ThaiPublica > สู่อาเซียน > ไทย-นิวซีแลนด์ลงนาม 2 ข้อตกลง เดินหน้าสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ปี 2569

ไทย-นิวซีแลนด์ลงนาม 2 ข้อตกลง เดินหน้าสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ปี 2569

17 เมษายน 2024


ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/81794

ไทย-นิวซีแลนด์ ลงนามความตกลง 2 ฉบับ พร้อมแถลงข่าวร่วมกัน ยกระดับความร่วมมือรอบด้าน โดยเฉพาะความมั่นคง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน เดินหน้าสู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ในปี 2569

วันนี้ (17 เมษายน 2567) เวลา 11.40 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน (The Right Honourable Christopher Luxon) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงร่วมกัน จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

1) ความตกลงด้านการศึกษา ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยแมสซีย์ ประเทศนิวซีแลนด์

2) ความตกลงด้านการจัดหา ซ่อมแซม และการบำรุงรักษา ระหว่าง Thai Aviation Industries Co., Ltd. ประเทศไทย และ NZSkydive Limited ประเทศนิวซีแลนด์

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและนิวซีแลนด์แถลงข่าวร่วมกัน โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการแถลงข่าว ดังนี้

นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์และคณะ ในโอกาสซึ่งถือเป็นการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในรอบ 11 ปี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และครอบคลุม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมถึงมีการหารือร่วมกับภาคเอกชนนิวซีแลนด์ และการลงนามความตกลงร่วมกัน 2 ฉบับ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงผลลัพธ์สำคัญจากการหารือ ดังนี้

1) การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (Strategic Partnership) ในปี 2569 หรือเร็วว่านั้น ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เพื่อผลักดันความร่วมมือในทุกมิติ และบรรลุความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเต็มศักยภาพ

2) การส่งเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยเฉพาะความคืบหน้าของแผนความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ และการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์และยาเสพติด ความมั่นคงทางไซเบอร์ รวมถึงการก่อการร้าย และแนวคิดสุดโต่ง

3) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยไทยและนิวซีแลนด์ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 3 เท่า ภายในปี 2588 ซึ่งจะสอดคล้องกับความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ไทย – นิวซีแลนด์ (Thai – New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZCEP) ที่เพิ่มพูนการค้าทวิภาคีของทั้งฝ่ายมาตั้งแต่ปี 2548

ไทยและนิวซีแลนด์จะกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีการเกษตร การเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีอาหาร พลังงานหมุนเวียน การแพทย์แม่นยำ และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยนายกรัฐมนตรียังยินดีที่หารือร่วมกับคณะภาคเอกชนนิวซีแลนด์ในครั้งนี้ด้วย เชื่อมั่นว่าจะช่วยเสริมสร้างโอกาสการลงทุนในไทยได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมและโครงการเป้าหมายของไทย รวมถึงในโครงการ Landbridge

4) การส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน โดยมีคนไทยอยู่ในนิวซีแลนด์ประมาณ 13,000 คน และยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านการศึกษายอดนิยมของนักเรียนไทย จึงเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านการศึกษา และวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

สำหรับด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรา และการกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์มาไทยเป็น 100,000 คน และนักท่องเที่ยวชาวไทยไปนิวซีแลนด์เป็น 40,000 คน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมแสวงหาความร่วมมือและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีของกันและกัน ในด้านการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regenerative Tourism) รวมทั้งการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ (movie-induced tourism)

ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความยั่งยืน และความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยไทยยินดีต่อความตั้งใจของนิวซีแลนด์ในการเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน – นิวซีแลนด์ รวมถึงความตั้งใจของนิวซีแลนด์ในการผลักดันความสัมพันธ์อาเซียน-นิวซีแลนด์ สู่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ภายในปี 2568

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณนิวซีแลนด์ที่พร้อมพิจารณาให้การสนับสนุนไทยในการขอเข้าเป็นสมาชิก OECD รวมถึงสนับสนุนผู้แทนของไทยในการลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) สำหรับวาระปี พ.ศ. 2568 – 2570

ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวกับภูมิภาค และประเด็นของโลก สำหรับสถานการณ์เมียนมาไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหวังว่าทุกฝ่ายจะเดินหน้าไปสู่การเจรจาอย่างสันติ และปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ มั่นใจว่าความร่วมมือทวิภาคีและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ จะเสริมสร้างมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยินดีกับการจะฉลองการครบรอบ 70 ปีแห่งความสัมพันธ์ทวิภาคีในปี ค.ศ. 2026 ซึ่งถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานและแน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ด้านการค้า เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องจะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) และตั้งเป้าที่จะเพิ่มการค้าระหว่างกันสามเท่าภายในปี 2045 ในตอนท้าย นานยกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับคณะเป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศยังมีศักยภาพ และได้มีความเห็นร่วมกันว่ามีโอกาสที่ผู้นำทั้งสองจะได้ร่วมมือกันอีกมาก

ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/81799

มุ่งผลักดัน 4 สาขา การเกษตร – พลังงาน – การศึกษา – การท่องเที่ยว

ก่อนการลงนามในข้อตกลง นายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ นำคณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเอกชนนิวซีแลนด์ เข้าพบและหารือร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีผู้แทนระดับสูงของภาครัฐนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชนนิวซีแลนด์ จำนวน 8 บริษัท/หน่วยงาน ใน 4 สาขา ได้แก่ การเกษตรและอาหาร พลังงาน บริการและการศึกษา และเรือยนต์และการบิน

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

ด้านการเกษตร บริษัท Fonterra สหกรณ์โคนมที่ใหญ่ที่สุดของนิวซีแลนด์ เห็นพ้องถึงการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย หรือฟาร์มขนาดเล็ก การสร้างแหล่งทรัพยากรน้ำให้เพียงพอ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างเท่าเทียมกัน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหลักการสำคัญควรคำนึงถึงการสร้างความไว้วางใจ และการเพิ่มบทบาทให้กับเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ บริษัท Fonterra ได้แนะนำถึงการทำงานร่วมกับบริษัทผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ในระดับโลกเพื่อสร้างตลาดและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผ่านการรวมกลุ่มสหกรณ์รายย่อยทั้งหมด สู่สหกรณ์โคนมที่ใหญ่ระดับชาติเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังต่างประเทศ

ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นพ้องถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตรกรรม โดยไทยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งการทำนาข้าวของไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนด้วย ขณะที่นิวซีแลนด์กล่าวถึงการมี AgriZero NZ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และเกษตรกร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคปศุสัตว์ด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพต่าง ๆ เช่น การตัดต่อพันธุกรรมของหญ้าที่มีอัตราการปล่อยก๊าซต่ำ ซึ่งสามารถขายเชิงพาณิชย์ได้ โดยไทยพร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางทั้งในด้านนวัตกรรมการเกษตรและการศึกษาวิจัย

ด้านพลังงานทดแทนและอุตสาหกรรม EV ไทยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและต้องการครอบคลุมระบบนิเวศทั้งหมด (Ecosystem) ทั้งการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แบตเตอรี่ และอื่น ๆ ที่สามารถผลิตจากวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ ขณะที่บริษัทจากนิวซีแลนด์ เช่น บริษัท Morrison ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการลงทุน ให้ความสนใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การลงทุนในพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ในไทย บริษัท Hiringa Energy Ltd. บริษัทด้านพลังงานสีเขียวแบบครบวงจร ยินดีที่จะสนับสนุนบริษัทในไทยที่ต้องการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในประเทศ

ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายพร้อมผลักดันให้เกิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทย – นิวซีแลนด์อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างกันได้ทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและการค้า โดย บริษัท Air New Zealand เห็นถึงขีดความสามารถในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศต่างเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระหว่างกัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในปี 2567 นี้จะเป็นปีแห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีทั้งเทศกาล คอนเสิร์ต และกิจกรรมด้านวัฒนธรรมไทยต่าง ๆ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวได้อีกมาก

ด้านการศึกษา ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติในไทย รวมไปถึงการจัดหลักสูตรและความร่วมมือทางสาขาวิชาชีพ การฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงานการศึกษานิวซีแลนด์พร้อมแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักเรียนแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศด้วย

นิวซีแลนด์ใน 1 ใน 6 สมาชิกกลุ่ม ASEAN+6 หรือการรวมตัวกันของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน กับ 6 ประเทศนอกอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย