ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้ควบกลาโหมหรือไม่ ‘มีโอกาส–ขึ้นกับเงื่อนเวลา’ – มติ ครม.เห็นชอบไส้ในงบฯปี’68 ตั้งงบกลาง 8 แสนล้าน

นายกฯชี้ควบกลาโหมหรือไม่ ‘มีโอกาส–ขึ้นกับเงื่อนเวลา’ – มติ ครม.เห็นชอบไส้ในงบฯปี’68 ตั้งงบกลาง 8 แสนล้าน

18 เมษายน 2024


เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ณ บริเวณโถงกลางตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ปัดหารือ รมต.เรื่องปรับ ครม.
  • เผยควบกลาโหมหรือไม่ ‘มีโอกาส – ขึ้นกับเงื่อนเวลา’
  • ไล่นักข่าวถาม ‘เพื่อไทย’ ปมขอเก้าอี้ประธานสภาฯคืน
  • โยนพลังงานแก้ปมน้ำมันแพง
  • มติ ครม.เห็นชอบไส้ในงบฯปี’68 ตั้งงบกลางกว่า 8 แสนล้าน
  • ไฟเขียว ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ ‘โคแสนล้าน’ 5,000 ล้านบาท
  • ฟรีวีซ่าถาวร ‘ไทย-คาซัคสถาน’
  • สพพ.ทุ่ม 1,833 ล้าน ช่วย สปป.ลาวปรับปรุงถนน R12
  • แก้ กม.ป้องกันการทุจริตฉ้อโกงในตลาดหุ้น
  • เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และมอบหมายให้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ปลื้มสงกรานต์ปีนี้จัดได้เทียบเท่า “world-class events”

    นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ เรื่องแรก การเดินทางของประชาชน เทศกาลสงกรานต์ ในภาพรวม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี และมีการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมากขึ้น และการจัดงานสงกรานต์ปี 2567 ถือว่าประสบความสำเร็จมากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากกว่าหลายปีที่ผ่านมา เรียกว่าเป็น “world-class events” และได้มีการสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการต่อเนื่องครึ่งหลังของเดือนเมษายนนี้ เพราะยังมีเทศกาลวันไหลที่พัทยา อะไรอีกหลาย ๆอย่างที่ต้องทำงานกันต่อไป

    จี้พาณิชย์-เกษตร ออกมาตรการสกัดการเผาสินค้าเกษตร

    เรื่องที่สอง ได้มีการย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการที่ชัดเจน สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการเผากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากประเทศเพื่อนบ้านมีการตอกย้ำในกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร แล้วก็ กระทรวงต่างประเทศให้มีการพูดคุยและมีการย้ำเรื่องนี้ เพราะว่าเรามีการคุมไฟป่าในประเทศไทยได้บ้างพอสมควรแล้ว แต่ระยะหลังก็มีจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญพอสมควร

    เห็นชอบ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้เกษตรกร ซื้อแม่โคโดยตรง

    เรื่องที่สาม ครม.ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเสนอ เรื่องโครงการโค แสนล้าน นำร่องให้ใช้ทดลองในบางจังหวัดก่อน รายงานผลให้ ครม.รับทราบก่อนขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยกำหนดเงื่อนไขในการทำโครงการ ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเสนอ คือ ให้ ธ.ก.ส.เป็นผู้ให้กู้ กับสมาชิกกองทุนโดยตรง และให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการเป็นผู้ซื้อแม่โคจากตลาด หรือ ฟาร์มในพื้นที่ ไม่ใช่รัฐซื้อแจก

    “ตรงนี้เป็นข้อเสนอของรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคลังและท่านรองนายกรัฐมนตรี สมศักดิ์ เทพสุทินเจ้าของโครงการรับทราบและจะไปรวบรวมความเห็นต่างๆแล้วไปปฏิบัติต่อไป”

    ไฟเขียวงบฯปี’68 วงเงิน 3.75 ล้านล้าน

    เรื่องสุดท้าย ครม. ได้เห็นชอบวงเงินรายจ่ายงบประมาณ ปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ตามที่สำนักงานงบประมาณเสนอ

    นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำความสะอาดอาคารที่ทำการ ห้าง บ้านเรือน เพื่อให้ทุกพื้นที่มีทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เร่งดำเนินการในพื้นที่สาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยในส่วนของ กรุงเทพฯ มอบให้ผู้ว่าราชการ กทม. รับผิดชอบ พร้อมขอให้ ทหาร และส่วนราชการต่างๆ เชิญชวนประชาชนอย่างเต็มที่

    ขอฟังความเห็นก่อนยกระดับ ‘ภูเก็ต’ ขึ้นเป็นเมืองพิเศษ

    ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงกรณีเทศมนตรีนครภูเก็ต เตรียมเรียกร้อง ขอให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือ เมืองพิเศษ โดยนำร่องเฉพาะเขตเทศบาลนครภูเก็ตไม่ทราบว่ามีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีหรือยัง

    นายเศรษฐา ตอบว่า ยังไม่ได้รับการรายงาน เดี่ยวถ้าได้รับจะไปพิจารณาและดำเนินการต่อไป ต้องรวบรวมความคิดเห็นทุกภาคส่วน แต่ปัจจุบันนี้ผมเชื่อว่าทางรัฐบาลเอง ก็ให้ความสำคัญกับจังหวัดภูเก็ต เพราะถือว่าเป็นจังหวัดใหญ่ ในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
    โยนพลังงานแก้ปมน้ำมันแพง

    ผู้สื่อข่าวถามถึง การการแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะดำเนินการอย่างไร

    นายเศรษฐา ตอบว่า ก็เดี๋ยวท่าน รองนายกรัฐมนตรีกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำลังพิจารณาอยู่

    ปัดหารือ รมต.เรื่องปรับ ครม.

    ผู้สื่อข่าวถึง กระแสข่าวการปรับ ครม. ไม่แน่ใจว่าที่ประชุม ครม. มีรัฐมนตรีสอบถามในที่ประชุม หรือหวั่นไหวหรือไม่

    นายเศรษฐา ตอบว่า ไม่มีเลยครับไม่มี ไม่มีใครถาม ไม่มีใครเลย ทุกคนทำงานต่อเนื่อง ที่สื่อเสนอข่าวไปว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือ วัคซีน ซึ่งก็คือการทำงานนั่นเอง ก็ขอขอบคุณที่เสนอข่าวไป ตอนนี้ทุกท่านก็มุ่งทำงานอย่างเดียว มุมานะทำงาน อย่างเดียว

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีการพูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐถึงโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างอยู่หรือไม่

    นายเศรษฐา ตอบว่า ไม่มีการพูดคุยเลยครับ วันนี้ผมคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เรื่องข้าวโพด และอีกหลายเรื่อง ท่านก็ไม่เห็นพูดอะไรมา

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าในสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีจะมีการนัดแกนนำพรรคร่วมคุยหรือไม่

    นายเศรษฐา ตอบว่า ถ้าเป็นการคุยก็คงเป็นการคุยส่วนตัวของบางท่านที่เกี่ยวกับความคิดเห็นเรื่องงานอย่างเดียว มีการทำงานอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

    ชี้ควบกลาโหมหรือไม่ ‘มีโอกาส – ขึ้นกับเงื่อนเวลา’

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ท่านนายกรัฐมนตรีจะไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่

    นายเศรษฐา ตอบว่า วินาทีนี้ ผมยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเป็นนายกรัฐมนตรีครับ

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ท่านจะไปคุมกองทัพ

    นายเศรษฐา ตอบว่า ผมว่า ทุกอย่าง ทุกๆบริบทมีโอกาส ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลามากกว่า นะครับ

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า นายกรัฐมนตรีไปนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นโยบายจะขยับขึ้นหรือไม่

    นายเศรษฐา ตอบว่า อย่าพูดถึงขั้นนั้น ยังไม่เกิด ถ้าเกิดแล้วเราค่อยว่ากันดีกว่า

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตอนนี้นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ยังไปไม่สุดทาง ถ้าเปลี่ยนไปนั่งกลาโหมจะดำเนินการอย่างไร

    นายเศรษฐา ตอบว่า ผมไม่ตอบคำถามเรื่องนี้ เพราะคิดว่า ดิจิทัล วอลเล็ตมันชัดเจนไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะส่งไม้ต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่แล้วหรือไม่

    นายเศรษฐา ตอบว่า ยังไม่มีรายชื่อที่ส่งมาให้ตอบ ใครทั้งสิ้นครับ

    ไล่นักข่าวถาม ‘เพื่อไทย’ ปมขอเก้าอี้ประธานสภาฯคืน

    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่าพรรคเพื่อไทย จะยึดเก้าอี้ประธานรัฐสภาคืนจากพรรคประชาชาติ

    นายเศรษฐา ตอบว่า ไม่ทราบครับ ไม่ทราบเรื่องจริงๆครับ อันนี้ต้องไปถามท่านหัวหน้าพรรค

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า พรรคเพื่อไทยต้องการยกเครื่องการทำงานสภาฯเพิ่มเติม จึงต้องมีการปรับ ครม.

    นายเศรษฐา ตอบว่า เรื่องของการทำงานกับสภาฯนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญโดยตลอด จะยกเครื่องยังไง หรือจะปรับอย่างไรในบริบทปัจจุบันนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภาอยู่แล้ว อะไรที่จะสามารถทำให้ขับเคลื่อน การออกกฎหมาย ตรวจสอบได้ ผมเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

    ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การปรับเปลี่ยนการทำงานประธานสภาฯ เพื่อให้การทำงานกับง่ายสภาฯฝ่ายบริหารดีขึ้นหรือไม่

    นายเศรษฐา ตอบว่า ผมคงไม่ไป ก้าวล่วง และคงไม่ไปพูดอะไร จะไปกระทบกระเทือนกับคนที่อยู่ปัจจุบัน อย่าดีกว่า อันนี้ไม่ใช่เรื่องของผม

    มติ ครม. มีดังนี้

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกฯ , นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ไฟเขียว ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ ‘โคแสนล้าน’ 5,000 ล้านบาท

    นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กรอบวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5,000 ล้านบาท ในส่วนอัตราดอกเบี้ยและรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมติ กทบ. ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 โดยรัฐชดเชยต้นทุนทางการเงินให้กับ ธ.ก.ส. ในระยะเวลา 2 ปีอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จำนวน 450 ล้านบาท (ปีละ 225 ล้านบาท) ตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 19 มีนาคม 2567 รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่ 6/2567 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2567 แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง โดยคณะทำงานฯ ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ภาครัฐต้องรับภาระชดเชย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวมีการปรับรายละเอียดการดำเนินงานโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่องสรุปดังนี้

      1. ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กองทุนหมู่บ้านฯ) สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สมาชิกกองทุนฯ) กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน (ครัวเรือนละ 50,000 บาท) และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ย 4.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี (ปีละ 225 ล้านบาท รวม 2 ปี 450 ล้านบาท) โดยให้ ธ.ก.ส. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยดอกเบี้ยต่อไป

      2. กลุ่มเป้าหมาย กองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี โดยเคยกู้เงิน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน หรือธนาคารอื่น ๆ แล้วชำระหนี้ได้

      3. วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือนสมาชิก ยกระดับการผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการตลาด ขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้สมาชิกเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทักษะด้านอาชีพการเลี้ยงโคคุณภาพสูง

      4. ประเภทสินเชื่อและระยะเวลา เป็นสินเชื่อระยะยาว ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี โดยให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นตัวแทนยื่นเสนอขอรับสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในฐานะนิติบุคคลตามแนวทางที่กำหนด โดยให้สมาชิกกองทุนฯ ยื่นความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับกองทุนหมู่บ้านฯ จากนั้นกองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณาคุณสมบัติของสมาชิกกองทุนฯ ตามระเบียบ ข้อบังคับของกองทุนหมู่บ้านฯ และยื่นขอสินเชื่อโครงการฯ กับ ธ.ก.ส. ในนามกองทุนหมู่บ้านฯ

      5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ยกระดับการผลิตของเกษตรกรรายย่อยและเอกชน ให้สามารถเลี้ยงโคเนื้อเชิงอุตสาหกรรมตอบสนองต่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้เพิ่มลดความยากจนของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้อย่างน้อย 120,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี ต่อแม่โค 1 ตัว

      6. การติดตามประเมินผล กทบ. สทบ. ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส โดยให้ ธ.ก.ส. รายงานข้อมูลกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ยื่นขอรับการสนับสนุนงบประมาณและผลการอนุมัติงบประมาณของ ธ.ก.ส.

    แก้มติ ครม. – ปรับถ้อยคำ ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาหนี้สิน

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 (เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร) ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินของ ธ.ก.ส. และมีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน รวมถึงป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส. โดยให้ถือใช้ข้อความตามที่ปรับปรุงแล้ว แทนข้อความเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กค. รายงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 มกราคม 2550) ธ.ก.ส. ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและได้วางกรอบแนวปฏิบัติ เพื่อให้ส่วนงานในพื้นที่ดำเนินการ เรื่อง การงดการดำเนินคดีบังคับคดีและการขายทอดตลาด โดยการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 ในการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดี และการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร มีผลใช้บังคับมาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายได้ใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม และในทางตรงกันข้าม กลับก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกหลายประการ

    กค. จึงมีความจำเป็นต้องขอเสนอการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ ธ.ก.ส. สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยมีรายละเอียดการขอทบทวนปรับปรุงในครั้งนี้ สรุปได้ดังนี้

    1. ให้ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานภายใต้ ธ.ก.ส. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกร ดำเนินการ ดังนี้

      1.1 เรื่องที่ยังมิได้มีการฟ้องร้อง ให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน เว้นแต่กรณีหนี้นั้นจะขาดอายุความฟ้องร้อง หรือไม่สามารถแก้ไขเพื่อมิให้หนี้ขาดอายุความโดยวิธีอื่นใดได้

      1.2 เรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและคดีถึงที่สุดแล้วให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลได้และไม่สามารถเจรจาแก้ไขหนี้ร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ ให้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป

      1.3 คดีที่มีการบังคับคดีไว้แล้วและจะต้องมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของเกษตรกร ให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน เฉพาะกรณีที่ยังไม่พ้นระยะเวลาบังคับคดีเท่านั้น โดยเมื่อมีการชะลอการขายทอดตลาดแล้วจะต้องมีอายุบังคับคดีคงเหลือไม่น้อยกว่า 3 ปี

    ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของเกษตรกรดังกล่าวข้างต้น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการตามข้อ 1.1 – 1.3 ข้างต้นได้ โดยพิจารณาถึงสภาพปัญหาของลูกหนี้เกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ

    ฟรีวีซ่า ‘ไทย-คาซัคสถาน’ถาวร

    นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานมีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2567 โดยทั้งสองประเทศเห็นชอบที่จะจัดให้มีการลงนามความตกลงฯ ในวันที่ 23 เมษายน 2567 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองฝ่าย

    โดยสาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นการระบุรายละเอียดและเงื่อนไขของการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างไทยและคาซัคสถาน สรุปสาะสำคัญได้ดังนี้

    ข้อตกลง

  • ผู้ถือหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน นับจากวันที่เดินทางเข้าของรัฐภาคี (ไทยและคาซัคสถาน) จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้า เดินทางออกจาก เดินทางผ่าน และพำนักอยู่ชั่วคราวในดินแดนของรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่เดินทางเข้า โดยระยะเวลาพำนักสะสมรวมกันจะต้องไม่เกิน 90 วันภายในแต่ละช่วงเวลา 180 วัน และในกรณีที่มีความประสงค์จะพำนักเกินกว่า 30 วัน จะต้องได้รับการตรวจลงตราตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐภาคีนั้นๆ
  • ผลบังคับใช้

  • ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด และจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วันหลังจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ผ่านช่องทางการทูตว่าได้ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายภายในที่จำเป็นต่อการบังคับความตกลงฉบับนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
  • การจัดทำความตกลงฯ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพและรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม รวมถึงเป็นการช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ วิชาการ วัฒนธรรม

    รับทราบข้อเสนอ กมธ.วุฒิสภา เรื่องการใช้สมุนไพรในคน

    นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคนของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภาตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

    โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยทางคลินิก รวมถึงการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคนอย่างเป็นระบบ ถือเป็นการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์สมุนไพร และภูมิปัญญาไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีข้อเสนอแนะ รวม 2 ประเด็น ได้แก่

      (1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการให้ทุนวิจัยและกลไกการสนับสนุนการวิจัยสมุนไพร กำหนดนโยบายและกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบที่บูรณาการทรัพยากรด้านวิจัย และนวัตกรรม กำหนดนโยบาย และส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสมุนไพร เป็นต้น และ

      (2) ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ เช่น ให้มีการพัฒนาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านการวิจัยสมุนไพร ให้มีการพัฒนามาตรฐาน รูปแบบและแนวทางการเก็บข้อมูลเวชระเบียนที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพร หรือ การรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย เป็นต้น

    ทั้งนี้ สธ. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อว. ดศ. และ อก. โดยสรุปผลได้ดังนี้

    1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

      1.1 ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการให้ทุนวิจัยและกลไกการสนับสนุนการวิจัยสมุนไพร โดยกำหนดให้มีหน่วยงานให้ทุนสำหรับการวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ปัจจุบันมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายและจัดสรรงบประมาณให้ PMU โดยในปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีการจัดสรรงบประมาณงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร รวมทั้งสิ้น 3,973.76 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,206 โครงการ และกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการจัดสรรทุนวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์ แผนไทย ปีละประมาณ 50 ล้านบาท จึงเห็นควรให้มีการนำข้อมูลการจัดสรรทุนวิจัยด้านสมุนไพรมาวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์และระดับความสำเร็จที่มีความพร้อมในการนำไปใช้ประโยชน์

      1.2 . มอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการบริหารจัดการด้านการวิจัยพัฒนาและการจัดการการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร เห็นควรให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมและการจัดการการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร และหารือร่วมกับ สกสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการร่วมของคณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินงานและสนับสนุนภารกิจให้ประสบความสำเร็จ

      1.3 กำหนดนโยบายและกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบที่บูรณาการทรัพยากร ด้านวิจัยและนวัตกรรมสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงาน และสถานที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน (maker space) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ปัจจุบันมีโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ในสังกัด อว. จำนวน 58 โรงงานและศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center) ในสังกัด อก. จำนวน 11 ศูนย์ รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการด้านวิเคราะห์ วิจัยและควบคุมคุณภาพสมุนไพรในสังกัด อว. จำนวน 19 แห่ง เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรและคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการ

      1.4 กำหนดนโยบายและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยใช้องค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นฐานในการพัฒนาเกิดเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรและคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ผลการดำเนินการที่ผ่านมา และวิเคราะห์เปรียบเทียบผลลัพธ์เป้าหมายเพื่อหาแนวทางในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรจากภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

      1.5 กำหนดให้การพัฒนาข้อมูล และหลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้สมุนไพร เป็นแนวทางสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพรที่ผ่านมา เช่น โครงการประเมินมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย โครงการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจสมุนไพร: การจัดทำ Outlook และนำร่องเสนอข้อมูลเศรษฐกิจประเทศไทยด้านยาสมุนไพร เป็นต้น เห็นควรให้มีการนำชุดข้อมูลงานวิจัยมาวิเคราะห์แยกตามสัดส่วนการตลาดและวิเคราะห์แยกตามสัดส่วนการตลาด และ Technology Readiness Level เพื่อกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรแบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อดำเนินการตามสมุนไพรเป้าหมาย

    2. ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ

      2.1 อว. และ สธ. ร่วมกันพัฒนาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านการวิจัยสมุนไพรการจัดทำแนวทางการประเมินข้อเสนอโครงการวิจัยในมนุษย์ของประเทศ ตามแนวทางที่เหมาะสมกับการวิจัยสมุนไพร เห็นควรเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการวิจัย และนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อจัดทำแนวทางมาตรฐานงานวิจัยทางคลินิกของสมุนไพร โดยมีองค์ประกอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย เภสัชกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อการยอมรับและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง

      2.2 อว. สธ. และ ดศ. ร่วมกันพัฒนามาตรฐาน รูปแบบและแนวทางการเก็บข้อมูลเวชระเบียนที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย เห็นควรมอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรวบรวมชุดข้อมูลการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้สมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย เช่น โรคที่มีการใช้แพทย์แผนไทยในการรักษา สมุนไพรที่มีการใช้ในการรักษาโรค เป็นต้น จากหน่วยบริการในสังกัด สธ. และมอบหมาย สกสว.ประสานกับสำนักงานปลัด อว. เพื่อรวบรวมข้อมูลการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้สมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลในสังกัด อว.

      2.3 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับคณะกรรมการสมุนไพรแห่งชาติ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในการค้นหาผู้ประกอบการสมุนไพรรายย่อยที่มีศักยภาพ เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางและความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายย่อยผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร และคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยควรมีการเพิ่มองค์ประกอบของอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพรให้มี PMU ที่ได้รับมอบหมายอยู่ด้วย และเห็นควรให้ PMU ที่เกี่ยวข้องกับด้านสมุนไพรที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้รวบรวมข้อมูลร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสถาบันการศึกษาในพื้นที่แทน บพท. โดยอาจจะเชื่อมโยงกับ Regional science park ที่มีอยู่

      2.4 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการสื่อสารจัดทำระบบ และเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านสมุนไพรการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในทุกระดับอย่างรอบด้าน เห็นควรนำชุดตัวอย่างข้อมูลงานวิจัยของขิงมาเป็นตัวอย่างในการจัดทำกรอบการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติกำหนดสมุนไพรเป้าหมายเพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ

      2.5 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาและส่งเสริมวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้เข้าสู่ฐานข้อมูลวิจัย มอบหมาย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยกระดับวารสารดังกล่าวให้เข้าสู่ฐานข้อมูลวิจัยระดับสากล

    กมธ.วุฒิสภา ชง ครม.แก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน

    นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้สรุปผลการพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนคือ “การแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG” และ “ภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG” โดยมีรายละเอียดดังนี้

    ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ และแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG ของ พน. โดยมีทั้งสิ้น 4 ข้อดังนี้

      1. ควรปรับปรุงการบริหารต้นทุนตามวิธีการผลิตและต้นทุนที่ชัดเจน โดยให้แยกราคาหน้าโรงกลั่น ราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG โดยทาง พน. ได้มีการศึกษาและทบทวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และหลักเกณฑ์การคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG รวมทั้งสำรวจและทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการคำนวณราคาจำหน่ายก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

      2. ควรใช้หลักเกณฑ์ในการเปิดสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเพิ่มช่องทางการบริการและการแข่งขัน อันจะเป็นการลดต้นทุนการจัดการและราคาให้กับผู้บริโภค โดยทาง พน. ได้มีการดำเนินงานด้านหลักเกณฑ์ ให้การก่อสร้างสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG นั้น ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง แต่การลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามการลงทุน

      3. ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โรงบรรจุก๊าซสามารถบรรจุก๊าซในถังบรรจุก๊าซ LPG ที่มี เครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นได้ เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยทาง พน. ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงของ พน. และต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของถังบรรจุก๊าซ LPG

      4. รัฐควรพิจารณานโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ร้อยละ 1 (32,725 ตันต่อเดือน) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ ดังนั้น การกำหนดปริมาณเก็บสำรองมากเกินไปจะส่งผลให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการนำไปหากำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยทาง พน. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของอัตราการเก็บสำรองก๊าซ LPG

    ในส่วนที่สองคือ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ ต่อภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG โดยมีทั้งสิ้น 8 ข้อดังนี้

      1. เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานด้านสารสนเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวม วิเคราะห์และเผยแพร่พลังงานสารสนเทศ

      2. มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงที่ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือในกลุ่มที่มีความเปราะบางแทนการช่วยเหลือในภาพรวม

      3. การเข้าถึงแหล่งพลังงานของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ดังนั้น การกำหนดราคาต้นทุนของพลังงานที่ผลิตในประเทศควรเป็นต้นทุนที่แท้จริง หรือหากใช้ราคาตลาดโลกในการอ้างอิงควรกำหนดให้ราคาที่ผลิตในประเทศมีราคาที่ต่ำกว่า

      4. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ซับซ้อน ชัดเจน และเป็นธรรม ลดการแทรกแซงราคา ซึ่งการแทรกแซงราคาส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาที่แท้จริง

      5. พิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพและการใช้เงินกองทุนฯ ต้องเป็นไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาอย่างแท้จริง ไม่ควรนำไปใช้ในการแทรกแซงหรืออุดหนุนราคาจนเกิดความผันผวน

      6. ทบทวนกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดบนพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบันให้สอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศ

      7. การจัดหาพลังงานในอนาคตที่ควรเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม

      8. ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจนจากน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต

    โดยทาง พน. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะแทบทุกข้อ อาทิ การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางสารสนเทศด้านพลังงาน มีการช่วยเหลือราคาเชื้อเพลิงแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างในส่วนของน้ำมันเบนซิน ส่วนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชดเชยสูงสุดได้ไม่เกินปี พ.ศ. 2569 รวมทั้งการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่และการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา และมีมาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นอีกด้วย

    “เพิ่มเติมจากที่อยู่ในวาระ ครม. ทาง พน. นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ล่าลุดได้มีประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบเช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้ พน. ทราบถึงต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นจริง ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้กับประชาชนต่อไป” นางรัดเกล้า กล่าว

    เวนคืนที่ดิน ‘ลาดพร้าว – สำโรง’ สร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ในท้องที่เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คค. เสนอว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดย โดย รฟม. ได้ส่งมอบที่ดินที่ถูกเขตทางทั้งหมดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีหลืองฯ เพื่อใช้ในการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว แต่มีที่ดินของเอกชนที่ถูกเวนคืน และ รฟม. ได้วางเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินแล้วแต่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 33 แปลง รฟม. จึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของ รฟม.

    ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ในท้องที่เขตวังทองหลาง เขตบางกะปิ เขตสวนหลวง เขตประเวศ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยให้ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายในระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้

    แก้ กม.ป้องกันการทุจริตฉ้อโกงในตลาดหุ้น

    นางรัดเกล้า กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตฉ้อโกงของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เสนอผลการพิจารณาญัตติ ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยสรุปผลได้ว่า

      1. ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตฉ้อโกง กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี เพื่อให้มีกฎหมายที่สอดรับกับแนวทางการตรวจสอบ และบทลงโทษผู้ที่ทำการทุจริตผ่านตลาดทุนไทย นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดำเนินการยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ภายใต้โครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง โดยเน้นมาตรการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นและมาตรการส่งเสริมการทำหน้าที่ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น การคัดกรองคุณภาพและกำกับดูแลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยการตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันพิจารณาความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และร่วมมือกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยในการจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ลงทุน รวมถึงบุคลากรในหน่วยงานยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียน โดยผู้มีความรู้ในการลงทุนที่จะช่วยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ลงทุนที่มีอิทธิพลในการบริหารจัดการบริษัท (Activist Investors) เหมือนเช่นที่มีในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ศึกษาและพัฒนากฎหมายที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความทันสมัยและทันเหตุการณ์ณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

      2. ในส่วนของข้อเสนอแนะ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่า ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 โดยให้สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี สำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชี เพื่อตรวจสอบคุณภาพของการปฏิบัติงานของผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี สำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชีในเชิงรุก และปรับปรุงแก้ไขบทลงโทษให้ครอบคลุมบทลงโทษของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดเพียงบทลงโทษของผู้สอบบัญชีตัวบุคคลไว้เท่านั้น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เห็นว่า ควรเพิ่มมาตรการในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินจากการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นการทุจริต ฉ้อโกงที่เกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ ให้ครอบคุลมไปถึงทรัพย์สินที่ได้มาหรือสงสัยว่าจะได้มาจากการกระทำความผิดหรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก็ตาม และกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการเยียวยาความเสียหายให้กับนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิด เช่น คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น

    แจงความคืบหน้าโครงการรวบรวมน้ำเสียเขตห้วยขวาง

    นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบเรื่อง รายงานผลการจัดจ้างโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย (เพิ่มเติม) พื้นที่เขตห้วยขวางเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง (โครงการสร้างระบบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ) ก่อนดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไป ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

    สาระสำคัญ

    1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (25 ตุลาคม 2559) อนุมัติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 46 รายการ ซึ่งรวมถึงโครงการสร้างระบบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ วงเงินรวม 1,680 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเบิกจ่าย ดังนี้

    สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เห็นสมควรให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เจ้าของเรื่องพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งก่อนดำเนินการต่อไป

    2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (12 กันยายน 2560) เห็นชอบในหลักการโครงการที่ต้องเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้มีระบบการรวบรวมและบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพก่อนระบายลงคลองแสนแสบ ตามแผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบสะอาด รวม 5 โครงการ กรอบวงเงินรวม 7,145.40 ล้านบาท ซึ่งรวมไปถึงโครงการสร้างระบบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ โดยให้ใช้แหล่งเงินและค่าใช้จ่ายจากเงินรายได้ของกรุงเทพมหานครไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และเงินอุดหนุนรัฐบาลไม่เกินร้อยละ 50

    3. กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดจ้างเอกชน โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เพื่อดำเนินโครงการสร้างระบบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ ในกรอบวงเงิน ดังนี้

    โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองศาสตราจารย์วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น) ได้เห็นชอบรายงานผลการพิจารณาและอนุมัติจ้างโครงการสร้างระบบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1,080 วัน (ปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีทราบตามข้อเสนอในครั้งนี้) นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรุงเทพมหานครให้เริ่มงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในขณะนั้น) ให้ความเห็นชอบรายงานผลการจัดจ้างโครงการสร้างระบบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ และอนุมัติการขยายระยะเวลาการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ1 แล้วด้วย ทั้งนี้ การลงนามสัญญาจะกระทำได้ต่อเมื่อกรุงเทพมหานครได้รับความเห็นชอบความเหมาะสมของราคาโครงการดังกล่าวจากสำนักงบประมาณ (สงป.) แล้วเท่านั้น

    4. สงป. (ตามหนังสือ สงป. ด่วนที่สุด ที่ นร 0704/257 ลงวันที่ 26 มกราคม 2567) พิจารณาแล้วเห็นว่า รายการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย (เพิ่มเติม) พื้นที่เขตห้วยขวางเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง เป็นรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันตามขั้นตอนต่อไป ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 (เรื่อง ขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณสำหรับรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560)

    ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะรับทราบรายงานผลการจัดจ้างรายการดังกล่าวในวงเงิน 1,484.00 ล้านบาท ตามที่ มท. เสนอ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประกอบด้วย เงินอุดหนุนของรัฐบาล จำนวน 742.00 ล้านบาท และเงินรายได้ของกรุงเทพมหานครสมทบ จำนวน 742.00 ล้านบาท สำหรับในส่วนเงินอุดหนุนของรัฐบาลให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 63.50 ล้านบาท ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้กันไว้เบิกเหลื่อมปีจนถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2567 (ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0402.5/ว 138 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2566) ส่วนที่เหลือ จำนวน 678.50 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – พ.ศ. 2569 โดยกรุงเทพมหานครจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีรองรับให้ครบวงเงินค่างานตามสัญญาต่อไป รวมทั้งการปฏิบัติดามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญด้วย

    5. มท. (กรุงเทพมหานคร) แจ้งว่า การดำเนินโครงการสร้างระบบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ จะทำให้สามารถรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่เขตห้วยขวางครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร ส่งไปบำบัดที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงประมาณ 60,600 ลูกบาศ์เมตรต่อวัน เพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำคลองเป็นระบบ ได้แก่ คลองภายในพื้นที่เขตห้วยขวาง คลองลาดพร้าวและคลองแสนแสบ

    สพพ.ทุ่ม 1,833 ล้าน ช่วย สปป.ลาวปรับปรุงถนน R12

    นางสาวเกณิกา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก – จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว (โครงการ R12) จำนวน 1,833,747,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการ R12 เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวพะลา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป. ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ กวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร ประกอบด้วย

    1. ปรับปรุงสายทางตามมาตรฐานทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway)

    2. ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่าง ๆ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน

    3. ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชนระบบระบายน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย

    4. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้

    (2) รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

    (2.1) วงเงินให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,833,747,000 บาท ดังนี้

    (2.2) แหล่งที่มาของเงินทุนโครงการ R12 ประกอบด้วย

    (2.2.1) เงินงบประมาณ แบ่งเป็น 1) วงเงินให้เปล่า จำนวน 91,063,000 บาท และ 2) วงเงินให้กู้ (ร้อยละ 50 ของวงเงินให้กู้) จำนวน 871,342,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 962,405,000 บาท โดยขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจาก สงป. เป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 รวมระยะเวลา 3 ปี ดังนี้

    (2.2.2) เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (เงินนอกงบประมาณ) คิดเป็นร้อยละ 50 ในส่วนของเงินกู้ รวมวงเงิน 871,342,000 บาท ซึ่ง สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน ) (สพพ.) จะกู้เงินระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก ใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี สำหรับปีที่ 6 – 15 และออกพันธบัตรระยะเวลา 15 ปี สำหรับปีที่ 16 – 30 โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.00 ต่อปี โดย สพพ. เป็นผู้รับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา

    ทั้งนี้ กรณีที่ สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ สพพ. จะพิจารณาใช้เงินสะสมของ สพพ. ไปก่อน หาก สพพ. ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจะขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเสริมสภาพคล่องและเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป

    2.2 รายละเอียดค่าใช้จ่ายภายใต้วงเงินให้ความช่วยเหลือ

    ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการ R12 แล้ว สพพ. จะดำเนินการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรลุโครงการดังกล่าวตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง 5 ปี ต่อไป

    3. จากการศึกษาพบว่า เส้นทาง R12 จะสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ (Transit & Customs time) จากจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมาย (Destination) เดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งภาคการผลิตและบริการที่สำคัญ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกันส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหมายเลข 8 (R8) และเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor : EWEC) และคาดว่า มีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนการใช้เส้นทางจากเส้นทาง R9 มาใช้เส้นทางโครงการ R12 ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลให้โครงการ R12 สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย – สปป. ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น

    เห็นชอบไส้ในงบฯปี’68 ตั้งงบกลางกว่า 8 แสนล้าน

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของหน่วยรับงบประมาณ 2. เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 3. รับทราบผลการพิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป

    สาระสำคัญของเรื่อง

    ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ให้ความเห็นชอบการทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และให้ความเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งกำหนดให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 นั้น เพื่อดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงบประมาณขอเสนอ ดังนี้

    1. หน่วยรับงบประมาณ เสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด รวมคำขอทั้งสิ้นจำนวน 6,568,086.4308 ล้านบาท สำนักงบประมาณได้พิจารณารายละเอียดคำขอดังกล่าวตามแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 และข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567

    ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาล 142 ประเด็น โดยคำนึงถึงวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่ประกอบด้วย 8 ศูนย์กลาง (Pillar) 6 ฐานราก และความต้องการในพื้นที่ และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งพิจารณาความจำเป็น ภารกิจ ศักยภาพ ความพร้อม ขีดความสามารถในการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ และความครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยคำนึงถึงฐานะทางการคลัง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และความเป็นธรรมทางสังคม ตลอดจนพิจารณาตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สภาผู้แทนราษฎร และข้อสังเกตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วุฒิสภา เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว

    2. วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

    วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 จำนวน 3,752,700.0000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่กำหนดไว้จำนวน 3,480,000.0000 ล้านบาท เป็นจำนวน 272,700.0000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.84 ประกอบด้วย

      1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,704,574.8074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 164,106.3074 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.07 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 73.00 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

      2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งงบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1305 ล้านบาท)

      3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 908,223.8536 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 198,143.2536 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.90 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.20 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 20.40 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

      4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 150,100.0000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 31,780.0000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.86 และคิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 4.00 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 3.40 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,198.6610 ล้านบาท)

    3. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในมิติต่าง ๆ

    3.1 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ 8 กลุ่มงบประมาณ ตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

    3.2 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล จำนวน 142 ประเด็น

    3.3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ

    ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามแผนงานบูรณาการ และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ หน่วยงานอื่นของรัฐ และส่วนราชการในพระองค์ รายละเอียดดังนี้

    การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ หน่วยงานอื่นของรัฐ และส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ หน่วยงานอื่นของรัฐ ส่วนราชการในพระองค์ และทุนหมุนเวียนภายใต้การกำกับของหน่วยงานดังกล่าว เสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวมทั้งสิ้น 100,678.2814 ล้านบาท เห็นสมควรเสนอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ให้จำนวน 69,878.0402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 4,603.3239 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.05

    4. การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

    เพื่อให้การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมมาใช้สมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น จึงเห็นสมควรจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 378,170.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 33,877.57 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.84 ทำให้ประมาณการรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนทั้งสิ้น 839,265.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 49,027.92 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.20 และคิดเป็นสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล (ไม่รวมเงินกู้) ร้อยละ 29.07

    5. แนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

      5.1 ปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566 – 2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 – 2570) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

      5.2 งบประมาณที่ได้รับจัดสรรไว้สำหรับรายจ่ายตามข้อผูกพันที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย สัญญา และมติคณะรัฐมนตรี รายจ่ายชำระหนี้ เงินอุดหนุนที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรและค่าสาธารณูปโภค ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายการไปจัดสรรให้รายการอื่น ๆ

      5.3 เพื่อรักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุนของแต่ละกระทรวงให้อยู่ในระดับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ในภาพรวม จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่มในรายจ่ายประจำ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานบูรณาการหรือแผนงานยุทธศาสตร์ไปเพิ่มในแผนงานพื้นฐาน

      5.4 การปรับปรุงงบประมาณไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ที่มีภาระผูกพันงบประมาณในปีต่อ ๆ ไป ให้หน่วยรับงบประมาณ นำเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามแนวทางข้อ 5 โดยการปรับลดและเพิ่มงบประมาณรายจ่าย/รายการภายในกรอบวงเงินของแต่ละกระทรวง/หน่วยรับงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เสนอต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งให้สำนักงบประมาณ ภายในวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 2567 เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 23 เมษายน 2567

    6. ผลการพิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป

    ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อกลั่นกรองความจำเป็นเหมาะสมในภาพรวมของข้อเสนองบประมาณของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐในรายการงบลงทุนและรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไปทั้งหมด

    สำนักงบประมาณร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ของ 8 กระทรวง 18 หน่วยรับงบประมาณ จำนวน 69 โครงการ/รายการ งบประมาณ 33,763.7128 ล้านบาท วงเงินรวมทั้งสิ้น 181,682.2211 ล้านบาท โดยพิจารณาตามความจำเป็นเหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และสำนักงบประมาณเห็นควรเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป เป็นจำนวน 19,114.7163 ล้านบาท วงเงินทั้งสิ้น 118,218.9062 ล้านบาท

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 18 เมษายน 2567 เพิ่มเติม