
‘ชาญชัย’ เตรียมฟ้องศาลครั้งที่ 3 – ร้อง ป.ป.ช.ไต่สวนเจ้าหน้าที่ ‘ราชทัณฑ์’ ปมให้ “ทักษิณ” รักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ – ขัด ป.วิอาญาฯ มาตรา 246 หรือไม่? ชี้ล่าสุดรวบรวบพยานหลักฐานไปแล้วกว่า 50%
ต่อกรณีที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เตรียมร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยขอให้ศาลฯไต่สวน กรณีกรมราชทัณฑ์นำตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ร้องขออนุญาตต่อศาลฯก่อน และการไปรักษาตัวที่นี้ ไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอพักโทษ หรือ ทุเลาโทษ โดยกรมราชทัณฑ์ต้องบังคับการลงโทษ ตามคำพิพากษาศาลนั้น
นายชาญชัย ชี้แจงว่า “ที่ผ่านมาผมเคยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไป 2 ครั้ง คือ ยื่นคำร้องต่อศาลฯครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 โดยผมและนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ได้ร่วมกันยื่นร้องต่อศาลฯในประเด็นที่ว่า นายทักษิณได้รับโทษจำคุก และได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษเหลือ 1 ปี แต่เหตุใดจึงไม่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาลแม้แต่วันเดียว โดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริง และพฤติกรรมการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่ไม่ได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และคำสั่งของศาลฯหรือไม่
และในวันเดียวกันนั้น ศาลฯได้มีคำวินิจฉัย และแจ้งให้ผมทราบว่า “ศาลฯออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดไปแล้ว การบังคับโทษ และอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่า เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฯ จึงไม่ต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง”
“จากคำวินิจฉัยของศาลฯในวันนั้น ทำให้ผมเข้าใจได้ว่าศาลฯได้ชี้ประเด็นกลับมาให้ดูว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำผิดกฎหมายเรื่องใด มีพฤติกรรมเช่นใด เพราะคำร้องนี้ ผมร้องเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องไปร้องต่อศาลอื่น ศาลฎีกาแผนคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่มีอำนาจวินิจฉัย” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า “ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2567 ผมได้ ยื่นคำร้องต่อศาลฯเป็นครั้งที่ 2 ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562 ว่าด้วยหมวด 9 การบังคับคดีข้อ 61 และ 62 ว่า มีกฎหมาย มาตรา 246 และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่ระบุ “…มิให้ออกกฎกระทรวง หรือ มาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น ที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา…” กรณีกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตร เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ และการที่นายทักษิณ ออกมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ถือเป็นการทุเลาโทษ และชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่”
คำร้องครั้งที่ 2 นี้ ศาลฯจึงมีคำวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีไม่ปรากฏ มีการทุเลาการบังคับโทษ จึงไม่ต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และมาตราอื่นที่ผู้ร้องอ้างมา จึงไม่ต้องไต่สวนให้ยกคำร้อง”
“การที่ศาลฯวินิจฉัยเช่นนี้ ทำให้ผมเข้าใจได้ว่า มาตรา 246 อยู่ในอำนาจของศาลที่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ไม่มีการยื่นคำร้องขอทุเลาโทษจากเจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้อง เสมือนศาลต้องการให้ผมไปเขียนคำฟ้องใหม่ โดยต้องรวบรวมพยานหลักฐาน และตัวผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วน จึงสามารถยื่นคำร้องใหม่เป็นครั้งที่ 3 ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งขณะนี้ผมสามารถรวบรวมพยาน หลักฐาน พฤติการณ์การกระทำความผิดได้ 50% แล้ว หรือ อาจจะยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้รับไปดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวต่อว่าตนและคณะได้ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ต้องการรักษาความยุติธรรมและ ความถูกต้อง ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ โดยการชี้เป้าให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับทราบพฤติการณ์ และข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ ถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ถูกกัดเซาะ บ่อนทำลาย ว่า เหตุใดเมื่อทรงพระราชทานอภัยโทษ โดยลดโทษให้เหลือ 1 ปีแล้ว ทำไมหน่วยงานราชการของรัฐจึงไม่ปฏิบัติตาม ทั้งนี้ ตนขอแจ้ง สิทธิของพลเมืองต่อพี่น้องประชาชนผู้ที่ต้องการรักษาผดุงความยุติธรรมว่า ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 หมวด 9 เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อที่ 62 ระบุไว้ว่า “เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้อง หรือ คำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดี ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาอย่างน้อย 3 คน เป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้อง หรือ คำขอดังกล่าว” หรือ พูดตามภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆว่า “ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ตามกฎหมายนี้”
ก่อนหน้านี้หลังจากนายชาญชัยไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 และศาลมีคำสั่งยกคำร้องในคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าศาลฎีกาฯได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว การบังคับโทษ และการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขัง ไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ แต่มีปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ฯ
นายชาญชัย จึงมาตรวจดู และศึกษาตามคำสั่งของศาลฎีกาฯ ที่ระบุว่า “ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” พบว่าในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม ในหมวด 1 ของการบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 246 ระบุว่า “เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ร้องขอ หรือ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้
-
(1) เมื่อจำเลยวิกลจริต
(2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ถ้าต้องจำคุก
(3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ และ
(4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น….
”
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตาม คำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 สรุปสาระสำคัญได้ว่า การที่กรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากเรือนจำมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่า 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ประสานโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทาง และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งตรงกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 มาตรา 246 (2) ที่ระบุว่า “เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก” ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้วได้มีความเห็นว่า “ยังต้องอยู่ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เพราะยังมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือ อาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้รักษาทันท่วงที” โดยกรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงยุติธรรม จึงรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563
คำถามก็คือกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนี้ ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 (2) ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องทำเรื่องขอให้ศาลสั่งทุเลาโทษก่อน รวมทั้งขัดกับ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 6 ที่ระบุว่า “กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีอื่น นอกจากการควบคุม ขัง หรือ จำคุกไว้ในเรือนจำ แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา…” หรือไม่ อย่างไร