ThaiPublica > คอลัมน์ > แผลเป็นโควิด กับการฟื้นเศรษฐกิจปีหน้า ….

แผลเป็นโควิด กับการฟื้นเศรษฐกิจปีหน้า ….

30 พฤศจิกายน 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ฤดูกาลพยากรณ์เศรษฐกิจเวียนกลับมาอีกครั้ง ….

สุดสัปดาห์ที่แล้ว ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รมว.คลัง ไปปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา หอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ที่จังหวัด อุบลราชธานี หัวข้อ “ฟื้นเศรษฐกิจไทยเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน” โดยได้สะท้อนมุมมองในฐานะรัฐมนตรีคลัง ต่อความเป็นไปของเศรษฐกิจในช่วงถัดจากนี้ไปตอนหนึ่งว่า

“… การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเทียบปีที่แล้วกับปีนี้ จะเห็นได้ว่ามีอัตราเร่งขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว ปี 2565 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 10 ล้านคน และในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานจีนเปิดประเทศ จะเห็นได้ว่าเร่งขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งจากการวิเคราะห์ของกองทุนการงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่าการฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และไอเอ็มเอฟนิยามเศรษฐกิจในช่วงนี้ว่า scar หรือรอยแผลเป็นที่เกิดจากช่วงโควิด แผลเป็นนี้เกิดขึ้นเพราะประชาชนได้รับผลกระทบ คนเปลี่ยนงาน เงินเดือนลดลง คนมีรายได้ลดลง ซึ่งเป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะฉะนั้น ในอนาคตจึงเน้นไปที่ยังกลุ่มเปราะบางมากที่สุด …”

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงจุดที่ต้องให้น้ำหนักมากขึ้นในช่วงนี้ด้วยว่า ”… แรงส่งอีกเรื่องที่เราต้องเร่ง คือ เรื่องการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน การลงทุนของประเทศในอดีตคิดเป็น 40% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันการลงทุนของประเทศอยู่ที่ 24% ค่อนข้างต่ำ…”

สรุปคือ เศรษฐกิจในช่วงถัดจากนี้ไปนั้น มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ที่พร้อมจะฉุดหรือผลักให้เศรษฐกิจขยับไปข้างหน้าหรือถอยหลังกลับมา ส่วนจะไปทางไหนขึ้นอยู่กับว่า ปัจจัยฝ่ายไหนจะแรงกว่ากัน

เรื่องแผลเป็นและผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เคยวินิจฉัยอาการให้สื่อมวลชนฟังว่ามีผลประกอบด้วยกัน 4 อาการ คือ (1) ทำให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท (2) การจ้างงานกระทบรุนแรง โดยเฉพาะในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น โดยกลับไปยังภาคเกษตร ล่าสุดอยู่ที่ 1.8 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิดที่ 500,000 คน

(3) การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียมหรือเค-เชฟ แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบร้อยละ 20 แต่ภาคผลิตเพื่อการส่งออกมีการจ้างงานเพียง 8% เท่านั้น และสุดท้าย อาการที่ (4) เนื่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชียอยู่ที่ 11.5 % ของจีดีพี ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในภูมิภาค

ถึงตอนนี้มีเพียงอาการข้อ 4 เท่านั้นที่เริ่มบรรเทาลง ส่วนอาการ 3 ข้อแรก มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

พูดถึงการฟื้นตัว แบงก์ชาติออกมาประกาศตั้งแต่ปลายปี 2564 ว่า เศรษฐกิจเข้าสู่โหมดฟื้นตัวแล้ว หากปัจจัยลบที่ต่อแถวกันเข้ามา นับจากการระบาดของโอไมครอนตอนต้นปี ตามด้วยสงคราม รัสเซีย-ยูเครน วิกฤติเงินเฟ้อโลก โดยที่เงินเฟ้อบ้านเรา ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 13 ปี ปัญหาหนี้ครัวเรือน ฯลฯ ความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้การฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาต้องต่อท้ายด้วยคำว่า “เปราะบาง”

มาปีนี้ (2565) เดิมคาดการณ์กันว่าจีดีพีจะขยาย 4% ก่อนถูกปรับทอนออกเป็นระยะๆ จากความเสี่ยงที่พุ่งเข้ามากระแทกตามที่กล่าวถึงข้างต้น ล่าสุดเดือนนี้ สภาพัฒน์ฯ คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.2% ซึ่งใกล้เคียงกับสำนักอื่นๆ เท่ากับว่าผลจากการระบาดของโควิด-โอไมครอนที่อาละวาดช่วงต้นปี รวมกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่อแววยืดเยื้อต่อไป ทำจีดีพี 2565 หายไปราว 0.8 % โดยประมาณ

ส่วนแนวโน้มปีหน้า (2566) สภาพัฒน์ฯ ประเมินไว้ว่า จีดีพีจะขยายตัวราว 3-4% โดยคาดหวังว่าจะได้แรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยว เดิมสำนักต่างๆ ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยราว 6 ล้านคน แต่ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงว่านักท่องเที่ยวเข้าไทยปีนี้จะทะลุไปถึง 10.2 ล้านคน หลัง 10 เดือนเศษมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 7 ล้านคน ด้วยอานิสงส์จากนโยบายเปิดประเทศ และจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวของไทยที่อยู่เดิม โดยสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่า ปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยกว่า 23 ล้านคน

เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวช่วงเข้าร่วมประชุมเอเปคเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าว่า เศรษฐกิจของสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่กำลังชะลอตัว และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้จีดีพีโลกขยายตัวได้ 2.7% ลดลงจากปีนี้ 3.2% แต่เธอบอกว่ามีหลายพื้นที่ที่เศรษฐกิจยังคงสดใส ซึ่งอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น รายงานของไอเอ็มเอฟที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าไทยและจีนเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีนี้

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ปีหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อ ในขณะที่หลายประเทศชะลอหรือเข้าสู่สภาวะถดถอย หากแรงส่งทางเศรษฐกิจปีหน้ายังต้องเผชิญกับแรงฉุดจากหลายๆ ด้าน ทั้งแผลเป็นทางเศรษฐกิจ หลุมรายได้ ครัวเรือนจำนวนมากมีหนี้มากกว่ารายได้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังกระจายไปไม่ทั่วถึง การแสวงหาเงินลงทุนเพื่อเติมแรงส่งให้กับเศรษฐกิจ จีนจะยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์หรือไม่ รวมไปถึงเหตุการณ์โลกที่คาดเดายากว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงถัดจากนี้ไป เปรียบเหมือนความเสี่ยงกับความหวังชักเย่อกัน และทั้งสองฝ่ายต่างมีโอกาสแพ้หรือชนะเท่าๆกัน