ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัญหา ‘การท่องเที่ยวล้นเกิน’ (Overtourism)จาก ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ถึง ‘สุสานตุตันคามุน’

ปัญหา ‘การท่องเที่ยวล้นเกิน’ (Overtourism)จาก ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ถึง ‘สุสานตุตันคามุน’

4 พฤษภาคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น

เมืองฟูจิคาวากูชิโก๊ะ (Fujikawaguchiko) ในญี่ปุ่น ที่มีประชากร 26,000 คน กำลังดำเนินการที่จะสร้างตาข่ายปิดกั้นทิวทัศน์ภูเขาไฟฟูจิ เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพเซลฟี่ ที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ Lawson เนื่องจากประสบปัญหาการท่องเที่ยวล้นเกิน นักท่องเที่ยวสร้างปัญหาการทิ้งขยะ และไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เจ้าหน้าที่ของเมืองนี้จะสร้างที่กั้นตาข่ายสูง 2.5 เมตร และกว้าง 20 เมตร

เมืองฟูจิคาวากูชิโก๊ะอยู่ในจังหวัดยามานาชิ ห่างจากโตเกียว 100 กม. นักท่องเที่ยวจำนวนมาก สร้างปัญหาแก่เมืองนี้ นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งของปัญหา ที่ญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่ เรียกว่า “การท่องเที่ยวล้นเกิน” (Overtourism) ญี่ปุ่นประสบปัญหานี้ ตั้งแต่เปิดประเทศแก่การท่องเที่ยวเมื่อปลายปี 2022 หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สิ่งที่สะท้อนภาวะการท่องเที่ยวล้นเกิน คือขยะของเสียจำนวนมาก และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เพิ่มมากขึ้น จนคนท้องถิ่นเรียกภูเขาไฟฟูจิว่า “ภูเขาเศษขยะ”

ที่มาภาพ amazon.com

ปัญหา “การท่องเที่ยวล้นเกิน”

องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี 1950 นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีจำนวนแค่ 25 ล้านคน มาถึงปี 2018 เพิ่ม 56 เท่าเป็น 1.4 พันล้านคน เท่ากับจำนวนประชากรของอินเดียในปัจจุบัน นอกจากนักท่องเที่ยวจะมาจากประเทศหลักๆดั้งเดิม เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง อินโดนีเซีย เวียดนาม และรัสเซีย ปี 2013 คนจีนที่มีหนังสือเดินทางมีแค่ 7% ของประชากร ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนจีน 100 ล้านคน ในอนาคต คนชั้นกลางของจีนจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนจีนหลายร้อยล้านคน สามารถเดินทางไปต่างประเทศ

ในยุโรป แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการท่องเที่ยวล้นเกินแล้ว เมืองอัมสเตอร์ดัมมีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีหนึ่ง 16 ล้านคน ทำให้ผู้บริหารเมืองนี้ยกเลิกโฆษณา ให้นักท่องเที่ยวมาเยือนอัมสเตอร์ดัม เพราะไม่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวมากไปกว่านี้

หนังสือ Overcoming Overtourism กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้ความหมายชัดเจนของคำว่า “การท่องเที่ยวล้นเกิน” (Overtourism) เนื่องจากมีความหมายในหลายมิติ แต่การท่องเที่ยวล้นเกิน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนท้องถิ่น เนื่องจากนักท่องเที่ยวใช้งานสาธารณูปโภคมากเกินความจำเป็น และทำความเสียหายแก่มรดกทางวัฒนธรรม

ที่มาภาพ : Euronews.com

ปัญหาต่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การท่องเที่ยวล้นเกินจึงอาจมีความหมายว่า การท่องเที่ยวที่ส่งผละกระทบเกินความสามารถของพื้นที่ ในเชิงกายภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่เดิมนั้น มีการแบ่งระหว่างการท่องเที่ยวของคนหมู่มาก (mass tourism) กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ค่อนข้างมีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อย แต่ปัจจุบัน แทบไม่มีเส้นแบ่งนี้อีกแล้ว เพราะคนจำนวนมากนิยมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

การเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มาจากระดับการศึกษาของคนเพิ่มสูงขึ้น กระแสโลกาภิวัฒน์ ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล และความสนใจมากขึ้นในเรื่องวัฒนธรรมต่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พัฒนาจากเดิมเป็นความสนใจของคนชั้นนำที่มีการศึกษา มาเป็นตลาดหลักของนักท่องเที่ยวทั่วไป

เมื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กลายมาเป็นการท่องเที่ยวของคนหมู่มาก นักท่องเที่ยวจะทำตัวเหมือนกับคนได้ประโยชน์ โดยที่ตัวเองไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร (free rider) จะมีก็เพียงค่าใช้จ่ายการเดินทางมาเยือนเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวจะไม่ได้คิดถึงต้นทุนอื่นๆ เช่น นักท่องเที่ยวที่รอเข้าคิว การแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือสร้างภาระแก่ท้องถิ่น จากความแออัดของสาธารณูปโภค การส่งเสียง หรืออากาศเสีย

ทุกวันนี้ เมืองเล็กๆก็ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ล้นเกิน เช่น ซัลซ์บูร์กในออสเตรีย บรูกก์ในเบลเยี่ยม อินเตอร์ลาเกนในสวิส และฟูจิคาวากูชิโก๊ะในญี่ปุ่น เป็นต้น

อินเตอร์ลาเกนในสวิส ที่มาภาพ : https://www.myswitzerland.com/en-th/destinations/interlaken/

ตุตันคามุนมี “สุสานแบบดิจิทัล”

หนทางหนึ่งการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ล้นเกิน คือการสร้างสถานที่ทางวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล 3 มิติหรือ 3D อย่างเช่นสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ราชวงค์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ ที่ปัจจุบันมีสุสาน 2 แหล่ง ที่ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังเหมือนกัน สุสานแห่งแรกสร้างขึ้นในหุบเขากษัตริย์ เมื่อ 1322 ก่อนคศ. สุสานแห่งที่ 2 อยู่ห่างออกไป 4.8 กม. ที่สร้างจากเทคโนโลยีภาพถ่ายดิจิทัล โดยบริษัทสเปน Factum Foundation

ในเดือนพฤศจิกายน 1922 โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ค้นพบทางลงไปสู่สุสานของตุตันคามุน ในบริเวณหุบเขากษัตริย์ นับจากเวลานั้นเป็นต้นมา ตุตันคามุนกลายเป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียง เพราะสุสานอยู่ในสภาพเดิมเหมือนกับเมื่อ 3000 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้แม้ แต่นักประวัติศาสตร์ก็มองข้ามฟาโรห์องค์นี้ สุสานและทรัพย์สมบัติของตุตันคามุน กลายเป็นโบราณวัตถุทางวัฒนธรรม ที่มีชื่อเสียงของโลก ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ภาพผนังกำแพงสุสานตุตันคามุน ทำจากเทคโนโลยีดิจิทัล 3D ที่มาภาพ : J Paul Getty Trust

แต่ทว่า ในแต่ละครั้งที่นักท่องเที่ยวเข้าในห้องสุสานตุตันคามุน ผนังกำแพงที่อายุกว่า 3,000 ปีมาแล้ว จะค่อยๆมีสภาพเสื่อมลง ความชื้นที่ขึ้นลงจากการหายใจของนักท่องเที่ยว จะทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเกิดการขยายตัวและหดตัวตลอดเวลา ฝุ่นที่นักท่องเที่ยวนำเข้ามา ทำให้ในแต่ละวันต้องทำความสะอาดแผ่นกระจกที่ครอบโลงศพหิน ทั้งหมดนี้ทำให้เป็นไปได้ ที่ผิวพลาสเตอร์ของภาพจิตรกรรมฝาผนัง จะหลุดออกจากตัวกำแพง

ในปี 2009 Getty Conservation Institute ร่วมกับกระทรวงโบราณคดีของอียิปต์ เริ่มโครงการอนุรักษ์สุสานตุตันคามุน โครงการนี้เสร็จในปี 2019 เป้าหมายการอนุรักษ์คือการรักษาสุสาน และภาพจิตกรรมกำแพงสุสาน ศึกษาวิธีการลดความเสื่อมของสุสาน โดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสุสาน ทางการอียิปต์ยังไม่ได้ปิด “สุสานจริง” ของตุตันคามุน ยังให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชม โดยใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงที่มีต่อสุสานแทน

โครงการที่ดำเนินไปคู่ขนานกับการอนุรักษ์สุสานจริงของตุตันคามุน คือโครงการของ Factum Foundation จากสเปน ที่ถ่ายภาพสุสานตุตันคามุน ในแบบคมชัดที่ละเอียด และวิธีการสแกนเนอร์ 3 มิติ ในปี 2014 หรือ ถ ปีต่อมา สุสานตุตันคามุนที่ “เลียนแบบเสมือนจริง” ก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านพักเดิมของคาร์เตอร์ ห่างจากสุสานจริง 4.8 กม. ปัจจุบัน ทั้งสองสุสานของตุตันคามุน เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมได้

สุสานดั่งเดิมของตุตันคามุน สร้างเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว โดยคนงานใช้สิ่วเจาะหินทรายลงไปถึงชั้นหินแข็งใต้หินทราย ฉาบกำแพงสุสานด้วยดินเหนียวผสมพลาสเตอร์ และวาดภาพจิตกรรมผนังกำแพง ด้วยสารที่เป็นผงสี ส่วนสุสานเสมือนจริงสร้างโดยช่างฝีมือสมัยใหม่ ที่ใช้การถ่ายภาพที่มีความคมชัดสูง มาแทนภาพวาดผนังกำแพงดั่งดั่งเดิม

ในปี 2020 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก ที่มีมูลค่า 8 ล้านล้านดอลลาร์ ประสบปัญหาที่เรียกว่า “ไม่มีการท่องเที่ยว” (no tourism) หลังจากนั้น 4 ปีต่อมา แหล่งท่องเที่ยวบางแหล่งประสบปัญหาการท่องเที่ยวล้นเกิน ทางออกในการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวล้นเกิน ต่อแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่นสุสานตุตันคามุน ไม่ใช่อยู่ที่การใช้มาตรการควบคุมอุปสงค์ (demand) เช่น ห้ามนักท่องเที่ยวไปเยือนสุสาน หรือเก็บค่าเข้าชมสูงขึ้น เป็นต้น

แต่การอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล 3D มาเพิ่มสุสานเสมือนจริงของตุตันคามุน ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง เป็นการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวล้นเชิงวัฒนธรรมที่ล้นเกิน ในรูปของการเพิ่ม “อุปทาน” (supply) ให้มากขึ้น เช่นการสร้างสุสานเสมือนจริงของตุตันคุน

เอกสารประกอบ

Overrun Japanese town putting up eight-foot barrier to block tourist photos of Mount Fuji, April 26, 2024, cnn.com
Overcoming Overtourism, Bruno S. Frey, Springer, 2021.