1721955
ถ้าให้รีวิวซีรีส์ Mary & George แบบไม่อ้อมค้อม นี่คือซีรีส์แฉเรื่องอื้อฉาวในราชสำนักแบบ The Crown ที่เพิ่มดีกรีความฉาวกาม ปากแซ่บ และอำมหิตเกือบจะเลเวลเดียวกับ Game of Thrones ซึ่งเว็บมะเขือเน่า Rotten Tomatoes ให้ดีกรีความสดของ Mary & George สูงถึง 93% และบรรดานักวิจารณ์ต่างลงความเห็นว่า “หยาบช้า ลามก และจูลีแอนน์ มัวร์ คือตัวครองบัลลังก์ ท็อปฟอร์มไม่มีแผ่ว เป็นซีรีส์ฉาวโฉ่ที่วางตัวแบบผู้ดีแปดสาแหรก แต่แหกติ๋มกลางตลาดสด” ส่วนนักวิจารณ์ชื่อดัง โจเอล โกลบี้ แห่ง เดอะ การ์เดียน ให้ซีรีส์นี้ 5 ดาวเต็มด้วยความเห็นว่า “ความอิ่มเอมแสนลามกอย่างร้ายกาจ…สด ใหม่ และน่าสนใจ” ส่วนเว็บเมตาคริติก มีนักวิจารณ์ 12 คนให้ซีรีส์นี้ที่คะแนนเฉลี่ย 73 คะแนน จาก 100
ทว่าในทางกลับกัน แอนิต้า ซิงห์ แห่ง เดอะ เดลีย์ เทเลกราฟ ให้แค่ 3 ดาว แล้วระบุว่า “สนุกกับการกบฏและแฉฉาวในราชสำนัก…ในแบบดราม่าที่มีสไตล์เฉพาะตัวแต่เนื้อหาน้อยเหลือเกิน” เอ็ด พาวเวอร์ แห่ง ดิ ไอริช ไทมส์ ให้ความเห็นในเชิงรังเกียจว่า “นี่คือประวัติศาสตร์ในแบบใต้เตียงราชวงศ์ที่เขียนในแบบบันทึกเหตุการณ์จริง แต่นอกจากมันจะมีความจริงอยู่น้อยนิดแล้ว ยังเล่าเกินจริงไปมาก และแสดงความอุบาทว์ต่ำช้าภายในซีรีส์ที่อ้างว่าสร้างมาจากเรื่องจริง” ส่วน เอลิซาเบธ เกรกอรี แห่งยาฮู่นิวส์ จั่วหัวบทวิจารณ์ของเธอว่า “เป็นดราม่าย้อนยุคที่เซ็กซี่และถ่อยสถุล”
จะเห็นได้ว่าแม้คำวิจารณ์จะแตกเป็นสองขั้ว แต่ถ้าวิเคราะห์จริง ๆ จะพบว่าทั้งสองฝ่ายต่างการันตีถึงความฉาวแบบสับแบบฉ่ำของซีรีส์นี้ Mary & George อันเป็นซีรีส์ที่มีคำโปรยว่า “เสี้ยนเพื่ออำนาจ” และโฆษณาตัวเองว่าเป็น “ละครอิงประวัติศาสตร์อันกล้าหาญเกี่ยวกับแม่และลูกชาย พวกเขาคือผู้ทรยศที่สมคบกันวางแผนชั่ว ล่อลวง และสังหารโหดเพื่อพิชิตราชสำนักอังกฤษและเตียงนอนของราชา” ส่วนสำนักข่าวอังกฤษ บีบีซีสรุปซีรีส์นี้ได้ด้วยบรรทัดเดียวว่า “นักไต่เต้าทางสังคมที่ใช้เซ็กซ์และเล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้เป็นคนโปรดของพระราชา”
แต่ถ้าจะให้เล่าจากมุมเรา นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละคร(ที่เคยมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์) ที่ต่างต้องเชิดหน้าใส่กันด้วยความใฝ่สูงในระหว่างที่เรื่องเลวระยำกำลังเกิดขึ้นพร้อมกัน ทำให้พวกเขาต่างแสวงหาอำนาจทุกวิถีทางไม่ว่าจะด้วยวิธีโสมมขนาดไหน เพื่อจักได้มาซึ่งการเข้าถึงราชา ทั้งที่ต่างรู้ดีว่าการใกล้ชิด…กษัตริย์ผู้เป็นบุคคล Can do no wrong ใจโลเล และตื่นกลัวง่ายต่อการถูกล้มล้าง ย่อมหมายความว่าเกมนี้เดิมพันด้วยชีวิต คือถ้าไม่รอดก็ตาย และมนุษย์ขี้เหม็นทุกคนสามารถทำเรื่องชั่วช้าได้สารพัดตราบเท่าที่พวกเขามี ‘อำนาจ’ หรือ ‘โอกาส’
เรื่องราวของ แมรี่ ที่พบว่า จอร์จ ลูกชายคนรองของเธอช่างหล่อเหลือเกิน ให้เผอิญว่ากษัตริย์เจมส์ รัชกาลที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ และทรงเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งอังกฤษกับไอร์แลนด์ด้วยนั้นทรงมีรสนิยมใคร่เพศชายด้วยกัน แมรี่จึงส่งจอร์จไปฝึกปรือความเป็นชายด้วยสารพันวิชาไม่ว่าจะ เต้นรำ ฟันดาบ และฟันบนเตียง ณ วังหลวงแห่งฝรั่งเศส ที่นั่น จอร์จ ได้พบว่ารสนิยมอันหรูเริ่ดของชนชั้นเชื้อเจ้า พวกเขานอกจากจะกินดะยัดทะนานทุกอย่างแล้ว ยังเอาดะได้ทุกเพศ เพราะพวกเขาไม่ต้องทำงานทำการ เงินทองก็ได้มาจากการผลาญภาษีประชาชน และด้วยวลีที่ปรากฎในซีรีส์ว่า “เนื้อหนังก็เป็นแค่เนื้อหนัง”
หลังจากทุกอย่างพร้อมแล้ว แมรี่ ก็หาช่องทางจนสามารถทำให้จอร์จเป็นที่ต้องตาพระราชา แต่เวลานั้นคิงเจมส์มีผู้กุมอำนาจบนเตียงอยู่แล้ว คือ ซอมเมอร์เซ็ท ผู้ที่ได้ประโยชน์ใหญ่หลวงจากอำนาจด้วยการคอร์รัปชัน ไหนเลยจะยอมสละเตียงแบ่งให้จอร์จเข้ามาเอี่ยว ช่วงแรกของซีรีส์จึงสนุกตรงนี้ว่าแมรีจะวางแผนทำอย่างไรให้จอร์จได้ครองเตียงของคิงที่มีเจ้าของเดิมนอนแบอล่างฉ่างอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่ความสัมพันธ์พันตูบนเตียงจะลุกลามไปสู่ศึกระหว่างชนชาติ สร้างความคั่งแค้นแก่ชาวประชาที่ปรารถนาชีวิตที่ดีกว่า สงบสุข และไม่ถูกรีดภาษีไปบำเรอกามในวังหลวงจอมกินดะและยัดดุ
ซีรีส์ Mary & George ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 7 ตอนจบ ดัดแปลงมาจากหนังสือ The King’s Assassin: The Secret Plot to Murder King James I (2017) ของเบนจามิน วูลลีย์ การตั้งชื่อหนังสือเช่นนี้ว่า “ผู้สังหารกษัตริย์” ย่อมหมายความว่าต้องการจะเปิดเผยความจริงว่า กษัตริย์องค์นี้ไม่ได้ตายเพราะป่วยหนักจากโรคบิดอย่างในประวัติศาสตร์บอก แต่เป็นไปได้ว่าจะถูกลอบสังหาร คำถามคือ…ใคร? และอย่างไร? ซึ่งถ้าคุณไม่ได้อ่านเล่มนี้ ในซีรีส์นี้มีเฉลยว่าใครเป็นคนทำซึ่งเป็นคนเดียวกันกับในหนังสือ ทว่าด้วยวิธีอย่างไรนั้น…สองเวอร์ชั่นนี้มีคำอธิบายที่แตกต่างกันอยู่มาก
วูลลี่เล่าว่า “พระเจ้าเจมส์ที่ 1 สิ้นพระชนม์ตอนต้นปี 1625 เขาป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบ โรคเกาต์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก่อนที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองในเดือนมีนาคม เวลานั้นคนใกล้ชิดที่ดูแลคิงเจมส์คือแมรีกับจอร์จ แต่กลายเป็นว่าสุดท้ายแล้วคิงเจมส์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 มีนาคมด้วยโรคบิดอย่างรุนแรง ซึ่งจุดนี้เองที่บอกความเป็นไปได้กับเราว่า คิงเจมส์น่าจะถูกวางยา ตอนเขียนเล่มนี้ผมได้คุยกับนักพิษวิทยาที่ต่างลงความเห็นว่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง แถมอาจจะระบุพิษได้ด้วยว่าอาจจะเป็น อะโคไนต์ หรือ วูล์ฟสเบน” แปลว่าในหนังสือเล่มนี้ระบุว่าคิงเจมส์น่าจะเสียชีวิตด้วยการถูกวางยา แต่ในซีรีส์เลือกทางออกที่ต่างออกไป คือไม่ใช่ตายเพราะโรคบิด หรือถูกวางยา…แต่ด้วยวิธีอื่นที่อำมหิตกว่านั้น
Mary & George นำแสดงโดย จูลีแอนน์ มัวร์ (Boogie Nights, Magnolia, The Hours) นักแสดงยอดฝีมือผู้เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 5 ครั้ง (และคว้ามาได้สำเร็จครั้งหนึ่งจาก Still Alice) ในบทแมรี ส่วนจอร์จแสดงโดยหนุ่มหล่อดาวรุ่ง นิโคลัส กาลิตซีน ผู้แจ้งเกิดจากหนังวายไอริช Handsome Devil และเคยรับบทเป็นเจ้าชายแห่งราชวงศ์อังกฤษ ในหนังเกย์สุดฮิต Red White and Royal Blue ตัวจริงเขาเป็นทายาทสายตรงแห่ง House of Golitsyn เจ้าสูงศักดิ์แห่งจักรวรรดิ์รัสเซีย แถมยังได้เชื้อความหล่อเหลาราวรูปปั้นกรีกมาจากแม่ผู้มีเชื้อสายกรีกอีกด้วย
ฉากหลัง
ลำดับแรกที่คุณควรรู้เกี่ยวกับฉากหลังของเรื่องนี้ ช่วงเวลาของคิงเจมส์ที่ 1 ครองบัลลังก์ในปี 1603 ต่อจากการสิ้นพระชนม์ของควีนเอลิซาเบธที่ 1 วูลลี่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อธิบายว่า “มันคือยุคจาโคเบียน หรือบางทีก็ถูกเรียกว่ายุคเรอเนซองส์ของอังกฤษ ยุคนี้แหละที่เช็คสเปียร์กำลังเขียนบทละครของเขาอยู่ พวกอังกฤษมีความพยายามจะตั้งอาณานิคมระยะยาวขึ้นครั้งแรกในอเมริกาตรงบริเวณเจมส์ทาวน์ ในรัฐเวอร์จิเนีย นี่คือช่วงที่เกิดความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยบุคคลที่กลายมาเป็นตัวละครสำคัญในหนังสือเล่มนี้และซีรีส์เรื่องนี้ มันเป็นช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดาเลยว่ามั้ย”
จาโคเบียน เป็นที่รู้จักว่าเป็น “ยุคทอง” ของวรรณกรรม และบทละครเกี่ยวกับควีนเอลิซาเบธยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจากสมัยทิวดอร์ โดยมีนักเขียนดัง ๆ อย่าง วิลเลียม เชกสเปียร์, จอห์น ดอนน์, เบน จอนสัน และฟรานซิส เบคอน (คนหลังสุดนี้โผล่เป็นตัวละครสำคัญในซีรีส์นี้ด้วย) มีส่วนทำให้วัฒนธรรมวรรณกรรมเจริญรุ่งเรือง ตัวคิงเจมส์เองก็เป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมาย อาทิ Daemonologie (1597), The True Law of Free Monarchies (1598) และ Basilikon Doron (1599) เขาสนับสนุนการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาอังกฤษซึ่งต่อมาตั้งชื่อตามเขาว่าเป็นฉบับ Authorized King James และหนังสือสวดมนต์ทั่วไปฉบับปรับปรุงในปี 1604 แอนโธนี เวลดอน ขุนนางในสมัยคิงเจมส์ที่ถูกเฉดหัวออกจากราชสำนัก เคยอ้างว่าเจมส์ถูกซุบซิบกันในหมู่อำมาตย์ว่าเป็น “คนโง่ที่ฉลาดที่สุดในคริสต์ศาสนา”
ส่วนในอีกฟากฝั่งหนึ่ง แมรี ผู้เป็นแม่ของจอร์จ วัลลี่ผู้เขียนหนังสืออธิบายว่า “ขณะเดียวกันไม่มีใครรู้เกี่ยวกับภูมิหลังของแมรีมาก่อนที่เธอจะขึ้นสู่อำนาจ เรารู้เพียงว่าเธอน่าจะเกิดในราวปี 1570 และน่าจะมาจากครอบครัวต่ำต้อย กระทั่งได้มาเป็นเคานท์เตสแห่งบัคกิงแฮม เข้านอกออกในวังหลวงได้อย่างสบาย ทันใดนั้นเธอก็ทำลายหลักฐานทั้งหมดจนแทบไม่เหลืออะไรให้เราจะสามารถสืบค้นมาเล่าเกี่ยวกับอดีตของเธอได้เลย แมรีลงเอยด้วยการแต่งงานกับเซอร์จอร์จ วิลลิเยร์ส (หลังจาก ออเดรย์ เมียคนแรกของเขาตายไปไม่นาน)ในปี 1587 กระทั่งมีลูกด้วยกัน 4 คน คือ ซูซาน, จอห์น, จอร์จ และคริสโตเฟอร์ แม้จะเป็นเรื่องยากมากที่จะทำ แต่เธอก็หลอกคนรอบตัวได้สำเร็จ”
อันที่จริงคิงเจมส์ควบรวม 3 บัลลังก์เข้าด้วยกัน กล่าวคือเขาเป็นกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ภายใต้ชื่อ พระเจ้าเจมส์ ที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 1567 ขณะขึ้นครองราชย์เขามีอายุแค่ 13 เดือนหลังจากที่แม่ของเขาถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ก่อนที่ในอีก 36 ปีต่อจากนั้นเขาจะควบรวมตำแหน่งกษัตริย์แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ในฐานะพระเจ้าเจมส์ ที่ 1 เนื่องด้วยควีนเอลิซาเบธที่ 1 กษัตริย์แห่งราชวงศ์ทิวดอร์องค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที 24 มีนาคม 1603 กระทั่งคิงเจมส์สิ้นพระชนม์ในปี 1625 และเขาได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดแห่งสกอตแลนด์ (57 ปี 246 วัน)
การที่เขาควบรวม 3 บัลลังก์เข้าไว้ด้วยกันได้เป็นเพราะตัวเขาเป็นลูกชายของ แมรี ราชินีแห่งสก็อตผู้มีศักดิ์เป็นหลานสาวของเฮนรีที่ 7 กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่(อังกฤษ) และเป็นลอร์ดแห่งไอร์แลนด์ด้วย แต่ถ้าให้เล่าง่าย ๆ คือ ควีนเอลิซาเบธที่ 1 แห่งทิวดอร์(ครองบัลลังก์อังกฤษและไอร์แลนด์) ไม่มีลูกสืบสกุล ขณะที่ควีนแมรีหนีตายจากพวกสก็อตแลนด์ ต่อมาเธอถูกควีนเอลิซาเบธจับขังคุกในวังหลายแห่ง (เนื่องจากควีนแมรีอ้างจะชิงบัลลังก์สืบทอดต่อจากเอลิซาเบธด้วยเธอมีศักดิ์เป็นหลานของเฮนรีที่7 ผู้เป็นปู่ของเอลิซาเบธด้วย ซึ่งชาวคาทอลิกในอังกฤษหลายคนสนับสนุนควีนแมรี) ย้ายไปขังวังนั้นวังนี้อยู่นาน 18 ปีครึ่ง จนตัดสินประหารควีนแมรีในปี 1586 โทษฐานลอบสังหารควีนเอลิซาเบธ ด้วยการตัดหัวควีนแมรี ณ ปราสาทเฟอริงเฮย์ จนท้ายที่สุดก็ยกตำแหน่งคิงให้กับเจมส์ลูกของแมรี ตอนที่เจมส์เวลานั้นมีอายุ 37 ปี
อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าคิงเจมส์เป็นพวกสุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายไปกับการกินอยู่อย่างหรูหรากับบรรดาสหายชายจอมตะกละยัดดุมากมายที่นอกจากจะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน เกิดคอร์รัปชันใหญ่โตแล้ว เงินในคลังยังร่อยหรอจนต้องรีดเงินภาษีจากประชาชนเพิ่มด้วย
มีช่วงหนึ่งในซีรีส์ที่น่าจะพออธิบายสิ่งที่คิงเจมส์เป็นได้ก็คือ
คิงเจมส์ “คนเหล่านี้ฆ่าพ่อของฉันก่อนที่ฉันจะเกิด บังคับให้แม่ฉันเรียนภาษาอังกฤษ ก่อนจะโยนเธอไปขังไว้ในกรง แล้วจบลงด้วยการบั่นหัวเธอ”
ควีนแอนน์ “เจมส์ถูกเลี้ยงดูมาโดยผู้ชาย ในโลกของเพศชาย เขาเข้าใจแต่ผู้ชายเท่านั้น เขาไม่มีแม่หรือน้องสาว ผู้หญิงไม่มีความสำคัญอะไรเลยสำหรับเขา แม้แต่ราชินีอย่างฉัน”
FYI แผนดินปืน
เรื่องสำคัญที่คนอังกฤษรู้ในตำราเกี่ยวกับยุคคิงเจมส์ แต่ในซีรีส์ไม่ได้เล่า คือ Gunpowder Plot แผนกบฏดินปืน หรือกบฏนิกายเยซูอิต เพียงสองปีหลังจากเจมส์ขึ้นบัลลังก์อังกฤษ เมื่อโรเบิร์ต เดตส์ บี นำกลุ่มคาทอลิกในอังกฤษวางแผนระเบิดสภาขุนนางในระหว่างการเปิดรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 แต่แผนแตกเสียก่อน ทำให้ต่อมากลุ่มกบฏเหล่านี้ถูกจับแขวนคอยกชุด หรือมีเล็ดรอดหนีออกไปตามช่องทางธรรมชาติบ้าง และนี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ในซีรีส์เล่าว่าสภาถูกปิดประชุมไปอย่างยาวนานถึง 6 ปี
FYI กาย ฟอกส์ จากกบฏสู่วีรบุรุษ
ในปัจจุบันในกลุ่มผู้ประท้วงทางการเมืองมักสวมหน้ากาก กาย ฟอคส์ ที่หลายคนรู้ว่ามันมาจากหนังเรื่อง V for Vendetta (2005 ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนดังอีกทอดหนึ่ง) ในหนังเรื่องนั้นกล่าวถึงตัวละครที่สืบทอดอุดมการณ์ของ กาย ฟอคส์ ขณะที่จริง ๆ แล้ว กาย ฟอคส์ หรือชื่อจริงว่า กุยโด ฟอคส์ นั้นมีตัวตนอยู่จริงในยุคของคิงเจมส์ (แต่ไม่ปรากฏในซีรีส์เนื่องจากกบฏดินปืนเกิดในปี 1605 แต่เหตุการณ์ในซีรีส์เน้นเรื่องราวเริ่มตั้งแต่ปี 1612) และเขาคือหนึ่งในทีม 13 คนของแผนดินปืนที่ถูกแขวนคอในวันที่ 31 มกราคม 1606 ครั้งนั้นด้วย ทว่าตัวเขาถูกจับได้ในฐานะคนเฝ้าระเบิด 36 ถังที่จะใช้ถล่มสภาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605 แล้วนับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา จึงมีการจุดพลุและเผาหุ่น กาย ฟอคส์ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี ชาวบริเตนใหญ่เรียกกันว่า “กาย ฟอคส์ไนท์” อันเป็นสิ่งที่ในเบื้องแรก ทางรัฐจัดตั้งขึ้นเพื่ออวยยศคิงเจมส์ที่รอดชีวิตจากเงื้อมมือแห่งความตายมาได้ ประเพณีนี้ถูกบังคับใช้เพื่อกดหัวชาวบ้านไปจนถึงปี 1859 แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อชาวบ้านตาสว่างรู้ว่ากษัตริย์ชั่วรีดภาษีใช้จ่ายเงินไปกับชายบำเรอกาม ต่อมา กาย ฟอคส์ไนท์จึงเปลี่ยนความหมายไป กลายเป็นวันรำลึกถึงกบฏคนสำคัญผู้พยายามจะลอบสังหารคิงจนตัวตาย
เดิมทีหุ่นกาย ฟอคส์ จะถูกสร้างโดยเด็ก ๆ ด้วยการใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ สวมเสื้อผ้าเก่าขาดวิ่น ใส่หน้ากาก ในช่วงศตวรรษที่ 19 คำว่า “guy” จึงมีความหมายเชิงดูถูกหมายถึงคนแต่งตัวปอน ๆ ประหลาด ๆ แต่ไม่นานหลังจากนั้นความหมายในเชิงดูถูก ก็เปลี่ยนไป พวกเขาใช้คำว่า “guy” เรียกพวกผู้ชายในแบบเป็นกันเองแทน กระทั่งในปัจจุบัน “guy” สามารถใช้พูดถึงกลุ่มคนโดยรวมแบบไม่ระบุเพศได้ด้วย เช่น “You guys… (พวกคุณ)”
เจมส์ ชาร์ป ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยยอร์ก บรรยายถึงการที่กาย ฟอคส์ ถูกอวยยศว่าเป็น “คนสุดท้ายที่เข้ามาในรัฐสภาด้วยความตั้งใจแน่วแน่เพื่ออุดมการณ์ ด้วยเหตุว่า วิลเลียม แฮร์ริสัน เอนส์เวิร์ธ ได้เขียนหนังสือ Guy Fawkes (1841) ในมุมเห็นอกเห็นใจฝ่ายกบฏ นวนิยายของเขาได้เปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของสาธารณชนให้ ฟอกส์ กลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ จนเวลาต่อมาไม่นานจากนั้น ตำนานกาย ฟอกส์ ได้เปลี่ยนเขาให้กลายเป็นวีรบุรุษที่ถูกกระทำโดยรัฐ โดยเฉพาะในหนังสือชุดสยองขวัญที่เรียกกันโดยรวมว่า penny dreadful อาทิ The Boyhood Days of Guy Fawkes, The Conspirators of Old London ที่ถูกตีพิมพ์รวมปี 1905” นักประวัติศาสตร์ ลูอิส คอล เคยให้ความเห็นว่า “หน้ากาก กาย ฟอคส์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในวัฒนธรรมการเมืองสมัยใหม่ จนปลายศตวรรษที่ 20 ฟอกส์ ได้รับการยกย่องจากหลายกลุ่มว่าเป็นกบฏพลีชีพเพื่อการเมือง หรือเป็นนักสู้เพื่ออิสรภาพ (freedom-fighter)”
ชะตากรรมของตัวละครบางคน
เชื่อว่าเมื่อดูซีรีส์นี้จบหลายคนคงอยากรู้ว่าชะตากรรมของตัวละครต่าง ๆ ในซีรีส์นี้จะเป็นอย่างไรในชีวิตจริง เรารวบรวมบางส่วนมาไว้ตรงนี้แล้ว
ทายาทของคิงเจมส์
ในซีรีส์แสดงให้เห็นเพียงลูกชายคนเดียวคือ เจ้าฟ้าชายชาร์ล อันที่จริง คิงเจมส์และควีนแอนน์แห่งเดนมาร์ก มีลูกด้วยกันมากถึง 9 คน แต่เหลือรอดชีวิตโตมาได้เพียง 3 คน ได้แก่ ลูกชายคนโต เฮนรี เฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งต่อมาเสียชีวิตในวัย 18 ปีด้วยโรคไทฟอยด์, เอลิซาเบธ ลูกสาวคนแรกและคนเดียวที่จนหลังจากคิงเจมส์ตายไปแล้ว เธอก็ยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่เหตุการณ์ในซีรีส์เวลานั้นเธอไปดองเป็นมเหสีของเฟรเดอริกที่ 5 แห่งพาลาทิเนต(ปัจจุบันเป็นเมืองในเยอรมนี) อาณาจักรโรมันศักดิ์สิทธิ์ จนต่อมาถูกยกเป็นราชินีแห่งโบฮีเมีย(โปแลนด์) เคียงข้างเฟรเดริกที่กลายเป็นกษัตริย์แห่งโบฮีเมียด้วยเช่นกัน ทว่าการที่ขุนนางโบฮีเมียเลือกทั้งคู่ขึ้นครองมงกุฎเป็นส่วนหนึ่งของความวุ่นวายทางการเมืองและศาสนาที่ก่อให้เกิดสงครามสามสิบปี อันเป็นความขัดแย้งที่ยาวนานและทำลายล้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วง 1618-1648 ทว่าพวกเขาครองโบฮีเมียได้เพียงปีเดียวก็ถูกบังคับให้สละทั้งสองบัลลังก์คือในโบฮีเมียและในพาลาทิเนต อันเป็นที่มาถึงฉายาอันเหยียดหยามว่า “ราชาและราชินีแห่งฤดูหนาวเดียว” จนเมื่อสามีเธอตาย เอลิซาเบธก็ย้ายกลับมาอังกฤษในช่วงบั้นปลายชีวิต
ส่วนชาร์ล ลูกชายคนที่สามของเจมส์ ภายหลังถูกยกขึ้นเป็น พระเจ้าชาร์ลที่ 1 แห่งอังกฤษ ในปี 1626 และในซีรีส์ไม่ได้กล่าวถึงคือ ชาร์ลแต่งงานในปี 1625 กับ เฮนเรียตตา มาเรีย แห่งฝรั่งเศส แต่อย่างที่เห็นในฉากต่อสู้เชือดเฉือนคมกันในรัฐสภาในซีรีส์ อันที่จริงในยุคของชาร์ลดุเดือดกว่านั้นเยอะ เพราะนอกจากในปี 1642 เขาต้องรับมือกับสภาอังกฤษและสกอตแลนด์แล้ว ยังถึงขั้นพ่ายในสงครามกลางเมืองในปี 1645 ด้วยฝีมือของกองทัพรุ่นใหม่แห่งรัฐสภา จนเขาต้องลี้ภัยไปทางเหนือ แต่สุดท้ายถูกกองทัพสกอตแลนด์ดักจับได้ จนหลังจากมีการถกเถียงกันอย่างยาวนานระหว่างสภาอังกฤษกับสภาสก็อตแลนด์ สุดท้ายเขาถูกส่งตัวไปตัดสินที่ลอนดอน ก่อนจะถูกคุมขังบนเกาะไวท์ จนปลายปี 1648 เขาถูกกองทัพรุ่นใหม่ที่รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวควบคุมเหนืออังกฤษ แล้วพิจารณาโทษเขาด้วยการตัดหัวประหารชีวิต โทษฐานกบฏในเดือนมกราคม 1649 อันเป็นช่วงเวลาที่ต่อมามีการยกเลิกระบอบกษัตริย์ในเครือจักรภพอังกฤษ แล้วสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ กระทั้งระบอบกษัตริย์กลับมาอีกครั้งในปี 1660 สมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 2 (โอรสของชาร์ลแรกที่ถูกประหาร)
ดังนั้นประโยคในซีรีส์ที่ชาร์ลกล่าวว่า “เมื่อไหร่ข้าได้ขึ้นครองราชย์ พวกผู้ชายอย่างแก จะไม่มีที่ยืน” จึงไม่เป็นความจริง แต่ตรงกันข้าม ฝ่ายชาร์ลเองต่างหากที่ถูกกำจัดออกจากบ้านตัวเอง
ฟรานซิส เบคอน
แม้ในซีรีส์นี้จะไม่ได้แสดงให้เห็นด้านอื่น ๆ ของ ฟรานซิส เบคอน เลย แต่ก่อนหน้านี้ในซีรีส์ 3 Body Problem เขาปรากฏในเกมวีอาร์ในฐานะผู้บุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งนั่นเป็นความจริงตามประวัติศาสตร์ เบคอนอยู่ในช่วงที่วิทยาศาสตร์กำลังพัฒนา ในช่วงเวลาของเขาต่อยอดมาจาก ฮันเนส เคปเลอร์ในเยอรมนี และ กาลิเลโอ ในอิตาลี จนมาถึงเบคอนที่ได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ปฏิวัติองค์ความรู้จากยุคเก่าของโคเปอร์นิคัส นำมาวางรากฐานใหม่ เขาเป็นผู้สนับสนุนที่มีอิทธิพลในการโน้มน้าวใจไปสู่การตั้งคำถามและการทดลองใหม่ ๆ ในการศึกษาโลกธรรมชาติ จนได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งลัทธิประจักษ์นิยม” เนื่องจากเขาชอบโต้เถียงถึงความเป็นไปได้ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ โดยอาศัยเหตุผลเชิงอุปนัย และการสังเกตเหตุการณ์ในธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทางปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และอีกอย่างที่ต่างไปจากในซีรีส์คือ ความเป็นจริงแล้ว เบคอน มีรสนิยมชอบเพศชายด้วยเช่นกัน
คนรักของพวกเขา
ตัวละครสำคัญผู้พลักดันให้เรื่องมาถึงจุดที่ปรากฏในซีรีส์ คนหนึ่งคือคนรักของแมรีแม่ของจอร์จ ซึ่งปรากฏว่าเป็นหญิงด้วยกันนามว่า แซนดี้ บรูคส์ ที่แมรีพบเธอในซ่องค้ากาม จริง ๆ แล้วตัวละครนี้ไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ดังนั้นฉากหญิงหญิงในซีรีส์นี้จึงไม่เป็นความจริง แล้วจากในซีรีส์จะเห็นว่า แมรี แต่งงานเพียง 2 หน ความจริงแล้วเธอแต่งงานถึง 3 ครั้ง โดยในซีรีส์ได้ตัดข้าม เซอร์วิลเลียม เรย์เนอร์ สามีคนที่สองของเธอออกไปจากเรื่องราว
ขณะที่คิงเจมส์ได้กล่าวถึงรักแท้รักเดียวของเขาผู้มีนามว่าเลนน็อกซ์อย่างกำกวมจนคนดูงงว่าตกลงแล้วเลนน็อกซ์เป็นใครกันแน่ ความเป็นไปได้ที่สุดน่าจะเป็น เอสเม่ สจ๊วร์ต ดยุกที่ 1 แห่งเลนน็อกซ์ หรือ เอิร์ลที่ 1 แห่งเลนน็อกซ์ หรือเอิร์ลแห่งเลนน็อกซ์ที่ 6 ซินญอร์ โดบินญี ขุนนางชาวฝรั่งเศสคาทอลิกผู้มีเชื้อสายสก็อตแลนด์ (เป็นสาเหตุว่าทำไมคิงเจมส์จึงฟังภาษาฝรั่งเศสออก) สจ๊วร์ต ย้ายจากฝรั่งเศสไปสก็อตแลนด์ในปี 1579 ขณะที่เขามีอายุ 37 ปี จนเป็นที่โปรดปรานของคิงเจมส์ในวัย 13 ปี เขามีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องคนแรกของพ่อคิงเจมส์ (ดังที่ในซีรีส์เล่าว่าคิงเจมส์ในวัยเด็กรักชายแก่กว่า แต่พอตัวเองแก่ก็เลยรักเด็กหนุ่มกว่ามาก)
แต่ความขัดแย้งด้านศาสนาในวังหลวงทำให้สุดท้าย สจ๊วร์ต ถูกอัปเปหิกลับฝรั่งเศสในปี 1582 แต่ยังคงติดต่อคิงเจมส์ทางจดหมายอย่างลับ ๆ และสิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงที่ในซีรีส์เล่าอย่างโรแมนติกและดูเกินจริง คือ หลังจาก สจ๊วร์ต ตาย หัวใจของเขาถูกดองแล้วนำกลับไปหาคิงเจมส์ในสกอตแลนด์จริง ๆ โดยพาเอาภรรยาและลูกชายคนโตของเขา ลูโดวิช สจ๊วร์ต มาฝากไว้ในราชสำนักด้วย คิงเจมส์เคยเขียนกวีไว้อาลัยเลนน็อกซ์ในชื่อว่า “Ane Tragedie of the Phoenix” ซึ่งเปรียบเทียบเลนน็อกซ์กับนกฟีนิกซ์ที่มีความงามเป็นเอกลักษณ์แต่ถูกฆ่าด้วยความริษยา
จุดจบของจอร์จ
ความตายของจอร์จ ไม่ต่างจากในซีรีส์สักเท่าไหร่ ความไร้ความสามารถและฉ้อฉลของจอร์จ ทำให้รัฐสภาพยายามฟ้องร้องเขาถึง 2 ครั้ง แต่คิงชาร์ล(ลูกชายของคิงเจมส์)ก็ทรงช่วยเหลือจอร์จทั้งสองครั้งด้วยการยุบสภา ความเดือดดาลนี้ก่อตัวในหมู่ประชาชนจนตราหน้าว่าจอร์จเป็นศัตรูของรัฐ กระทั่งในวันที่ 23 สิงหาคม 1628 จอร์จ ก็ถูกนายทหารจอห์น เฟลตัน (หนึ่งในทหารที่ถูกอังกฤษเกณฑ์ไปรบ) สังหารด้วยการแทงจนจอร์จล้มลงเสียชีวิตภายในโรงแรมเกรย์ฮาวด์ เมืองพอร์ตสมัธ ความชังน้ำหน้าจอร์จกลายเป็นการยกย่องเฟลตันในฐานะวีรบุรุษแห่งรัฐ มีการตีพิมพ์บทกวีจำนวนมากเฉลิมฉลองเฟลตัน ด้วยการอธิบายว่า จอร์จเป็นคนอ่อนแอ ขี้ขลาด ทุจริต สาปแช่งให้ลงนรกไปอยู่กับคิงเจมส์ และอวยยศว่าเฟลตัวเป็นแบบอย่างของความเป็นชาย กล้าหาญ และมีคุณธรรม อย่างไรก็ตาม ชาร์ลที่ 1 (ลูกชายของเจมส์) ไม่พอใจอย่างมาก เขาได้สั่งแขวนคอเฟลตัน ในวันที่ 29 พฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น แล้วนำร่างไปแขวนประจาน ณ เมืองพอร์ตสมัธบริเวณเดียวกับที่จอร์จถูกแทงตาย สิ่งนี้เป็นชนวนสำคัญทำให้ต่อมาคิงชาร์ลพ่ายสงครามกลางเมืองในปี 1645 จนมีผลต่อการประหารคิงชาร์ลด้วยข้อหากบฏในปี 1648
จุดจบของแมรี นังตัวต้นเรื่อง
เชื่อว่าหลายคนน่าจะอยากรู้จุดจบของ แมรี ที่สุด เราพยายามจะสืบค้นอย่างหนักพบว่ามีเรื่องราวน้อยมาก และหลายแหล่งเล่าเหมือน ๆ กัน คือ หลังจากคิงเจมส์ตายไป 3 ปี จอร์จ ลูกชายของเธอก็ถูกแทงตาย ตอนที่เธอรู้ข่าวว่าลูกตัวเองตาย เธอไม่มีปฏิกิริยาอะไร นิ่งเฉยมาก ราวกับรู้อยู่แล้วว่าสักวันเรื่องร้ายแบบนี้จะเกิดกับลูกของเธอ แล้วอีกไม่ถึง 4 ปีต่อจากนั้น ในปี 1632 แมรี ก็เสียชีวิตก่อนจะถูกฝังไว้ข้างลูกชายของเธอในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ นี่คือทั้งหมดที่เรารู้แล้วจริง ๆ
ก่อนจะจบบทความนี้เราขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องลูกของ คิงเจมส์ ซึ่งก็คือ ชารล์ที่ 1 ผู้ถูกตัดหัวในปี 1649 ทำให้ชาร์ลขึ้นชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้ทำลายสถาบันกษัตริย์ เพราะหลังจากนั้นมีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์อยู่นานหลายปี ต่อมาในสมัยชาร์ลที่ 2 ตั้งแต่เกิดก็ต้องลี้ภัยจนกลับมาครองราชย์ตอนอายุ 30 ในปี 1660 แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสภาไม่ราบรื่น จึงตัดสินใจปกครองโดยไม่มีสภาในช่วง 4 ปีสุดท้ายของชีวิต ก่อนเขาจะตายลงในปี 1685 คำถามคือ แล้วใครคือชาร์ลที่ 3 คำตอบก็คือ คิงชาร์ลผู้ครองราชย์อยู่ในตอนนี้นี่แหละคือชาร์ลที่ 3 ดังนั้นความแสบสันต์ของซีรีส์เรื่องนี้คือการเปรียบเทียบลักษณะของชาร์ลองค์ปัจจุบันผ่านชาร์ลองค์แรกอย่างแท้จริง เปรียบเทียบอย่างไรเราไม่ขอสาธยาย
แต่ครั้งหนึ่งเมื่อ 13 ปีก่อนในเดือนธันวาคมปี 2011 หลังจากรัฐสภาประกาศขึ้นค่าเล่าเรียนครั้งใหญ่เป็น 3 เท่าต่อปีเพื่อเจียดเงินไปสู่ท้องพระคลัง ความเดือดดาลทำให้บรรดานักเรียนรุมกันเขย่ารถของชาร์ลผู้เป็นเจ้าฟ้าชายในขณะนั้นจนตกเป็นข่าวดังเสียหน้าไปทั่วโลก