ThaiPublica > เกาะกระแส > ครบรอบ 10 ปี “การริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) 5 เสาหลักที่เป็นกรอบความสัมพันธ์จีนกับโลก

ครบรอบ 10 ปี “การริเริ่มแถบและเส้นทาง” (BRI) 5 เสาหลักที่เป็นกรอบความสัมพันธ์จีนกับโลก

16 ตุลาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

การประชุม “แถบกับเส้นทาง” ครั้งที่สาม หรือ Belt and Road Forum (BRF) ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้ ที่มาภาพ : https://www.chinadaily.com.cn/a/202310/11/WS6525f531a31090682a5e7d97.html

จีนจะเป็นเจ้าภาพการประชุม “แถบกับเส้นทาง” ครั้งที่สาม หรือ Belt and Road Forum (BRF) ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้ ที่ถือเป็นวาระการครบรอบ 10 ปี ของ “การริเริ่มแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative – BRI) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

กระทรวงการต่างประเทศจีนเปิดเผยว่า จีนได้ลงนามความร่วมมือในโครงการ BRI กับกว่า 150 ประเทศ และกับองค์กรระหว่างประเทศกว่า 30 องค์กร ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ร่วมกับผู้แทนจาก 130 ประเทศ และจาก 30 องค์กรระหว่างประเทศ ที่ประชุมคาดว่าจะรายงานถึงความสำเร็จในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ของโครงการก่อสร้าง BRI

สาระสำคัญของการประชุม BRF

เว็บไซต์ globaltimes.cn รายงานว่า แนวคิดหลักการประชุม BRF ครั้งที่ 3 คือ “ความร่วมมือที่มีคุณภาพสูง ของการริเริมแถบและเส้นทาง” ที่ประชุมระดับสูงจะเน้นความร่วมมือด้านการเชื่อมโยง การพัฒนาสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ เรื่องสำคัญในที่ประชุมจะยังประกอบด้วย การค้า การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน การต่อต้านคอร์รัปชัน ความร่วมมือระดับท้องถิ่นและความร่วมมือทางทะเล

Helga Zepp-LaRouche ผู้ก่อตั้ง Schiller Institute ของเยอรมันกล่าวว่า “เมื่อพิจารณาจากการท้าทายที่ไม่ปกติต่อมนุษยชาติ ซึ่งมาจากการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เป็นภัยต่อการที่โลกจะแยกออกเป็นกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กัน ที่ประชุม BRI ครั้งนี้จะขยายจิตสำนึกของมนุษยชาติ ที่ผนึกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากประโยชน์ของความรุ่งเรืองร่วมกันในอนาคต การริเริ่มแถบและเส้นทาง ไม่เพียงแต่เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ได้เริ่มต้นปูรากฐานทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ในการสร้างชุมชนโลก สำหรับอนาคตที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน”

Belt and Road Forum (BRF) ที่มาภาพ : https://thediplomat.com/2023/10/chinas-3rd-belt-and-road-forum-finally-gets-a-date/

ความเป็นมาของ BRI

ในการเดินทางไปเยือนคาซักสถาน เมื่อกันยายน 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอแนวคิดโมเดลใหม่ของความร่วมมือเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในหมู่ประเทศที่ตั้งอยู่บน “เส้นทางสายไหมเก่า” โดยเรียกความคิดนี้ว่า “เส้นทางสายไหมใหม่” (New Silk Road)

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2013 ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาอินโดนีเซีย สี จิ้นผิง ได้เสนอโครงการ “เส้นทางสายไหมทางทะเลใหม่” (New Maritime Silk Road) เพื่อขยายโครงการเส้นทางสายไหมทางบก คล้ายกับเส้นทางสายไหมทางทะเลในอดีต ที่เคยเชื่อมโยงจีนกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

หนังสือชื่อ Money and Might: Along the Belt and Road Initiative (2021) เขียนไว้ว่า นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ที่เชื่อมโยงเอเชียกับยุโรปผ่านเอเชียกลางแล้ว BRI ยังเป็นโครงการที่เชื่อมโยงสองทวีปผ่าน “การเชื่อมโยงอีก 5 ด้าน” คือ ทางกายภาพ การค้า ดิจิทัล การเงิน และวัฒนธรรม

Money and Might กล่าวว่า โครงการ BRI แตกต่างจากโครงการระหว่างประเทศอื่นๆ คือ “โครงสร้างพื้นฐาน” มีบทบาทเป็นแกนกลางความร่วมมือ และการพัฒนาระหว่างประเทศ ด้านหนึ่งเพราะความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน มาจากโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการลงทุนและการมีบทบาทหน้าที่ ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตรวดเร็ว

ในอีกด้านหนึ่ง เพราะประเทศที่เกี่ยวข้องกับ BRI มีการลงทุนน้อยในด้านนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เคยระบุว่า จะต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย เป็นเงินปีละ 730 พันล้านดอลลาร์ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ทศวรรษ ADB เองสามารถให้เงินสนับสนุนได้เพียงแค่ปีละ 10 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ในจุดนี้ ธนาคารที่ตั้งขึ้นใหม่จากการริเริ่มของจีน Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) จะเข้ามามีบทบาทในการลดช่องว่างการขาดเงินทุนในเรื่องนี้

แต่ BRI ไม่ใช่โครงการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเท่านั้น เดือนพฤศจิกายน 2014 สี จิ้นผิง กล่าวต่อที่ประชุม APEC ที่ปักกิ่งว่า “การเชื่อมโยงประเทศในเอเชีย ต้องการการผสมผสานของโครงสร้างพื้นฐาน องค์กรสถาบันต่างๆ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนใน 5 ด้าน คือ การสื่อสารทางการเมือง การเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงทางการค้า การหมุนเวียนของเงินทุน และความเข้าใจระหว่างประชาชน”

การริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่มาภาพ : The Third Pole

5 เสาหลักของ BRI

ดังนั้น เอกสารเป็นทางการของจีน ที่ถูกเรียกว่า BRI White Paper ของคณะกรรมการพัฒนาและพัฒนาเศรษฐกิจของจีน จึงกล่าวว่า BRI ตั้งอยู่บน 5 เสาหลัก ดังนี้

(1) การประสานงานด้านนโยบาย BRI จะสร้างกลไกการหารือระหว่างรัฐบาล ในหลายระดับ ในประเด็นเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดความเห็นสอดคล้องใหม่ขึ้นมา และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างภาคส่วนต่างๆ เป้าหมายอยู่ที่การสร้างการสนับสนุนทางการเมือง ต่อโครงการพัฒนาสำคัญๆของ BRI

(2) การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือพื้นที่ที่มีความร่วมมือที่สำคัญอันดับสอง เป้าหมายของ BRI คือสร้างความแข็งแกร่งของการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การมีมาตรฐานทางเทคนิคร่วมกัน และในที่สุด นำไปสู่เครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา แผนการนี้รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา โครงการของ BRI ทั่วโลกทั้งหมด 1,247 โครงการ เป็นโครงการด้านการคมนาคมทางถนนและรถไฟ 24% หรือ 301 โครงการ ใช้เงินลงทุน 179.9 พันล้านดอลลาร์ เป็นโครงการเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงด้านพลังงาน 31% หรือ 401 โครงการ ในอนาคตโครงการเครือข่ายโทรคมนาจะมีสัดส่วนมากขึ้น เมื่อ Huawei และ ZTE กลายเป็นผู้ด้าน 5G

(3) การขยายการค้าระหว่างประเทศ BRI มีเป้าหมายสร้างความสะดวกด้านธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ขจัดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งอุปสรรคการลงทุน และสร้างเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ ที่เป็นหุ้นส่วน BRI เป้าหมายของจีนคือ ส่งเสริมบูรณาการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างกลุ่มภายในภูมิภาคในด้านห่วงโซ่คุณค่า (regional value chain)

Money and Might อธิบายว่า ในแง่นี้ BRI มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลที่อยู่ลึกเข้าไปและอยู่ทางทิศตะวันตกของจีน กับประเทศเอเชียกลาง ทำให้ประเทศที่ไม่มีท่าเรือ มีทางออกสู่ทะเล ทำให้การส่งออกแข่งขันได้มากขึ้น เช่น การขนส่งสินค้าของทาจิกิสถาน แพงที่สุดในโลก เสียค่าขนส่ง 10,000 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 1,877 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง BRI กับการส่งออกไปจีน มีสภาพแตกต่างกันไป ประเทศที่มีโครงการ BRI อย่างน้อย 15 โครงการ มีเพียงเมียนมา ศรีลังกา กัมพูชา ลาว และเวียดนามเท่านั้น ที่การส่งออกไปจีนเพิ่มมากกว่า 300% ส่วนการส่งออกของอินโดนีเซียไปจีน ไม่เพิ่มขึ้นเลย ในจุดนี้ คำว่า “การค้าเพิ่มมากขึ้น” ในความหมายของฝ่ายจีน คือยอดรวมของการส่งออกและนำเข้า ไม่ใช่การค้าที่สมดุลระหว่างสองฝ่าย ที่จะต้องอาศัยการเจรจาแก้ปัญหาการขาดดุล รวมทั้งการใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของอีกฝ่ายหนึ่ง

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Money-Might-Along-Belt-Initiative/dp/8831322125

(4) การสนับสนุนทางการเงิน ช่วงการประชุม BRI Forum ครั้งที่ 2 เมษายน 2019 ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน หรือ People Bank of China เปิดเผยว่า สถาบันการเงินจีนให้การสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 440 พันล้านดอลลาร์ แก่โครงการ BRI ตลาดทุนจีนยังให้การสนับสนุนด้านหลักทรัพย์มากกว่า 500 พันล้านหยวน แก่วิสาหกิจต่างๆ บรรดาประเทศหุ้นส่วน BRI และบริษัทต่างๆ ออก “ตราสารหนี้แพนด้า” (panda bonds) เป็นเงิน 65 พันล้านหยวน

BRI ยังทำให้บริการทางการเงินพัฒนาซับซ้อนมากขึ้น สิ้นปี 2018 ธนาคารจีน 11 แห่งเปิดสาขา 76 สาขาใน 28 ประเทศ ที่อยู่ตามเส้นทางโครงการ BRI ส่วน 55 ธนาคารจาก 28 ประเทศเกี่ยวข้อง BRI เปิดสาขาในจีน ธนาคารกลางจีนลงนามสัญญา local currency swap กับธนาคารกลาง 21 ประเทศ โครงการ BRI จึงมีส่วนช่วยจีนในการพัฒนาตลาดเงินทุน

และ (5) การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ เอกสาร White Paper ของจีนกล่าวว่า “จิตใจที่เป็นมิตรและร่วมมือกันคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเส้นทางสายไหม และควรจะเป็นพื้นฐานความสำเร็จของการริเริ่มใหม่นี้” ดังนั้น ฝ่ายจีนต้องการให้ BRI สร้างกลไกการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม วิชาการ และทักษะ การฝึกอบรม ความร่วมมือด้านสื่อมวลชน และการหารือระหว่างเยาวชนกับสตรี

เอกสาร White Paper ยังระบุเรื่องการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การควบคุมโรคระบาด การวิจัยร่วม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนระหว่างพรรคการเมืองกับรัฐสภา เพื่อสร้างความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและกัน

กระทรวงศึกษาของจีนเปิดเผยว่า ปี 2013 นักศึกษาจากประเทศเกี่ยวข้องกับ BRI เข้ามาศึกษาในจีน 443,000 คน เพิ่มขึ้น 35% จีนมีความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษากับ 188 ประเทศ และมีการลงนามรับรองคุณภาพทางการศึกษากันและกันกับ 47 ประเทศ จีนมีสถาบันขงจื้อ (Confucius Institute) ทั้งหมด 512 แห่งใน 140 ประเทศ ในจำนวนนี้ 135 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศเกี่ยวข้อง BRI และ 67 ประเทศ มีนโยบายให้มีการสอนภาษาจีนในระบบการศึกษา

6 ระเบียงเศรษฐกิจ ภาพจาก Silk Road (1)

นับจากตุลาคม 2016 BRI กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศจีน เพราะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูณของจีน จึงสะท้อนความสำคัญของ BRI ในเชิงนโยบายรัฐอย่างหนึ่ง กล่าวโดยรวม BRI สามารถพัฒนาไปไกลกว่าเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม แต่กลายเป็น “การริเริ่ม” ที่เป็นกรอบความสัมพันธ์ทวิภาคี ที่จีนจะมีกับประเทศต่างๆในโลก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา

เอกสารประกอบ

Money and Might: Along the Belt and Road Initiative, Alessia Amighini, Bocconi University Press, 2021.