ThaiPublica > เกาะกระแส > “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” กับ “ผีเสื้อกระพือปีก” กรณีศึกษาจากน้ำท่วมประเทศไทยปี 2011

“ห่วงโซ่คุณค่าโลก” กับ “ผีเสื้อกระพือปีก” กรณีศึกษาจากน้ำท่วมประเทศไทยปี 2011

16 กรกฎาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://iap.unido.org/articles/global-value-chains-times-multiple-crises

ทุกวันนี้ หากผู้บริโภคซื้อจักรยานคันหนึ่ง ที่อาจผลิตโดยบริษัทในสหรัฐฯ เช่น Trek หรือ Cannondale อาจผลิตในไต้หวันโดยบริษัท Giant หรือ Merida หรืออาจผลิตจากบริษัท Bianchi ของอิตาลี แต่ที่แน่นอนก็คือ ชิ้นส่วนจักรยานจะมาจากหลายประเทศ เช่น อานนั่งจากอิตาลี โครงรถและล้อทำจากจีน และห้ามล้อมาจากมาเลเซีย

iPhone ก็มีระบบนิเวศของตัวเองในเรื่องซัพพลายเออร์ ที่มาจากทั่วโลก เช่น เหมืองทองในแอฟริกา แร่หายากจากจีน ตัวคอมพิวเตอร์ชิปจากไต้หวัน และโรงงานประกอบในจีน เวียดนาม และอินเดีย Apple เองเปิดเผยว่า มีซับพลายเออร์ทั้งหมด 200 บริษัท กระจายอยู่ใน 43 ประเทศ กระบวกการผลิตแบบนี้เรียกว่า “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” หรือ GVC (global supply chain) ที่เกิดขึ้นกับแทบทุกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ที่มาภาพ : รายงานธนาคารโลก : Trading for Development in the Age of Global Value Chain

ต้นกำเนิด “ห่วงโซ่คุณค่าโลก”

หนังสือชื่อ The Global Trade Paradigm (2023) อธิบายว่า การค้าโลกเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 1991 การเปลี่ยนแปลงอย่างแรกคือการยอมรับแนวคิด “โลกาภิวัตน์” ที่มองว่า โลกที่มีการเคลื่อนย้ายเสรีมากขึ้น ทางด้านการค้า เงินทุน และแรงงาน จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองคือ เกิดพลังทางเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาในเอเชียและยุโรป ในปี 1978 จีนมุ่งสู่เศรษฐกิจกลไกตลาด อินเดียหันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมในปี 1991 และการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน การรวมประเทศของเยอรมัน และตามมาด้วยในปี 1992 มีการลงนามสนธิสัญญา Maastricht จัดตั้งกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้ยุโรปกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่สุดของโลก

การเกิดขึ้นอย่างเชื่อมโยงกันของเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ นำไปสู่การสร้างระบบการผลิตแบบ “ห่วงโซ่คุณค่าโลก” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน มีการสร้างระบบนิเวศ ที่ทำหน้าที่กำกับการค้าโลก ภายใต้การดูแลของ WTO เกิดแรงกดดันที่ธุรกิจต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจต้องหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ การผลิตสินค้าที่ต้นทุนลดลง ความสะดวกด้านการขนส่งสินค้า ด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ และสุดท้าย บริษัทธุรกิจต่างๆ ค้นพบตลาดใหม่ของผู้บริโภค

ผลได้ทางเศรษฐกิจที่เกิดจาก GVC

ระบบห่วงโซ่คุณค่านำไปสู่การสร้างผลิตภาพ (productivity) และรายได้เพิ่มมากขึ้น ประการแรกคือ การกระจายเทคโนโลยี บริษัทผู้ผลิตท้องถิ่นได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติ ประการที่สอง มีการแบ่งการผลิตเฉพาะด้านสูงมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตในท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการผลิตทั้งหมด ธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนา สามารถรับงานการผลิตเฉพาะอย่าง หรือช่วงใดช่วงหนึ่งของ GVC

หนังสือ The Global Trade Paradigm บอกว่า แม้โดยทั่วไป กระบวนการผลิตแบบ GVC จะมีลักษณะใช้ทุนเข้มข้น (capital-intensive) แต่งานวิจัยต่างๆได้สรุปเหมือนกันว่า การผลิตแบบ GVC มีผลกระทบในเชิงบวกต่อการจ้างงาน ในเอธิโอเปีย บริษัทที่เข้าร่วมใน GVC มีการจ้างคนงานมากขึ้น 39% เทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกัน ที่ไม่ได้เข้าร่วมใน GVC ที่สำคัญอีกอย่าง ธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ GVC จะดึงแรงงานออกจากภาคการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำ มาสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงกว่า

นอกเหนือจากนี้ การเข้าร่วมใน GVC ทำให้การจ้างงานมีการเติบโตสูง และสร้างรายได้มากกว่าการผลิต ที่เป็นแบบแผนทั่วไป GVC จึงมีอิทธิพลสำคัญต่อในการลดความยากจน

ประสบการณ์จากบังคลาเทศ แสดงถึงผลกระทบด้านประโยชน์ในเชิงบวกจาก GVC ในปี 1988 การส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของบังคลาเทศ มีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับการส่งออกของโลก แต่เมื่อเข้าร่วมกับ GVC ทำให้ในแต่ละปี การส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าพุ่งขึ้น 18% ต่อปี ในปี 2019 บังคลาเทศเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้ารายใหญ่ที่ 3 ของโลก เท่ากับ 7% ของการค้าโลก รองจากจีนและเวียดนาม
อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าของบังคลาเทศ มีจ้างงาน 3.6 ล้านแรงงาน ทำให้สัดส่วนการเกษตรลดลงจาก 70% ของ GDP ในปี 1988 มาที่อยู่ที่ 38% ในปี 2016 สัดส่วนประชากรที่ยากจนที่สุดลดลงจาก 44% เหลือ 15% การอพยพประชากรจากภาคการเกษตรมาสู่การผลิตสมัยใหม่ คือผลที่ได้จากการเข้าร่วมกระบวนการผลิตแบบ GVC ทั้งบังคลาเทศ และจีนที่กลายเป็น “โรงงานโลก” จึงเป็นกรณีศึกษาเรื่อง ความสำเร็จของการเข้าร่วมกับ GVC

ที่มาภาพ : amazon.com

GVC ปัจจัยดึงเงินลงทุนต่างประเทศ

The Global Trade Paradigm บอกว่า ห่วงโซ่คุณค่าโลกคือ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี โดยเฉพาะ “การลงทุนต่างประเทศโดยตรง” (Foreign Direct Investment-FDI) เมื่อประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งจีน เข้าร่วมกับการผลิตแบบ GVC ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีเงินออมของตัวเอง พอที่จะลงทุนในโรงงานการผลิตระดับโลก แต่ FDI ช่วยลดช่องว่างความไม่สมดุลระหว่าง “การออมกับการลงทุน” การลงทุนต่างประเทศยังทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้นมาในท้องถิ่น

UNCTAD องค์การด้านการค้าและพัฒนาสหประชาชาติ กล่าวว่า ในปี 1990 เงินลงทุนต่างประเทศแบบ FDI ทั่วโลก อยู่ที่ 200 พันล้านดอลลาร์ ปี 2007 พุ่งเป็น 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ ปี 2021 ลดลงมาที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ เงินลงทุนต่างประเทศดังกล่าวได้เปลี่ยนฐานะเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา จีนมีเงินทุนสำรองต่างประเทศถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนอินเดียมีถึง 500 พันล้านดอลลาร์
หนังสือ The Global Trade Paradigm ยกตัวอย่างกรณีของอินเดีย ที่สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า FDI ในปี 2007 ผู้ประกอบการ 2 รายของอินเดีย ที่ได้ตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซขายหนังสือชื่อ Flipkart โดยได้ตัวอย่างจาก Amazon ต่อมาขยายไปทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซค้าปลีกทั้งหมด เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดจากกฎหมายอินเดียเรื่องอีคอมเมิร์ซ จึงไปจดทะเบียนในสิงคโปร์

ในปี 2018 Walmart ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสหรัฐฯเข้าซื้อกิจการ Flipkart เป็นเงิน 18 พันล้านดอลลาร์ โดยรวมทั้งหมด เฉพาะปี 2019 ระบบนิเวศธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งจะจัดตั้งขึ้นมา หรือ start-up ของอินเดียทั้งหมด ดึงเงินลงทุนต่างประเทศแบบ FDI ได้ถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ : https://iap.unido.org/articles/quo-vadis-supply-chains

วิกฤติจาก “ผีเสื้อกระพือปีก”

ห่วงโซ่คุณค่าโลก ถือเป็นหนึ่งในระบบที่ซับซ้อนที่สุดอย่างหนึ่ง ที่คนเราได้ประดิษฐ์ขึ้นมา เมื่อกระบวนการผลิตได้แตกย่อยออกเป็นจำนวนมาก และกระจายออกไปหลายประเทศทั่วโลก แต่ระบบ GVC จะดำเนินไปอย่างราบรื่น ก็ต่อเมื่อองคาพยพทุกส่วนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบ GVC ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นอีก เมื่อระบบบริหารห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ได้นำเอาแนวคิด “ลดการสูญเปล่า” มาใช้ที่เรียกว่า just-in-time วิธีการบริหารแบบ just-in-time ช่วยลดการสะสมสต๊อกชิ้นส่วน และช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนให้กับธุรกิจมากขึ้น แต่ก็เป็นแนวคิดที่เอา “ความยืดหยุ่น” ไปแลกกับ “ประสิทธิภาพ”

แต่ “ทฤษฎีความปั่นป่วน” (chaos theory) ทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับระบบที่มีความซับซ้อนมาก บอกกับเราว่า ยิ่งตัวระบบมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งมีจุดอ่อนและความไม่แน่นอน มากขึ้นตามไปด้วย เรื่องเล็กๆที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแบบคาดไม่ถึงตามมา

Edward Lorenz นักคณิตศาสตร์ที่คิดค้นทฤษฎีความปั่นป่วน สรุปลักษณะพิเศษของระบบที่ซับซ้อน ในการกล่าวต่อที่ประชุมทางวิชาการ โดยการตั้งหัวข้อการพูดที่ว่า “ผีเสื้อขยับปีกในบราซิล จะเป็นจุดเริ่มต้นของพายุทอร์นาโดในเท็กซัสหรือไม่”

ในกรณีของ GVC มีเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นบางอย่าง ทำให้เกิดการหยุดชะงักต่อระบบที่ซับซ้อนของ GVC เหตุที่ไม่แน่นอนเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอก GVC ทั้งนั้น ตั้งแต่นโยบายรัฐ วิกฤติทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการแพร่ระบาดของโรค ธุรกิจต่างๆไม่อยู่ในฐานะที่จะควบคุมปัจจัยภายนอกเหล่านี้ แต่กลับมีผลกระทบมหาศาล ต่อการค้าและเศรษฐกิจโลก

Supply chain ของ Tesla ที่มาภาพ : resilinc.com

ผลกระทบกรณีน้ำท่วมไทย 2011

ในปี 2014 Ian Goldin จาก Oxford และ Mike Mariathasan เขียนหนังสือชื่อ The Butterfly Defect และเตือนเรื่อง “ความเสี่ยงต่อทุกส่วน” (systemic risk) อันเนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ โดยมาจากปัจจัย 6 ด้าน คือ ภาคการเงิน ห่วงโซ่อุปทาน การคุกคามต่อโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศ การแพร่ระบาดของโรค และความตึงเคียดทางสังคม เนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำ

หนังสือ The Butterfly Defect ยกเอากรณีน้ำท่วมใหญ่ในไทยปี 2011 เป็นตัวอย่างของห่วงโซ่อุปทานกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อทุกภาคส่วน ในปี 2011 ประเทศไทยประสบภาวะน้ำท่วมร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี เพราะปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น 30% และมีพายุรุนแรงเข้ามา 4 ลูก น้ำที่ท่วมโรงงานในไทย ทำให้การผลิต hard disk ของโลกลดลง 28% บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น ต้องปิดโรงงานประกอบรถยนต์ เช่น Toyota Honda และ Nissan เนื่องจากโรงงานในไทยยังผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ สำหรับโรงงานในสหรัฐฯ เอเชีย และแอฟริกา ทำให้โรงงานเหล่านี้ ต้องลดการผลิตลงไปด้วย

สาเหตุที่น้ำท่วมในไทยส่งผลกระทบรุนแรงต่อการประกอบการผลิตทั่วโลก เนื่องจากแนวคิดด้านการบริหารที่เป็นอยู่ ไปสร้างเครือข่ายอุปทาน (supply network) ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง หากระบบเกิดความล้มเหลวขึ้นมา เป็นเรื่องธรรมดาที่กลยุทธ์การบริหารของธุรกิจจะถูกชี้นำจาก “วิธีทำธุรกิจที่ดีที่สุด” (best practice) และการเลียนแบบธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จ

แต่สิ่งที่ถือเป็นวิธีการทำธุรกิจที่ดีที่สุดนี้ จะทำให้ความยึดหยุ่นลดน้อยลง และไปสร้างความไม่เสถียรอย่างเป็นระบบขึ้นมา เช่นเดียวกับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจการเงิน ทำธุรกิจแบบเดียวกันหมด เช่น ธนาคารต่างๆ ใช้โมเดลธุรกิจเหมือนกัน หรือทำธุรกิจด้านทรัพย์สินแบบเดียวกัน
ในทางอุตสาหกรรมการผลิต บริษัทผู้ผลิตจ้างอีกบริษัทเป็นผู้รับช่วงการผลิตชิ้นส่วน หรือไปจ้างการผลิตในประเทศที่มีต้นทุนต่ำ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น จึงสามารถส่งผลกระทบต่อภาคส่วนการผลิตทั้งหมด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทาน จะมีผลกระทบไปทั้งระบบ

ดังนั้น กลยุทธ์ทำให้ห่วงโซ่อุปทานแยกเป็นส่วนๆ และไปลงในพื้นที่ใดหนึ่ง ที่ได้รับช่วงการผลิต พิสูจน์ว่า สามารถสร้างผลกำไร จนกลายเป็นมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมทั่วไป แต่ก็อาจกลายเป็นศูนย์รวมของความเสี่ยงและความไม่เสถียรช่นเดียวกัน

เอกสารประกอบ

The Global Trade Paradigm, Arun Kumar, Harper Bisiness, 2023.
The Butterfly Defect, Ian Goldin and Mike Mariathasan, Princeton University Press, 2014.