ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ทำไม ประเทศไทยจึงถูกประเมิน “นโยบายลดโลกร้อน” ให้แย่ที่สุดถึงขั้นวิกฤติ?

ทำไม ประเทศไทยจึงถูกประเมิน “นโยบายลดโลกร้อน” ให้แย่ที่สุดถึงขั้นวิกฤติ?

2 พฤศจิกายน 2022


ประสาท มีแต้ม

นายกรัฐมนตรี ลงเรือท้องแบนเยี่ยมบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย ณ หมู่ที่ 3 ตำบลบางกระบือ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี วันที่ 24 ตุลาคม 2565 ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/9677

เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกตรวจน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ท่านได้ตอบคำถามในเชิงย้อนถามกลับกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนว่า “ต้องเข้าใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สภาพอากาศ ฝน ใช่ไหม…เป็นนักข่าวไม่รู้เหรอ… แต่เราก็ดูแลอยู่” (PPTV 25 ต.ค.65)

แม้คำพูดดังกล่าวของท่านออกจะกระท่อนกระแท่นไม่ครบถ้วน แต่ก็พอจะประเมินได้ว่า ท่านคิดว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ “โลกร้อน” นั่นเอง

สิ่งที่ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมมาร้องเรียนกับท่าน ไม่ใช่แค่ความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่รวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งบ้านเรือนและผลผลิตทางการเกษตร หนี้สิน เป็นต้น แล้วจะเยียวยากันอย่างไร

สิ่งที่พลเอกประยุทธ์พูดข้างต้นนี้เป็นความจริง แต่คำถามก็คือ ท่านได้ทำอะไรไปบ้างเพื่อลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากในระยะยาวเราลองมาย้อนดูเมื่อ 7-8 ปีก่อน นับตั้งแต่วันลงนามในข้อตกลงปารีสซึ่งท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามร่วมกับผู้นำอีกกว่า 190 ประเทศเมื่อปี 2558 (ใน COP21) เพื่อร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความสมัครใจ (Nationally Determined Contribution, NDC) เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2100 สูงเกิน 1.5 องศา C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

เมื่อข้อตกลงปารีสผ่านไปได้ 6 ปี (ใน COP26 ปี 2564 ช้ากว่ากำหนดเดิม 1 ปีเพราะสถานการณ์โควิด-19) ทางองค์การสหประชาชาติได้ประเมินว่า คำประกาศของทุกประเทศตาม NDC เมื่อปี 2558 นั้น เมื่อรวมกันแล้วยังลดได้ไม่เพียงพอที่จะนำโลกไปสู่เป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศา C ได้ แต่จะนำไปสู่ 2.7 องศา C ซึ่งจะส่งผลเสียหายมากกว่านี้หลายเท่าตัว ทางองค์การสหประชาชาติจึงได้ขอร้องว่า “ให้ลดลงการปล่อยก๊าซฯมาเหลือ 50% ของระดับที่เคยปล่อยในปี 2010 ภายในปี 2030 ก่อน ไม่ใช่ไปรอลดเอาในตอนปลายศตวรรษซึ่งจะไม่ทันสถานการณ์ พร้อมกับให้ประกาศว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปีใด”

ว่าไปแล้วในช่วง 8 ปีที่พลเอกประยุทธ์เข้ามามีอำนาจ เป็นช่วงที่องค์การสหประชาชาติกำลังปรับเปลี่ยนวิธีการที่จะปกป้องโลกที่กำลังวิกฤติพอดี หากท่านใช้โอกาสนี้ให้เต็มที่และมีประสิทธิภาพก็จะเป็นผลดีกับประเทศไทยและโลก และจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของท่านด้วย แต่…เสียดายจัง

ก่อนที่จะดูผลการการประเมิน เรามาดูข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตจนถึงปัจจุบันและเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติด้วย ผมได้นำมาแสดงรวมในภาพแรกครับ ซึ่งพอสรุปได้ว่า

    1.ปี 2021 ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันปีละ 52,000 ล้านตัน อุณหภูมิเฉลี่ยเท่ากับ 1.2 องศา C
    2.เพื่อบรรลุเป้าหมาย ต้องลดการปล่อยลงมาเหลือ 26,000 ล้านตันภายในปี 2030
    3.นับถึง พ.ค. 2021 มีผู้ประกาศร่วมลดแล้ว แต่ยังปล่อยรวมกันใน ปี 2030 เท่ากับ 48,000 ล้านตัน คือมีผู้ประกาศลดเพิ่มอีก 4,000 ล้านตัน จึงยังมีช่องว่างอีก (Emission Gap) อีก 22,000 ล้านตัน

ผู้ประเมินคือ “Climate Action Tracker, CAT” หรือ “ผู้ติดตามการดำเนินการด้านภูมิอากาศ”เป็นกลุ่มวิจัยที่อิสระ มีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงให้มีความโปร่งใส CAT เริ่มออกรายงานการติดตามครั้งแรกในปี 2009 โดยความร่วมมือกับอีก 2 องค์กรคือ Climate Analytics และ New Climate Institute ปัจจุบันได้เพิ่มจำนวนประเทศเป็น 37 ประเทศและสหภาพยุโรปด้วยซึ่งรวมกันแล้วปล่อยก๊าซฯรวม 85% ของโลก มีจำนวนประชากร 70% ของโลก โดยรวมประเทศไทยเราด้วย

ประเด็นที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย เป้าหมายการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายและและการลงมือกระทำ
ผู้ประเมินได้แบ่งผลเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับที่ดีที่สามารถทำให้ข้อตกลงปารีสเป็นความจริงได้ จนถึงระดับแย่ที่สุดคือ “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤต (Critically Insufficient)” ซึ่งเป็นระดับที่สะท้อนว่านโยบายด้านภูมิอากาศและการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาตามข้อตกลงปารีสอยู่ในระดับต่ำที่สุดถึงขั้นไม่ได้ทำอะไรเลย พร้อมกับขยายความว่า ถ้าทุกประเทศใช้นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลงมือกระทำจริงตามที่ 5 ประเทศนี้ได้ประกาศไว้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2100 จะสูงกว่า 4 องศา C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย รายงานของ CAT ใช้คำว่า “perform so badly on climate action”

คนไทยเราทราบกันดีว่า รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามดังกล่าว แต่ทำไมจึงได้รับการประเมินให้อยู่ในระดับ “แย่ที่สุดถึงขั้นวิกฤต”

สำหรับระดับอื่นที่เหลือ โปรดดูข้อมูลจากภาพนะครับ มีเพียง 1 ประเทศเท่านั้นที่เข้าข่ายของข้อตกลงปารีส คือ The Gambia ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีประชากร 2.4 ล้านคน เป็นประเทศกำลังพัฒนา ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยในปี 2021 เพียง 0.21 ตันต่อคนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกเท่ากับ 4.21 ตันต่อคนต่อปี

โปรดสังเกตว่า สหรัฐอเมริกา และจีนซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 14.2 และ 7.4 ตันต่อคนต่อปี ตามลำดับ แต่ได้รับการประเมินให้อยู่ต่างเกรดกัน โดยที่จีนอยู่ในเกรดที่แย่กว่าสหรัฐอเมริกา แต่ยังแย่น้อยกว่าประเทศไทยซึ่งในปี 2020 ปล่อย 3.69 ตันต่อคนต่อปี

นั่นแสดงว่าเกณฑ์ในการประเมินไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการปล่อยก๊าซฯเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับนโยบาย การลงมือทำจริงและเป้าหมายที่ได้ประกาศด้วย

บ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย ณ หมู่ที่ 3 ตำบลบางกระบือ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี วันที่ 24 ตุลาคม 2565 ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/9677

ทำไมประเทศไทยจึงได้เกรด “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤติ”

ผมขอเล่าแบบสรุป ๆ เป็น 7 ข้อซึ่งเป็นเหตุผลของ CAT ดังนี้

หนึ่ง ก่อนการประชุม COP26 เพียงเล็กน้อย (ตุลาคม 2021) ประเทศไทยได้ยื่นเป้าหมายต่อองค์การสหประชาชาติว่าจะถึงเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Target) ในปี 2065 แต่พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศในเวทีว่าจะเลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality มาเป็น 2050 และ Net Zero ในปี 2065 แต่จนถึง สิงหาคม 2022 ทาง CAT พบว่ายังไม่มีเป้าหมายใดบรรจุอยู่ในเอกสารนโยบายและกฎหมายใด ๆเลย ทาง CAT ถือว่ายังมีความกำกวม

สอง ในเว็บไซต์ของ CAT ให้ข้อมูลว่า “ในการประชุม COP26 (ตุลาคม 2020) ประเทศไทยเสนอเป้าหมายเดิมที่ได้เคยเสนอไว้ในปี 2015 คือ จะลดลง 20% ของแผนการดำเนินการตามปกติ(BAU) ที่คาดหมายไว้ในปี 2030 โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้าได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศจะลดลง 25% ของเป้าหมายเดิม” ทั้ง ๆที่ในปี 2020 ทางสหประชาชาติได้ขอให้ลดมากกว่าของปี 2015 ทาง CAT ใช้คำว่า “reiterate”

นอกจากนี้ทาง CAT ได้ให้ข้อมูลว่า ในปี 2020 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 342 ล้านตัน แต่ได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2030 จะเพิ่มขึ้น 41% ดังนั้น หากประเทศไทยจะลด 20% จริง แต่สุทธิแล้วในปี 2030 ประเทศไทยก็ยังปล่อยมากกว่าปี 2020

สาม รัฐบาลได้แสดงความตั้งใจให้อยู่ในร่องรอยตามข้อตกลง โดยการเสนอร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทาง CAT ได้อ้างถึงคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า จะเสนอร่างให้ ครม.อนุมัติภายในสิ้นปี 2020 แต่สองปีผ่านมาเรายังไม่เห็นความคืบหน้าของเรื่องนี้เลย

สี่ ประเทศไทยได้ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะออกจากการใช้ถ่านหินแต่แผนของรัฐบาลในช่วง 20 ปีข้างหน้าก็หันไปใช้ก๊าซซึ่งก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนกัน

ห้า “ด้วยการลงนามในข้อตกลงปารีส แต่รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์และประเทศไทยได้ผูกมัดที่จะสนับสนุนด้วยการปฏิบัติ แต่พฤติการณ์ในปัจจุบันของประเทศเหล่านี้คือการฝ่าฝืนข้อตกลงอย่างชัดเจน(clear breach of the agreement)” (ไม่มีอิหร่าน)

หก CAT ได้อ้างข้อมูลของทางราชการไทยเอง (Thailand’s Third Biennial Update Report ,BUR3) ว่า “ในปี 2016 ภาคพลังงานมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 88%” ผมขอสรุปเองว่า ความล้มเหลวในการลดโลกร้อนของไทยเกิดจากภาคพลังงานนี่แหละที่คอยขัดขวาง

เจ็ด จากข้อมูลของ CAT พบว่า ประเทศไทยได้เสนอการเข้าสู่ Net Zero ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนให้ได้ปีละ 120 ล้านตัน ภายในปี 2037 และจะกับเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage) ไว้ใต้ดินในอัตรา 18 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2050 (หมายเหตุ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 2-3 เมกะวัตต์ ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 18 ล้านตันต่อปี)

ในประเด็นที่ 7 นี่ ผมว่าเราค่อยมาคุยกันอย่างละเอียดว่า “ชัวร์หรือมั่วนิ่ม” ในโอกาสอื่นนะครับ

สำหรับวันนี้ ผมขอนำข้อเขียนของ CAT มาสรุปว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายที่สำคัญมากมายเพื่อมุ่งที่จะแสดงถึงความทะเยอทะยานด้านภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มันได้ออกนอกเป้าหมายดังกล่าวและมีความก้าวหน้าในทางปฏิบัติเพียงเล็กน้อยเพื่อจะให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส เรา(หมายถึง CAT) จึงได้ประเมินให้ “นโยบายและการลงมือทำของประเทศไทย” ในระดับ “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤติ”