ThaiPublica > เกาะกระแส > อิตาลีสร้าง “อุตสาหกรรมอาหาร” อย่างไร จนกลายเป็นเสาหลักสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

อิตาลีสร้าง “อุตสาหกรรมอาหาร” อย่างไร จนกลายเป็นเสาหลักสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

1 เมษายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ :https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

เมื่อกล่าวถึงสินค้า “ผลิตในอิตาลี” (Made in Italy) การรับรู้ของคนทั่วโลกหมายถึงสินค้าอิตาลีที่มีลักษณะความเป็นเลิศในหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ศิลปะ อาหารและเหล้าไวน์ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม แต่อุตสาหกรรมและสินค้าหลัก ที่เป็นตัวแทนความเป็นเลิศของคำว่า Made in Italy คือ เสื้อผ้ากับแฟร์ชั่น เฟอร์นิเจอร์ อาหารกับเหล้าไวน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิศาสตร์ ทำให้อิตาลีเป็นประเทศแรก ที่มีสินค้าได้รับการรับรองมากมายจาก EU ในเรื่อง คุณภาพและเอกลักษณ์ของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นนั้นๆ (Protected Designation of Origin – PDO) การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของผลิตภัณฑ์การเกษตร (Protected Geographical Indication – PGI) และการรับรองสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Traditional Specialty Guaranteed – TSG)

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ในปี 2021 EU ให้การรับรองสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของอิตาลี 844 รายการ จากทั่วโลกทั้งหมด 3275 รายการ ในปี 2021 มูลค่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของอิตาลี มีสัดส่วนถึง 25% ของ GDP การจ้างงาน 4 ล้านแรงงาน เกี่ยวข้องกับฟาร์มการเกษตร 740,000 แห่ง บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม 70,000 บริษัท ภัตตาคาร 330,000 แห่ง และร้านค้าของชำ 230,000 แห่ง

อุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือชื่อ The Evolution of Made in Italy (2023) กล่าวไว้ว่า ทั่วโลกชื่นชมอิตาลีในเรื่องรสนิยม ความงาม วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิต ความชื่นชมนี้สะท้อนถึงสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของอิตาลี คนต่างชาติชื่นชมอิตาลีใน 3 ด้านคือ มรดกวัฒนธรรม อาหารและการทำอาหาร และสไตล์เสื้อหาหรือแฟชั่น ดังนั้น โลกชื่นชมอิตาลีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิทัศน์เฉพาะตัว ธรรมเนียมประเพณี และความเป็นหนึ่งด้านอาหารกับไวน์

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นห่วงโซ่สำคัญของเศรษฐกิจอิตาลี มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทอิตาลี ให้การหล่อเลี้ยงแก่เครือข่ายอุตสาหกรรม SME เป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจการอุปโภคในประเทศ ส่งเสริมภาพลักษณ์ต่อนานาประเทศ ถึงสิ่งที่เป็นคุณภาพ ความเป็นเลิศ และวัฒนธรรมของอิตาลี และเป็นภาคอุตสาหกรรม ที่สะท้อนความสามารถในการแข่งขันของอิตาลี

การได้รับการรับรองตามมาตรฐาน PDO PGI และ TSG ของ EU สะท้อนให้เห็นว่า ทุกเมือง ทุกจังหวัด และทุกภูมิภาคของอิตาลี ล้วนเต็มไปด้วยวัฒนธรรมด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ฝังลึกอยู่ในแต่ท้องถิ่นนั้นๆ

อิตาลีเป็นประเทศแรกที่ผลิตเส้นพาสต้า ทำจากแป้งสาลีและน้ำมันมะกอก และส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น ปี 2022 อิตาลีผลิตเส้นพาสต้า 3.6 ล้านตัน หรือ 1 ใน 4 ของการผลิตของโลก ฟาร์มเกษตร 2 แสนแห่งป้อนวัตถุดิบให้กับห่วงโซ่การผลิตแปรรูปเส้นพาสต้า 360 บริษัท ที่มีการจ้างงาน 7,500 แรงงาน และเป็นมูลค่า 5 พันล้านยูโร

อิตาลียังเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของสินค้าอาหารอย่างอื่น เช่น ผลิตน้ำมันมะกอกรายใหญ่อันดับ 2 เป็นประเทศแรกที่ผลิตไวน์รสซ่า หรือ Sparkling Wine ประเทศแรกในยุโรปที่ปลูกข้าว อิตาลียังปลูกผักหลายอย่างสำหรับการทำอาหารสไตล์ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในปี 2010 UNESCO ให้การรับรองอาหารเมดิเตอร์เรเนียน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มองไม่เห็น เพราะเป็นอาหารเหมาะแก่สุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีคุณค่าทางวัฒนธรรม

ที่มาภาพ :https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

“ห่วงโซ่อุปทาน” ผลิตภัณฑ์อาหาร

The Evolution of Made in Italy อธิบายว่า “ห่วงโซ่อุปทาน” ผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มของอิตาลี ประกอบด้วยกิจกรรมเศรษฐกิจ 3 ภาคส่วน คือภาคการเกษตรที่ผลิตวัตถุดิบ ภาคอุตสาหกรรมแปรรูป และภาคบริการที่เกี่ยวกับการตลาดกับการจัดจำหน่าย

แต่ห่วงโซ่อุปทานบางส่วนก็มีความสำคัญ เช่น ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และซับพลายเออร์ด้านการบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะการบรรจุภัณฑ์เป็น กระบวนการ ที่อาศัยนวัตกรรมสูง เช่น สามารถถนอมอายุสินค้าได้นาน วัตถุที่ใช้ในการบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารหลายอย่าง มีต้นทุนสูงพอๆกับต้นทุนของตัวสินค้านั้นเอง

ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม ประกอบด้วยเกษตรกรที่ปลูกสินค้าอาหาร ในอิตาลี ฟาร์มเกษตรเป็นการประกอบธุรกิจของครอบครัวเกษตรกรหลายล้านครอบครัว มีบริษัทระดับชาติหรือนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมาก

ผู้ประกอบการด้านห่วงโซ่อุปทานอีกประเภทหนึ่งคือ บริษัทแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปประกอบด้วย 2 อุตสาหกรรมย่อย คือ (1) อาหารสด ได้แก่ผลไม้ ผัก เนื้อ ปลา และนม และ (2) อาหารบรรจุภัณฑ์ ได้แก่เส้นพาสต้า อาหารแช่แข็ง ของหวาน อาหารกระป๋อง ส่วนเครื่องดื่มแบ่งได้เป็น 2 อุตสาหกรรมย่อย คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับไม่มีแอลกอฮอล์

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มของอิตาลี มีลักษณะเป็นธุรกิจ SME จึงกระจัดกระจายไปทั่ว ผู้ประกอบการที่เป็นห่วงโซ่อุปทานอาหารที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งคือ ผู้จัดจำหน่าย ที่เป็นห่วงโซ่ปลายน้ำ (downstream supply chain) แต่มีความสำคัญต่อผลสำเร็จของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

ผู้จัดส่งสินค้าถือเป็นผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ของอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม ผู้ประกอบการบางส่วนเน้นการมีระบบเครือข่ายการจัดส่งที่กว้างขวาง บางส่วนเน้นให้บริการหลายรูปแบบ เช่น การเก็บรักษาสินค้าในห้องเย็น แต่ธุรกิจโลจิสติกส์ด้านการจัดส่งสินค้า จะต้องสามารถให้หลักประกันเรื่อง การติดตามสินค้า คุณภาพบริการ และความไว้วางใจต่อการจัดส่ง

ตัวอย่างเช่นห่วงโซ่อุปทานอาหารสด ต้องการการจัดส่งรวดเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันความสดของอาหาร โดยสินค้าส่งมอบมีเวลาในการขายระยะหนึ่ง ก่อนหมดอายุ สินค้าสดบางประเภท คุณภาพขึ้นกับอุณหภูมิ จึงต้องการระบบการรักษาในห้องเย็นหรือการเก็บในอุณหภูมิแน่นอน เช่น เนื้อเก็บในอุณหภูมิ 0-2 องศา ผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์นม 4-8 องศา

ห่วงโซ่อุปานปลายน้ำของอาหารเครื่องดื่ม ยังเกี่ยวข้องกับผู้ค้าส่ง ร้านค้าปลีก ซุเปอร์มาร์เก็ต และช่องทางด้านโรงแรมกับภัตตาคาร อุตสาหกรรมค้าปลีกของอิตาลีแตกต่างจากประเทศอื่นๆในยุโรป คือต่อต้านการรวมตัวเป็นบริษัทรายใหญ่ ร้านขายของชำดั่งเดิม ยังเป็นส่วนสำคัญของร้านค้าปลีกด้านอาหาร ส่วนที่รองลงมาคือตลาดสด

ภาพจาก anamericaninrome.com

สินทรัพย์มีค่าของชาติ

แม้จะประสบปัญหาความยากลำบากจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2021 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของอิตาลี พิสูจน์เห็นถึงการเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า ทำให้อิตาลีมีความได้เปรียบในการแข่งขัน อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ารวม 575 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นมา 7% การส่งออกมีมูลค่า 52 พันล้านยูโร เฉพาะการส่งออกเหล้าไวน์มีมูลค่า 7 พันล้านยูโร

นอกจากส่งเสริมชื่อเสียงของ Made in Italy กระจายไปทั่วโลกแล้ว อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยังเป็นภาคเศรษฐกิจนำของอิตาลี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างการจ้างงาน ทำเกิดการลงทุน และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพราะอุตสาหกรรมอาหารอิตาลี สะท้อนอะไรหลายอย่าง เช่น คุณภาพที่สูงกว่าธรรมดา ธรรมเนียมประเพณี และนวัตกรรม

เอกสารประกอบ
The Evolution of Made in Italy, Vittoria Veronesi and Martina Schiavello, 2023, Palgrave Macmillan