1721955
‘พยาบาลสาวกับหม่อมเจ้าวัยชรา เรื่องราวของชนชั้นวรรณะ ซาตาน และพิธีกรรม’ คือคำโปรยและเรื่องย่อของ เพลงสวดศพแห่งผู้เยาว์วัย ที่ตามมาด้วยบทฉะกันแซ่บๆ ระหว่างคน 2 รุ่น อย่าง
หม่อมเจ้าศรีสอางค์: “คนสมัยนี้คงคิดง่ายๆ ตื้นๆ แบบหล่อนสินะ บ้านเมืองถึงได้วิบัติกันไปหมด”
ลดา: “ท่านอยากรู้ว่าวัยรุ่นคิดยังไง ก็กำลังอธิบายให้ฟังนี่ไงคะ ว่าความคิดท่านมันไร้ตรรกะมากๆ “
เพลงสวดศพแห่งความตาย หรือ Requiem of the Adolescent เป็นเรื่องที่ 2 (ตอนที่ 3-6) ในซีรีส์ชุด อาทิตย์อัสดง (After Dark) ซีรีส์แนวสยองที่ทั้งซีรีส์แบ่งออกเป็น 4 เรื่อง มีทั้งหมด 13 ตอน เรื่องละ 3 ตอนจบ โดยในตอนนี้เป็นเรื่องราวของพยาบาลสาว (ชาราฎา อิมราพร) ถูกว่าจ้างให้เข้าไปดูแลหญิงชรา (เบญจวรรณ เทิดทูนกุล) ที่มีเชื้อสายเจ้าผู้ดีเก่า จึงค่อนข้างมีกฎระเบียบเคร่งครัด เช่น ต้องคลานเข่าเข้าหา หรือห้ามออกนอกห้องเพ่นพ่านหลังเที่ยงคืน
ผู้กำกับคือ อนุชา บุญยวรรธนะ (นุชี่) ผู้เคยมีผลงานภาพยนตร์โดดเด่นอย่าง มะลิลา (2019) ที่กวาดรางวัลสุพรรณหงส์มาได้ถึง 7 สาขาสำคัญ ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บท, กำกับภาพ, ออกแบบงานสร้าง, นักแสดงนำชาย และสมทบชาย รวมถึงรางวัลคิมจีซก อะวอร์ด จากเทศกาลหนังปูซาน และผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังสิงคโปร์ และอนธการ (2017) ของเขาที่เคยเปิดตัวในเทศกาลหนังเบอร์ลิน ณ ประเทศเยอรมนี
บทความคราวนี้อาจจะต่างจากชิ้นก่อนๆ เพราะนอกจากนี่จะเป็นซีรีส์ไทยแล้ว อย่างที่จั่วหัวเอาไว้ว่านี่คือบทสัมภาษณ์ที่ทันทีที่เราดูซีรีส์เรื่องนี้จบ ก็อดไม่ได้ที่จะอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กไปคุยกับนุชี่เกี่ยวกับไอเดียต่างๆ เบื้องหลังซีรีส์สุดสยองและเซ็กซี่เรื่องนี้
ไอเดียของเรื่องนี้ได้มาอย่างไร
นุชี่: “ไอเดียเริ่มต้นมันมาจากโปรดิวเซอร์และผู้กำกับอีกคนหนึ่ง (อู๋ ชยันต์ เล้ายอดตระกูล) ซึ่งเราก็เข้ามาทำโปรเจกต์นี้ทีหลังค่ะ พล็อตมันก็เป็นสยองขวัญ Gothic แบบคลาสสิกเลย แบบหญิงแก่แย่งร่างเด็กสาว คฤหาสน์ลึกลับอะไรแบบนี้ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกับตอนอื่นๆ ด้วย มันก็เลยค่อนข้างจะตายตัวตามนั้น เราก็เลยพยายามหาความแตกต่างโดยใส่บริบทสังคมและการเมืองไทยเข้าไป โดยเฉพาะเรื่อง generation gap ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลกด้วย แล้วก็อยากให้มันตบๆ แซ่บๆ บรรยากาศแบบเมืองแม่ม่ายหน่อย ก็เลยออกมาเป็นเพลงสวดศพแห่งผู้เยาว์วัย”
ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่าดูจะมีส่วนผสมแบบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์แบบหนังของ อาริ แอสเตอร์ อย่าง Hereditary (2018) หรือ Midsommer (2019) บวกกับหนังสยองสลับร่างคนขาวกับคนผิวสีอย่าง The Skeleton Key (2005) ในบริบทแบบไทยๆ
นุชี่: “จริงๆ ตอนที่ทำเรื่องนี้มีหนังที่เป็นแรงบันดาลใจมากๆ คือเรื่อง Rosemary’s Baby ค่ะ เพราะว่ามีโอกาสได้ดูเป็นครั้งแรกในช่วงนั้นพอดี จะเห็นได้ว่าฉากเปลือยหรือเลิฟซีนที่เห็นในเพลงสวดศพแห่งผู้เยาว์วัย ก็ตั้งใจที่จะทำเพื่อ tribute ให้กับหนังเรื่องนี้ อีกเรื่องก็คือทายาทอสูร ชอบมากกก ฉากปลิงก็เห็นได้ชัดว่าตั้งใจบูชาครูให้เรื่องนี้เลยค่ะ ส่วนเรื่ององค์ประกอบพวกความเป็นไทยต่างๆ นี่มาจากความชอบส่วนตัว โดยเฉพาะในเรื่องของจิตแบบพุทธ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราศึกษามาอยู่แล้ว เลยหยิบมาใช้ได้แทบจะทันที และเราเป็นคนที่ชอบพวกรายละเอียดพิธีกรรมแบบไทยๆ ที่มันดู grotesque (วิตถาร, พิลึก) อย่างพวกพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งจะมีขั้นตอนรายละเอียดและการประดับตกแต่งที่ซับซ้อนมากๆ คิดว่าอาจจะเพราะมันมีประเด็นด้านสังคมและการเมืองในบริบทแบบไทยๆ เข้ามาเชื่อมโยง เลยทำให้มันผสมผสานกันออกมาได้ดีกว่าที่คิด จริงๆ อยากทำให้พิสดารกว่านี้ แต่ก็ก็ติดหลายอย่างและงบก็ไม่ถึงด้วยค่ะ 5555”
FYI Rosemary’s Baby และ ทายาทอสูร
Rosemary’s Baby (1968) ผลงานขึ้นหิ้งของยอดผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี ว่าด้วยเรื่องของคู่ข้าวใหม่ปลามันเพิ่งย้ายเข้ามาในอพาร์ตเมนต์ที่รายล้อมด้วยผู้คนแปลกๆ กระทั่งเธอตั้งท้องจึงพบว่าลูกของเธอคือซาตาน และเพื่อนบ้านสุดประหลาดคือคนจากลัทธิปีศาจ หลังจากหนังเข้าฉายเพียงปีเดียว เหตุการณ์เลวร้ายโดยฝีมือลัทธิประหลาดก็เกิดขึ้นจริง เมื่อภรรยาของโปลันสกีที่กำลังตั้งท้องได้ 8 เดือนถูกกลุ่มลัทธิของ ชาร์ล แมนสัน กระหน่ำแทงถึง 16 แผล ตายคาบ้านเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1989
ทายาทอสูร (สร้างเป็นละครทีวี 3 เวอร์ชัน 2535 ชไมพร จตุรภุช, 2544 สินจัย เปล่งพานิช และ 2559 พรชิตา ณ สงขลา) หลายคนอาจคุ้นพล็อตคุณยายวรนาฎคายตะขาบ เป็นผลงานประพันธ์โดยศิลปินแห่งชาติ ตรี อภิรุม เจ้าของฉายา “ราชานวนิยายลึกลับสยองขวัญของไทย” (มีนามปากกาอื่นอีก คือ เทพเทวีวิจิตร และ เทพเทวี ใช้เขียนแนวรักๆ ใคร่ๆ) มีชื่อจริงว่า เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา มีผลงานเด่นๆ มากมาย เช่น นาคี, แก้วขนเหล็ก, จอมเมฆินทร์, ตุ๊กตาโรงงาน ฯลฯ ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คุณยายผมท่านมีสามีเป็นหม่อมราชวงศ์ เลยได้เข้าไปอยู่ในวังเจ้าที่มีเรื่องลึกลับซับซ้อนเยอะแยะ… มันก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจจนกลายมาเป็นนิยายหลายต่อหลายเรื่อง”
ตัวละครหม่อมเจ้าศรีสอางค์ได้แรงบันดาลใจมาจากใคร
นุชี่: “ตัวละครหม่อมเจ้าศรีสอางค์นี่ได้ต้นแบบมาจากหม่อมเจ้ามารศี ซึ่งท่านก็เป็นศิลปินจริงๆ และก็วาดภาพออกมาได้สวยงามลึกลับมาก แต่จริงๆ ท่านคงไม่ได้เป็นคนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แบบในเรื่องหรอกค่ะ อันนี้เราก็มาเพิ่มเติมดัดแปลงให้เข้ากับประเด็นทีหลัง”
FYI หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นเจ้าหญิงไทยผู้ไปเติบโตและมีผลงานศิลปะในฝรั่งเศสจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ผลงานเซอร์เรียลของท่านแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างกลมกลืนของทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะระหว่างความเป็นและความตาย มนุษย์และสัตว์ โลกตะวันออกและตะวันตก
ท่านเกิดในปี2474 หนึ่งปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ครอบครัวของท่านต้องโยกย้ายไปหลายครั้ง ไม่ว่าจะชวา หรืออังกฤษ แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้นท่านก็กลับมาเมืองไทยเพื่อเรียนต่อ จนจบชั้นมัธยมก็ย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะจบปริญญาเอกด้านวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยในปารีส และปริญญาเอกอีกใบด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากมาดริด จากนั้นท่านก็ย้ายกลับมาเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะแต่งงานกับศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศส แล้วลงหลักปักฐานอยู่ที่เมือง Annot จวบจนวาระสุดท้ายในปี 2556
ค่อนข้างแปลกใจว่าพอเป็นเรื่องย้อนยุค ผู้กำกับไทยหลายคนมักใช้ดนตรีไทยเดิมประกอบ แต่นุชี่เลือก choir แบบนักร้องประสานเสียงในโบสถ์คริสต์ รวมถึงความเชื่อเรื่องซาตาน โดยเจาะจงที่ Beelzebub (เบเอลเซบูล) ทำไมเลือกปีศาจตนนี้ แถมยังผูกโยงกับคติแบบพุทธศาสนาได้อย่างแนบเนียน
นุชี่: “มันเริ่มมาจากที่เราชอบเกม Castlevania ภาค Symphony of the Night มาก ในเกมจะมีบอสตัวหนึ่งคือ Beelzebub ซึ่งเป็นศพขนาดยักษ์แขวนเน่าอยู่กลางห้อง แล้วก็มีแมลงวันบินวนๆ คอยพ่นพิษใส่เรา วิชวลมันเริดมาก เราเลยเลือกเอาปิศาจตนนี้ค่ะ แล้วพอดีมันต้องเชื่อมกับตอนอื่นๆ ในซีรีย์ซึ่งเป็นเรื่องโรคระบาดด้วย Beelzebub ก็เป็นเทพแห่งแมลงวันเลยเหมาะเจาะพอดี ทีนี้พอต้องตั้งชื่อเรื่องเลยคิดว่าตั้งแบบเกม Castlevania ไปด้วยเลยดีกว่า มันจะมีภาคอื่นๆ แบบ Aria of Sorrow, Rondo of Blood ซึ่งเป็นชื่อเพลงแนวต่างๆ เราก็เลยตั้งบ้าง เป็น Requiem of the Adolescent ซึ่งก็เลยคิดว่าเราน่าจะมีเพลงแบบ requiem (เพลงสวดศพ) เข้ามาประกอบด้วย ก็เลยเป็นเสียงประสานแบบโบสถ์คริสต์”
FYI เบเอลเซบูล
Beelzebub มีความหมายว่า “พญาแมลงวัน” หรือ “จอมทำลายล้าง” เป็นปีศาจตามความเชื่อทางคริสต์และกรีก และเป็นตัวแทนของบาปตะกละ หนึ่งในบาป 7 ประการ (Seven Deadly Sins) เป็นเทพแห่งโรคร้ายและความสกปรก มักอยู่ในรูปของแมลงวัน ที่เรียกว่าเทพเพราะแต่เดิมเคยเป็นเทวทูตทำหน้าที่สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้สิ่งของอย่างเป็นประโยชน์ พิถีพิถันในการเลือกอาหารการกิน แต่ภายหลังถูกขับจากสวรรค์ บางครั้งเบเอลเซบูลจะปรากฏในร่างวัวยักษ์ หรือแพะตัวผู้มีหางยาว เมื่อโกรธจะพ่นไฟออกจากปาก
ชาวเพเกน เชื่อกันว่าผู้ยิ่งใหญ่หรือจ้าวแห่งนรกมีอยู่ด้วยกัน 3 ตน คือ ลูซิเฟอร์ เบเอลเซบูล และแอสทารอส ทั้งสามตนต้องการปกครองผืนปฐพีทั้งใบ โดยลูซิเฟอร์จะปกครองดินแดนทางเหนือและตะวันออก (หรือยูเรเซีย) เพราะเต็มไปด้วยมนุษย์ที่หยิ่งยโส เบเอลเซบูลจะปกครองดินแดนทางใต้ (แอฟริกากับแอนตาร์กติกา) เพราะเหมาะแก่การฟักตัวของโรคร้าย และแอสทารอสจะปกครองดินแดนทางตะวันตก (อเมริกาเหนือและใต้) เพราะเต็มไปด้วยมนุษย์ที่บ้าอำนาจ ซึ่งแตกต่างจากซาตานที่ต้องการปกครองสวรรค์และตั้งตนเป็นพระเจ้า
นักแสดงเป็น มจ.ศรีสอางค์คือใคร รวมถึงบ้านด้วยที่ใช้เป็นโลเคชั่นหลัก ทั้ง 2 อย่างมีเสน่ห์มาก
นุชี่: “นักแสดงคือพี่เมาส์ซี่ เบญจวรรณค่ะ พี่เป็นนางแบบรุ่นใหญ่ ซึ่งปกติพี่เขาเล่นโยคะอยู่แล้วเลยมีส่วนช่วยเวลาฝึกควบคุมร่างกายแบบคนแก่ ซึ่งต้องแยกการควบคุมเป็นส่วนๆ ตามข้อต่อของร่างกายแบบแมงมุม พี่เมาส์ซี่ก็สามารถทำได้ในทันที แล้วก็เราพานางเอก น้องพิกเล็ตและพี่เขาไปฝึกพยาบาลคนแก่จริงๆ ที่บ้านพักคนชรามาด้วยก็มีส่วนช่วยในการแสดงได้มากเลยค่ะ”
“ส่วนบ้านนี่เป็นบ้านโบราณแถวศรีย่าน ราชวัตร ปกติแต่ก่อนก็ใช้ถ่ายละครกันบ้างแต่ส่วนใหญ่เขาจะถ่ายหนังนอกกัน ช่วงที่ถ่ายนี่ไม่มีกองต่างประเทศเราเลยมีคิวไปถ่ายได้ จริงๆ สภาพบ้านมันไม่ได้รกขนาดที่เห็นในหนังหรอกค่ะ หน้าบ้านก็มีลานจอดรถเป็นลานปูนสวยงาม แต่เราเลือกถ่ายด้านหลังบ้านซึ่งมีต้นไม้และหญ้าขึ้น เอามาทำเป็นทางเข้าแทนเลยได้ภาพอย่างที่เห็นค่ะ”
นี่คือเรื่องที่สามหรือเปล่าที่นุชี่มาทำซีรีส์ ต่อจากคืนสีน้ำเงิน กับหอนี้ชะนีแจ่ม หรือมีเรื่องอื่นอีก แล้วมีแพลนจะทำอะไรต่อ รวมถึงหนังยาวหลังจากนี้
นุชี่: “ทำซีรีย์มาสองเรื่องค่ะ คือเพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน ตอน คืนสีน้ำเงิน (เอามาทำเวอร์ชันหนังยาวเรื่อง อนธการ) และก็หอนี้ชะนีแจ่ม หลังจากนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดเลยมีแต่ซีรีส์รัวๆ ค่ะ มีทั้งของช่องต่างประเทศและซีรีส์วาย ของ GMM ซึ่งจะเป็นการกลับมาร่วมงานกับน้องกัน อรรถพันธ์ อีกครั้ง ส่วนหนังก็มีโปรเจคอยู่ 2 เรื่อง แต่คิดว่าคงต้องใช้เวลาหาทุนสร้างอีกสักพักเลยค่ะ”
น่าสนใจว่าซีรีส์ที่นุชี่ทำ มักมีตัวละครนำเป็นหญิง ขณะที่หนังใหญ่เป็นเกย์ (หรือเพศชาย)
นุชี่: “ที่ทำเป็นตัวละครเพศหญิงก็เพราะว่าตอนนี้เป็นกะเทยไปแล้วเลยเข้าใจผู้หญิงมากขึ้น แล้วก็เป็นการฝึกกำกับตัวละครผู้หญิงด้วยค่ะ เพราะหนังยาวเรื่องต่อไปจะเน้นที่ตัวละครผู้หญิงและกะเทย”
ดูเหมือนนุชี่พยายามจะบาลานซ์ความคิดเห็นของคนทั้งสองรุ่นแบบต่างฝ่ายต่างมีข้อดีและข้อด้อย จริงๆ นุชี่เห็นอย่างไรกับประเด็นความต่างของคนสองรุ่น รวมถึงสุดท้ายแล้ว เหมือนจะมีนัยไปถึงอำนาจแบบชายเป็นใหญ่อยู่ดี
นุชี่: “จริงๆ ความเห็นของนุชี่ง่ายๆ มากเลยค่ะ เพราะสัจธรรมมันก็คือคนรุ่นเก่าก็ต้องตายไป คนรุ่นใหม่มาแทน เราก็ต้องฟังคนรุ่นใหม่สิคะ ว่าเขาอยากให้สังคมเป็นอย่างไร มันก็ต้องค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลาค่ะ”
คำถามนอกเรื่อง เคยคลานเข่าเดินยาวๆ ไหม เล่าให้ฟังหน่อย
นุชี่: “เคยคลานเข่าตอนบวชค่ะ เพราะโดนพระพี่เลี้ยงลงโทษให้คลานวนๆ ไปรอบห้อง เจ็บมาก นี่คืออินไซด์เลยค่ะ สังคมพระนี่เป็นชายเป็นใหญ่สุดๆ อยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้โวยอะไรนะคะ เพราะเราตั้งใจเข้าไปสังเกต เข้าไปเรียนรู้เฉยๆ เขาให้ทำอะไรก็ทำไป แล้วค่อยเอามาคิดว่าสรุปมันอะไรยังไงกันแน่”
ล่าสุดเมื่อไม่นานนี้ นุชี่เพิ่งอัปรูปนี้บนสเตตัสเฟซบุ๊ก แล้วบอกว่า “ตอนนี้กำลังถ่ายซีรีส์ให้ HBO Asia ชื่อเรื่อง Forbidden นำแสดงโดย เจเจ กฤษณภูมิ อยู่ค่ะ รอติดตามชมได้ช่วงปลายปีนี้”