ThaiPublica > คอลัมน์ > นรกและปีศาจที่เราไม่รู้จัก The Judge from Hell

นรกและปีศาจที่เราไม่รู้จัก The Judge from Hell

9 ตุลาคม 2024


1721955

กลายเป็นซีรีส์มาแรงที่เพียงแค่สองสัปดาห์ เรตติ้งก็พุ่งไป 9.7% สำหรับ The Judge from Hell (2024) ที่จับ พักชินฮเย (Doctor Slump-2024, Memories of the Alhambra-2018, Doctors-2016, Pinocchio-2014) มาเปลี่ยนเป็นลุคดุดันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มาประกบหนุ่มหล่อมาแรง คิมแจยอง (Love in Contract-2022, Reflection of You-2021) แถมยังได้ผู้กำกับหนังดังยุค 2000 พักจินพโย ที่เคยมีผลงานภาพยนตร์เด่น ๆ อาทิ Too Young to Die (2002), If You Were Me (2003), You Are My Sunshine (2005) ก่อนจะหวนกลับมากำกับหนังอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว ใน Brave Citizen (2023) ทำให้ The Judge from Hell จึงนับเป็นครั้งแรกที่เขาโดดลงมากำกับซีรีส์

และแม้เกาหลีจะมีซีรีส์เกี่ยวกับกฎหมาย ทนายความ และศาลมากมาย แต่ The Judge from Hell เป็นซีรีส์เรื่องแรกที่มีส่วนผสมของแฟนตาซี เมื่อคังพินนา (พักชินฮเย) ผู้พิพากษาหญิงคนสวยถูกฆาตกรรม แต่เกิดความผิดพลาดบางประการทำให้เทพีจัสติเทียถูกลงโทษให้มาอยู่ในร่างของคังพินนา โดยเธอต้องฆ่าอาชญากร 10 คนลงนรก แล้วในระหว่างภารกิจของเธอมีอันต้องพัวพันกับตำรวจหนุ่มฮันดาออน (คิมแจยอง)

แต่สิ่งที่เราสนใจจนอยากจะหยิบมาเขียนบทความในครั้งนี้ คือชื่อของบรรดานรกและปีศาจทั้งหลายที่ถูกเอ่ยถึงและแสดงตัวตนออกมาให้เห็น อันเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู หลายคนคาดเดาว่ามันมาจากเทพปกรณัมกรีกบ้าง จับมาผสมกับคัมภีร์ไบเบิล ไปจนถึงบทกวีอิตาลีเก่าแก่ของ ดังเต้ อาลีกีเอรี ใน Divine Comedy แต่อันที่จริงถ้าจะให้เราสรุปรวบสิ่งเหล่านี้ มันสามารถจะอธิบายด้วยคำเพียงคำเดียว คือ “เพแกน”

อ่านเกี่ยวกับเพแกน ได้ที่บทความ มองผู้หญิงผ่านประวัติศาสตร์ล่าแม่มด

หากพิจารณาโดยรากศัพท์แล้ว เพแกน มาจากภาษาละติน paganus แปลว่า “ชนบท” อันเป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 4 โดยคริสเตียนยุคแรก ๆ ที่อาศัยอยู่ในจักรวรรดิโรมันใช้เรียกพวก พหุเทวนิยม (Polytheism เชื่อในพระเจ้าหลายองค์), หรือศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ยิว แล้วเหตุที่ถูกเรียกว่าชาวชนบทเพราะในยุคนั้นคนกลุ่มนี้มักจะอาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล หรือชายขอบของจักรวรรดิ และอยู่รอบนอกขอบเขตของศาสนาคริสต์ เพแกน จึงมีความหมายในเชิงเหยียดหยาม แบบเดียวกับที่คนไทยเหมารวมคนต่างจังหวัดว่า “พวกบ้านนอก” ในไบเบิล “เพแกน” หมายรวมถึงคนนอกศาสนาทั้งหมด ไปจนถึง ชาวต่างชาติ พวกนับถือเทพเจ้ากรีก-โรมันโบราณ พวกถือผีบูชายัญ

กระทั่งในช่วงยุคกลาง เพแกน ถูกใช้เรียกกลุ่มคนที่ไม่นับถือคริสต์ และเหยียดหยามเทพเจ้าของคนกลุ่มนี้ว่า “พระเจ้าเทียมเท็จ (False god)” ต่อมาในสมัยศตวรรษที่ 19 เพแกนกลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินแขนงต่าง ๆ ในด้านอารยธรรมจากโลกยุคโบราณ พอมาถึงศตวรรษที่ 20 ลัทธิเพแกนใหม่ก็ผูกโยงตีความความเชื่อเหล่านี้ในแง่ความใกล้ชิดธรรมชาติ

บทเว็บไซต์ของสำนักข่าว BBC อธิบายว่า ‘ลัทธิเพแกน (Paganism) หมายถึงกลุ่มศาสนาร่วมสมัยที่มีพื้นฐานมาจากความเคารพต่อธรรมชาติ ความเชื่อเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาดั้งเดิมของชนพื้นเมืองทั่วโลก ครอบคลุมชุมชนอันหลากหลาย อาทิ วิคคา (Wiccans พวกเชื่อในไสยศาสตร์นอกศาสนา แม่มด วูดู เวทย์มนต์), ดรูอิด (Druids เลื่อมใสในตำราแพทย์สมุนไพร ศาสตร์พยากรณ์ หรือรูปแบบการเมืองการปกครองโบราณ), หมอผี จอมคาถา (Shamans), นักนิเวศวิทยาแนวจิตวิญญาณ (Sacred Ecology), กลุ่มผู้ศรัทธาโอดิน (Odinists เทพบิดรของชาวไวกิ้ง), Heathens (พวกนอกรีตนอกศาสนา) ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพแกน บางกลุ่มเน้นที่ประเพณีหรือพิธีกรรมเฉพาะ เช่น นิเวศวิทยา เวทมนตร์ ประเพณีของชาวเคลต์ (อารยธรรมยุโรปในช่วงยุคเหล็กราว 1200-500 ปีก่อนคริสตกาล) หรือเทพเจ้าบางองค์ เพแกนส่วนใหญ่มีวิสัยทัศน์ทางนิเวศวิทยาที่มาจากความเชื่อของเพแกนเกี่ยวกับความมีชีวิตชีวาและจิตวิญญาณของโลกธรรมชาติ’

ประตูนรก

สิ่งแรกที่เราคนดูจะได้เห็นตั้งแต่ในอีพีเปิดของซีรีส์ คือประตูนรกที่ด้านบนจารึกเป็นภาษาละตินประโยคว่า “Lasciate ogne speranza, voi ch’intrate (ผู้เข้ามาที่นี่จงละทิ้งความหวังทั้งปวง)” อันมาจาก Divine Comedy (Divina Commedia) บทกวีชิ้นสำคัญของอิตาลี ที่แต่งขึ้นโดย ดังเต้ อาลีกีเอรี (1265-1321) เขาเริ่มเขียนในปี 1308 จนเสร็จสิ้นก่อนดังเต้จะเสียชีวิตไม่นานในปี 1321 เป็นการบรรยายจินตภาพเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายผ่านมุมมองของโลกในยุคกลาง ภายใต้ความเชื่อแบบคริสตจักรตะวันตก แบ่งเป็นสามส่วนคือ Inferno , Purgatorio และ Paradiso ประโยคจารึกดังกล่าวปรากฏในแคนโต้ที่ 3 ของส่วนแรกที่เรียกว่า Inferno (นรก) ทว่านรกในซีรีส์เรื่องนี้ไม่เรียกนรกว่า “Inferno”

เกเฮนนา

ในซีรีส์นี้เรียกนรกว่า “เกเฮนนา (Gehenna)” อันหมายถึงหุบเขาฮินโนม (Gehinnom) หรือที่รู้จักในชื่อ Wadi el-Rababa (หุบเขาแห่งรีบับ-รีบับคือเครื่องสายชนิดหนึ่งคล้ายซอ ในไบเบิลฉบับแปลไทยใช้คำว่า “หุบเขาแห่งความคร่ำครวญ” ) เป็นหุบเขาที่โอบล้อมรอบกรุงเยรูซาเล็มจากทิศตะวันตกไปจดทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมักจะถูกตีความในทางศาสนาว่าเป็นสถานที่ที่พระเจ้าใช้ลงโทษในชีวิตหลังความตาย และวันสิ้นโลก

เว็บ bibleproject อันเป็นสารานุกรมอธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ในไบเบิลระบุว่า ‘ในพระคัมภีร์ใหม่ [ฉบับกำเนิดพระเยซูไปจนถึงวันสิ้นโลก] ฉบับแปลเป็นภาษาอื่น มักจะเรียกนรกโดยรวมว่า “Hell” แต่อันที่จริงแล้วในไบเบิลภาษาเดิมมีคำเรียกนรกหลายคำ อาทิ เชโอล, อะเดส, ทาร์ทารัส และหนึ่งในนั้นคือฉบับภาษากรีกจะเรียกนรกว่า “เกเฮนนา” (อันมาจากวลีภาษาฮีบรูในพระคัมภีร์เดิม [ตั้งแต่แรกสร้างโลกจนถึงก่อนยุคพระเยซู] ว่า “เกฮินโนม”) ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่สถานที่ แต่หมายถึง วิธีที่ความยุติธรรมของพระเจ้าจะจัดการกับความชั่วร้ายในโลก’

เว็บนี้ยังอธิบายต่อไปด้วยว่า ‘ยุคก่อนพระเยซู ก่อนที่จะหันกลับมานับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว กษัตริย์อิสราเอลโบราณบางองค์ได้บูชายัญเด็ก ๆ ให้กับพระเจ้าองค์อื่น ๆ บรรดาพวกผู้เผยพระวจนะจากพระเจ้าจึงได้ทำนายว่าพระเจ้าจะส่งชาติศัตรูมาพิชิตเยรูซาเล็ม และผู้นำของอิสราเอลจะถูกสังหาร แล้วศพของพวกเขาจะถูกโยนลงไปในหุบเขาเพื่อเผาไฟที่กษัตริย์เหล่านั้นเป็นผู้จุดขึ้นเพื่อเผาผลาญผู้บริสุทธิ์ ว่าสักวันหนึ่งจะกลับกลายเป็นไฟที่เผาผลาญพวกเขาเอง’ ซึ่งหุบเขาดังกล่าวก็คือหุบเขาฮินโนม หรือ “ญะฮันนัม” ในศาสนาอิสลาม

Justitia

จัสติส หรือ จัสติเทีย (ฉบับซีรีส์แปลว่าจัสติเซีย) คือเทพีแห่งความยุติธรรม แม้ในซีรีส์เธอจะถูกแต่งให้เป็นผู้พิพากษาในแดนนรก แต่จริง ๆ แล้วเธอเป็นเทพ ไม่ใช่ปีศาจ แต่อย่างที่เราบอกว่าแฟนตาซีในเรื่องนี้ไม่ใช่จักรวาลตามเทพนิยายกรีก หรือนรกในจินตนาการของดังเต้ แต่คือจักรวาลเพแกนที่โฮะกันระหว่างตำนานนอกรีตทั้งหลาย ไม่ว่าเทพหรือปีศาจ หรือเทพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปีศาจ ย่อมเป็นไปได้ในจักรวาลเพแกน

(จากซ้ายบน) มาอัต, ธีมิส (ล่าง) ไดค์

จัสติเทียไม่ใช่เทพีดึกดำบรรพ์ เธอถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ครั้งแรกในยุคโรมันสมัยจักรพรรดิออกัสตัส หรือราว 27 ปีก่อนคริสตกาล ทว่าต้นกำเนิดแท้ ๆ ของเธอไม่ได้มาจากกรีกหรือโรมัน อันที่จริงชาวอียิปต์โบราณเรียกเธอว่า มาอัต (Maat) ในบทความปี 2010 ของแรนดี้ เคเนดี้ จากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ อธิบายว่า ‘เธอคือเทวีแห่งความสามัคคีและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งปรากฎในคัมภีร์แห่งความตายของอียิปต์ในฐานะตาชั่งของช่างอัญมณีที่ชั่งน้ำหนักหัวใจมนุษย์กับขนนกเพื่อตัดสินชะตากรรมของวิญญาณในปรโลก

อารยธรรมนี้ถูกถ่ายโอนไปยังกรีกโบราณกลายร่างเธอเป็นเทพีนามว่าธีมิส (Themis) ผู้เป็นป้า (บางตำราว่าเป็นเมีย) และที่ปรึกษาสูงสุดของเทพซุส ต่อมาชาวโรมันรวมร่างเทพเหล่านี้เข้ากับไดค์ (Dike บุตรีของธีมิสกับซุส) เทพีแห่งความความยุติธรรมและประเพณี แนวคิดเหล่านี้ถูกขยำรวมกันกลายเป็นจัสติเทีย’

โดยทั่วไป จัสติเทีย มักจะถูกออกแบบให้มีองค์ประกอบเหล่านี้ คือ

มงกุฎ: ศักดิ์ศรี ความรุ่งโรจน์สูงสุด
ผ้าปิดตา: เธอไม่ปรารถนา และไม่เห็นแก่ตัว การพิพากษาต้องกระทำด้วยใจ ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งที่ตาเห็น
ตาชั่งในมือซ้าย: ความยุติธรรม เที่ยงธรรม
ดาบในมือขวา: อำนาจ การปกครอง ไม่อดกลั้นต่อความอยุติธรรม
เหยียบงูพิษ: อยู่เหนือความชั่วร้าย อยู่เหนือความเกลียดชังและศัตรู
สุนัข: มิตรภาพ ในที่นี้ทั้งงูและสุนัข มีความหมายว่าไม่ว่า มิตรหรือศัตรู มิตรภาพหรือความเกลียดชัง จะไม่มีผลกระทบต่อคำตัดสินอันเที่ยงธรรม
หนังสือ: เป็นตัวแทนกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม

Fiat justitia ruat caelum: ตรงฐานหรือไม่ก็หลังบัลลังก์ที่เธอนั่งมักจะจารึกสุภาษิตโรมันโบราณนี้ที่แปลว่า “Let justice be done though the heavens fall. (จงประสาทความยุติธรรมแม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที-ภาษิตที่ชาวนิติศาสตร์ทั่วโลกยึดถือกันในปัจจุบันนี้)”

โดยทั่วไปเธอจะสวมชุดคลุมแบบกรีก-โรมันโบราณที่เรียกกันว่าโทก้า (Toga บ้างก็เรียก “ทองก้า”) อันเป็นสัญลักษณ์ของทัศนคติเชิงปรัชญาที่แสดงถึงความยุติธรรม และในปัจจุบันมันได้ถูกพัฒนากลายเป็นชุดครุยของผู้พิพากษา

Bael

บาเอล หรือบาอัล ถูกอธิบายในซีรีส์นี้ว่าเป็นผู้อำนวยการของนรก มีอำนาจเหนือกว่าจัสติเทีย โดยความหมายของชื่อปีศาจตนนี้แปลว่า “เจ้านาย (Lord)” ในภาษาเซมิติกตะวันตกเฉียงเหนือโบราณ ด้วยความหมายจึงทำให้นามนี้ถูกนำไปใช้กับเทพเจ้าด้วย ดังนั้นแม้จะเป็นปีศาจ แต่ในอดีตเขามีความเกี่ยวข้องกับฮาดัด/อิชคูร์ เทพเจ้าแห่งพายุและความอุดมสมบูรณ์ของชาวคานาอันและเมโสโปเตเมียโบราณ ในคัมภีร์ฮีบรูใช้เรียกเทพเจ้านอกรีต และถูกประณามในหมู่ศาสนาอับราฮัมมิก (ยิว, สะมาเรีย, คริสต์, บาไฮ และอิสลาม) ว่าเป็นพระเจ้าเทียมเท็จ ในมารวิทยา (Demonology) จะเรียกเขาในอีกชื่อหนึ่งว่า “เบลเซบับ / บาอัลเซบับ (ผู้โบยบิน มักจะมาในร่างแมลงวัน เดิมทีเป็นเทพเจ้าของชาวฟิลิสเตีย)”

เขามีฉายาว่า “ผู้ขี่เมฆ” ดังที่เล่าไปแล้วว่าเขาเป็นเจ้าพายุ บันดาลฟ้าฝนเช่นเดียวกับซุส และคำว่า “ขี่” ในที่นี้ยังแฝงนัยยะในเรื่องทางเพศด้วย อันทำให้เขาถูกเชื่อว่าเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ สืบลูกสืบหลาน

ทว่าใน Demonology เขาถูกกล่าวถึงใน The Lesser Key of Solomon (กุญแจย่อยแห่งโซโลมอน) ว่าเป็นลำดับแรกของปีศาจ 72 ตน และ Pseudomonarchia Daemonum (ฐานานุกรมปิศาจ) เขาถูกระบุในลำดับแรกอีกเช่นกันของปีศาจ 69 ตน

[Lemegeton Clavicula Salomonis หรือ Lemegeton เป็นชื่อละตินดั้งเดิมของกุญแจย่อยแห่งโซโลมอน เป็นตำราเวทมนตร์ที่ไม่ปรากฎผู้แต่ง ถูกรวบรวมขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 แบ่งออกเป็น 5 เล่ม คือ Ars Goetia , Ars Theurgia-Goetia , Ars Paulina , Ars Almadel และ Ars Notoria โดยอ้างว่าอิงมาจากวงแหวนที่ถูกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล ในบทเพลงโซโลมอน (Seal of Solomon ตราประทับของกษัตริย์โซโลมอนซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นรูปดาวดาวิด 6 แฉกที่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้บนธงชาติอิสราเอล) และเชื่อกันว่าวงแหวนนั้นโซโลมอนใช้ผนึกปีศาจทั้ง 72 ตนเอาไว้] [ฐานานุกรมปิศาจ หรือระบอบกษัตริย์ปีศาจเท็จ ปรากฎครั้งแรกในภาคผนวกของตำรา De praestigiis daemonum (On the Tricks of Demons / ว่าด้วยเล่ห์กลของเหล่าปีศาจ) เขียนโดยแพทย์ชาวดัตช์ โยฮานน์ เวเยอร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในเมืองบาเซิลเมื่อปี 1563 โดยจุดประสงค์ของหนังสือนี้พยายามจะชี้ว่าเวทมนตร์ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงอาการหลงผิตหรือจิตประสาท และพวกเขาไม่สมควรจะถูกลงโทษ หนังสือเล่มนี้ต่อมามีอิทธิพลอย่างมากต่อการยกเลิกการพิจารณคดีการใช้เวทมนตร์ หรือพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด]

ในมารวิทยา บาอัลถูกอธิบายว่าเป็นกษัตริย์เสียงแหบแต่มีพลังในการทำให้ผู้คนหายสาปสูญ และปกครองปีศาจ 66 กองทัพ มักจะปรากฎในร่างแมว คางคก มนุษย์ หรือรวมร่างกันและมีขาอย่างแมงมุม บาอัลล่องหนได้ และมีเสน่ห์ทำให้ผู้อื่นหลงใหล

บาอัล คือหนึ่งใน 7 เจ้าชายแห่งนรก ตามลำดับบาป 7 ประการอันได้แก่ ลูซิเฟอร์ (หยิ่งยะโส), แมมมอน (โลภ), แอสโมดิอุส (ใคร่), เลวีอาธาน (ริษยา), เบลเซบับ/บาอัล (ความตะกละ), ซาตาน (โกรธ) และ เบลเฟกอร์ (เกียจคร้าน)

Valak

วาลัค, โวลัค, วาแล็ก, โวลาค ในซีรีส์เป็นผู้ช่วยของจัสติเทีย เขาเป็นปีศาจในลำดับที่ 50 ของ ฐานานุกรมปิศาจ และในลำดับที่ 62 ของ กุญแจย่อยแห่งโซโลมอน เขาถูกอธิบายไว้อย่างน่ารักว่ามักจะมาในลักษณะคล้ายแองเจิล หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ คิวปิด เป็นเด็กชายมีปีกแต่ขี่มังกรสองหัว และมีพลังในการค้นหา (ในซีรีส์เขาจึงมักถูกจัสติเทียสั่งให้ไปสืบข้อมูลลับ) บางทีฝรั่งก็เรียกเขว่า Coolor หรือไม่ก็ Doolas เขาสามารถเรียกงู หรือสั่งวิญญาณประจำบ้านได้ด้วย เขาควบคุมกองทัพวิญญาณร้าย 30 กองทัพ แล้วอันที่จริงหากใครตามจักรวาล The Conjuring ล่าสุดในหนัง The Nun II (2023) มีการเฉลยด้วยว่าวิญญาณที่สิงสู่ในผีแม่ชี แท้จริงก็คือปีศาจวาลัคตนนี้นี่เอง

Gremory

เกรโมรี มักปรากฎในร่างสาวสวย สวมมงกุฎแบบดัชเชสและขี่อูฐ มีพลังในการเปิดเผยที่ซ่อนสมบัติและสามารถทำนายอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ เธออยู่ในลำดับที่ 51 ของ ฐานานุกรมปิศาจ และลำดับที่ 56 ของ กุญแจย่อยแห่งโซโลมอน ผู้หญิงมักจะชอบบูชาเธอเนื่องจากเธอมีอำนาจในการให้คุณให้โทษแก่ผู้หญิง โดยเฉพาะในเรื่องความรัก เธอปกครองกองทัพวิญาณ 26 กอง

Paimon

ไพมอน หรือเพมอน เป็นปีศาจอีกตนที่ปรากฏในซีรีส์นี้แต่ยังไม่มีบทบาทอะไรมาก ในซีรีส์เขาอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยของบาอัล เพมอนมักถูกอธิบายว่าเป็นชายมีใบหน้างดงามอย่างผู้หญิงขี่บนโหนกอูฐ และมักจะมีกองทัพวิญญาณนำขบวนด้วยทรัมเป็ตหรือฉาบ ด้วยความที่เขาเป็นกษัตริย์ ทั้งตัวเขาและอูฐจึงสวมมงกุฎ เขาเป็นผู้ภักดีอย่างแน่นเหนียวต่อลูซิเฟอร์ ในหนังฮอลลีวูดสุดสะพรึง Hereditary (2018) ที่เล่าถึงผู้เชื่อในปีศาจเพแกน และปีศาจตนนั้นในเรื่องก็คือเพมอนตนนี้ ใน กุญแจย่อยแห่งโซโลมอน เขาคือปีศาจลำดับที่ 9 แต่ใน ฐานานุกรมปิศาจ เขาถูกจัดไว้ในลำดับที่ 22

The Screwtape Letters

ในซีรีส์มีหลายครั้งที่เอ่ยถึงหนังสือชื่อ จดหมายของสกรูเทป มันคือชื่อนิยายทางศาสนาคริสต์ โดยนักเขียนชาวอังกฤษ ซีเอส ลูอิส ซึ่งเขียนในเชิงเสียดสีด้วยรูปแบบจดหมายและมีประเด็นเกี่ยวข้องกับศาสนา ที่เน้นในเรื่องการถูกล่อลวงให้ออกนอกรีต และการถูกต่อต้าน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1942 ในเนื้อหาสมมติว่าจดหมายชุดนี้ถูกเขียนขึ้นโดยปีศาจชั้นสูงที่ชื่อว่า สกรูเทป ถึงเวิร์มวูดหลานชายของเขาที่เป็นนักต้มตุ๋น สกรูเทปเอ่ยถึงความรับผิดชอบของหลานในการทำให้ชายอังกฤษคนหนึ่งที่ถูกเรียกในเรื่องนี้ว่า “คนป่วย” ตกนรก

นิยายชุดนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Guardian ใน ปี 1941 ก่อนจะถูกรวบรวมเป็นหนังสือในปี 1942 และมีเรื่องสั้นภาคต่อในชื่อ Screwtape Proposes a Toast (1959) อย่างไรก็ตามเท่าที่เราเข้าใจ เราคิดว่าการที่ซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้เอ่ยถึงสกรูเทป ก็เพราะว่าตัวละครในนิยายเล่มนี้แม้จะเป็นปีศาจแต่มีความเข้าใจจิตใจและจุดอ่อนของมนุษย์เป็นอย่างดี แม้ว่าหน้าที่ของเขาคือการล่อลวง การโกหกอันเป็นงานประจำของพวกปีศาจ และเขาไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับความรักของพวกมนุษย์ แถมยังชอบพูดจากแดกดันประชดประชัน บุคลิกเหล่านี้เชื่อว่าผู้ชมจะเห็นได้ชัดว่ามีอยู่อย่างครบถ้วนในตัวปีศาจจัสติเทีย