ThaiPublica > Sustainability > Contributor > “ปี 2566 โลกร้อนที่สุด แต่ปี 2567 จะร้อนกว่า” เป็นจริงแล้ว 33 วันแรกของปีนี้!

“ปี 2566 โลกร้อนที่สุด แต่ปี 2567 จะร้อนกว่า” เป็นจริงแล้ว 33 วันแรกของปีนี้!

12 กุมภาพันธ์ 2024


ประสาท มีแต้ม

ช่วงนี้ผมได้ยินเสียงบ่นจากเพื่อนๆ หลายคนว่าอากาศร้อน ทั้งๆ ที่เรากำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาว บางคนเสริมว่าอุณหภูมิอากาศปีนี้จะสูงถึง 50 องศาเซลเซียส แต่ไม่ได้บอกว่าของที่ไหน เดือนไหน ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้ค้นข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ทางกรมอุตุฯ ได้ประกาศให้ช่วงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นฤดูหนาวของประเทศไทยตอนบน พร้อมกับได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ฤดูหนาวมาช้ากว่าปกติ 4 สัปดาห์”

ดังนั้น จากเสียงบ่นดังกล่าว น่าจะพอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ว่า “ฤดูหนาวจากไปเร็วกว่าปกติ 3 สัปดาห์”

ผมเองได้เฝ้าติดตามข้อมูลเรื่องนี้จากเว็บไซต์หนึ่งแทบทุกวัน รออยู่ว่าเมื่อเขามีข้อมูลใหม่เมื่อไหร่ หากน่าสนใจจะรีบเขียนถึงทันที แล้ววันนั้นก็มาถึงแล้วครับ อย่างน้อยก็ใน 33 วันแรกของปีใหม่นี้

ภาพที่ผมนำมาเสนอข้างต้นนี้เป็นอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันของอากาศโลกที่เกิดจาการวัดจากสถานีต่างๆ กว่า 3 พันสถานีที่กระจายอยู่ทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 หรือ พ.ศ. 2483 จนถึงล่าสุดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024 เส้นกราฟสีเหลืองๆ (ดูภาพประกอบ) เป็นของปี 2023 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สรุปแล้วว่า

“ปี 2023 เป็นปีที่อุณหภูมิอากาศโลกเฉลี่ยทั้งปีสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก” และได้พยากรณ์ต่อไปว่า “อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยของปี 2024 จะสูงกว่าของปี 2023”

นั่นเป็นบทสรุปและคำพยากรณ์ซึ่งต้องรอจนถึงสิ้นปีนี้จึงจะรู้ได้ว่าคำพยากรณ์ดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เว็บไซต์ https://climatereanalyzer.org/ ซึ่งเป็นของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แห่งมหาวิทยาลัย Maine สหรัฐอเมริกา ได้อัปเดตข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 2 ก.พ. 2024 หรือ 33 วันแรกของปี 2024 พบว่า อุณหภูมิอากาศของโลกสูงกว่าของปีที่แล้วอย่างชัดเจนทุกวันทั้ง 33 วัน (ดูรูปอีกครั้ง) เส้นสีดำหนาสูงกว่าเส้นสีเหลืองชัดเจนทุกวัน และมีแนวโน้มว่าจะสูงกว่าต่อไปอีกหลายวัน

ผมขอยังไม่พูดถึงเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น แต่ขอมาดูให้ละเอียด (โดยการขยายจอภาพแล้วประเมินด้วยสายตา) พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของ 33 วันแรกของปี 2567 สูงกว่าของทุกปีที่อยู่ในกราฟ หรือสูงที่สุดตั้งแต่มีการบันทึก ทั้งๆ ที่ปี 2015-2016 เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (จะขออธิบายภายหลัง) รุนแรงมาก แต่อุณหภูมิอากาศโลกเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2016 ก็ยังต่ำกว่าของเดือนเดียวกันของปี 2024 ทั้งๆ ที่ความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญของปี 2024 ยังน้อยกว่าของปี 2016 ที่ถูกจัดให้เป็น Super El Nino
เรื่องราวมันค่อนข้างจะซับซ้อนนะครับ แต่ไม่ยากเกินกว่าที่เราจะทำความเข้าใจได้ โปรดเชื่อผมและกรุณาอ่านต่อไปครับ!

สองปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิอากาศโลกสูงขึ้น

ปัจจัยที่หนึ่ง คือก๊าซเรือนกระจก (green house gas หรือ GHG) ซึ่งมีหลายตัว แต่ที่สำคัญเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ตัวถัดมาคือ ก๊าซมีเทน (เกิดจากการเน่าเปื่อยของพืชและสัตว์) และสุดท้ายคือไนตรัสออกไซด์ (เกิดจากปุ๋ยเคมี)

เมื่อก๊าซดังกล่าวลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ มันจะทำหน้าที่คล้ายกับ “ผ้าห่มโลก” คือคอยขัดขวางไม่ให้แสงอาทิตย์ (ซึ่งนำความร้อนมาด้วย) สะท้อนออกไปสู่นอกโลกได้สะดวก ความร้อนจึงสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นจึงเปรียบเสมือนผ้าห่มที่หนาขึ้น ผมมีภาพมาอธิบายประกอบด้วยครับ

จากรูป (ขวามือ) ในปี 1900 ซึ่งอยู่ในยุคก่อนอุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังมีน้อย ความหนาของผ้าห่มประมาณ 300 พีพีเอ็ม (ppm) จนถึงปี 2021 ความหนาได้ขึ้นเป็น 516 พีพีเอ็ม โดยเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ในจำนวนนี้เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 80%
ในปี 2023 โดยเฉลี่ยมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคนละ 7.4 ตัน เมื่อคูณด้วยจำนวนประชากร 8 พันล้านคน ก็เท่ากับ 59,200 ล้านตันต่อปี

ขอย้ำนะครับว่า ก๊าซดังกล่าวเป็นก๊าซเรือนกระจก ในจำนวนนี้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 40,000 ล้านตันต่อปี โดยที่ธรรมชาติคือพืชทั้งบนบกและในทะเลสามารถดูดซับ (โดยการสังเคราะห์แสง) ไปได้เพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่เหลือจึงลอยขึ้นไปอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ส่งผลให้ความหนาของผ้าห่มมากขึ้น อุณหภูมิอากาศโลกจึงสูงขึ้น ไม่ยากใช่ไหมครับ

ปัจจัยที่สอง คือปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา

เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาหลายร้อยปีแล้ว คืออุณหภูมิของผิวน้ำทะเลในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่ระดับเส้นศูนย์สูตร (ดูรูปประกอบ) สูงขึ้นหรือต่ำลงอย่างผิดปกติ นักวิทยาศาสตร์มีดัชนีชี้วัดคือ Oceanic Nino Index หรือ ONI (ผมขออนุญาตแปลอย่างง่ายว่าดัชนีความรุนแรง)

ดัชนีความรุนแรงของเอลนีโญ (ONI) มาจากค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าว 3 เดือนติดต่อกัน เช่น ล่าสุด ONI ของ 3 เดือนสุดท้ายคือ พ.ย. 2566 ถึง ม.ค. 2567 เท่ากับ 2.0 โดย ONI ถัดไปจะเป็นค่าเฉลี่ยของ ธ.ค. 2566 ถึง ก.พ. 2567 ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าจะเท่ากับเท่าใด

จากข้อมูล ONI ในช่วง 1950-2024 หรือ 74 ปีที่ผ่านมา (ดังแสดงในรูป) เราสังเกตพบว่า ONI ในช่วงหลังมีค่าสูงขึ้นกว่าในช่วงแรกๆ

อิทธิพลของเอลนีโญ แม้ว่าเกิดขึ้นในบริเวณเล็กๆ เมื่อเทียบกับพื้นที่ผิวของโลกทั้งใบ แต่มันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงและในบริเวณทั่วโลกทั้งใบ ทั้งบนบก ในทะเล ใต้ทะเลลึก และในอากาศ กระแสน้ำในมหาสมุทรทั้งในส่วนผิวบนและส่วนลึกใต้สมุทรไหลเปลี่ยนทิศ ฝนก็ตกผิดที่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีสภาพแห้งแล้ง กระแสลมก็เปลี่ยนทิศ การเคลื่อนที่ของเมฆหรือ “แม่น้ำในบรรยากาศ” ก็เปลี่ยนไป

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอิทธิพลของเอลนีโญจึงรุนแรงมาก ยิ่งดังชี ONI สูงมาก ผลกระทบก็จะยิ่งรุนแรงมากและเป็นวงกว้างด้วย

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายสำนักวิเคราะห์ออกมาตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change มีผลทำให้รูปแบบของปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาเปลี่ยนไป สังเกตจากกราฟข้างต้นด้วยสายตาก็พอจะเห็นแนวโน้ม

ด้วยเหตุที่เรามี 2 ปัจจัยหรือ 2 แรงสำคัญดังที่กล่าวแล้วที่ทำให้อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ดังนั้น สมมติว่าไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญหรือลานีญา อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศโลกก็ยังคงสูงขึ้นต่อไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แม้เราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไปจากเดิมได้ถึง 90% ของปัจจุบัน อุณหภูมิอากาศโลกก็ยังคงสูงขึ้น เพราะหมายถึงการเพิ่มความหนาของผ้าห่มต่อไป ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลอยอยู่นี้จะมีอายุขัยประมาณกว่าหนึ่งร้อยปี สมมติว่าเราหยุดปล่อยทั้งหมดทันที โลกก็ยังคงร้อนต่อไปอีกหลายสิบปีจึงจะค่อยๆ เย็นลง ตามผ้าห่มที่ค่อยๆ บางลง

ในเวลานี้ ค่า ONI = 2.0 (มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส) ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเป็นค่าสูงสุดแล้วหรือยัง ถ้า ONI ยังคงเท่าเดิมหรือสูงขึ้นกว่าเดิม อุณหภูมิอากาศโลกก็ต้องสูงขึ้นต่อไปอีก จากข้อมูลในอดีตพบว่า ระยะเวลาที่เอลนีโญมีความรุนแรงระดับปานกลาง (ONI=1.0) จะนานประมาณ 1 ปี

ในขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว 6 เดือนเท่านั้น ผมจึงค่อนข้างเชื่อว่า อีกอย่างน้อย 30 วันหลังจากนี้ (หลังจาก 2 ก.พ. 2567) อุณหภูมิโลกยังคงสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2566

อ่านมาถึงตอนนี้แล้ว เป็นอย่างไรบ้างครับ หวังว่าคงจะมีความเข้าใจในหลักการและรับรู้ในข้อมูลที่ทันสมัยขึ้น

การแก้ปัญหาโลกร้อนมีทางเดียวเท่านั้น คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญและรวดเร็วตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ โดยการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีราคาถูกกว่าแล้ว ปัญหาอยู่ที่ผู้นำไม่มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหานี้ หากไม่เป็นอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็จงจดจำความรู้สึกต่อสภาพอากาศของปี 2566 ไว้ให้ดีๆ เพราะนั่นเป็นปีที่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยของโลกเย็นที่สุดแล้ว สำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ของเราทุกคน ขอบคุณครับ