ThaiPublica > คอลัมน์ > แจกเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง พายุหมุนเศรษฐกิจ ไม่ก่อตัว

แจกเงินหมื่นกลุ่มเปราะบาง พายุหมุนเศรษฐกิจ ไม่ก่อตัว

30 กันยายน 2024


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ไทยรัฐฉบับวันที่ 23 กันยายน 2567 พาดหัว “อิ๊งค์ให้รอฟังก.คลังแจง แจกเฟส 2 เหลือแค่ 5 พัน” สอดรับกับกระแสข่าวที่สะพัดช่วงก่อนหน้าว่าผู้สิทธิรับแจกเงินผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต เฟสถัดไป อีก 26 ล้านคน จะได้เงินไม่ครบหมื่น เหมือนกลุ่มเปราะบาง ที่รัฐบาลโอนให้แล้ว 4.5 ล้านคน ( ณ 27 ก.ย.67 ) ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง บอกว่าขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดในหลายประเด็นและยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ต้องรอการประชุม คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายกฯเป็นประธานจึงจะให้คำตอบได้

นโยบายแจกเงินหมื่นผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยไถลเข้าสู่สภาวะคลุมเครือนับจาก นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯแถลงนโยบายว่า ” …การเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ตจะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง…”( 11 ก.ย.66 )

จากจุดเริ่มต้นตั้งเป้าหมายแจก 55 ล้านคน รวม 550,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องกู้สักบาทเดียว และประกาศดีเดย์ว่าจะแจกพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลได้ปรับลดขนาดเป้าหมายลงต่อเนื่อง เริ่มจากลดจำนวนแจกเหลือ 50 ล้านคน โดยอ้างว่ารับฟังเสียงสะท้อนจากแบงก์ชาติที่เสนอให้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ก่อนมาสรุปที่ 45 ล้านคน

ตามด้วยรื้อแผนแหล่งที่มาของเงินจาก ไม่กู้ มาเป็น ต้องกู้ ด้วยการผลักดัน พ.ร.บ.กู้เงินฯ 500,000 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2566 ก่อนล้มแผนออกกฎหมายกู้เงิน เมื่อองค์กรอิสระชี้ให้เห็นถึงต่อความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ต่อมารัฐบาลเสนอแผนหาเงินจากแหล่งใหม่โดย พุ่งเป้ายืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,000 ล้านบาท บวกกับใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายฯปี 2567 อีก 175,000 ล้านบาท และจากงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2568 อีก 152,700 ล้านบาท

แรก ๆดูเหมือนรัฐบาลมั่นใจว่าแผน อิงเงิน ธ.ก.ส บวกกับงบประมาณฯ ลงตัวแล้ว แต่กลับมีเสียงอื้ออึงสนั่นขึ้นมาอีกว่า การล้วงเอาเงินจากธนาคารเฉพาะกิจอย่าง ธ.ก.ส.นั้นขัดต่อกฎหมาย รัฐบาลเศรษฐาจึงล้มแผนนี้ แล้วหันไปพึ่งการคลังล้วนๆ

ด้วยการถ่างงบประมาณขาดดุลปีงบประมาณฯ 2567 เพิ่มเติมอีก 122,000 ล้านบาท บวกกับของเดิมที่วางตัวเลขขาดดุลเอาไว้ 160,000 ล้านบาท และใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายปี ฯ 2568 จำนวน 285,000 ล้านบาท ( มาจากงบประจำฯ 152,700 ล้านบาท และบริหารจัดการอีก 132,000 ล้านบาท )

เมื่อนายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกฯจากพิษคดีทนายถุงขนม นางสาวแพรทองธารนายกฯคนใหม่ บอกยังดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่อแต่ดันโครงการ งบกระตุ้นเศรษฐกิจ ขึ้นมาแทน พร้อมกับเปลี่ยนวิธีแจกมาเป็น แจกเงินสดงวดเดียว 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคนที่มีชื่อในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก่อน โดยเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 25 ถึง 30 กันยายนที่ผ่านมา รวมงบประมาณที่ใช้ก้อนนี้ราว 145,552 ล้านบาท

วิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่รัฐบาลแพรทองธาร ต้องเร่งจ่ายและจ่ายเป็นเงินสดเกี่ยวโยงกับปีงบประมาณฯ 2567 ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่าน ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนกับแอปทางรัฐที่รอแจกในเฟส 2 นั้น จะแจก เท่าไหร่ เมื่อไหร่ หรือไม่อย่างไรนั้น ต้องรอคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจสรุปอีกครั้ง

มองย้อนหลังกลับไป นโยบายเติมเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย นับจากวันหาเสียงในช่วงเดือน เมษายนปีที่แล้วจนถึงวันนี้ ช่องว่างระหว่าง คำหาเสียงก่อนการเลือกตั้งกับการปฏิบัติจริงเมื่อได้เป็นรัฐบาล ถ่างกว้างๆ ออกไปเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายที่นำมาเสียงมุ่งสร้างความนิยมมากกว่า คำนึงถึงความเป็นไปได้จริงของนโยบาย

เริ่มจากแจกผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ตล้วนๆ ทำท่าว่าจะเป็น ไฮบริดจ แจกเงินสด ผสม ดิจิทัลวอลเล็ต โดยแจกให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคนก่อน ส่วนเฟส 2 ที่เหลืออีก 26 ล้านคนที่ลงทะเบียนไว้กับแอปทางรัฐ คาดว่าจะแจกผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต

หรือจากที่เคยประกาศว่า จะไม่กู้สักบาทเดียว หมุนมาเป็นกู้มาชดแชยการขาดดุลงบประมาณ ด้วยการตีโป่งงบขาดดุลปี งบประมาณฯปี 2567 จากเดิมวางไว้ ขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาทเป็น ขาดดุล 805,000 ล้านบาท (เพิ่มอีก 112,000 ล้านบาท) มากกว่าปีงบฯ 2566 ถึง 110,000 ล้านบาท หรือ 15.8 %) เช่นเดียวกับ งบประมาณฯปี 2568 ที่เพิ่งนับหนึ่ง มีการกู้ชดเชยเพื่อขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 865,700 ล้านบาท (ใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 285,000 ล้านบาท)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า การแจกเงินหมื่นกลุ่มผู้เปราะบาง จะดันให้ จีดีพี ไตรมาสสุดท้ายของปี ขยายตัว 3.5-4 % และภาพรวมของปีนี้จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.2-0.3 % เป็นขยายตัวทั้งปีได้ 2.7- 2.8 % จากเดิมคาดการณ์ไว้ 2.5 % ( 11 ก.ย. 67 )

ขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.กระทรวงการคลัง ที่อ้างสถิติการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ในวันที่ 25 กันยายน (โอนเงินวันแรก) กับวันที่ 24 กันยายน เพิ่มขึ้น 1.76 เท่าตัว และ 18.8 เท่าตัว ตามลำดับ “ตัวเลขเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งว่า ประชาชนกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องใช้เงินสูงมีเงินไม่พอใช้ มีเท่าไหร่ต้องถอนออกมาเกือบหมด เป็นกลุ่มที่มีความโน้มเอียงในการบริโภค หรือ MPC สูง นั่นหมายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีและมีประสิทธิภาพ” ( มติชน 29 ก.ย.67 )

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อหลายแขนง และหลายสำนัก รายงานบรยากาศหลังรัฐบาลทะยอยโอนเงินให้กลุ่มเปราะบาง หลายคนบอกว่าจะนำเงินเป็นซื้อข้าว ซื้อของตุน ไว้กินไว้ใช้ หลายคนนำเงินไปไถ่ถอนทอง เครื่องมือเกษตร ใช้หนี้ และหลายคนเช่นกัน ฉลอง ลาภลอย เงินหมื่นจากรัฐบาลจนเมาตกน้ำก็มี

ถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกฯมั่นใจว่า “… แม้จะแบ่งจ่ายเงินเชื่อว่าจะเป็นพายุหมุนต่อเศราฐกิจแน่นอน” แต่เมื่อเปรียบเทียบ ระหว่าง แจกเงินสดกลุ่มเปราะบางก่อนจากนั้น แจกดิจิทัลวอลเล็ตอีก 26 ล้านคนทีหลัง กับ แผนเดิมที่จะแจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมกันทีเดียวมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โดยหลักของการของแจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ตรัฐบาลเศรษฐาประกาศควบคุมการใช้เงิน กรอบเวลา และพื้นที่ในการจับจ่ายได้ โดยผู้รับแจก ต้องใช้ ดิจิทัลวอลเล็ตไปซื้อของกับร้านค้าภายในอำเภอตามบัตรประชาชนภายใน 6 เดือน ผู้รับสิทธิไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ สินค้าหลายชนิตไม่อนุญาตให้ซื้อ อาทิ โทรศัพท์มือถือ ของมึนเมา สุรา บุหรี่ หวย สินค้าออนไลน์ เป็นต้น

ตามวงจรที่รัฐบาลเศรษฐาเคยแถลงระบุว่า เมื่อผู้ถือสิทธินำวอลเล็ตไปซื้อสินค้าจากร้านค้าย่อย และร้านค้าย่อยนำวอลเล็ตที่ได้รับไปซื้อสินค้าเข้าร้าน จากร้านค้าใหญ่ๆซึ่งอยู่ทอดที่ 3 จึงสามารถนำดิจิทัลวอลเล็ต ที่รับมือไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ซึ่งวงจรดังกล่าวรัฐบาลเศรษฐาอ้างว่าจะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจถึง 3 ลูก

ขณะที่การแจกเงินสดให้กลุ่มเปราะบางไม่มีเงื่อนไขการจับจ่ายทั้งพื้นที่ กรอบเวลา และ ชนิดของสินค้า ความเจาะจงในการบีบให้เกิดบริโภคเพื่อแสร้างแรงหมุนเวียนทางเศรษฐจึงแตกต่างกัน

นายเผ่าภูมิ ที่ร่วมดูแลโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาตั้งแต่ต้น ช่วงเป็นเลขาฯรัฐมนตรีคลัง เคยให้สัมภาษณ์ถึง เหตุผลที่ไม่แจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบางว่า “รัฐบาลมองว่าไม่ตอบโจทย์และไม่ถูกต้องกับวัตถุประสงค์โครงการ เขาบอกด้วยว่า โจทย์รัฐบาลคือกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเม็ดเงินต้องใหญ่เพียงพอ คนที่เข้าร่วมโครงการต้องมากเพียงพอ เพื่อทำให้เกิดการสปาร์คในระบบเศรษฐกิจได้ …” ( ไทยโพสต์ 24 เม.ษ. 67 )

เมื่อเม็ดเงินใหญ่ไม่พอ และคนเข้าร่วมโครงการจำนวนไม่มากพอพายุหมุนทางเศรษฐกิจ จะก่อตัวได้อย่างไร