ประสาท มีแต้ม
แม้ว่าผมได้อยู่วงการสื่อสารความรู้เชิงวิชาการเพื่อประโยชน์ของสาธารณะมาเป็นเวลานานหลายสิบปี แต่ทุกครั้งผมยังรู้สึกว่าตัวเนื้อหาสาระที่จะสื่อยังไม่น่าหนักใจเท่ากับวิธีการสื่อสาร มีเรื่องราวเยอะแยะที่มีสาระที่อยากจะเขียน แต่จะเขียนอย่างไรให้น่าสนใจต่อกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ ยิ่งเป็นเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ด้วยแล้วยิ่งหนักใจมากขึ้นไปอีก
ในบทความชิ้นนี้ ผมมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมานำเสนอครับ นั่นคือ “ศิลปะกับการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์โลกร้อน” ผมพบผลงานชิ้นนี้โดยบังเอิญทางอินเทอร์เน็ต จะเรียกว่าบังเอิญเสียทีเดียวก็ไม่เชิง แต่เป็นเพราะผมมีความ “กระหาย” จึงพยายามค้นจนเจอบนปกรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ฉบับที่ 6
ใต้ภาพบนปกรายงานดังกล่าวเขียนไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงโดยศิลปิน Alisa Singer” พร้อมข้อความสั้นๆ ว่า “เท่าที่เรารับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกรอบๆ ตัวเรา เราเฝ้าดู ฟัง วัด… ตอบสนอง” เท่านี้แหละครับ ได้ทำให้ผมเจาะตามไปหาผลงานของเธอครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่รู้จักเบื่อ
ผลงานของเธอเป็นภาพแอ็บสแทร็กต์ มีมากกว่า 75 รูป โดยที่ส่วนมากเป็นการนำเอาผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในรูปเส้นกราฟ (ที่คนธรรมดาไม่ชอบดู มองข้าม แต่นักคณิตศาสตร์อย่างผมรู้สึกชอบมากๆ เพราะในนั้นมีข้อมูลเชิงลึกที่คนธรรมดาอาจมองไม่เห็น) มาแปลงเป็นงานศิลปะ มีสีสันสวยงาม
ในเว็บไซต์ เธอได้นำเสนอผลงานศิลปะและผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติม ผมเองแม้ไม่ค่อยประสีประสากับงานศิลปะนัก แต่ยอมรับว่าผมดูได้นานๆ ทำให้ผมจำสิ่งสำคัญได้ติดตา บางภาพผมไม่ก็เคยคิดมาก่อน
ผมขอนำผลงานของเธอจำนวน 8 ภาพมาเสนอในที่นี้ ดังนี้ครับ
เราทราบกันดีว่า โลกร้อนเกิดจากมนุษย์เผาเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปห่อหุ้มบรรยากาศโลก ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่เข้ามาถึงผิวโลก แต่ไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปได้ โลกจึงร้อนขึ้นๆ จึงมีแนวคิดจากผู้นำหลายประเทศรวมทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า “สามารถทำให้เป็นกลางทางคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วยการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า” แต่ดูข้อมูลด้วยตาเปล่าจากกราฟทางขวามือ (ดูความหนาของพื้นที่สีฟ้าอ่อนกับสีเขียว) ก็พอจะประเมินได้ว่า “เป็นไปไม่ได้” หากไม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ
เหตุการณ์อากาศเย็นผิดปกติเกือบทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1-3 เมษายน 2565 คงจะช่วยยืนยันได้ว่า แทบไม่มียุงมากวนใจ แม้จะนั่งเล่นอยู่นอกบ้านก็ตาม
เรื่องนี้ นักวิชาการจำนวนมากมักจะนิยมและเชื่อตามภาพวงกลม 3 วงตัดกันดังภาพ แต่นั่นก็เป็นได้แค่ “ความยั่งยืนที่บอบบาง” เท่านั้น
ไม่เพียงแต่จำนวนวันที่อากาศร้อนได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่จากสถิติจำนวนมากบอกเราว่า โลกร้อนจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน (heat wave) บ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และคงอยู่นานขึ้นในแต่ละครั้ง
ภาพขวามือล่างเป็นภาพที่ผมหามาเสริมให้ทันสมัยมากขึ้น เพราะประเด็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของก๊าซมีเทน (ทั้งที่เกิดจากการรั่วไหลจากการเจาะปิโตรเลียมและการเน่าเปื่อยของขี้วัว-ปศุสัตว์) ในช่วงหลังนี้พบว่ามีการรายงานที่ต่ำกว่าความเป็นจริงค่อนข้างมาก
เพื่อให้เข้าใจภาพนี้ได้ดีขึ้น ผมจึงได้นำแผนที่มาเสริม ที่น่าแปลกมากๆ ก็คือประเทศที่อยู่ในกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซฯ มากที่สุดกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มผู้ปล่อยก๊าซฯ น้อยที่สุดแต่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาโลกร้อนนั้น อยู่ใกล้กันมาก
มาถึงตอนที่ผมรู้สึกหนักใจอีกครั้งว่าจะสรุปเนื้อหานี้อย่างไรให้มีพลัง เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ขอคัดลอกเอาคำพูดของศิลปิน Alisa Singer ที่ว่า
“ศิลปะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่ายขึ้น และวิทยาศาสตร์ช่วยให้ศิลปะมีความหมายมากขึ้น การสื่อสารความจริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกันอย่างเป็นเอกภาพเป็นวิธีการที่ทรงพลัง”
ผลกระทบจากโลกร้อนเป็นปัญหาของทุกคน เราจึงควรช่วยกันสื่อสารให้มีพลังด้วยวิธีการที่หลากหลายครับ