ThaiPublica > คนในข่าว > วิสัยทัศน์ของ ‘ชินโซะ อาเบะ’ ทำไมญี่ปุ่นต้อง เปลี่ยนไปสู่ประเทศที่เข้มแข็งมากขึ้น

วิสัยทัศน์ของ ‘ชินโซะ อาเบะ’ ทำไมญี่ปุ่นต้อง เปลี่ยนไปสู่ประเทศที่เข้มแข็งมากขึ้น

18 กรกฎาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายชินโซะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่มาภาพ : https://www.japantimes.co.jp/news/2022/07/13/national/abe-funeral-fall/

ครั้งหนึ่ง นิตยสาร The Economist เคยสัมภาษณ์และชินโซะ อาเบะ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า ตัวอาเบะนั้นคิดว่าตัวเองเป็นซามูไรปฏิวัติ แบบเดียวกับซามูไรตระกูลโชชู (Choshu) หรือไม่ อาเบะชอบคำถามนี้ของ The Economist โดยตอบว่า เขาเองภาคภูมิใจที่มาจากเขตของตระกูลโชชูในอดีต แต่ซามูไรปฏิวัติในอดีตต้องให้ญี่ปุ่นปลอดคนต่างชาติ พวกเขาก็มีทัศนะกว้างไกล ต้องการให้ญี่ปุ่นไล่ตามชาติตะวันตก และเสี่ยงชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

พวกซามูไรตระกูลโชชูเป็นนักอนุรักษนิยมหัวเก่า แต่ความคิดหัวก้าวหน้าของญี่ปุ่นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก่อนสมัยปฏิรูปเมจิ คนพวกนี้ตระหนักว่า หากญี่ปุ่นไม่เปลี่ยนแปลงปฏิรูปสถาบันสังคม เศรษฐกิจและการทหาร ญี่ปุ่นคงจะถูกตะวันตกเข้ามายึดครอง

ส่วนครอบครัวของชินโซะ อาเบะ มาจากเขตยามากูชิ พื้นที่ดังเดิมของซามูไรตระกูลโชชู บิดาของอาเบะเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และเป็นผู้แทนราษฎรจากเขตนี้ อาเบะเองเป็นผู้แทนของเขตนี้มาตั้งแต่ปี 1993

ทำไมญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลง

บทความชื่อ Why Shinzo Abe Thought Japan Had to Change ของนิตยสาร Foreign Affairs กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ชินโซะ อาเบะ จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นต้องต่อสู้กับปัญหาหลายอย่าง เช่น ยุคสมัยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วได้ผ่านพ้นไปแล้ว การสิ้นสุดของสงครามเย็น จะทำให้พันธมิตรญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ยังคงยั่งยืนต่อไปหรือไม่

การวางท่าทีไม่ชัดเจนของญี่ปุ่น ต่อสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1991 ทำให้ญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็น “พวกได้ประโยชน์จากระเบียบเสรีของโลก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไร” (free rider) เวลาเดียวกัน พายุก็กำลังก่อตัวขึ้นในภูมิภาคนี้ คือ การพุ่งขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน และเกาหลีเหนือเพิ่มกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงมากขึ้น

ในการเผชิญปัญหาท้าทายดังกล่าว อาเบะเป็นผู้นำที่หาได้ยากของญี่ปุ่น เพราะไม่เพียงแต่เขาสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ยังพัฒนาวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับบทบาทของญี่ปุ่น และการทำงานร่วมกับพันธมิตรของญี่ปุ่น เพื่อให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าว

ผู้นำในเอเชียล้วนมีความผูกพันกับอาเบะแทบทุกคน เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ช่วงเดินทางจากเกาหลีใต้กลับมาเลเซีย ก็แวะที่ญี่ปุ่น เพื่อแสดงการคารวะต่ออาเบะกับภรรยาของเขา

คนญี่ปุ่นจำนวนมากและประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ยอมรับนโยบายความมั่นคงแบบอนุรักษนิยมของอาเบะที่กล่าวว่า “ญี่ปุ่นกลับมาแล้ว” แต่คนญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้านส่วนหนึ่งก็วิตกกังวลต่อความคิดชาตินิยมของอาบะ ที่อาจปรากฏออกมาในรูปรุนแรง และการกลับมาของญี่ปุ่นอาจหมายถึงประสบการณ์ที่หลายประเทศเคยได้รับมาจากญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลก

ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/world-asia-62130794

นักวิสัยทัศน์

ชินโซะ อาเบะ ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เมืองนารา เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่อายุน้อยสุด และดำรงตำแหน่งนานที่สุด ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าคนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งสั้นๆ และคนทั่วไปก็ลืมไปในที่สุด แต่อาเบะดำรงตำแหน่งครั้งแรกช่วงปี 2006-2007 หลังจากนั้น ดำรงตำแหน่งครั้งที่สองนาน 8 ปีติดต่อกันคือจากปี 2012-2020

นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศของอาเบะ ถูกเรียกว่า Abenomics ที่ต้องการฟื้นพลังพลวัตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกและเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี

อาเบะยังเป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่ลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ World Economic Forum เคยจัดอันดับความเหลื่อมล้ำทางเพศของโลก ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 120 จากทั้งหมด 153 ประเทศ

แต่นโยบายต่างประเทศคือสิ่งที่โดดเด่นของอาเบะ และยังคงเป็นมรดกที่อาเบะทิ้งไว้ ทุกวันนี้ การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทำให้คนมองข้ามไปว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากการมองเห็นการขยายอำนาจของจีนมากขึ้น อาเบะเริ่มเสนอแนวคิดด้านต่างประเทศที่เรียกว่า “ความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก” ในเวลานั้นยังไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับ “อินโด-แปซิฟิก” แนวคิดนี้ของอาเบะจึงล้ำหน้าผู้นำโลกคนอื่น

นโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่บนแนวคิดเรียกว่า “ลัทธิโยชิดะ” (Yoshida Doctrine) ที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรีชิเงรุ โยชิดะ ขึ้นในปี 1951 โดยญี่ปุ่นจะเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และให้สหรัฐฯ ดูแลด้านความมั่นคง สนธิสัญญาความมั่นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นลงนามในปี 1951 และต่ออายุปี 1960 ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ฐานทัพสหรัฐฯ แต่สัญญาความมั่นคงทำให้สหรัฐฯ มีภาระทางการเงิน ขณะที่ญี่ปุ่นสามารถมีงบประมาณทางทหารแค่ 1% ของ GDP

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาความมั่นคงในสภาพแวดล้อมใหม่ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของจีน มาหลายสิบปี ทำให้จีนกระโดดข้ามญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก และสามารถเพิ่มความสามารถทางทหารในทะเล และมีท่าทีทางทหารในเชิงรุกมากขึ้น

จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาเบะเห็นว่า นโยบายด้านความมั่นคงญี่ปุ่นจะต้องเปลี่ยนไปด้วย เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของอาเบะคือ การแก้ไขมาตรา 9 รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ที่ห้ามไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ หรือใช้วิธีการทางทหารในแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ แม้อาเบะจะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ เพราะคนญี่ปุ่นยังสนับสนุนมาตรา 9 แต่ก็มีการตีความใหม่อย่างเป็นทางการของรัฐธรรมนูญ โดยให้ญี่ปุ่นสามารถร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นมากขึ้น

นายอาเบะ กับนายนเรนทระ โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Shinzo_Abe#/media/

รัฐบุรุษ

นอกจากปฏิรูปนโยบายความมั่นคงญี่ปุ่น อาเบะยังเสริมสร้างพันธมิตรกับสหรัฐฯ ให้แข็งแกร่งมากขึ้น สหรัฐฯ หันมายอมรับแนวคิดของอาเบะเรื่อง “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” และมีการตั้งกลุ่ม Quad ที่รวมถึงออสเตรเลียกับอินเดีย อาเบะยังเริ่มการปรองดองทางประวัติศาสตร์กับสหรัฐฯ ในงานพิธีที่เพิร์ลฮาเบอร์และฮิโรชิมา โอบามาและอาเบะแสดงความเสียใจต่อความรุนแรงและการสูญเสียของสองฝ่าย

นอกจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อาเบะยังสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับประเทศในเอเชีย นเรนทระ โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียออกแถลงการณ์หลังอสัญกรรมของอาเบะว่า อาเบะคือนักวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ ที่เปลี่ยนความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งเป็นเรื่องแคบๆ ทางเศรษฐกิจ มาเป็นเรื่องใหญ่อย่างรอบด้าน ในปี 2017 การพบปะของอาเบะกับสี จิ้นผิง แสดงถึงการใช้นโยบายการทูต เพื่อบรรลุเป้าหมายของเขาเช่นกัน

นักวิจารณ์มักเรียกอาเบะว่าเป็นพวกฝ่ายขวาสุดขั้ว เป็นความจริงที่อาเบะเป็นพวกอนุรักษนิยม แต่หากเกิดขัดแย้งกันระหว่างความคิดอนุรักษนิยมกับเรื่องความมั่นคง อาเบะจะเลือกเอาความมั่นคงมาก่อน อาเบะอยู่ในสายอนุรักษนิยมที่ทรงอิทธิพลของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP)

กลุ่มอนุรักษนิยมในพรรค LPD มีแนวคิดหลายอย่าง เช่น การสอนประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ปลูกฝังความรักและภูมิใจในชาติ ในปี 2013 อาเบะเดินทางไปเยือนศาลเจ้ายาสึคูนิ (Yasukuni Shrine) อนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากสงคราม รวมถึงทหารที่ถูกลงโทษจากศาลอาชญากรรมสงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกอนุรักษนิยมมองว่า การไปเยือนก็เพื่อให้เกียรติแก่ทหารทั่วไป แต่สร้างไม่พอใจแก่จีน เกาหลีใต้ รวมทั้งสหรัฐฯ ที่มองว่าการไปเยือนของผู้นำญี่ปุ่น เหมือนกับการฟอกขาวให้กับการสั่งหารหมู่ของทหารญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลก

นายชินโซะ อาเบะและภรรยา ที่มาพ : theguardian.com

ญี่ปุ่นกับวิสัยทัศน์อาเบะ

บทความของ Foreign Affairs เห็นว่า อาเบะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่น แต่หนทางที่ญี่ปุ่นจะเดินไปสู่วิสัยทัศน์ของอาเบะยังอีกยาวไกล ค่าใช้จ่ายที่จะใช้ไปถ่วงดุลกับอำนาจเพิ่มขึ้นของจีนมีมูลค่ามากมาย ญี่ปุ่นต้องเพิ่มงบประมาณทางทหารสูงขึ้น ขณะที่หนี้สินของรัฐบาลก็มีมหาศาล การลดลงของประชากรมีผลต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังยึดถือค่านิยมแนวสันติ

การจะนำญี่ปุ่นไปสู่การแข่งขันด้านความมั่นคง เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เมื่อญี่ปุ่นมีภาระหนี้สินมากมาย ประชากรก็ไม่เต็มใจ และความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็ลดน้อยลง แต่อาเบะกลับเป็นผู้นำญี่ปุ่นไม่กี่คนที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการถกเถียงเพื่อนำญี่ปุ่นสู่ความมั่นคงใหม่ แต่เมื่อขาดอาเบะไปแล้ว ภารกิจนี้ยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก

สื่อมวลชนมักเรียกอาเบะว่าเป็นบุคคลที่ทำให้ “คนเกิดการแบ่งความคิดเป็นสองฝ่าย” (polarize) นักวิจารณ์ในญี่ปุ่นมักโจมตีความคิดชาตินิยมแบบฝ่ายขวาของเขา ส่วนพวกนักเสรีนิยมต้องการให้อาเบะจัดการสิ่งที่เป็นด้านมืดในอดีตของญี่ปุ่น รวมทั้งรักษานโยบายแนวสันติ และจำกัดบทบาททางทหาร ส่วนพวกอนุรักษนิยมชื่นชมกับการที่ญี่ปุ่นจะมีบทบาททางทหารมากขึ้น

แต่คนทุกฝ่ายทุกกลุ่มการเมืองยอมรับว่า อาเบะคือผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และอสัญกรรมของอาเบะคือการสูญเสียครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น

เอกสารประกอบ
Abe Shinzo believed that Japan should assert itself in the world, 14 July, 2022, economist.com
Why Shinzo Abe Thought Japan Had to Change, July 12,2022, foreignaffairs.com