ThaiPublica > คอลัมน์ > Mouse ยีนฆาตกรและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับไซโคพาธ

Mouse ยีนฆาตกรและความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับไซโคพาธ

30 พฤษภาคม 2021


1721955

Mouse (2021) ซีรีส์เกาหลี 20 ตอนจบ ที่เพิ่งปิดฉากไปหมาด ๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยพล็อตที่กดดันคนดูอย่างหนักและไม่ลดละในการหักมุมชนิดที่เรียกว่าหักแล้วหักอีก ซับซ้อนจนเหวอตาแตก ทำคนดูหัวใจแหลกสลายสาหัสเมื่อรู้ว่าฆาตกรตัวจริงคือใคร!?

Mouse ซีรีส์ล่าสุดของนักร้องนักแสดงหนุ่มมาดกวน อีซึงกิ จาก A Korean Odyssey (2017–2018), Vagabond (2019) แต่ Mouse คือผลงานชิ้นแรกตลอดชีวิตการแสดงของ อีซึงกิ ที่ผ่านมา 17 ปีที่ได้เรต-R ด้วยฉากความรุนแรงและฆาตกรรม ซึ่งทำให้ซีรีส์นี้นอกจากจะสมจริงแล้วยังเพิ่มแรงกดดันให้คนดูลุ้นระทึกทุกนาที

เมื่อ 20 ปีก่อน เกิดเหตุฆาตกรรมโดยฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกระบุว่าเป็นไซโคพาธ 20 ปีต่อมาในปัจจุบันกลับเกิดเหตุซ้ำรอยอีก ทั้งที่ฆาตกรเมื่อ 20 ปีก่อนถูกจับตัวได้แล้ว หรือนี่จะเป็นฆาตกรเลียนแบบ ที่ทำให้ตำรวจสายตรวจมือใหม่ จองบารึม (อีซึงกิ) จับผลัดจับผลูมาร่วมสืบคดีกับรุ่นพี่ตำรวจสายสืบ โกมูจี (อีฮีจุน จาก Mistress-2018, The Legend of the Blue Sea-2016)

ผู้กำกับ ชเวจุนแบ ให้สัมภาษณ์ถึงซีรีส์นี้ว่า “ในเรื่องจะมีฆาตกรไซโคพาธ เมื่อเขาถูกถามว่ารู้สึกผิดต่อสิ่งที่ทำลงไปไหม เขากลับตอบว่า เหมือนความรู้สึกผิดหวังมากกว่า…ผิดหวังว่าไม่อยากให้ฤดูใบไม้ผลิมันจางไปอย่างรวดเร็วเลย คำตอบนี้มันทำให้เกิดช่องว่างกว้างมากๆ ระหว่างมนุษย์ทั่วไปที่เป็นเหยื่อ และชีวิตถูกทำลายลงเหมือนดอกไม้ที่ถูกเด็ดทิ้ง กับฆาตกรที่แสนเย็นชาที่ไม่รู้สึกรู้สมต่อการมีชีวิตอยู่ และการฆ่าของเขาเป็นเสมือนการสูดดมชื่นชมความงามที่ตายจากไปอย่างฉับพลัน ทำให้เขาเสพติดในการฆ่าอย่างต่อเนื่องและอย่างเลือดเย็น เรื่องราวจึงนำพาไปสู่หายนะชนิดที่เรียกได้ว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกันเลยทีเดียว”

แต่บทความนี้ต้องการจะอธิบาย 2 สิ่งที่ถูกจุดชนวนขึ้นมาในซีรีส์นี้
1.ยีนไซโคพาธมีจริงหรือไม่?
2.ทุกคนที่เป็นไซโคพาธต้องเป็นฆาตกรต่อเนื่องจริงหรือ?

ไซโคพาธคืออะไร?

เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขของไทย ระบุว่า ไซโคพาธ (psychopaths) เป็นบุคคลที่มีอาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยมีลักษณะ ขาดความเห็นใจผู้อื่น, ขาดความสำนึกผิด, ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว, ขาดความยับยั้งชั่งใจ และ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ใกล้เคียงกับ ไซโคพาธ แต่จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า โซซิโอพาธ (Sociopaths) เดิมทีนักจิตวิทยาหลายคนบอกว่า 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน เนื่องจากคำว่า Psychopaths เป็นศัพท์ดั้งเดิมตั้งแต่ยุค30s ส่วน Sociopaths เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ ใช้ในตำราใหม่ แต่ยังคงเป็นโรคเดียวกัน คือ ความไม่รู้สึกรู้สาอาทรใคร และโดดเดี่ยว แต่เพราะ โซซิโอพาธ ฟังดูสวยกว่า เพราะให้ความรู้สึกถึงพวกต่อต้านสังคม ขณะที่คำว่า ไซโคพาธ แปลตรงตัวว่า โรคจิต

แต่หากค้นลึกลงไปจริงๆ แล้วทั้ง 2 มีความแตกต่างกันไม่น้อย เพราะโซซิโอพาธ จะเข้าสังคมไม่ได้ ไม่ชอบเข้าสังคมอย่างชัดเจน อยู่ร่วมกับคนอื่นยาก ขี้เบื่อ อยู่ที่ไหนนานไม่ได้ ขณะที่ไซโคพาธ แม้จะไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนอื่น แต่พวกเขาสามารถเสแสร้งเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ และหากผู้ป่วย 2 แบบนี้ต้องการจะฆาตกรรมใคร โซซิโอพาธ จะกระทำความรุนแรงโดยเฉียบพลัน คือ ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าเอาไว้ก่อน แต่ก่อเหตุรุนแรงตามอารมณ์ที่พุ่งพล่าน ขณะที่พวกไซโคพาธ จะวางแผนระยะยาวอย่างมีเหตุมีผลเป็นรูปธรรม และอย่างต่อเนื่อง

นั่นเองบุคลิกแบบไซโคพาธจึงชวนหลงใหล เพราะพวกเขามีเสน่ห์ มีความซับซ้อน รู้จักหว่านล้อมคน ทำให้ในปัจจุบันมักจะหยิบบุคลิกเหล่านี้มาเป็นตัวละครในซีรีส์หลายต่อหลายเรื่อง อาทิ Dexter (2006-2013) หนุ่มนักตรวจการกระจายเลือดในที่เกิดเหตุ เขามีอีกด้านเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่มุ่งฆ่าแต่ฆาตกรเท่านั้น, Hannibal (2013-2015)

ดร.เล็คเตอร์คุณหมอรสนิยมวิไลแต่เป็นไซโคพาธ ต้องการหาคู่แท้ที่เขาคิดว่าน่าจะปั้นได้คือ วิลล์ แกร์ม นักวิเคราะห์อาชญากรรมผู้มีอาการอัจฉริยะแบบแอสเพอร์เกอร์, Hello Monster (2015) ซีรีส์เกาหลีเมื่อพี่ น้องชาย ชายที่คนน้องมีอาการไซโคพาธ และถูกไซโคพาธอีกรายเก็บไปชุบเลี้ยง ก่อนที่พี่ชายจะพยายามทุกทางให้เขากลับมาเป็นมนุษย์ปกติ, Killing Eve (2018-ปัจจุบัน) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหญิงชาวเอเชียน จู่ๆ ได้รับมอบหมายภารกิจไล่ล่าไซโคพาธหญิงนักฆ่ามือฉมัง แต่ความพลิกผันคือความผูกพันของพวกเธอทั้งคู่ที่คนดูเดาไม่ออกว่าแค้นหรือรัก, Flower of Evil (2020) ไซโคพาธหนุ่มผู้พยายามปรับตัวเข้าสังคมด้วยการมีลูกมีเมีย ทว่าเมียของเขาเป็นตำรวจหญิงช่างสังเกต

ยีนไซโคพาธมีอยู่จริง!!

ใน Mouse มีการพูดถึง แดเนียล ลี (โจแจยุน) นักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีผู้เข้าชิงรางวัลโนเบลและพบว่า ไซโคพาธ สืบทอดทางพันธุกรรมได้ ฟังดูเหลือเชื่อ แต่ความเชื่อนี้เป็นจริง เพียงแต่ผู้ค้นพบสิ่งนี้ไม่ใช่คนเกาหลี แต่เป็น จิม เฟลลอน นักประสาทชีววิทยา (neurobiologist) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว BBC ว่า ไซโคพาธ มีจำนวนสูงถึงในทุกๆ 100 คน จะมีไซโคพาธแฝงตัวอยู่ 1 คน พวกเขามีสมองส่วนที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala – มีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ อยู่กึ่งกลางใกล้ฐานสมองเชื่อมโยงกับความรู้สึกกลัว) เล็กกว่าคนทั่วไป

ตลอด 35 ปี ของศาสตราจารย์เฟลลอนศึกษาด้านพฤติกรรม โดยอิงกับพันธุกรรมที่ผ่านสื่อประสาท เช่น โดปามีน เขาขึ้นพูดในเท็ดทอล์ค ในปี 2009 ว่า “ด้วยเหตุผลสักอย่างผมสนใจเรื่องอื่นเมื่อไม่นานนี้เอง เมื่อเพื่อนร่วมงานขอให้ผมวิเคราะห์สมองจำนวนหนึ่งของฆาตกรโรคจิต(psychopathic killer)

…จากสมองบางส่วนที่ผมศึกษามา ผมไม่รู้หรอกว่าผมกำลังมองหาอะไร มันเป็นการทดสอบแบบอำพรางคือ ในบรรดาตัวอย่างเหล่านี้จะคละกับสมองของคนปกติเข้าไปด้วย ผมได้ข้อมูลตัวเลขมาจากสมองจำนวนราว 70 คน เราวิเคราะห์ตามทฤษฎีบนพื้นฐานของพันธุกรรม ความเสียหายของสมอง และการตอบสนองต่อภาวะแวดล้อม และตรงนี้เองเราได้ค้นพบวิธีที่สร้างฆาตกรโรคจิตขึ้นมา เรารู้ว่ามันอยู่จุดไหนของสมอง และอะไรคือตัวแปรสำคัญ

ในที่สุดเราก็พบว่ารูปแบบที่เหมือนกันของ ฆาตกรต่อเนื่อง คือมีความเสียหายที่ออร์บิทัล คอร์เท็กซ์ อันเป็นสมองส่วนหน้าที่อยู่เหนือลูกตา ส่วนออร์บิท ส่วนภายใน และบริเวณกลีบขมับ กุญแจคือพวกเขามียีนความรุนแรงตัวหลักเหมือนๆ กัน เรียกว่ายีน MAO-A

ศาสตราจารย์จิม เฟลลอน

ยีนนี้มีหลายรูปแบบในประชากรทั่วไป ใครๆ ก็มีได้ และมันเชื่อมโยงกับเพศ มันอยู่ในโครโมโซมX โดยจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านแม่เท่านั้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมฆาตกรโรคจิตส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และก้าวร้าวมาก เพราะลูกสาวจะได้ X อีกตัวหนึ่งจากพ่อมาช่วยเจือจาง แต่กับลูกชาย เขาจะได้โครโมโซมX นี้จากฝั่งแม่เท่านั้น

และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่ม เซโรโทนิน ในระหว่างพัฒนาการ ทั้งที่เซโรโทนินควรจะทำให้คุณสงบและผ่อนคลาย แต่น่าแปลกที่หากคุณมียีนนี้ในมดลูก สมองของคุณจะโดนแช่ในส่วนนั้น และจะไม่สนองตอบกับเซโรโทนิน จึงไม่ได้ผลอีกเลยในช่วงมีชีวิตคลอดออกมา

…และวิธีกระตุ้นยีนตัวนี้ออกมาคือในช่วงวัยเจริญพันธุ์ หากคุณพบเจอบางสิ่งที่รุนแรงมาก ไม่ใช่แค่โดนตี หรือความเครียดเล็กน้อย แต่เป็นความรุนแรงอย่างหนัก เช่น ถูกทารุณกรรม หรือเห็นการฆาตกรรมโหด…ดังนั้นหากคุณมียีนนี้ และเห็นความรุนแรง ในสถานการณ์ที่เหมาะสม นี่คือสูตรแห่งหายนะที่จะทำให้คุณเป็น ไซโคพาธ”

ในวงสนทนาเท็ดทอล์ค ศาสตราจารย์เฟลลอนยังเปิดเผยเรื่องน่าตื่นเต้นอีกอย่างที่เราขอสรุปให้ฟังดังนี้ (นี่คือเรื่องจริงและไม่ใช่พล็อตหนัง) เมื่อเขาอธิบายไอเดียพวกนี้ให้แม่ฟัง จู่ๆ แม่ของเฟลลอนก็เล่ามุมมืดในครอบครัวที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนคือ หากไล่ตามสาแหรกครอบครัวฝั่งพ่อของเขา ญาติของเฟลลอนคนหนึ่งคือ ลิสซี่ บอร์เดน (สาวฆาตกรจอมโหดที่กระหน่ำขวานฆ่าพ่อและแม่เลี้ยงตัวเอง 19 แผลแต่หลุดคดีมาได้) แถมด้วยแม่เขายื่นหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการฆาตกรรม Killed Strangely (2002) คดีแรกในหนังสือเล่มนั้นเกี่ยวกับฆาตกรฆ่าแม่ตัวเอง และคนนั้นเป็นทวดของทวดเฟลลอนนับขึ้นไปอีก 6 รุ่น และมีเพศชายอีก 7 คนจากญาติฝั่งพ่อของเขาเป็นฆาตกร!!

จากตรงนี้เองเขาจึงทำการสแกนสมองของทุกคนในครอบครัว และมีอยู่หนึ่งตัวอย่างที่มีรูปแบบเหมือนไซโคพาธเป๊ะๆ นั่นคือตัวเขาเอง!?

ไซโคพาธไม่จำเป็นต้องฆ่าคนเสมอไป

ใน Mouse พยายามเหลือเกินในการสร้างความเชื่อว่า ไซโคพาธ รักใครไม่เป็น และพวกเขาคือฆาตกรต่อเนื่อง อันเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่โต เพราะ ไซโคพาธ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องเติบโตมาเป็นฆาตกรต่อเนื่องเสมอไป และอาจมีอีกมากที่ไม่เคยฆ่าใครเลย และไซโคพาธหลายคนทั้งที่เป็นฆาตกรและไม่เคยฆ่าใคร มีลูกมีเมียและรักครอบครัวอย่างบริสุทธิ์ใจ

เว็บไซต์ด้านวิทยาการและการแพทย์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น ในปี 2016 ได้เล่าถึงวีรบุรุษสงครามชาวออสเตรเลียในช่วงปี 1917 ทอม สคีย์ฮิลล์ ผู้ได้รับการยกย่องในนาม “กวีทหารตาบอด” เพราะในระหว่างการรบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เมืองกัลลิโปลี เขาเป็นผู้ส่งสัญญาณธงในจุดที่อันตรายที่สุด ก่อนจะถูกย้ายออกไปจากดงกระสุนหลังจากพบว่าสะเก็ดกระสุนทำให้เขาตาบอด

ภายหลังสงครามเขาเขียนหนังสือกวีนิพนธ์ขายดีที่เล่าประสบการณ์ต่อสู้ของเขา และเขาท่องไปทุกที่ตั้งแต่ออสเตรเลียยันสหรัฐโดยอ่านบทกวีของตนจนผู้คนต่างซาบซึ้ง แม้แต่ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลด์ ยังเคยบอกว่า “ผมรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ยืนบนเวทีคู่กับทอม” แล้วอาการตาบอดของเขาก็ค่อยๆ หายสนิทหลังจากผ่านการรักษาในอเมริกา

ทอม สคีย์ฮิลล์

อย่างไรก็ตาม เจฟฟ์ บราวน์ริกก์ ผู้ค้นคว้าและเขียนชีวประวัติของ สคีย์ฮิลล์ กลับบอกว่า จริงๆ แล้วสคีย์ฮิลล์แกล้งตาบอดเพื่อจะหนีไปจากสงคราม จากนั้นเขาก็แสร้งทำเป็นพูดไม่ชัดและหลอกคนอื่นว่า นี่คือผลพวงจากสงคราม เขาอ้างว่าได้พบเลนินและมุสโสลินี โดยไม่มีหลักฐานยืนยันได้เลย รวมถึงอวดโม้เรื่องการต่อสู้อย่างกล้าหาญของเขาที่กัลลิโปลี ทั้งที่เขาอยู่ที่นั่นแค่เพียง 8 วัน

เบธ เดลีย์ ผู้เขียนบทความอธิบายอีกว่า แม้ว่าสคีย์ฮิลล์จะไม่เคยได้รับการตรวจทางจิตเวช แต่เธอมั่นใจว่านักวิจัยในโลกปัจจุบัน จะระบุได้ว่าแท้จริงแล้ว สคีย์ฮิลล์ คือผู้ป่วยไซโคพาธที่ประสบความสำเร็จ (successful psychopathy) ผู้ป่วยไซโคพาธส่วนใหญ่ไม่ใช่นักฆ่าเลือดเย็นหรือฆาตกรต่อเนื่อง พวกเขาหลายคนใช้ชีวิตอย่างประสบความสำเร็จในหมู่พวกเรา โดยใช้คุณลักษณะและบุคลิกภาพแบบไซโคพาธเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการในชีวิต

ความไม่ซื่อสัตย์ เย็นชา ไม่รู้สึกผิด และควบคุมแรงกระตุ้นได้ไม่ดี ทำให้บุคลิกแบบไซโคพาธ มองเผินๆ แล้วมีเสน่ห์ มีทักษะดีในการพูดจาหว่านล้อมให้ผู้คนหลงเชื่อ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 1941 จิตแพทย์ชาวอเมริกัน เฮอร์วีย์ เคลิกลีย์ เป็นคนแรกที่เน้นสภาพขัดแย้งนี้ในหนังสือของเขา The Mask of Sanity เคลิกเลย์อธิบายว่า

“ไซโคพาธเป็นสิ่งมีชีวิตลูกผสม ที่สวมใส่ผ้าคลุมของภาวะปกติเพื่อปกปิดภาวะแปรปรวนทางอารมณ์ที่ถูกรบกวนอย่างหนักลึกถึงแกนใน”

และบุคลิกแบบนี้เองในสายตาของ เคลิกลีย์ ยังเชื่อด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่ไซโคพาธหลายคนจะประสบความสำเร็จในด้านความสัมพันธ์ การเข้าสังคม รวมถึงหน้าที่การงานในระยะหนึ่งแต่ไม่ยาวนาน

แต่หากไซโคพาธไม่ฆ่าใคร แล้วอะไรคือความปรารถนาของบรรดาไซโคพาธกลุ่มนี้ ในปี1977 แคทเธอรีน วิดอม ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ “ไซโคพาธที่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” โดยเริ่มการทดลองด้วยการหากลุ่มตัวอย่างจากการประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ต้องการคนที่มีเสน่ห์ ก้าวร้าว ไร้ความกังวล และไม่รู้สึกผิดชอบ แต่รับมือกับผู้คนได้ดี และแสวงหาการเป็นที่หนึ่ง จะเห็นได้ว่าข้อสุดท้ายคือสิ่งที่ไซโคพาธต้องการร่วมกัน คือการกระหายอยากเอาชนะ อยากเป็นที่หนึ่ง จึงพบว่าบ่อยครั้งไซโคพาธประเภทนี้จะมีหน้าที่การงานดี เรียนเก่ง ทะเยอทะยาน ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะหมอ นักการเมือง ประธานาธิบดี จอมเผด็จการ หรือราชา ฯลฯ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ศาสตราจารย์เฟลลอนผู้ค้นพบยีนไซโคพาธ เขาให้คำตอบด้วยว่า การที่ไซโคพาธบางคนไม่ฆ่าใครเพราะการเลี้ยงดูในวัยเด็กจะเป็นสิ่งกระตุ้นพันธุกรรมเหล่านั้น เฟลลอน บอกว่าหากคน ๆ หนึ่งมีพันธุกรรมไซโคพาธและถูกกระทำทารุณตั้งแต่เด็ก โอกาสที่คนผู้นั้นจะกลายเป็นอาชญากรก็จะสูงขึ้น

ในทางตรงกันข้าม เฟลลอน บอกว่าเพราะเขามีวัยเด็กที่ “ดีเยี่ยมอย่างไม่น่าเชื่อ” และเป็นไปได้ที่สิ่งนี้เองอาจสามารถยับยั้ง “พันธุกรรมร้ายๆ ของเขาได้” และไซโคพาธทำให้เขาสามารถมองสิ่งต่างๆ โดยไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ “สิ่งที่ผมวิเคราะห์มักจะแม่นยำและจริงใจแม้ว่าจะฟังดูเย็นชาไร้หัวใจก็ตาม”