ThaiPublica > คอลัมน์ > รัฐสภาไทยควรรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์

รัฐสภาไทยควรรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์

15 ตุลาคม 2023


ประสาท มีแต้ม

อาคารรัฐสภาไทย ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org

รัฐสภาไทยควรรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์…

เพื่อเป็นการเอาใจท่านผู้อ่านที่มีเวลาน้อย ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลด้วย 3 ภาพแรกก่อน แค่ดูและอ่านผ่านๆก็พอจะทราบได้แล้วว่าบทความนี้มีวัตถุประสงค์ใด ภาพแรกเป็นอาคารรัฐสภาใหม่ของไทย อีกสองภาพผมนำมาเปรียบกับภาพแรกที่หลังคาเป็นลานโล่งเตียน คือภาพอาคารรัฐสภาของประเทศปากีสถานและประเทศอิสราเอลที่เพิ่งมีปัญหาสงครามอยู่

ในขณะเขียนบทความนี้ ทั้ง 3 ภาพผมค้นมาจาก Google Earth Pro ครับ

เดิมทีเดียวผมตั้งใจจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อนายสัตวแพทย์ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ “หมออ๋อง” ที่ได้ตัดสินใจอยู่ในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งต่อไป หากไล่เรียงตามข่าวตั้งแต่การเลี้ยงหมูกระทะกับแม่บ้านที่ทำความสะอาดอาคารรัฐสภา จนถึงความมุ่งมั่นที่หมออ๋องจะทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในหลายๆด้าน ผมจึงสรุปเอาเองว่าหมออ๋องคงได้รับหน้าที่ดูแลกิจการภายในของอาคารของรัฐสภาในส่วนที่เป็นสภาผู้แทนราษฎรด้วย แม้ว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของเลขาธิการสภาฯโดยตรง แต่ก็ควรจะอยู่ในสายงานบังคับบัญชาของหมออ๋องด้วย

ประเด็นที่ผมจะฝากถึงหมออ๋องก็คือ การใช้พลังงานในอาคารให้มีประสิทธิภาพ หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะสูงมาก เดี๋ยวผมจะค่อยๆคลี่ข้อมูลออกมาครับ

จากเอกสารการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ย้ำนะครับว่าเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับวุฒิสภา) จำนวน 166.6 ล้านบาท (จากงบสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 5,733 ล้านบาท) หากคิดว่าราคาค่าไฟฟ้ารวมภาษีแล้วหน่วยละ 5.70 บาท ก็จะเป็นจำนวนไฟฟ้า 29.2 ล้านหน่วย

ในการผลิตไฟฟ้าแต่ละหน่วยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.41 กิโลกรัม (ข้อมูลกระทรวงพลังงาน) ดังนั้น เฉพาะค่าไฟฟ้าของสภาผู้แทนราฎรอย่างเดียวจะปล่อยก๊าซฯจำนวนประมาณ 12 ล้านกิโลกรัมต่อปี

ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คนละ 4,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งทุก ๆ กิโลกรัมของก๊าซฯ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น

การติดโซลาร์เซลล์บนอาคารสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น ที่มากกว่านั้นคือการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนคือหัวใจสำคัญของการลดโลกร้อน

สภาผู้แทนราษฎรไทยควรจะทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนในการช่วยลดภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อชาวโลกทั้งมวลอยู่ในขณะนี้ กล่าวให้แคบลงมาอีก คือผมอยากจะเสนอให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคาร ซึ่งผมได้เปิด Google Earth ดูแล้วพบว่าสามารถทำได้โดยไม่ทำลายความสวยงามของอาคารแต่อย่างใด เพราะเมื่อติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์แล้วจะไม่สามารถมองเห็นได้จากด้านล่าง

เหตุผลที่ผมหยิบเอาอาคารรัฐสภามาเป็นเป้า มาจากความประทับใจในคำพูดสั้นๆ ที่อยู่ในใจของผมตลอดมาก็คือ คำพูดของนายจุนอิจิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (พ.ศ. 2544-2549) ที่ท่านได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในทำเนียบรัฐบาล ด้วยเหตุผลสั้นๆว่า

“เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพลังงานแสงอาทิตย์ได้เข้ามาอยู่ในศูนย์กลางอำนาจของประเทศญี่ปุ่นแล้ว”

คงด้วยเหตุที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ดี ๆ เช่นนี้กระมัง จึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีศักยภาพของแสงแดดน้อยกว่าเฉลี่ยของโลก แต่ในปี 2565 ประเทศญี่ปุ่นสามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 10.21% ของไฟฟ้าที่ประเทศนี้ใช้ (หรือ 98,702 ล้านหน่วย-ข้อมูลจาก Our world in data) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและของประเทศไทย ซึ่งเท่ากับ 4.52% และ 2.63% (5,020 ล้านหน่วย) ตามลำดับ

อย่าลืมว่า แสงแดดเป็นพลังงานที่ได้มาฟรี ๆ ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติมักจะแพงขึ้นตามอำเภอใจของผู้ขาย ยิ่งเกิดสงครามราคายิ่งสูงมากดังที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้

หากจะสรุปว่าความสำเร็จของญี่ปุ่นดังกล่าวมาจากผู้นำอย่างเดียวก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนญี่ปุ่นมีวลีในวงการเกษตรที่เขียนเป็นพยัญชนะภาษาอังกฤษว่า “Chisan chisho” ซึ่งหมายถึง “ปลูกในท้องถิ่น บริโภคในท้องถิ่น” คณะผู้บริหารมหานครโตเกียว (The Tokyo Metropolitan Government) จึงมีความพยายามจะนำวลีดังกล่าวมาใช้กับการกำหนดนโยบายพลังงานของเมืองโตเกียวด้วย ประกอบกับเมืองโตเกียวมีแผนจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเหลือ 50% ของระดับที่เคยปล่อยเมื่อปี 2000 ภายในปี 2030 ทางเมืองโตเกียวจึงได้ออกเป็นกฎหมายว่า

“บริษัทขนาดใหญ่ที่รับสร้างบ้านหลังจากเดือนเมษายน 2025 เป็นต้นไปต้องติดตั้งโซลาร์ให้กับบ้านทุกหลังที่สร้างใหม่ด้วย”

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากที่ผมอยากให้คนไทยและรัฐสภาไทยรับรู้ด้วยคือ กฎหมายใหม่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 นี้เอง

เรื่องนี้นำเสนอโดยสำนักข่าวเอพี (8 ตุลาคม 2566) พาดหัวความว่า ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียได้ลงนามในกฎหมายให้ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเปิดเผยของมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งหมายรวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวของพนักงานในบริษัทด้วย คาดว่าจะมี 5,300 บริษัทต้องทำรายงานตามกฎหมายใหม่นี้

กฎหมายฉบับนี้มีชื่อย่อว่า “SB 253” (ชื่อเต็มๆว่า The Climate Corporate Leadership and Accountability Act) โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดความโปร่งใสต่อสาธารณะว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีส่วนร่วมต่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร และจะกระตุ้นให้แต่ละบริษัทลดการปล่อยลงได้อย่างไร

บริษัทที่ถูกบังคับตามกฎหมายฉบับนี้จะต้องเริ่มทำรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซฯโดยตรงในปี 2026 และการปล่อยโดยอ้อมในปี 2027
ผู้สื่อข่าว (Sophie Austin) รายงานว่ามีทั้งบริษัทที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า บริษัทไม่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในการทำรายงานเรื่องการปล่อยทางอ้อมและจะเป็นการเพิ่มงานให้กับบริษัท

บริษัทใหญ่ๆ ได้แก่ Apple และ Patagonia (ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า) บอกว่าเห็นด้วยและสนับสนุนพร้อมกับบอกว่าบริษัทได้ทำอยู่แล้ว
Christiana Figueres หญิงเก่งผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญของข้อตกลงปารีส กล่าวว่า “กฎหมายฉบับนี้เป็นตัวเร่งปฎิกริยาที่สำคัญมากที่จะนำภาคเอกชนมาแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐแคลิฟอร์เนียได้เคยออกนโยบายสำคัญที่เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาแล้วหลายอย่าง เช่น การห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้การเผาไหม้ภายใน(ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล) ภายในปี 2035 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า และมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% จากระดับที่เคยปล่อยในปี 1990 ทั้งนี้ภายในปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า

การออกกฎหมายใหม่ดังกล่าวเป็นเรื่องของมาตรการในอนาคต ยังไม่มีใครทราบว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่ แต่เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลแห่งแคลิฟอร์เนียในอดีต ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลมายืนยันใน 2 ภาพข้างล่างนี้

ภาพแรกเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ขนาดเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก่อนกำหนดเวลาถึง 7 ปี

หลักการง่ายๆที่รัฐแคลิฟอร์เนียใช้ในการจัดการผลิตไฟฟ้าก็คือ ให้ไฟฟ้าที่ผลิตโซลาร์เซลล์และกังหันลมผลิตได้อย่างเต็มที่ก่อน เพราะเราไม่สามารถบังคับแดดและลมได้ หากยังไม่พอกับความต้องการก็ให้ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งได้แก่ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ มาเสริมจนพอกับความต้องการ หากมีเหลือก็เก็บลงแบตเตอรี่

ภาพที่สอง แสดงการผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงของวันที่ 23 พฤษภาคม 2566

ในความเป็นจริงแล้ว โดยอาศัยสถิติในอดีตและการพยากรณ์อากาศ เราสามารถรู้ล่วงหน้าทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้า ทั้งปริมาณของแสงแดดและลม ทำให้สามารถเตรียมการได้ล่วงหน้าอย่างค่อนข้างจะแม่นยำว่าจะใช้โรงไฟฟ้าชนิดไหนป้อนเข้าระบบในเวลาใด

จากรูปข้างบนนี้ โดยอาศัยความรู้เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย เราก็สามารถคำนวณได้ว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในวันดังกล่าวมีประมาณ 130 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินก็ก้อนโต คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 53 ล้านกิโลกรัม หรือ 53,000 ตัน นี่แค่วันเดียวนะครับ

ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้ประชาชนและหมออ๋องทราบ ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ หนึ่ง รัฐบาลมีอำนาจมากก็จริงแต่ก็มีความอุ้ยอ้าย หรือ “ความเฉื่อย (Inertia)” อยู่มาก ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนก็เยอะ จึงยากที่จะขยับเขยื้อนได้ สอง ผมเชื่อว่าคนเพียงคนเดียวที่มีความมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ในบางครั้งก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้ โอกาสของท่านมาถึงแล้ว