ThaiPublica > Sustainability > Contributor > สะท้อนจากหนังสารคดี The Territory กับขบวนการสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย

สะท้อนจากหนังสารคดี The Territory กับขบวนการสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย

30 มกราคม 2023


กฤษฎา บุญชัย

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/File:The_Territory_(2022_film).jpg

ผมได้มีโอกาสดูหนังสารคดี The Territory ที่ผลิตโดย National Geographic ซึ่งเป็นหนังถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ของชนเผ่า “อูรูเอวเวาเวา” เพื่อปกป้องผืนป่าที่เป็นถิ่นฐานบรรพชนในกลางป่าแอมะซอนจากการรุกรานโดยประชาชนชาวบราซิลที่ยากจน ขาดแคลนที่ทำกิน และต้องการแสวงหาทางรอดชีวิตด้วยการแผ้วถาง จับจองผืนป่า ด้วยหวังว่าสักวันเขาจะเป็นเจ้าของที่ดินสักผืน โดยมีแรงสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะขจัดพื้นที่ป่าเขตชนพื้นเมืองออกไปให้หมดสิ้น รวมทั้งเอ็นจีโอที่สนับสนุนชนพื้นเมืองด้วย

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้มีทั้งสิ่งที่หนังบ่งบอกและสิ่งที่ไม่บ่งบอก และสิ่งที่บ่งบอกก็ไม่ใช่ปมปัญหาขัดแย้งที่แยกแยะคู่ตรงข้าม ความถูกผิดที่เด่นชัดได้ง่าย และมันยังบ่งบอกปัญหาวังวนของการต่อสู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมในไทยได้อย่างแจ่มชัดเช่นกัน

เริ่มจากชีวิตของชนเผ่าอูรูเอวเวาเวา เป็นชนเผ่าไม่กี่แห่ง ที่ธำรงวิถีนิเวศวัฒนนธรรมดั้งเดิมในผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดโดยที่การพัฒนายังไปไม่ถึง แต่เมื่อการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนป่าให้กลายเป็นทุ่งเลี้ยงวัว ปลูกพืชไร่รุกเข้าไปประชิดปิดล้อมชุมชน ชนพื้นเมืองอูรูเอวเวาเวาไม่ได้มีความเข้าใจอำนาจอันน่ากลัวของขบวนการแย่งยึดที่ดิน คิดแต่เพียงว่า เขตแดนของเขาได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายชนพื้นเมือง ชนเผ่าน่าจะพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐให้ปกป้องพวกเขาได้

แต่นักพัฒนาที่เข้าไปฝังตัวจนกลายเป็นแม่อุปถัมภ์ผู้นำรุ่นใหม่ของเผ่า ได้ชี้บทเรียนให้เห็นแล้วว่า ตำรวจไม่ช่วยอะไร การเรียกร้องให้จับผู้กระทำผิดกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ ซึ่งสะท้อนภาพความล้มละลายของระบบนิติรัฐ (Rule of Law) เมื่อรัฐบาลเองเพิกเฉยต่อกฎหมายเสียเอง ในขณะเดียวกันชาวไร่ที่แผ้วถางบุกเบิกป่าก็ยืนยันว่า ถ้าตำรวจจับ เมื่อเขาออกจากคุก เขาก็จะกลับมาทำแผ้วถางผืนป่าต่อ เพื่อสิทธิในการดำรงชีพอันเป็นสิทธิที่พระเจ้าประทานให้ ในสถานการณ์เช่นนี้หน่วยงานรัฐด้านชนพื้นเมืองจึงหมดความหมาย ไม่สามารถปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองได้

เมื่อรัฐล้มเหลว ก็นำไปสู่สภาพที่แต่ละฝ่ายต่างอ้างสิทธิและเผชิญหน้ากัน ชนพื้นเมืองปกป้องสิทธิไม่ใช่เพื่อชุมชนเท่านั้น แต่ตระหนักดีว่าหากชนเผ่าล้มเหลว ป่าแอมะซอนซึ่งเป็นทั้งแหล่งดูดซับคาร์บอนฯ แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ก็จะวอดวายไปด้วย ขณะที่ชาวไร่ก็ต่อสู้ให้ได้มาเพื่อสิทธิในชีวิตจากการมีที่ทำกินที่รัฐละเลยจะคุ้มครองพวกเขา

สิ่งที่ไม่ปรากฏในหนังอย่างชัดแจ้งแต่มี คือเหตุสำคัญของความขัดแย้งทั้งหมด คือ มือที่มองไม่เห็นจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมการเกษตรที่ควบคุมที่ดินมหาศาล และผลักดันให้ชาวนาชาวไร่บุกเบิกป่าเพื่อเป็นแรงงานขั้นต่ำในอุตสาหกรรมการเกษตร และกลุ่มทุนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาล

ยุทธวิธีของกลุ่มทุนและชนชั้นนำทางการเมืองคือ สร้างกรอบการตีความหรือเข้าใจของสังคมต่อปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนทั้งความยากจน การขาดแคลนที่ทำกิน และความทุกข์ยากนานาไปในทิศทางที่เสริมความมั่งคั่งของตน แทนที่เกษตรกรจะมองปัญหาการไร้ที่ทำกินเพราะระบบผูกขาดที่ดิน และความล้มเหลวของเกษตรพาณิชย์ที่เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรอง แต่คำอธิบายที่รัฐและนายทุนอยากให้เชื่อก็คือ ยังมีผืนป่าที่จะเป็นทรัพยากรอีกมากมาย โดยไม่บอกว่าผืนป่าเหล่านั้นมีชนพื้นเมืองอยู่อาศัยมาช้านาน มีกฎหมายคุ้มครอง และป่าเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญทางนิเวศต่อโลก ต่อชาวบราซิล ต่อชนพื้นเมือง และต่อชาวไร่ด้วย ดังที่เกษตรกรบางรายสะท้อนว่า เขาไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นชาวอูรูเอวเวาเวาเลย และคิดว่าไม่เป็นธรรมที่ชนพื้นเมืองครอบครองที่ป่าจำนวนมาก แต่พวกเขาไม่มีที่ทำกิน การบุกเบิกหรือบุกรุกจึงมีความชอบธรรม

กระบวนตีความของกลุ่มอำนาจได้ทำให้สังคม โดยเฉพาะคนยากไร้ที่ประสบความทุกข์ยากจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม เพ่งมองปัญหาไปที่กลุ่มที่ด้อยอำนาจกว่า แทนที่จะหวนกลับมาตั้งคำถามกับชนชั้นอำนาจ หรือก็ไปหาทางออกกับทรัพยากรสาธารณะที่คิดว่ามีไม่จำกัด ความขัดแย้ง เกลียดชัง และความรุนแรงระหว่างกลุ่มก็เกิดขึ้น แล้วผู้ทุกข์ยากสุดก็คือกลุ่มคนที่ด้อยอำนาจที่สุด ผู้นำของชนเผ่าอูรูเอวเวาเวาถูกฆ่าตายอย่างปริศนา จะเหลือทางไหนที่ชนเผ่าจะปกป้องสิทธิชุมชนได้ เมื่อรัฐไม่ได้เป็นผู้ดูแลกติกาที่เป็นธรรมแล้ว เช่นเดียวกับชาวไร่ชาวปศุสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่เห็นหนทางที่จะหลุดออกจากความยากจนและการถูกกดขี่ เพราะกรอบอธิบายปัญหาที่รัฐฝังเขาหัวปิดบังอำพรางไม่ให้เห็นนายทุน ชนชั้นนำ ที่จะขูดรีดและแย่งยึดที่ดินของด้วยกลไกตลาดและด้วยกฎหมายต่อมา

ที่มาภาพ : https://films.nationalgeographic.com/the-territory

โชคยังดีในเบื้องต้น ที่ชนเผ่าอูรูเอวเวาเวา ด้วยการแนะนำของนักพัฒนาเอ็นจีโอที่ประธานาธิบดีโบลโซนารูต้องการกำจัดให้สิ้น ได้ดำเนินหนทางสันติวิธีด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แทนที่จะให้หอกหรือธนูที่ไม่มีวันชนะ ก็หันมาประกาศเขตแดนของชนพื้นเมือง (ซึ่งกฎหมายรับรองอยู่แล้ว) และใช้โดรนบินลาดตระเวณ ใช้กล้องวิดีโอบันทึกกิจกรรมการตรวจตรา ตรวจจับผู้บุกรุก และถ่ายทอดออนไลน์ผ่านสื่อมวลชนและสื่อของชนพื้นเมืองเองให้สังคมได้รับรู้ตัวตน ปัญหา และการดำเนินการของพวกเขา ซึ่งชนเผ่าได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาดำเนินการตามกฎหมายของรัฐด้วยชนพื้นเมืองเอง ด้วยการให้ผู้บุกรุกถอนตัวออกไป และรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่ผิดกฎหมายเสีย

แน่นอนว่าปัญหาคงไม่จบสิ้น เพราะเกษตรกรบางรายก็ประกาศว่าจะกลับมาเอาที่ดิน “ของตน” คืน แต่แรงสนับสนุนจากรัฐบาลก็คงเบาบางลง เมื่อประธานาธิบดีโบลโซนารูหมดอำนาจ แต่มีประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา ที่มุ่งมั่นปกป้องผืนป่าและสิทธิชนพื้นเมืองขึ้นมาแทน (จุดนี้ก็สะท้อนปัญหาและข้อเด่นของประชาธิปไตย เพราะประธานาธิบดีโบลโซนารูได้รับเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นภายใต้กรอบเค้าโครงความหมายที่รัฐชี้นำสังคม แต่ก็หมดอำนาจได้ด้วยการเลือกตั้งเช่นกัน) แต่ประธานาธิบดีลูลาก็ต้องเผชิญงานยากไม่น้อย เมื่อโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การขาดแคลนที่ดินของเกษตรกร ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ถูกแก้ หากไม่สามารถกระจายการถือครองที่ดินสู่เกษตรกรผู้ยากไร้ได้ กรอบโครงความหมายที่รัฐและชนชั้นนำฝังหัวประชาชนมาตลอดว่า พวกเขามีสิทธิยึดที่ป่าของชนพื้นเมืองมาครอบครอง ก็จะเป็นเหตุให้ความขัดแย้งรอบใหม่เกิดขึ้น

หวนกลับมามองสังคมไทย ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรจนนำไปสู่ความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ในพื้นที่ภาคเหนือ คนพื้นราบขาดที่ทำกิน ขาดแคลนน้ำทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องการน้ำเพื่อป้อนผลผลิตให้นายทุน ก็ถูกกรอบโครงของรัฐอธิบายความหมายว่า ชนเผ่าบนที่สูงคือสาเหตุ จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าที่สูงกับคนพื้นราบเกิดขึ้นหลายที่ ทั้งๆ ที่ชนเผ่าและเกษตรพื้นราบต่างก็ผลิตผลการเกษตรป้อนนายทุน ชนเผ่าที่ยังธำรงวิถีนิเวศวัฒนธรรมประเพณีดูแลป่าอย่างเกื้อกูล ทำเกษตรนิเวศพื้นบ้าน เช่น ไร่หมุนเวียน ของคนกะเหรี่ยงและเผ่าต่างๆ ก็ถูกกรอบโครงตีความของรัฐว่าเป็น “ไร่เลื่อนลอย” แผ้วถางป่า ชนเผ่าบนที่สูงเช่น น่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีป่ามากกว่าร้อยละ 60 หรือที่แม่ฮ่องสอนที่มีป่าถึงร้อยละ 80 ก็ถูกตีความว่า ผืนป่าต้นน้ำได้พังพินาศแล้วเพราะชนเผ่าเหล่านี้

ทั้งๆ ที่ระบบไร่หมุนเวียนของชนเผ่าคือระบบที่ช่วยธำรงรักษาผืนป่า ความหลากหลยทางชีวภาพไว้ สอดคล้องกับที่รายงานของสหประชาชาติในการประชุม COP15 ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพยืนยันว่า ร้อยละ 80 ของพื้นที่ธรรมชาติที่ยังอุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการปกป้องดูแลของชนพื้นเมือง

แต่ข้อมูลเหล่านี้จะไม่มีความหมาย เพราะไม่สอดคล้องกับกรอบโครงการตีความหมายที่รัฐและชนชั้นนำวางไว้ ความหลากหลายทางชีวภาพในไร่หมุนเวียนหรือที่ชนพื้นเมืองดูแลจึงไม่ถูกนับ เห็นได้จากกรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ถูกบังคับโยกย้าย และปิดกั้นสิทธิเพื่อปูทางไปสู่การเป็นมรดกโลกที่หน่วยงานรัฐต้องการ

ปัญหาของกรอบโครงการตีความหมายของรัฐและชนชั้นนำจึงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่จะอำพรางความเข้าใจของสังคมต่อรากของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ชนชั้นนำได้ประโยชน์ ยังผลักให้ประชาชนละเมิดสิทธิต่อกัน โดยกลุ่มคนที่ด้อยอำนาจที่สุดจะได้รับผลกระทบสูงสุดในห่วงโซ่แห่งอำนาจ และผลักภาระให้สังคมต้องแบกรับจากปัญหาการพังทลายนิเวศ ปัญหาทางสังคมจากการละเมิดสิทธิ ไม่เป็นธรรม และชนชั้นนำยังฉวยกรอบโครงตีความเหล่านี้แสวงประโยชน์ สร้างความชอบธรรม เช่น “การฟอกเขียว” อย่างต่อเนื่อง

สาเหตุปัญหาที่ป่าไม้ของประเทศไทยถูกทำลายมากที่สุดคือ การสัมปทานไม้ในยุคอดีต และกลุ่มทุนการเกษตรที่เปลี่ยนผืนป่าเป็นที่ดินปัจจัยการผลิตเพื่อผลิตสินค้าเกษตรส่งออก ถูกทำให้เข้าใจว่าชนเผ่า ชุมชนท้องถิ่นบุกรุกทำลาย ปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงน้ำจากการที่รัฐควบคุมจัดการน้ำป้อนเมือง อุตสาหกรรม และเกษตรพาณิชย์ทำให้ชุมชนต้นน้ำและปลายน้ำต้องทะเลาะกัน ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่กลุ่มทุนผูกขาด ทำให้เกษตรกรที่ปกป้องระบบนิเวศ ระบบการผลิตที่ยั่งยืน และผู้บริโภคที่ต้องการอาหารปลอดภัยต้องทะเลาะกับเกษตรกรที่ตกอยู่ระบบเกษตรเคมีของทุนขนาดใหญ่อย่างไม่มีทางเลือก

ปัญหาระบบพลังงานไทยที่ผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐมานานและเอกชนรายใหญ่ (ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นนำ) จนเป็นสาเหตุให้โลกร้อน ค่าไฟฟ้าแพง เพราะพลังการผลิตสำรองจากพลังงานฟอสซิลล้นเกิน ก็ถูกทำให้เข้าใจว่ามีทางเลือกแค่จะหนีจากการผูกขาดของกลุ่มทุนกลับไปหาการผูกขาดของหน่วยงานรัฐดีไหม โดยไม่เห็นทางออกว่าต้องกระจายอำนาจสู่ประชาชน

หรือปัญหาโลกร้อนที่มีสาเหตุจากกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลและการเกษตร ก็ถูกทำให้เข้าใจว่า ทุกคนมีส่วนทำให้โลกร้อน ให้แก้ปัญหาด้วยการซื้อเทคโนโลยี เช่น รถไฟฟ้า ติดโซล่าเซลล์ โดยไม่ตั้งคำถามต่อระบบผูกขาดพลังงาน ทรัพยากรของรัฐและเอกชนที่เป็นผู้ก่อมลพิษ และยังหลอกล่อว่า ชุมชนที่ดูแลป่า เกษตรกรที่ทำเกษตรยั่งยืนจะได้ประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิต (ระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯที่เป็นสาเหตุให้โลกร้อน) โดยไม่รู้ว่าสิทธิในการเข้าถึงจัดการทรัพยากรและการผลิตของชุมชนจะถูกครอบงำด้วยระบบขายคาร์บอนเครดิต และเลิกตั้งคำถามต่อกระบวนการฟอกเขียวที่ธำรงอำนาจและความมั่งคั่งของกลุ่มทุนและชนชั้นนำ

หรือล่าสุดได้มีภาคเอกชน ประชาสังคม จำนวนหนึ่งออกมาสนับสนุนให้รัฐเริ่มเพิ่มพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพตามเป้าหมาย 30×30 ที่ตกลงตามกรอบ COP15 โดยไม่แยกแยะว่า พื้นที่คุ้มครองแบบไหนที่รัฐจะใช้ ซึ่งหนีไม่พ้นการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ครอบทับชุมชนเพิ่มขึ้นอีก

จะมีชุมชนอีกเท่าไหรที่จะเดือดร้อนจากการประกาศเขตอนุรักษ์แบบอำนาจนิยมเช่นนี้ หรือก็เป็นเช่นเดียวกับสถานการณ์ของชาวอูรูเอวเวาเวาในบราซิล ที่กรอบโครงความหมายของชนชั้นนำอำพรางเราไม่ให้เห็นชีวิต ชะตากรรมของชุมชนเหล่านี้ และไม่เห็นว่า ความหลากหลายทางชีวภาพจะอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนพื้นเมือง

ทำไมกรอบโครงความหมายเสริมอำนาจรัฐและชนชั้นนำถึงทำงานได้อย่างดี ส่วนสำคัญเพราะรัฐและชนชั้นนำทำให้สังคมเชื่อตลอดมาว่า เรื่องราวในชีวิตรอบตัวที่ไม่ใช่เรื่องของระบบการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ พลังงาน ฯลฯ ดังนั้นสังคมจำนวนมากจึงขาดมุมมองต่อความเป็นการเมืองในชีวิตรอบตัวของพวกเขา การเมืองจึงลดรูปเพียงแค่การต่อสู้ของกลุ่มขั้วอำนาจที่ประกาศหรือถูกประกาศว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยมเท่านั้น พื้นที่ที่อยู่นอกเหนือการเมืองจึงเป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหาการพัฒนา ปัญหาความรู้และเทคโนโลยี ปัญหางบประมาณ และอื่นๆ ไม่มีนัยอำนาจซ่อนเร้น

ประการต่อมากรอบโครงความหมายของชนชั้นอำนาจ อิงกับความกลัวและความหมดหวังของประชาชน เช่น ประชาชนกลัวภัยความมั่นคง คนชั้นกลางกลัวคนจนจะทำลายป่า คนจนไม่มีหวังที่จะมีอนาคตที่ดีได้ โดยชี้ว่าความกลัวและความสิ้นหวังเหล่านั้นจะจัดการได้ต่อเมื่อรัฐเข้มแข็ง มีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการ หรือจะจัดการให้เป็นธรรมได้ด้วยระบบตลาดเสรีที่ทุกคนมีสิทธิเลื่อนชั้นได้เมื่อมุ่งมั่นทุ่มเทตามกลไกตลาด

ทั้งๆ ที่สาเหตุแห่งความกลัวเหล่านั้นมาจากระบบอำนาจนิยมของรัฐและทุนนิยมผูกขาดนั่นเอง เราจึงเห็นพลังอำนาจนิยมเติบโตได้ทั้งฝั่งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม โดยต่างออกมาสนับสนุนให้ยิ่งรวมอำนาจไว้ที่รัฐหรือไม่ก็ทุน เพียงแต่ขอให้กติกาใช้อำนาจที่โปร่งใส

แม้นเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อชี้ให้เห็นการเมืองในพื้นที่ชีวิตรอบตัวเราจากอำนาจผูกขาดสร้างความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม การต่อสู้ทางความคิดดังกล่าวก็ถูกตีกรอบให้เป็นเพียงข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามนโยบาย ไม่ใช่ปัญหาหลักการหรือแนวคิด อีกทั้งเป็นการง่ายกว่าที่ประชาชนที่ด้อยอำนาจจะไปกระทำต่อผู้ด้อยอำนาจกว่า มากกว่าจะไปต่อสู้กับอำนาจครอบงำ ซึ่งต้องการความเข้มแข็งทางอุดมการณ์และพลังทางสังคมสนับสนุนที่เข้มแข็งพอ

และที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ การกลืนกลายคำและความหมายหรือเปลี่ยนวาทกรรมฝ่ายต่อต้านอำนาจให้กลายเป็นวาทกรรมของชนชั้นอำนาจ ดังเช่น ขบวนการชุมชนปกป้องป่า เสนอหลักการป่าชุมชน อันมีนัยสิทธิชุมชนที่จะเป็นอิสระจากครอบงำของรัฐ และปกป้องจากกลไกตลาดที่จะแย่งชิงทรัพยากร แต่ป่าชุมชน หรือการจัดการป่าของชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายในเวลานี้ ได้ถูกช่วงชิงว่าเป็นป่าที่รัฐอนุเคราะห์ให้ชุมชนดูแลป่าอย่างมีเงื่อนไข ชุมชนต้องพิสูจน์ตนเองและทำหน้าที่ตามกรอบของรัฐจึงได้จะรับการยอมรับผ่อนปรนให้มีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรได้

หรือคำที่เฝือที่สุดในเวลานี้คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นที่มาของ “SDG” ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวของประชาชนคนรากหญ้าทั่วโลกที่ผลักดันให้นโยบายการพัฒนาต่างๆ ต้องไม่ละเมิดขีดจำกัดของธรรมชาติ พร้อมกับต้องสร้างความเป็นธรรมทางสังคมแก่คนด้อยอำนาจ แต่ SDG, BCG model, คาร์บอนเป็นกลาง และอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย ได้กลายเป็นวาทกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมืองเอง จากผู้ที่ทำลายนิเวศ สร้างความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคม ให้กลายเป็นผู้มีบทบาทหลักในการกอบกู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ไม่เพียงเท่านั้น ชนชั้นนำยังได้แปลกรอบวาทกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นกรอบอนุมัติงบประมาณ ซึ่งหากประชาชนต้องการเข้าถึงงบประมาณ ทรัพยากรเหล่านี้ก็ต้องเดินตามกรอบวาทกรรมเหล่านี้อย่างเชื่องๆ

บทเรียนจากหนัง The Territory ที่เชื่อมโยงกับบทเรียนของขบวนการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ทำให้เห็นว่า หากเรายังสาละวนภายใต้กรอบโครงความหมายของชนชั้นนำกำกับ ไม่เพียงแต่เราจะปกป้องนิเวศ สิ่งแวดล้อมไม่ได้ เรายังเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่รัฐและชนชั้นนำส่งผ่านมาให้เรา และเป็นส่วนค้ำยันโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ให้ดำรงอยู่ต่อไป และสักวัน หากเราไม่ขึ้นไปเป็นชนชั้นอำนาจที่กดขี่และผลักภาระให้สังคมและคนด้อยอำนาจ เราก็อาจเลื่อนลงเป็นผู้ด้อยอำนาจที่ถูกเบียดขับยิ่งขึ้นไป

มีแต่ต้องเปลี่ยนกรอบโครงความหมายใหม่ที่อยู่บนฐานสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรมของสังคมและธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทำให้สังคมเห็นในชะตากรรมร่วมกันจากระบบผูกขาดอำนาจโดยไม่ตกหลุมพรางของการแบ่งแยกและครอบงำ มุ่งสลายอำนาจผูกขาดนานาชนิดทั้งโดยรัฐและทุน และเพิ่มอำนาจต่อรองผ่านนวัตกรรมทางสังคม เทคโนโลยี กฎหมาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาชนคนรากหญ้า และประชาชนทุกภาคส่วนให้มีสิทธิในความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกัน สังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรมอันเป็นที่ปรารถนาของทุกคนจึงจะปรากฏได้