ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง : อะไร? ใครบอก? เมื่อไร? ทำไม? แล้วไง?

โลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง : อะไร? ใครบอก? เมื่อไร? ทำไม? แล้วไง?

8 เมษายน 2024


ประสาท มีแต้ม

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Arctic_sea_ice_decline#/media/

1. คำนำ

เมื่อเราพูดถึงเรื่อง “โลกร้อน” เราหมายถึงสิ่งที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change หรือ global warming)” ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพอากาศในระยะยาวๆ ประมาณ 30 ปี ส่วนสถานการณ์ที่เราส่วนใหญ่กำลังรู้สึกและบ่นกันอยู่นี้ในเวลาว่า “ร้อนๆ หรือร้อนแล้ง หรือฝุ่นเยอะ” นั้นอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นวัน เป็นเดือนหรือหลายเดือนก็ได้ เขาเรียกว่า “สภาพอากาศ (weather)” เนื้อหาที่ผมจะกล่าวถึงในที่นี้ ผมหมายถึงแนวโน้มของสภาพภูมิอากาศในระยะยาวในช่วงประมาณ 150 ปีมานี้ ตลอดจนแนวโน้มในอนาคตด้วย

2. อะไร ใครบอก เมื่อไร

เวลาที่เราพูดถึงเรื่องโลกร้อนขึ้น คนทั่วไปหรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า มันค่อยๆ ร้อนขึ้นในอัตราคงที่ เช่น ถ้าในปี 1970 เท่ากับ 0.20 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนขึ้นในอัตราคงที่คือ 0.18 องศาเซลเซียส ต่อทศวรรษ ดังนั้น ในปี 1980, 1990 และ 2000 ก็จะเพิ่มเป็น 0.38, 0.56 และ 0.74 องศาเซลเซียสตามลำดับ เป็นต้น

แต่ผลงานวิจัยของ Dr. James Hansen (มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย) และคณะ ซึ่งอาศัยข้อมูลจากองค์การ NASA พบว่า ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิอากาศโลกในช่วง 2010 ถึง 2023 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.30 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ มากกว่าช่วงก่อนนี้ 2 เท่า ตัวอย่างที่ผมยกมาอธิบายนี้ปรากฏอยู่ผลงานวิจัยที่ผมได้ยกมาให้ดูในภาพแรก หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ไม่ใช่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหมือนอดีตคือช่วง 1970-2010

และหากสังเกตดูให้ดี เราพบว่าในช่วง 20 ปีของ 1950-1970 อุณหภูมิดังกล่าวคงที่นะครับ เพิ่งเริ่มร้อนขึ้นในปี 1970 หรือ 50 กว่าปีมานี้เอง ผมเชื่อว่าหลายคนอยู่ในยุคเดียวหรือใกล้เคียงกับผม

ผมเองเกิดในปี 1950 ในจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ซึ่งไม่มีฤดูหนาว ในตอนที่ผมยังเป็นเด็กจำได้ว่า พ่อผมนั่งห่มผ้าในตอนเช้าๆ ของฤดูฝน แต่ในตอนที่พ่อผมแก่ (ประมาณปี 1990) ผมไม่เคยเห็นพ่อผมใส่เสื้ออยู่บ้านเลยแม้แต่ในตอนนอน เพราะอากาศมันร้อน

ถ้าถามว่าใครบอก ก็ตอบว่าประสบการณ์จริงและข้อมูลมันบอกครับ และคนที่นำความจริงนี้มากบอกต่ออย่างเป็นวิชาการก็คือ Dr. Hansen (1941-) เป็นนักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุ่นบุกเบิกที่มีชื่อเสียงระดับโลก จนได้รับการเรียกเป็นชื่อเล่นว่า The Godfather of Global Warming

ผมทราบในภายหลังว่าข้อมูลที่อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ AL Gore นำมารณรงค์ต่อชาวโลกในประเด็นสิ่งแวดล้อมจนได้รับรางวัลโนเบลนั้น ก็มาจากผลงานของ Dr. Hansen นั่นเอง

Dr. James Hansen ได้วิจารณ์ผลงานวิจัยขององค์สหประชาชาติ (โดย IPCC) ซึ่งเป็นที่มาของ “ข้อตกลงปารีส” ว่าเป็นการประเมินอุณหภูมิของโลกที่ต่ำกว่าความเป็นจริง กล่าวคือ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราพอจะพยากรณ์ได้ว่า ในปี 2050 อุณหภูมิอากาศโลกก็จะทะลุ 2.2 องศาเซลเซียส มากกว่าทั้งเรื่องระดับอุณหภูมิและเร็วเวลาที่ได้กำหนดไว้

ผู้ดำเนินรายการทางสถานีวิทยุท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามกับผมว่า “ทำไมสหประชาชาติจึงได้กำหนดไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส” ด้วยเวลาอันจำกัดผมได้ตอบไปว่า ลองเปรียบกับรถยนต์ที่จอดอยู่บนทางลาดเอียง ถ้าเราเห็นว่ารถเริ่มไหลลง เราควรจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่รีบดันห้ามไว้หรือหาอะไรมาขวางไว้ รถจะไหลลงมาด้วยความเร่ง ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ความเร็วของรถที่ไหลลงจึงเพิ่มขึ้น แรงขึ้น ตามเวลาที่ผ่านไป แล้วเราจะดันไม่ไหว เอาไม่อยู่ แล้วถ้าเปลี่ยนจากรถยนต์มาเป็นโลกซึ่งมีมวลมหาศาล ลองจินตนาการดู ต้องใช้ความพยายามขนาดไหน ถ้าหากเอาไม่อยู่ ระบบการเคลื่อนไหวในเชิงฟิสิกส์ของมวลสารต่างๆ และในเชิงชีววิทยาของโลกจะพังขนาดไหน พายุ ภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อนจะเกิดบ่อยขึ้น แรงขึ้น และอยู่นานขึ้น รวมทั้งพืชผลการเกษตรซึ่งเป็นอาหารของเราจะเสียหายไปขนาดไหน

ดังนั้น การแก้ปัญหาโลกร้อนจึงต้องรีบทำทันที ทำอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ ต้องใช้คนทั้งโลกมาช่วยกันทำด้วย ผู้นำโลกและผู้นำประเทศบางคนอาจจะมีผลประโยชน์ส่วนตัวกับกลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิล จึงไม่นำเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พลเมืองที่ตื่นรู้จึงต้องร่วมกันทำความจริงให้ปรากฏและเผยแพร่ผ่านเครือข่ายอย่างเป็นระบบ แล้วร่วมกันผลักดันไปสู่ระดับนโยบายและระดับกฎหมายของรัฐต่อไป

3. ทำไมจึงกลายเป็นเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

เราทราบกันแล้วว่า ก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน แต่ถ้าเรารู้แค่นี้ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมมันจึงเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

ก่อนจะตอบคำถามที่ค่อนข้างซับซ้อนนี้ ผมขอนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังภาพประกอบก่อนนะครับ

สังเกตนะครับว่า ในช่วง 1990-2023 ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นจาก 354 เป็น 419 พีพีเอ็ม (ส่วนในหนึ่งล้านส่วน) หรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 18% อุณหภูมิอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีการแกว่งขึ้นลงบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะมีหลายปัจจัย แต่ที่สำคัญคืออิทธิพลของ El Nino (ที่ทำให้ร้อนเพิ่มขึ้น) และ La Nina (ที่ทำให้เย็นลง) ดังที่ได้แสดงแล้วในภาพแรก

เรายังอยู่ในขั้นตอนของการตอบคำถามว่า ทำไมโลกจึงร้อนขึ้นในอัตราเร่ง

ผมได้กล่าวมาแล้วว่า ปัจจัยที่ทำให้โลกร้อนมีหลายอย่าง โดยมีก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด แต่ระบบต่างๆ ของโลกมีความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ และส่งผลกระทบถึงกันเป็นทอดๆ ด้วย

เมื่อโลกร้อนขึ้น ส่งผลให้น้ำแข็ง (ซึ่งมีสีขาว) ในแถบขั้วโลกละลายไปบางส่วน โดยปกติความเป็นสีขาวของน้ำแข็งจะสะท้อนแสงอาทิตย์ (ซึ่งมาพร้อมพลังงานความร้อน) ออกไปจากโลกได้ถึง 90% แต่เมื่อก้อนน้ำแข็งกลายเป็นน้ำทะเล (ซึ่งมีสีเข้ม) จะทำหน้าที่สะท้อนแสงได้เพียง 10% ความร้อนจากดวงอาทิตย์จึงสะสมอยู่ในทะเล อุณหภูมิโลกจึงสูงขึ้น ยิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งก็ละลายมากขึ้น พื้นที่ที่เป็นสีขาวจึงลดลง พื้นที่สีเข้มจึงเพิ่มขึ้น ความร้อนจึงสะสมอยู่ในโลกมากขึ้น เป็นวัฏจักรที่จะเพิ่มความเสียหายที่เป็นอัตราเร่ง เป็นกระบวนการเดียวกันกับสำนวนไทยที่ว่า “ดินพอกหางหมู” คือเมื่อหมูขี้เกียจ ดินจึงพอกหาง เมื่อดินพอกหางมากขึ้นจึงยิ่งทำให้หมูขี้เกียจมากขึ้น แล้วดินก็พอกหางได้มากขึ้น

คุณสมบัติที่เป็นความสามารถในการสะท้อนแสงของวัตถุดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Earth’s Albedo โดยคำว่า Albedo เป็นภาษาละตินแปลว่า ความเป็นสีขาว

การเกิดไฟป่าก็เช่นเดียวกัน โลกร้อนทำให้เกิดภัยแล้ง ภัยแล้งทำให้เกิดไฟป่า ไฟป่าทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น… เมื่อปี 2023 ได้เกิดไฟป่าในแคนาดาที่รุนแรงที่สุดของประเทศ เสียพื้นที่ป่าไป 1.3 แสนตารางกิโลเมตร เฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากไฟป่าอย่างเดียว 290 ล้านตัน ในขณะที่ประเทศนี้เคยปล่อยก๊าซดังกล่าวประมาณ 550 ล้านตันต่อปี

ขออีกสักตัวอย่าง ประมาณ 11% ของพื้นที่ของโลกมีก๊าซมีเทน (ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก) ถูกทับถมอยู่ใต้ผิวดินเป็นเวลานานนับหลายแสนปีที่เรียกว่า Permafrost เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินถล่ม ก๊าซมีเทนที่เคยอยู่ใต้ดินก็จะหลุดลอยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ มาทำหน้าที่เป็น “ผ้าห่มโลก” โลกจึงร้อนเพิ่มขึ้นอีก เป็นวัฏจักรที่ขยายความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก

ทั้ง 3 ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ มีลักษณะเดียวกันที่สรุปได้คือ “เป็นปรากฏการณ์ที่ผลลัพธ์ที่เกิดจากปัญหากลายมาเป็นสาเหตุของปัญหา” ในทางวิชาการเขาเรียกว่า การป้อนย้อนกลับ (feedback) ถ้าป้อนย้อนกลับไปแล้ว ปัญหาขยายตัวขึ้นเขาเรียกว่า positive feedback ส่งผลให้ปัญหานั้นๆ ขยายตัวในอัตราเร่ง ถ้าปัญหาเล็กลงเขาเรียกว่า negative feedback ทั้ง 3 ตัวอย่างนี้เป็น positive feedback ครับ

เนื่องจากข้อมูลของบางปัจจัยมีความยากในการตรวจวัดให้แม่นยำ นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ตัวชี้วัดตัวใหม่ที่เรียกว่า “ความไม่สมดุลของพลังงานโลก (earth’s energy imbalance หรือ EEI)” ซึ่งหมายถึงผลต่างระหว่างพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่เข้ามาสู่โลกและพลังงานที่ออกจากโลกไปสู่นอกบรรยากาศโลก ดังภาพประกอบ

จากกราฟในภาพ พบว่า EEI ของปีต่างๆ มีค่าแกว่งขึ้นลง แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2005 ถึง 2015 ค่า EEI เฉลี่ย 0.71 วัตต์ต่อตารางเมตร และในช่วง 2020 ถึง 2023 ค่า EEI เฉลี่ยเท่ากับ 1.37 วัตต์ต่อตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่า

ถ้าเราเอาค่า EEI มาคูณด้วยพื้นที่ทั้งหมดของผิวโลก ก็จะได้จำนวนพลังงานทั้งหมดที่โลกเราได้รับเกินมา พบว่าพลังงานที่โลกได้รับเกินมานี้เท่ากับพลังงานความร้อนที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ลงเมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 1945 ถึง 8 แสนลูกต่อวัน ทุกวันตลอด 365 วัน

สาเหตุที่ค่า EEI เพิ่มขึ้นก็เพราะว่า ก๊าซเรือนกระจก (ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน) เป็นตัวขัดขวางแบบเดียวกับ “ผ้าห่ม” ไม่ให้ความร้อนออกไปจากโลก รวมทั้งความเป็นสีขาวของโลกที่หายไปจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย

นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Dr. Hansen ยังได้พูดถึง “ละอองลอย (aerosol)” บางชนิดที่เป็นมลพิษ (ที่สะท้อนแสงได้ดีและทำให้โลกเย็นลง) ที่ได้หายไปจากการตั้งกติกาใหม่ของการใช้เชื้อเพลิงในวงการเดินเรือในน่านน้ำมหาสมุทรสากลที่มีความหวังดีในเรื่องหนึ่ง แต่กลับส่งผลเสียหายในอีกด้านหนึ่ง มันซับซ้อนและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก นักวิทยาศาสตร์หลายสำนักแม้จะเห็นไปในทางเดียวกัน แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้าง ผมเองก็เป็นแค่ผู้สนใจติดตาม ยังไม่มีความลึกซึ้งมากนัก จึงขออนุญาตไม่ลงลึกมากกว่านี้นะครับ

4. โลกร้อนขึ้นในอัตราเร่ง แล้วไง

ตอบแบบสั้นๆ ว่า สถานการณ์ที่ผมเรียกว่า “เอาไม่อยู่” จะมาถึงเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้เคยคาดหมายไว้ เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าจะเอาให้อยู่ก็ต้องรีบลงมือแก้ปัญหาในทันทีและอย่างมีนัยสำคัญด้วย โลกเรามีเทคโนโลยีพร้อมแล้ว ในราคาที่ถูกกว่าการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างชัดเจน นอกจากนี้มันเป็นการกระจายรายได้ออกมาสู่ผู้บริโภคด้วย แทนที่จะอยู่ในกลุ่มผู้ผูกขาด มันทำได้ ทุกอย่างพร้อมแล้ว สิ่งที่เราขาดมีอย่างเดียวเท่านั้นคือผู้นำที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของคนทั้งโลกและโลกทั้งใบ แต่ในโลกสมัยใหม่เราสามารถร่วมกันสร้างผู้นำที่เราต้องการได้ครับ