ThaiPublica > คอลัมน์ > รุกอีวีเดิมพันครั้งใหญ่ของไทย

รุกอีวีเดิมพันครั้งใหญ่ของไทย

31 ตุลาคม 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปาฐกถาในงาน บางกอกโพสต์ฟอรัม 2022 ในหัวข้อ พลิกโฉมประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์นำเสนอวิสัยทัศน์พลิกโฉมประเทศไทยผ่าน 3 แกนหลักซึ่ง ประกอบด้วย หนึ่ง บูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่ พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศว่าจะพัฒนาให้ขึ้นไปเทียบชั้นระบบรถไฟใต้ดิน โตเกียว ลอนดอน สอง เปลี่ยนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ให้น้ำหนักเป็นพิเศษ และสาม สร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัล พล.อ. ประยุทธ์ บอกว่าถ้าเชื่อม 3 แกนหลักเข้าด้วยกัน ไทยจะเดินหน้า และความมั่งคั่งรุ่งเรืองจะบังเกิด

พล.อ. ประยุทธ์ ได้สรุปการเข้ามาของทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยว่า “…ได้เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ซึ่ง FOXCONN หนึ่งในผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุด ได้ยืนยันแล้วว่า จะตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และ BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ยืนยันแล้วเช่นกันว่า จะตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย จึงถือเป็นความสำเร็จที่ได้ปฏิบัติการเชิงรุกในการดึงดูดผู้ผลิตรายใหม่ๆ ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยนอกจาก 2 บริษัทนี้แล้ว ก็ยังมี MG, GWM, Volt และผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมายาวนานอย่างเบนซ์และโตโยต้า ยืนยันจะใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน”

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำด้วยว่า จะทำสิ่งต่างๆ นี้ให้สำเร็จเรียบร้อย ภายในไม่เกิน 12 เดือนข้างหน้านี้ และเมื่อทำสำเร็จ ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ในที่สุด

แผนเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยรัฐบาลประยุทธ์ (ตอนนั้น) ประกาศหมุดหมายมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรือนิวเอสเคิร์ฟ เพื่อสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจใหม่ โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในนั้น ต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ (28 มี.ค. 2560) ตั้งคณะกรรมการนโยบายรถยนต์แห่งชาติ และได้กำหนดเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไห้ได้ 30% ของยอดการผลิตรวมในปี พ.ศ. 2573 และออกนโยบาย 30 @ 30 (มาจากปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมาย 30%) และแผนมุ่งสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 1 ใน 13 วาระพัฒนาที่อยู่ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่จะเริ่มต้นปีหน้า (พ.ศ. 2566 ) และไปสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2570 เพื่อก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2565 บีโอไอ ให้การส่งเสริมโครงการรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 17 บริษัท จำนวน 26 โครงการ มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าแบบ HEV (ใช้พลังงานน้ำมันและไฟฟ้ารวมกัน) PHEV (ปลั๊กอินไฮบริด มีทั้งเครื่องยนต์สันดาป มอเตอร์ไฟฟ้า สามารถบรรจุไฟฟ้าจากภายนอกมาเก็บในแบตเตอรี่ได้) และแบบ BEV (รถยนต์ไฟฟ้า 100%) เพื่อไปสู่เป้าหมาย ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อันดับหนึ่งของอาเซียนและสำคัญของโลก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ลดภาษีนำเข้าจาก 40% เหลือ 0% อุดหนุน (ผู้ซื้อ) สูงสุด 150,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรรถไฟฟ้าจาก 8% เหลือ 2% ฯลฯ

เหตุผลที่ไทยต้องเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าของรัฐบาล เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ครั้งหนึ่งว่า แม้ปัจจุบันไทยจะเป็นแหล่งผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก แต่อีก 5 ปี รถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่ หากไทยไม่ปรับตัวจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์แหล่งสุดท้าย จากนั้นอีก 8-10 ปี การผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันจะไม่มีตลาดรองรับจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) 15% จะหายไป

แม้บรรยากาศการนับหนึ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านับแต่ต้นปีที่ผ่านมา ค่อนข้างคึกคัก มีค่ายรถและรถไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จาก จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ประกาศเข้ามาลงทุนในไทยและเริ่มนำรถยต์ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาด ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การแถลงประจำเดือนของสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อเร็วๆ นี้ เผยถึงสถานการณ์รถยนต์ไทยว่า ยานยนต์ไฟฟ้า 100% (บีอีวี) ป้ายแดงเดือนกันยายน จดทะเบียนใหม่ 2,210 คัน เพิ่มขึ้น 275.85% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกบีอีวีจดทะเบียนใหม่ 13,298 คัน เพิ่มขึ้นจาก 223.47%

กับความฝันที่จะสร้างเรื่องราวการพลิกฟื้นเศรษฐกิจใหม่ผ่านอุตสากรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอื่นๆ นักวิชาการฝรั่งคนหนึ่งมองว่า เหมือนการพนันแบบลงเดิมพันสูง โดยอ้างถึงจำนวนผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพียงพอ ความเห็นดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทความ Thailand’s economy stuck in the middle เขียนโดยชาร์ด ยาร์โรว์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยประจำมอสซาวาร์-ราห์มานี โรงเรียนฮาร์วาร์ด เคเนดี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และเป็นนักวิจัยแลกเปลี่ยน ณ สำนักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ตามที่เว็บไซต์แนวหน้ารายงานเมื่ออาทิตย์ก่อน

สาระสำคัญ ของบทความชิ้นดังกล่าวๆ ถึงเศรษฐกิจไทยที่ติดหล่ม “กับดักรายได้ปานกลาง” โดยระบุว่ามีสาเหตุมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ระบบการศึกษาเสื่อมถอย ภาคเกษตรผลผลิตต่ำ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้ว พร้อมเสนอว่าทางออกจากกับดัก (รายได้ปานกลาง) ไทยต้องลงทุน ด้านการศึกษา ปฎิรูปทุนมนุษย์ ภาคการเกษตร ธรรมาภิบาล ฯลฯ

ความเห็นของนักวิชาการฝรั่งที่ว่า เป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทย “ลงเงินเดิมพันสูง” หรือนัยหนึ่งคือ “เสี่ยงมาก” มีส่วนถูก เพราะธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ อีกทั้งหลายประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ต่างหวังชิงความเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเช่นกัน แต่ถ้ามองอีกด้านหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ความเสี่ยงจะมีมากกว่า เพราะภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในสภาวะต้องเลือกระหว่างเปลี่ยนหรือตาย จากแรงกดดันของยุคเศรษฐกิจใหม่ด้วยกันทั้งสิ้น