันที่ 16 มีนาคม มีรถบรรทุก 1,000 คันรอข้ามชายแดนทางฝั่งจีนของด่านสากล หูหงิ โดยส่วนใหญ่บรรทุกส่วนผสมอาหาร เครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์

    เจ้าหน้าที่ศุลกากรจากทั้งสองประเทศตกลงที่จะเพิ่มเวลาการค้าอีกสองชั่วโมงเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม และในวันต่อมาปริมาณสินค้าที่จำนวนมหาศาลก็ลดลงเหลือ 500 คัน

    เวียดนามมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็น 54.6 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสองเดือนแรก จีนเป็นตลาดนำเข้าที่ใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่า 21 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 51%

    ลาวขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มกลับไปที่ 10%

    ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2024/01/17/laos-enhances-business-infrastructure-with-streamlined-approval-process/
    เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ประธานประเทศ สปป.ลาวได้ลงนามในกฎหมายปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (value-added tax:VAT) ไปที่ 10% เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของประเทศและมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    เดิมอัตราภาษีมูลค่าอยู่ที่ 10% ซึ่งได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2564 แต่ลาวได้ลดอัตราภาษีVAT ลดลงเหลือ 7% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

    หลายฝ่ายของรัฐบาลลาวเสนอให้ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการในการยกระดับความสามารถในการจัดเก็บรายได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่ลาวต้องเผชิญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

    กระทรวงการคลังของลาวชี้ให้เห็นปัจจัยหลายประการที่สนับสนุนการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าอัตราภาษีในปัจจุบันไม่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้จำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเพิ่มรายได้เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณและรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินในประเทศ

    นอกจากการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กระทรวงยังพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อปรับปรุงระบบภาษีด้วย มาตรการเหล่านี้รวมถึงการเร่งสร้างกลไกการคืนภาษีเพื่อช่วยลดความสูญเสียทางการเงินของรัฐบาลผ่านการยกเว้นภาษี ขณะเดียวกันก็สนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นด้วย

    อินโดฯ เตรียมนำเข้าข้าว 22,500 ตันจากกัมพูชา ฉลองวันอิดิ้ลฟิตริ

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/567471/rice-tariffs-in-european-market-almost-certain/
    รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังวางแผนที่จะนำเข้าข้าวจำนวน 22,500 ตันจากกัมพูชาเพื่อเสริมสต็อกในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการก่อนวันอิดิ้ลฟิตริ( Eid al-Fitr) สำนักงานอาหารแห่งชาติ (Bapanas) ระบุ

    “เราให้ความสำคัญกับข้าวที่ผลิตในประเทศ อย่างไรก็ตาม เราตัดสินใจว่า Bulog (บริษัทโลจิสติกส์ของรัฐ) ต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศในครั้งนี้ เราจะนำเข้าข้าว 22,500 ตันจากกัมพูชา” อารีฟ ปราเซตโย อาดี ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารแห่งชาติ กล่าว

    สำนักงานแถลงหลังเข้าร่วมการประชุมซึ่งมีประธานาธิบดี โจโค วิโดโด เป็นประธานที่ทำเนียบประธานาธิบดี

    อาดีกล่าวว่า สำนักงานฯกำลังใช้มาตรการเตรียมการเพื่อต้อนรับช่วงเก็บเกี่ยวข้าวครั้งใหญ่ที่คาดการณ์ไว้ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนปีนี้ โดยมองในทางบวกเกษตรกรอินโดนีเซียจะบรรลุเป้าหมายผลผลิตข้าว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักลดลง รวมทั้งได้ชี้ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนข้าว รวมถึงการแจกจ่ายข้าวเพื่อช่วยเหลือผู้คนหลายล้านคน

    “ปีที่แล้วรัฐบาลแจกข้าว 10 กิโลกรัม ให้กับผู้รับประโยชน์ 22 ล้านคนเป็นเวลา 7 เดือน เราตัดสินใจที่จะแจกต่อไปอีกเป็นเวลา 6 เดือนในปีนี้” อาดีกล่าว

    ด้วยโครงการช่วยเหลือด้านข้าว รัฐบาลสามารถตอบสนองความต้องการข้าวของประชากรอินโดนีเซียได้ 8% ไม่รวมถึงโครงการอาหารราคาถูกที่ดำเนินการโดยรัฐมนตรีมหาดไทย และรัฐบาลระดับภูมิภาค

    เจ้าหน้าที่ยังกล่าวอีกว่ารัฐบาลจะยังคงติดตามสต๊อกข้าวที่ Bulog เก็บไว้เพื่อให้มั่นใจว่ามีเพียงพอจนถึงเดือนมิถุนายน 2567

    ญี่ปุ่น-อาเซียนเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Codeปี 2568

    ที่มาภาพ: https://jpqr.paymentsjapan.or.jp/
    ญี่ปุ่นและประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะ เชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR Codeตั้งแต่ปี 2568 โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายระหว่างประเทศเหล่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ซึ่งใช้เวลานาน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว จากการเปิดเผยของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI)ของญี่ปุ่น

    ตัวแทนของ METI กล่าวว่า กระทรวงฯกำลังหารือกับรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องนี้ Cashless Promotion Council ของญี่ปุ่นได้เร่งรัดความคืบหน้าในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างบริการในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

    ในญี่ปุ่น บริการชำระเงินด้วย QR Code มีให้บริการโดยธุรกิจหลายระบบ เช่น Paypay และ Rakuten Pay ดังนั้น ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจะสแกน QR Code ของร้านค้าด้วยสมาร์ทโฟนเพื่อชำระเงินออนไลน์ แต่จะใช้ได้กับบริการที่ลงทะเบียนเท่านั้น หากแก้ไขจุดนี้ได้ ระบบใหม่จะช่วยให้ผู้บริโภคชำระค่าบริการทุกประเภทได้ตามปกติ

    ประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศในปี 2565 และเริ่มใช้ระหว่างกันในหลายด้าน ญี่ปุ่นคาดว่าจะส่งเสริมการเจรจากับประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อใช้บริการประเภทนี้ระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนในเร็วๆ นี้

    จากข้อมูลล่าสุดของ METI จำนวนการชำระเงินที่ไม่ใช่เงินสดในญี่ปุ่นในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 111 ล้านล้านเยน (ประมาณ 750 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งการชำระเงินโดยใช้ QR Code และรหัสอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.6% เท่านั้น ในขณะเดียวกัน ตามสถิติของ Google มูลค่าการชำระเงินดิจิทัลใน 6 ประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าถึง 858 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 การสำรวจโดย Fidelity National Information Services (FIS) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่าการชำระเงินดิจิทัล รวมถึง QR Code คิดเป็น 28% ของการชำระเงินทั้งหมดในอินโดนีเซีย และ 23% ในประเทศไทย