ThaiPublica > คอลัมน์ > The Act โรคทำให้ลูกเป็นเหยื่อเพื่อเรียกร้องความรักจากสังคม

The Act โรคทำให้ลูกเป็นเหยื่อเพื่อเรียกร้องความรักจากสังคม

17 ตุลาคม 2020


1721955

สายใยรักระหว่างแม่ลูกเป็นเรื่องซับซ้อน ที่ใช้คำว่าแม่ลูกเพราะกลุ่มอาการที่จะเล่าต่อไปนี้มักเกิดขึ้นกับแม่ รักน้อยไปก็เป็นปมด้อย โดยเฉพาะใครที่มีลูกสองคนก็อาจเป็นปมไปจนโตว่าแม่รักลูกไม่เท่ากัน แต่รักมากไปจะเป็นปัญหาได้อย่างไร… ก็ขอยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กเป็นไข้นิดหน่อย หมอให้ยามาป้อน พบว่าไข้ไม่ลดสักที ความรักความห่วงใยของแม่ก่อให้เกิดความกังวลเลยเพิ่มขนาดยาโดยพลการ เพราะมโนไปเองว่ายิ่งให้ยาเยอะ ลูกจะยิ่งหายไวขึ้น แต่ความกังวลเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ยังไม่ถือเป็นกลุ่มอาการทางจิต

ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์ The Act (hulu, 2019) ถูกสะสมและพัฒนาขึ้นมาอย่างยาวนานจากความกังวลดังกล่าว ร่วมกับปัจจัยอื่นที่ประกอบกันจนกลายเป็นอาการที่เรียกว่า MSbP หรือ FDIA และซีรีส์นี้ไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่มันดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริง ที่สุดท้ายลุกลามไปจนฝ่ายแม่ถูกลูกสาวฆ่าตาย

เซเล็บแม่ลูกผูกพัน

คดีลูกฆ่าแม่สะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2015 รัฐมิสซูรี อเมริกา เมื่อพบศพของ คลาวดีน ดีดี บลานชาร์ด นอนคว่ำหน้าอยู่บนเตียง โดยมีร่องรอยการถูกแทงหลายแผลและคาดว่าศพจะถูกทิ้งเอาไว้หลายวัน ขณะที่ลูกสาวของเธอ ยิปซี โรส บลานชาร์ด หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

ต้องเล่าก่อนว่าจริงๆ แล้วแม่ลูกคู่นี้เป็นเซเลบคนดังในย่านนั้น ฐานที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์เฮอริเคนแคทรินาถล่มเมื่อสิงหาคม 2005 ทำให้ได้รับความอนุเคราะห์หลายอย่างจากรัฐ เช่น ด้านการแพทย์ ที่อยู่อาศัย แต่หลักฐานใบเกิดและข้อมูลทางการแพทย์ของยิปซีสูญหายไปพร้อมพายุ กระทั่งเมื่อมีการสร้างภาพจากทางการ เข้ามาถ่ายทำชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย แม่ลูกคู่นี้ก็ถูกหยิบมาเป็นกรณียกย่อง ในฐานะที่ดีดีเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว คอยดูแลยิปซีผู้ที่แม่บอกต่อสื่อว่า “เธอพิการเดินไม่ได้และป่วยหลายโรค” ไม่ว่าจะกล้ามเนื้อลีบ, หอบหืด, ลมชัก, ภูมิแพ้, กรดไหลย้อน, ตาฝ้าฟาง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ฯลฯ

จนกลายเป็นดราม่าใหญ่โตที่คนทั้งสังคมแห่กันออกมาให้ความช่วยเหลือ ทั้งบริจาคข้าวของไม่ว่าจะวีลแชร์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายวิดีโอ รถ เลยไปถึงขั้นมีมูลนิธิมาร่วมใจกันสร้างบ้านใหม่สีชมพูมุ้งมิ้งให้เธอ ออกแบบให้มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ แถมมีอ่างจากุชชีบำบัดเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนนั่นนี่ พยายามเติมฝันของยิปซีให้เป็นจริง ด้วยการจับเธอแต่งตัวเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ พาไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ ไปคอนเสิร์ตนักร้องดัง ได้สิทธิ์บินฟรี พักฟรีในต่างรัฐ และสิ่งที่แม่ลูกคู่นี้เซอร์วิสให้กับสังคมติ่งแฟนคือการทำแฟนเพจอัปเดตคลิปสั้นๆ ว่าแต่ละวันทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง ดังนั้นสิ่งที่คนรับรู้ทั่วกันคือ ยิปซีพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และดีดีเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวแสนดีที่ทุ่มชีวิตเพื่อดูแลยิปซีตลอด 24 ชั่วโมง

กีดกันพ่อลูกไม่ให้เจอกัน

ความจริงมาโป๊ะแตกหลังจากการตายของดีดี ทำให้ตำรวจย้อนกลับไปสืบค้นข้อมูลต่างๆ ก็พบว่าจริงๆ ยิปซีเกิดในปี1991 ไม่ใช่ 1995 อย่างที่ดีดีบอกกับสังคม (คือหลอกว่ายิปซีอายุน้อยกว่าความเป็นจริงอยู่ 4 ปี) ดีดีท้องกับเด็กหนุ่มที่อายุน้อยกว่า 7 ปี ชื่อร็อด บลานชาร์ด ขณะนั้น ดีดี อายุ 24 ส่วนร็อดอายุแค่ 17 ทำให้ทั้งสองตัดสินใจแยกทางกัน แต่ร็อดก็ส่งเงิน 1,200 เหรียญ (เกือบสี่หมื่นบาท) มาให้ดีดีใช้ทุกเดือน และแวะมาเยี่ยมเยียนบ้างตามโอกาส อย่างไรก็ตาม พอยิปซีเริ่มโตขึ้นดีดีกลับกีดกันไม่ให้ร็อดมาเยี่ยม แล้วหอบลูกหนีไปอยู่บ้านคนนั้นทีคนนี้ที จุดนี้เองที่ญาติของดีดีให้ข้อสังเกตเพิ่มด้วยว่า ในปี 1997 ตอนที่ดีดีไปอาศัยอยู่กับเอ็มม่า แม่แท้ๆ ของดีดี จู่ๆ เอ็มม่าก็เสียชีวิตและเป็นไปได้ว่าอาจถูกดีดีวางยา!?

ความที่ดีดีเคยเป็นพยาบาล พอมีความรู้เรื่องยาอยู่บ้าง เธอจึงมักกังวลเกินเหตุว่ายิปซีป่วยหนัก ข้อมูลป่วยไข้ความพิการต่างๆ ไม่เคยได้รับการยืนยันจากหมอ แต่เป็นสิ่งที่ดีดีหลอกกับสังคมผ่านสื่อโซเชียลล้วนๆ ส่วนยิปซีเองก็เชื่อสนิทใจว่าตัวเองป่วย เดินไม่ได้อย่างที่แม่หลอนเธอทุกวัน ในบ้านจะมีแผงยาหลากชนิดที่ดีดีคอยมอมยิปซีตลอดเวลา บางทีก็ถึงกับให้ออกซิเจน หรือเจาะสอดท่อสายยางให้อาหารทางช่องท้องราวกับยิปซีป่วยหนัก และผลของยาบางชนิดก็ส่งผลข้างเคียงถึงกับทำให้ยิปซีฟันหลอหมดปาก จนเมื่อหมอบางคนพบว่าแท้จริงยิปซีร่างกายปกติแข็งแรงดี ดีดีก็จะพาลูกย้ายไปรักษากับหมอคนใหม่ๆ แทน

แฟนหนุ่มในโลกโซเชียล

เมื่อยิปซีโตเป็นสาว เธอพยายามจะหนีไปจากแม่ แต่แม่ก็พยายามใช้ความรุนแรงต่างๆ รวมถึงกล้อนผมเธอจนโล้น บีบบังคับให้ยิปซีไปไหนไม่รอด ในที่สุดในปี 2012 เมื่อดีดีหลับ ยิปซีก็แอบทักแชทบนเว็บหาคู่สำหรับชุมชนคนโสดชาวคริสเตียน ที่นั่นเธอได้พบกับนิโคลัส โกเดอจอห์น ชาวเมืองวิสคอนซิน (อยู่ห่างออกไปราว 9 ชั่วโมงทางรถ) เด็กหนุ่มผู้ป่วยเป็นออทิสซึม และเคยต้องคดีสำเร็จความใคร่ในร้านฟาสต์ฟูด ยิปซีแอบสร้างเฟซบุ๊กสำรองขึ้นมาอีก 5 เฟซเพื่อคุยกับโกเดอร์จอห์น จนทั้งสองลักลอบพบกัน และมีเซ็กซ์กันตอนที่ดีดีไม่อยู่บ้าน หรือไม่ก็แอบมีเซ็กซ์ทางไกลผ่านอุปกรณ์ออนไลน์ อันเป็นช่วงเวลาเดียวที่ยิปซีเป็นตัวของตัวเอง เมื่อเธอได้ลองแต่งตัว ใส่วิกผมและแต่งหน้าทาปาก

ความตึงเครียดเกิดขึ้นในปี 2014 เมื่อดีดีจับได้ เธอพังแลปทอปของยิปซี และตัดเน็ตไม่ให้ยิปซีเข้าถึงโซเชียล จุดนี้เองทำให้ในปีถัดมายิปซีนัดแนะกับโกเดอจอห์น โดยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักให้เขาทั้งหมด เรียกให้เขามาจากวิสคอนซิน หลังจากทั้งคู่ตกลงวางแผนจะฆ่าดีดี

คืนสังหาร

ยิปซีเปิดประตูให้โกเดอจอห์นเข้ามากลางดึกหลังจากดีดีหลับลึกไปแล้ว ก่อนที่ยิปซีจะไปหลบในห้องน้ำ รอให้แฟนหนุ่มของเธอเชือดแม่ตัวเองจนเสร็จสิ้น ทั้งสองก็มีเซ็กซ์กันในห้องนอนแม่ทั้งๆ ที่ดีดียังนอนเป็นศพอยู่ตรงนั้น ก่อนจะเชิดเงินสี่พันเหรียญหาทางข้ามเมืองไปยังบ้านของฝ่ายชาย

ระหว่างการหลบหนี ทั้งคู่ทิ้งร่องรอยไว้มากมาย ทีแรกตำรวจคิดว่าฆาตกรลักพายิปซีไป แต่เมื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิด คนทั้งสังคมก็ตื่นตะลึง เมื่อพบว่ายิปซีเดินได้และเปลี่ยนไปเป็นคนละคน กระแสสังคมโกรธเธอหนักมาก จนเมื่อสื่อสาวลึกไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับอาการของดีดี หลายกระแสก็หันกลับมาเห็นใจยิปซี แต่ก็ยังคงรับไม่ได้กับกรณีฆ่าแม่อย่างเลือดเย็น สุดท้ายลงเอยที่ยิปซีถูกจำคุก 10 ปี ส่วนโกเดอร์จอห์นจำคุกตลอดชีวิต

MSbP หรือ FDIA

และข้อมูลที่สื่อขุดคุ้ยคือ เป็นไปได้ว่าดีดีมีอาการป่วยที่เรียกว่า Munchausen syndrome by proxy (MSbp) หรือ factitious disorder imposed on another (FDIA) อันเป็นอาการป่วยทางจิตที่ต้องการเรียกร้องความสนใจ และต้องการได้รับการสนับสนุนจากคนอื่นว่า เป็นแม่ประเสริฐที่ทำดีทำถูกต้องที่สุดแล้ว ด้วยการทำให้ลูกเป็นเหยื่อ ทำให้ลูกป่วยไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ เพื่อให้ลูกต้องได้รับการดูแลจากแม่แต่เพียงผู้เดียว เพื่อหวังผลให้สังคมชื่นชมและรักเธอต่อการเป็นแม่ผู้ทุ่มเทสุดหัวใจ

FYI เหยื่อคนดังที่ทุกคนรู้จัก

แร็ปเปอร์ชื่อดัง เอมมิเนม ผู้มักหยิบชีวิตบัดซบในวัยเด็กของตัวเองมาเขียนเพลง ครั้งหนึ่งเขาเคยเปิดเผยว่า “ตอนเด็กๆ แม่พาผมวิ่งเข้าวิ่งออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ เพื่อรักษาอาการป่วยที่ผมไม่เคยเป็น” และเขาแต่งเพลงชื่อ Cleanin’ Out My Closet เพื่อเล่าเรื่องราวนั้น

FYI ที่มาของชื่อมันเชาเซน

กลุ่มอาการแบบมันเชาเซนโดยตัวแทน มาจากชื่อบารอน มึนเฮาเซน (Freiherr von Münchhausen) ขุนนางในราชสำนักผู้เคยติดตามรับใช้ดยุกแอนโทนี อุลริช แห่งบรันชวิก ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจักรวรรดิรัสเซีย ในช่วง ค.ศ. 1740 ก่อนจะเกษียณราชการในปี ค.ศ. 1760 อันเป็นช่วงที่มึนเฮาเซนชอบจะเล่าประสบการณ์อันหวือหวาพิสดาร ให้บรรดาชนชั้นสูงในเยอรมันได้รับฟัง นัยว่าเป็นความบันเทิงหลังมื้อค่ำ ซึ่งเรื่องที่ท่านเล่าได้รับการกล่าวถึงแบบปากต่อปาก ในแง่ความแปลกแหวกแนวไม่ซ้ำใคร จนกลายเป็นคนดังประจำเมือง เพราะสไตล์การเสริมแต่งให้โม้โอเวอร์ไปจากเรื่องจริง ที่ใครฟังก็รู้ว่าเป็นเรื่องโกหก แต่ก็นับเป็นอรรถรสที่สร้างความบันเทิงเป็นอย่างดี

บุคลิกแบบนี้เองกลายเป็นไอเดียให้รูดอล์ฟ อิริช ราสเป นักเขียนชาวเยอรมัน หยิบเอามาเขียนหนังสือ กลายเป็นตัวละครที่ออกไปผจญภัยในโลกเหนือจริง ไม่ว่าจะไปดวงจันทร์ ควบม้าครึ่งตัว เหาะขึ้นฟ้าโดยใช้ฝูงเป็ด โดนปลายักษ์งาบลงทะเลลึกแต่ยังรอดมาได้ ข้ามโลกไปไหนมาไหนโดยการขี่กระสุนปืนใหญ่ ฯลฯ คือเสริมแต่งให้โม้เกินจริงไปจากมึนเฮาเซนตัวจริงไปอีก ผ่านการตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ตอนแรกวางขายในเบอร์ลิน แต่สะกดชื่อต่างไปจากตัวจริงเล็กน้อยคือ Munchausen ที่นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้อง

ตัวราสเปภายหลังย้ายไปอังกฤษ เพราะติดคดีฉ้อฉลต้มตุ๋นในเยอรมัน ที่อังกฤษเขาทำงานรับจ้างแปลหนังสือเยอรมันเป็นอังกฤษ รวมถึงนิทานขี้โม้ของนายมันเชาเซนนี่ด้วย โดยไม่มีใครรู้ว่าผู้แต่งหนังสือเล่มนี้คือราสเป กระทั่งหนังสือข้ามฝั่งไปขายในเยอรมัน ก็ทำให้บารอนมึนเฮาเซนโกรธเป็นอย่างมาก เพราะถึงเวลานั้นชื่อเสียงของท่านบารอนก็ถูกลือกันไปสนุกปากเสียแล้วว่าเป็นบารอนจอมโกหก แต่กว่าโลกจะรู้ว่านักเขียนตัวจริงเป็นใครก็ปาไปปี ค.ศ. 1824 หรืออีกหลายปีหลังจากราสเปเสียชีวิตไปแล้ว และอาการโกหกแบบกึ่งจริงกึ่งไม่จริงนี้เอง ท้ายที่สุดก็ถูกใช้เป็นชื่ออาการทางจิตเวช

The Adventure of Baron Manchausen (1988)

แม้จะเป็นหนังที่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์ไปอย่างมากของ เทอร์รี กิลเลียม (12 Monkeys, Fear and Loathing in Las Vegas) แถมยังได้เข้าชิง 4 สาขาออสการ์ในปีนั้น แต่ก็ล้มเหลวทางรายได้สุดๆ ด้วยทุนสร้างสูงถึง 46 ล้านเหรียญ แต่ได้กลับมาเพียง 8 ล้าน

Baron Münchhausen (ARD, 2012)
ภาพยนตร์ 120 นาทีที่ถูกแบ่งฉายเป็น 2 ตอนทางช่องทีวีเยอรมันในช่วงคริสตมาส
The Act

ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้ แพทริเซีย อาร์เควตต์ (นักแสดงออสการ์จาก Boyhood) คว้ารางวัลนำหญิงยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ จากทั้งเวทีเอมมี่และลูกโลกทองคำ ในบทดีดี ส่วนบทยิปซีผู้เป็นลูกสาวแสดงโดย โจอี คิง (The Conjuring, The Kissing Booth) ก็แสดงได้สมบทบาทไม่แพ้กัน ซีรีส์ควบคุมการผลิตโดยนิก แอนทอสกา จากซีรีส์ Hannibal, Channel Zero และโปรเจกต์ซีรีส์ Chucky ที่จะตีความตุ๊กตาสยองขึ้นหิ้งในมุมดราม่า และมิเชล ดีน นักหนังสือพิมพ์และนักวิจารณ์จากนิวยอร์กไทม์และแอลล์ ผู้เคยเขียนบทความเจาะลึกเกี่ยวกับดีดีและยิปซีจนดังกลายเป็นไวรัลฮิต

อย่างไรก็ตาม หลังจากซีรีส์ออนแอร์ไปเพียงสองตอน (จากทั้งหมด 8 ตอน) ทั้งที่ยิปซีไม่สามารถดูซีรีส์เรื่องนี้จากในคุกได้ แต่เธอก็ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ไม่แฟร์ที่ดีนนำชีวิตของฉันไปทำซีรีส์โดยใช้ชื่อจริง แถมยังไม่เคยขออนุญาตจากฉันเลยสักนิด” ส่วนแม่เลี้ยง (ภรรยาใหม่ของพ่อยิปซี) ก็ออกมาให้ข่าวว่า “ดีนเคยตกลงกับฉันทางโทรศัพท์ ว่าจะให้ส่วนแบ่งครึ่งครึ่ง เพื่อเก็บไว้ให้ยิปซีหลังออกจากคุก แต่จนบัดนี้ฉันก็ยังไม่เคยได้เงินจากเธอเลยแม้แต่แดงเดียว”

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของซีรีส์นอกเหนือจากการแสดงอันเยี่ยมยอด และการคัดเลือกนักแสดงที่แต่ละคนมีความคล้ายคลึงตัวจริงเกือบทั้งหมดแล้ว ยังโดดเด่นด้วยการเล่าลำดับสลับข้ามช่วงเวลาไปมา อันเป็นการเปิดโอกาสให้คนดูได้เข้าไปสำรวจชีวิตของพวกเขา ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบเป็นทอดๆ จากสายสัมพันธ์แม่ลูก ไม่ว่าจะดีดีกับแม่ของเธอ หรือโกเดอร์จอห์นกับแม่ และตัวละครแม่ลูกเพื่อนบ้าน ที่กลายเป็นมุมมองใหม่จากคดีดังที่คนส่วนใหญ่รู้เรื่องทั้งหมดอยู่แล้ว

เพราะช่องข่าวชื่อดังต่างหยิบชีวิตของแม่ลูกคู่นี้มาเล่าจนแทบจะไม่เหลืออะไรให้เล่าอีก โดยเฉพาะสารคดีช่อง HBO เรื่อง Mommy Dead and Dearest (2017) รวมถึงในปีเดียวกันช่องไลฟ์ไทม์ก็ชิงทำซีรีส์ Love You to Death (2019) ออกมาฉายตัดหน้าเพียงเดือนเดียวก่อนที่ The Act จะฉาย แต่ The Act กลับยังคงนำเสนอในมุมที่สดใหม่และให้แง่คิดกว่ามาก และกวาดคะแนนจากนักวิจารณ์ 16 คนที่ร่วมกันลงคะแนนให้สูงถึง 74 จาก 100 คะแนน และได้เรตติ้งสูงถึง 7.36 จากเต็มสิบ รวมถึงเว็บรอตเทนโทเมโทยังให้อีก 89% จากทั้งหมด 46 รีวิว

ดีน: “โปรเจกต์ The Act เริ่มต้นจากตอนที่บทความของฉัน (ชื่อ ‘เมื่อดีดีต้องการให้ลูกสาวของเธอป่วย ส่วนยิปซีก็อยากให้แม่เธอถูกฆ่า’ เขียนลงในเว็บไซต์สังคมออนไลน์ BuzzFeed) กลายเป็นไวรัล ทำให้นายทุนต่างๆ ต่อสายถึงฉัน แต่ฉันไม่เคยมีประสบการณ์ผลิตซีรีส์มาก่อน ในที่สุดฉันเลยเลือก แอนทอสกา เข้ามาร่วมผลิต เพราะเขาเคยผลิตซีรีส์ดาร์กๆ แฝงไอเดียลึกซึ้งด้านจิตวิทยามาหลายเรื่อง”

แอนทอสกา: “ส่วนตัวผมชอบเรื่องกึ่งฝันดีฝันร้าย ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผมมาค้นพบว่าผมมักจะเลือกโปรเจกต์ที่เหมือนนั่งอบอุ่นอยู่ในบ้านแสนสุขที่อวลไปด้วยบรรยากาศแบบหนังสยองขวัญ และ The Act ก็ให้ความรู้สึกแบบนั้น”

ไม่มีใครรู้ความจริงว่าทำไมยิปซีตัวจริงถึงตัดสินใจฆ่าแม่ แต่ในซีรีส์หลังการตายของแม่ผ่านไปแล้ว ยิปซีพล่ามบอกทุกคนเสมอว่า “ฉันรักแม่ และฉันก็รู้ว่าแม่รักฉัน” แต่คนดูก็ตัดสินใจยากอยู่ดีว่าสิ่งที่ยิปซีพูดนั้นมาจากใจ หรือเป็นแค่แอ็กติ้ง