ThaiPublica > คอลัมน์ > การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจครั้งต่อไป

การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจครั้งต่อไป

31 สิงหาคม 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจลดลงและลดลงอีกของสำนักต่างๆ ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมากลายเป็นความเคยชินของสาธารณะชนไปแล้ว เมื่อปี 2565 เริ่มต้นขึ้นนั้น สภาพัฒน์ฯคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวระหว่าง 3.5–4.5 % ค่ากลางอยู่ที่ 4 % ก่อนที่ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว ถูกปรับทอนลงๆ หลังคลื่นเศรษฐกิจลูกใหญ่จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 และวิกฤติสงคราม ยูเครนซัดกระหน่ำเข้ามา

ธนาคารโลกออกมาประกาศ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทย จากเดิม 3.5 % เหลือ 2.9 % ในเดือนเมษายน เดือนพฤษภาคมถัดมา สภาพัฒน์ฯ ปรับลงเหลือ 2.5-3.5 % กรกฎาคม เอดีบีปรับลดจาก 3 % เหลือ 2.9 % แบงก์ชาติยืนคาดการณ์เอาไว้ที่ 3.3 % เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง คงตรึงคาดการณ์ไว้ที่ 3.5 %

ขณะที่สำนักวิจัยของแบงก์ส่วนใหญ่ ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือไม่ถึง 3 % กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ออกมาแถลงสรุปตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ว่า ขยายตัว 2.5 % ดีกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 2.3 % เล็กน้อย รวมแล้วครึ่งทางปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.4 % พร้อมกับปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้อีกครั้ง จากเดิมวางช่วงคาดการณ์ตัว ตัวล่าง-ตัวบน ไว้ระหว่าง 2.7-3.2 %มาเป็น 2.5-3.5 %

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒน์ฯให้เหตุผลการปรับคาดการณ์ด้วยการลดตัวล่าง แต่เพิ่มตัวบนว่าเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ จากความตรึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวันเพิ่มเข้ามา นอกเหนือจากกรณีสงครามยูเครนที่มีอยู่เดิม ส่วนปัจจัยเด่นที่หนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงท้ายปีประกอบด้วย การบริโภคที่ฟื้นตัวจาการคลายมาตรการควบคุมโควิด มาตรการกระตุ้นการบริโภคการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคส่งออกที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

สัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานใหญ่ประจำปี ไทยแลนด์โฟกัส 2022 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลัง และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ขึ้นเวทีปาฐกถาเรื่องคล้าย ๆ กันคือ ทิศทางเศรษฐกิจปีนี้ ทั้งรัฐมนตรีคลัง และ ผู้ว่าแบงก์ชาติ มีมุมมองภาพใหญ่เหมือนกันว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่บนเส้นทางฟื้นตัว แต่ต่างกันในส่วนย่อยโดยเฉพาะประเด็น อัตราการขยายตัวนายอาคม คงยืนคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ของกระทรวงการคลัง โดยกล่าวว่าเศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสเติบโตได้ถึง 3.5 % ซึ่งเป็นตัวเลข คาดการณ์ที่สูงสุดในตลาดเวลานี้

โดยรัฐมนตรีคลังยก 4 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ หนึ่ง คือ การท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 8 -10 ล้านคนคิดเป็น 1 ใน 4 จากช่วงก่อนเกิด วิกฤติโควิด-19 ( ปี 2562 ) ทั้งนี้ 7 เดือนที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่า มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยราว 3.3 ล้านคน เฉพาะเดือนกรกฎาคมมีท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทยถึง 1.2 ล้านคน ทำสถิติทะลุล้านคนครั้งแรกนับจากเกิดวิกฤติโควิด และททท.ได้ปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้ใหม่ ชนิดเล็งผลเลิศอย่างสุดๆ เพิ่มเป็น 10 ล้านคน

สอง ภาคส่งออกที่ 6 เดือนแรกขยายตัว 12 % สูงกว่า เป้าที่ตั้งไว้จากแรงหนุนเงินบาทอ่อนค่า สินค้าเกษตรที่เป็นโอกาสสำคัญในการส่งออก รัฐมนตรีคลังยังบอกด้วยว่าสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ขอปรับเป้าส่งออกเป็น 10 % จากเดิมที่ตั้งไว้ 7 %

สาม ด้านการลงทุน และ สี่ การใช้จ่ายในประเทศจากมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานราก

นายอาคมได้เพิ่มเติมปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วยว่าปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลสั่งให้ส่วนราชการเร่งผลักดันงบลงทุนในโครงการขนาดเล็กให้ทันเดือนตุลาคมปีนี้ โดยตั้งเป้าเบิกจ่ายงบประมาณไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2566 ( ต.ค.-ธ.ค. 2565 ) ไม่น้อยกว่า 25 % พร้อมกับเร่งรัดโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) หลังได้ลงนามสัญญาไปแล้วหลายโครงการ

ส่วนดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้ประกาศบนเวทีว่า แบงก์ชาติอยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการเติบโต (เศรษฐกิจปี 2565)เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เปลี่ยนไป โดยการอ้างถึงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ สภาพัฒน์ฯ เพิ่งแถลงว่า ขยายตัว 2.5 % นั้น ต่ำกว่าที่คาดการณ์ (ผู้ว่าแบงก์ชาติเคยประเมินว่าไตรมาส 2 ปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวมากกว่า 3 %) แต่ขณะเดียวกันผู้ว่าแบงก์ชาติยอมรับว่า การบริโภคเติบโตถึง 6.9 % ทำให้การฟื้นตัวมาจากปัจจัยภายในประเทศ และรายได้ของประชาชนดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้ นอกภาคเกษตร ที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา จึงคาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะเติบโตต่อเนื่อง

ผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่า การท่องเที่ยวฯ จะเป็นแรงหนุนสำคัญทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า หลัง 7 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 3.9 ล้านคน (ตัวเลขของแบงก์ชาติ )และคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน จากปัจจัยเชิงบวกดังกล่าวจึงคาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะอยู่ระหว่าง 3 % ซึ่งลดลงจากคาดการณ์เดิมในเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา ที่แบงก์ชาติมองไว้ 3.3 %

สาเหตุการทอนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ลงเพราะ ผู้ว่าแบงก์ขาติ รู้สึกกังวลว่าการท่องเที่ยวอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิด จากความเสี่ยงไม่ใช่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่มาจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากไวรัสกลายพันธุ์ และความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์
ที่จะทำให้คนไม่กล้าเดินทาง ซึ่งจะมีผลต่อความเป็นไปของภาพรวม เพราะการท่องเที่ยวมีสัดส่วนราว 12 % ของจีดีพี และคิดเป็น 20 % ของการจ้างงาน

แนวโน้มการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจครั้งต่อไป จะเป็นไปตามมุมมอง นายอาคม รัฐมนตรีคลัง 3.5 % หรือ ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ 3 % เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี จะติดกับดัก ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการหรือไม่ ? ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ แรงหนุนสำคัญทั้งการ บริโภค การท่องเที่ยว ส่งออก สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แรงขนาดไหน และมีปัจจัยเปลี่ยนไปหรือไม่ ?