ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ร้อนมั้ยครับ ใครเดือดร้อน อะไรคือสาเหตุ แล้วเราจะทำยังไง

ร้อนมั้ยครับ ใครเดือดร้อน อะไรคือสาเหตุ แล้วเราจะทำยังไง

18 เมษายน 2024


กฤษฎา บุญชัย

ทำไมโลกร้อนในอัตราเร่งขึ้นผิดปรกติ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ร้อยละ 66 ในค.ศ. 2023 ถึง 2027 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยจะใกล้พื้นผิวโลกสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม มากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และมีความเป็นไปได้ ร้อยละ 98 ที่อย่างน้อย 1 ใน 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิอาจปรับตัวสูงขึ้นจนทำลาย สถิติที่ผ่านมา และจะเกิดปรากฏการณ์“เอลนีโญ” ที่รุนแรง

ข้อมูลจาก อ.ประสาท มีแต้ม บอกว่า Dr. James Hansen (มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย) และคณะ ซึ่งอาศัยข้อมูลจากองค์การ NASA พบว่า ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิอากาศโลกในช่วง 2010 ถึง 2023 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.30 องศา C ต่อทศวรรษ มากกว่าช่วงก่อนนี้ 2 เท่า

ในช่วง 20 ปีของ 1950-1970 อุณหภูมิดังกล่าวคงที่นะครับ เพิ่งเริ่มร้อนขึ้นในปี 1970 หรือ 50 กว่าปีมานี้เองในช่วง 1990-2023 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจาก 354 เป็น 419 พีพีเอ็ม (ส่วนในหนึ่งล้านส่วน) หรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 18% อุณหภูมิอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อะไรหรือใครทำให้โลกร้อนขึ้น

งานวิจัย Carbon Majors Database ชื่อดังของโลกพบว่ามีเพียง 57 บริษัทในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และซีเมนต์ที่มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของปริมาณทั้งหมดมาตั้งแต่โลกบรรลุความตกลงปารีสในปี 2016 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนมากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทรงอิทธิพลและบรรษัทข้ามชาติทุนหนาที่มีส่วนรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อน

แม้ว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆได้ให้คำมั่นในความตกลงปารีสที่จะลดก๊าซเรือนกระจก แต่นักวิจัยรายงานว่าบรรดาบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างก็เพิ่มกำลังการผลิตของตน ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซมีแต่เพิ่มขึ้นในช่วง 7 ปีหลังความตกลงปารีส เมื่อเทียบกับ 7 ปีก่อนหน้า และในจำนวน 122 บริษัทที่ปล่อยมลภาวะมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกก็ประกอบด้วยรัฐวิสาหกิจถึงร้อยละ 65 และภาคธุรกิจอีกร้อยละ 55 ตามลำดับ

หลายบริษัทในฐานข้อมูล Carbon Majors Database เดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไปอย่างผิดทิศผิดทาง ผลการวิเคราะห์ฐานข้อมูลใหม่ของ InfluenceMap แสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ลดกำลังการผลิตลง หรือแม้แต่เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกภายหลังความตกลงปารีส

เพียงบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ บริษัทเดียวปล่อยคาร์บอนฯ 3.6 กิกะตันคาร์บอนในช่วงเวลาดังกล่าวหรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของปริมาณทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยปล่อยร้อยละ 1 เป็นอันดับ 20 ของโลก (คิดในลำดับประเทศ)

อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการปล่อยก๊าซพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดได้แก่กิจการถ่านหินในเอเชียที่รัฐเป็นเจ้าของ

บันทึกการปล่อยก๊าซในระยะยาวพบบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและซีเมนต์จำนวน 122 รายที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72 (ปริมาณ 1,421 ตันคาร์บอน) นับตั้งแต่เริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา บริษัทถ่านหินของรับบาลจีนมีส่วนรับผิดชอบต่อปริมาณก๊าซที่ปล่อยคิดเป็นร้อยละ 14 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด สูงกว่าที่อดีตสหภาพโซเวียตปล่อยถึงสองเท่า และมากกว่าปริมาณที่ Saudi Aramco ปล่อยถึงสามเท่า

โลกเดือดจึงไม่ใช่ว่า เราทุกคนทำให้โลกร้อนเท่ากัน นี่คือความไม่เป็นธรรมด้านภูมิอากาศ

อาชญากรรมภูมิอากาศ

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ด้านอาชญาวิทยา รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ของคุณวนัสนันท์ กันทะวงศ์ ชี้ถึงสถานะอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม หมายถึง การกระทำที่ฝ่าฝืน ละเมิด ละเว้นกฎหมาย และก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นการกระทำใด ๆ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางทรัพย์สินจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชั้นบรรยากาศ พืชพรรณ สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และเป็นการกระทำใด ๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท รัฐ และบุคคล อันนำไปสู่อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน แบ่งเป็น ขั้นปฐมภูมิ ที่ผลกระทบโดยตรงต่อการทำลายทรัพยากรบนโลก โดยการกระทำของมนุษย์ เช่น การก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและทะเล การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ การตัดไม้ทำลายป่า และขั้นทุติยภูมิ แม้ไม่ได้กระทำต่อทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง แต่เกิดผลทางอ้อม เช่น ละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับของประเทศตนเอง และก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การแสวงหาประโยชน์จากเงื่อนไขที่จะตามมาภายหลังวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม (ตลาดที่ผิดกฎหมายสำหรับอาหารยา น้ำ) และ/หรือกรณีการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลต่อกลุ่มองค์กรฝ่ายตรงข้ามที่เรียกร้องไม่ให้เกิดการกระทำผิดด้านสิ่งแวดล้อม

ที่น่าสนใจคือ การฟอกเขียว ด้วยวาทกรรม Net Zero การใช้คาร์บอนเครดิตที่ไม่ลดก๊าซได้จริง สุ่มเสี่ยงที่จะเป็น อาชญากรรมด้านภูมิอากาศ!

ใครเดือดร้อน

สหประชาชาติชี้มีประชากรโลกที่เสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนจนในประเทศซีกโลกใต้

ทั้ง ๆ ที่ประเทศรายได้ต่ำสุด 74 ประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 ใน 10 แต่ได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศรุนแรงสุด เปรียบเทียบกับทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ประเทศเหล่านี้เผชิญภัยพิบัติธรรมชาติสูงขึ้น 8 เท่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าภายในปี 2050 จะมีประชาชนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคนต้องอพยพภายในประเทศหนีภัยภูมิอากาศ และผลักให้ประชาชน 130 ล้านคนต้องยากจน

ประชากรกลุ่มเปราะในประเทศเหล่านี้ (รวมทั้งไทย) เดือดร้อนจากภาวะโลกเดือดที่กระทบสุขภาพ ความมั่นคงอาหาร น้ำ การศึกษา และอื่น ๆ แต่รัฐบาลหลายประเทศไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ประเทศพัฒนาแล้วไม่เคยทำตามสัญญาในข้อตกลงปารีสที่จะสนับสนุนงบฯ ให้ประเทศกำลังพัฒนา 1 แสนล้านเหรียญฯ ต่อปี อันมาจากหลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง ที่ประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องรับผิดชอบ

ประเทศไทยก็เสี่ยงเป็นอันดับ 9 ของโลก (คิดจากข้อมูล 20 ปีที่ผ่านมา) แต่ขณะนี้เรากำลังเจออัตราเร่งของโลกร้อนที่รุนแรง ความเสี่ยงที่กล่าวมาเป็นแค่อดีต แต่เราจะเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะคนชายขอบ เช่น ชุมชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อย คนจนเมือง คนไร้บ้าน แรงงานในระบบและนอกระบบ เด็ก สตรี คนชรา ที่เป็นคนยากจน

แล้วรัฐกำลังทำอะไร

การแก้ปัญหาฝุ่น pm 2.5 ในเวลานี้บ่งบอกแล้วว่าล้มเหลว ปล่อยให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหารใช้ผืนป่า ผืนดินของไทย และในภูมิภาคเพื่อความมั่งคั่ง และยังโฆษณาว่า Net Zero ทำตามกรอบ ESG

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่รัฐเตรียมทำฉบับใหม่ และจะจัดรับฟังความคิดเห็น ป่านนี้ยังไม่เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ แต่ทราบกันว่า ไม่ลดพลังงานฟอสซิลโดยเฉพาะก๊าซอย่างที่โฆษณา (ลดแค่ถ่านหินที่มีอยู่น้อยราย) เพิ่มพลังงานหมุนเวียน แต่เพิ่มให้กับภาคเอกชน ไม่เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชน และที่สำคัญจะใส่พลังงานนิวเคลียร์เข้ามาด้วย

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่รัฐเพิ่งจัดรับฟังความคิดเห็น ไม่มีเป้าหมายลดก๊าซอย่างมีนัยสำคัญ (เทียบกับกฎหมายของสหราชอาณาจักร กำหนดให้ลดร้อยละ 80 ภายในปี 2030) ไม่มีเพดานกำหนดเป้าหมายของกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ ไม่มีมาตรการบังคับ ไม่มีเป้าหมายและแผนการสร้างภูมิคุ้มกันปรับตัวของประชาชน โดยเฉพาะคนเปราะบางให้ชัดเจน ไม่ชัดเจนเรื่องการจ้างงานประชาชนด้านพลังงานหมุนเวียนและกิจกรรมลดก๊าซและปรับตัวอื่น ๆ ไม่กระจายอำนาจไปสู่ประชาชน มีแต่โครงสร้างรัฐร่วมทุน มุ่งแต่ระบบรวมศูนย์ของรัฐ เอาตลาดคาร์บอนเป็นหลัก ไม่มีการป้องกันการฟอกเขียว และอาญชากรรมภูมิอากาศจากการฟอกเขียว ร่างกฎหมายนี้รัฐจะรีบเอาเข้าสภาฯ เพื่อให้ทันโฆษณาต่อเวที COP 29 ปลายพฤศจิกายนนี้

เราจะทำยังไง

ในฐานะประเทศไทยเสี่ยง ควรมุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศของประชาชน ส่งเสริมกระบวนการปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งในระยะสั้น ระยะเปลี่ยนผ่าน และปรับโครงสร้างรองรับให้ประชาชนเผชิญกับภาวะโลกเดือด โลกรวนได้มั่นคงมากขึ้น

ควรมีแผนเลิกอุตสาหกรรมฟอสซิล ที่โยงทั้งพลังงาน ขนส่ง ซีเมนต์ เกษตร เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนโดยทันที และเปลี่ยนระบบการผลิตจากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่เกษตรนิเวศ ส่งเสริมชุมชน ประชาชนปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ จัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนและเป็นธรรม และมีมาตรการป้องกันการฟอกเขียว ป้องกันการใช้กลไกตลาดคาร์บอนมาบิดเบือนความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษ ปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ สร้างฝุ่น pm 2.5 และอื่น ๆ ให้รับผิดชอบ บนหลัก “ความรับผิดชอบที่แตกต่าง” (ใครก่อมลภาวะมากต้องรับผิดชอบมาก) ที่สหประชาชาติยึดเป็นหลักการ

เราต้องมีกฎหมายที่มีเจตจำนงปกป้องโลกจากภาวะโลกเดือด รับรองส่งเสริมสิทธิในภูมิอากาศของประชาชน ลดสาเหตุปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทันที จัดความสัมพันธ์อำนาจและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียที่กระทบต่อสภาวะโลกเดือดให้เกิดความรับผิดชอบ สร้างความเป็นธรรมภูมิอากาศ และหยุดความสุ่มเสี่ยงอาชญากรรมภูมิอากาศ ด้วยกลไกตลาดคาร์บอนที่จะพาเราวนอยู่ในอ่างในแง่การแก้ปัญหา และยังหนุนเสริมการเติบโตของกลุ่มทุนทำร้ายโลกให้เดือดยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ยังหาไม่ได้ในร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รัฐจัดทำ ประชาชนคงต้องลุกขึ้นมาร่างและผลักดันกฎหมายเองแล้วครับ