ThaiPublica > คอลัมน์ > Show Yanagisawa ผู้กำกับโฆษณาที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง

Show Yanagisawa ผู้กำกับโฆษณาที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง

26 มีนาคม 2023


1721955

โฆษณา Father and Daughter

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแวดวงโฆษณาคงไม่มีผลงานไหนฮือฮาเท่า Father and Daughter อีกแล้ว อันเป็นโฆษณาเส้นทางต่อขยายของรถไฟฟ้าสาย Sotetsu สู่โตเกียว ที่นอกจากจะได้ดาราดังระดับ โจ โอดางิริ (หนัง Bright Future, Sway, Tokyo Tower, The World of Kanako คอซีรีส์ยุคY2K น่าจะจำเขาได้จาก ร้อยฝัน พันดาว ชาวธนู Searching for My Polestar) มารับบทคุณพ่อแล้วยังได้ เท็น ยามะซากิ (สมาชิกวง Sakurazaka46 รุ่น2, ซีรีส์Kokoro no Fufufu) มารับบทคุณลูกสาวตอนโตด้วย

ธีมโฆษณาถูกเล่าอย่างรวบย่อว่า “บนเส้นทางสายโซเท็ตสึชีวิต 12 ปีของพ่อและลูกสาวถูกบรรยายด้วยเทคเดียว 50 คน” โดยใช้นักแสดงคู่พ่อลูก 25 คู่ เปิดฉากเมื่อลูกสาวตัวน้อยบ่นกับพ่อว่า “ไกลจัง” คุณพ่อก็ตอบกลับลูกว่า “แป๊บเดียวเอง” ก่อนที่นักแสดงทั้ง 25 คู่ จะเล่าช่วงเวลา 12 ปีต่อมา จนกระทั่งในช่วงเวลาที่ลูกโตเป็นสาว คนดูก็เข้าใจได้ว่าคือเวลาปัจจุบัน ขณะที่ตัวละครทั้งหมดก่อนหน้านี้ลงไปจากรถไฟแล้ว แต่กลายเป็นว่าคู่พ่อลูกในยุคปัจจุบัน มีแค่คุณพ่อลงจากรถไฟไปก่อน โดยเขาหันกลับมาคุยกับลูกสาวว่า “โตเกียว…ไกลจัง” ขณะที่ลูกสาวตอบกลับสั้น ๆ ว่า “แป๊บเดียวเอง” ก่อนที่จะเห็นแต่เธอเดินทางต่อไปมุ่งสู่ตัวเมืองโตเกียว เรียบง่ายชัดเจน ตีความได้ทั้งเส้นทางรถไฟ และเส้นทางชีวิตที่ดำเนินไป เมื่อเส้นทางเปลี่ยนแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังคงเดิม

เดิมทีรถไฟสายหลักโซเท็ตสึ เริ่มต้นจากสถานีนิชิยะ ในเขตจังหวัดคานางาวะ ไปยังสถานีชิน-โยโกฮาม่า ในเขตเทศบาลเมืองโยโกฮาม่า เท่านั้น แต่โฆษณานี้ทำขึ้นเพื่อประกาศว่านับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2023 รถไฟสายโซเท็ตสึจะเปิดให้บริการร่วมกับสายโตคิว คือจากแต่เดิมต้องลงสถานีชิน-โยโกฮาม่า เพื่อไปต่อสายอื่น ๆ เข้าสู่เมืองโตเกียว แต่ปัจจุบันนี้สามารถตรงเข้าเมืองได้อย่างสะดวกสบาย โดยสายนี้จะแยกผ่านสองย่าน คือ ย่านชิบุยะ และย่านเมงุโระ เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟสายอื่น ๆ ในเขตโตเกียว

เบื้องหลังการถ่ายทำ

ในด้านงานกำกับ แทนที่จะถ่ายทำบนรถไฟจริง ๆ แต่กลับเลือกถ่ายในโรงถ่าย ทำรถไฟทั้งขบวนขึ้นด้วยกรีนสกรีน ก่อนจะตัดต่อแต่งภาพให้สมจริงด้วยกระบวนการ CG และนี่คือผลงานล่าสุดของเจ้าพ่องาน CG สุดยอดผู้กำกับมือทองของญี่ปุ่น โช ยานางิซาวะ เขาจบการศึกษาด้านจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปะทามะ ในปี 2005 ภายใต้การดูแลของศาสดาป๊อปอาร์ตญี่ปุ่น ทาคาชิ มุราคามิ ก่อนจะเริ่มอาชีพด้วยการเป็นจิตรกรและศิลปินกราฟิตี้

[ทาคาชิ มุราคามิ หลายคนอาจรู้จักผลงานของทาคาชิผ่านดอกไม้บานยิ้มแฉ่ง ดอกมุราคามิ หลากสีสัน ศิลปินผู้คลั่งใคล้ฉาบหน้าแบบลูกกวาดสีสดใส เบลอเส้นกั้นระหว่างศิลปะชั้นต่ำกับชั้นสูง เพื่อเสียดสีสะท้อนความรุนแรงอันเกิดขึ้นในช่วงยุควัฒนธรรมหลังสงครามโลก

My Lonesome Cowboy (ซ้าย) และ Hiropon (ขวา)

ผลงานแจ้งเกิดสุดฮือฮาของ ทาคาชิ เป็นปะติมากรรม คู่หญิงชาย ในหัวข้อ “bodily fluids (ของหลั่งเหลวจากร่างกาย)” Hiropon (1997) และ My Lonesome Cowboy (1998) ที่สะท้อนสังคมบริโภคนิยมของญี่ปุ่น เพื่อวิจารณ์วัฒนธรรมหลังการถูกอเมริกันยึดครอง โดย ฮิโรปอง (เป็นสแลงญี่ปุ่นหมายถึง เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ยาไอซ์) เป็นรูปลักษณ์แอนิเมะหญิงหน้าอกใหญ่หัวนมเกินจริงหลั่งน้ำนมไหลวนรอบตัวเธอคล้ายกำลังกระโดดเชือกลั้ลลา สวมบิกินีเล็กจิ๋วหุ่นสะบึม อันได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมโอตาคุ (พวกคลั่งไคล้มังงะแลแอนิเมะ) และโลลิคอน (การ์ตูนเซ็กซ์ใคร่เด็กหญิง) ส่วน My Lonesome Cowboy มาจากหนังข่มขืนสุดอื้อฉาวของศาสดาป๊อปอาร์ตฝั่งสหรัฐ แอนดี้ วาร์ฮอล Lonesome Cowboys (1968) และเพลง Lonesome Cowboy ที่เอลวิส เพรสลีย์ เต้นเด้าด้วยท่าเน้นต้นขากับกระดูกเชิงกราน ในหนัง Loving You (1957) เป็นแอนิเมะชายยิ้มแฉ่งผมแหลมกำจู๋ขนาดใหญ่เกินจริงหลั่งน้ำกามที่วนรอบร่างกายเหมือนบ่วงบาศ

Little Boy (2005)

ด้วยแนวคิดที่ว่านี่คือตัวอย่างของผลผลิตของศิลปะที่แบนราบ (ทาคาชิผลิตเป็นผลงานไตรภาคชื่อ Superflat) ขาดการเคลื่อนไหวทางสังคม ขาดมุมมอง ไม่มีที่มาที่ไป ไม่ยึดโยงกับวัฒนธรรมดั้งเดิม อันเกิดจากสถานะเป็นรองของญี่ปุ่นที่มีต่อสหรัฐหลังสงครามโลก เป็นตัวนำไปสู่จุดเริ่มต้นของสุนทรยศาสตร์และการเมืองญี่ปุ่น ที่ทำให้เกิดจินตนาการของสัตว์ประหลาด (เช่น ก็อตซิลล่า ที่แสดงปมบาดแผลจากระเบิดนิวเคลียร์ ไปจนถึง ไอ้หนูอะตอม) มาจนถึงผลงานยุคหลังที่ใช้ปิดไตรภาคอย่าง Little Boy (2005) ที่ใช้ชื่อรหัส ลิตเติลบอย ปรมาณูที่ใช้ระเบิดถล่มฮิโรชิม่าเมื่อปี 1945 ก็ยังคงย้ำประเด็นวัฒนธรรมรองอันงอกเงยอย่างบ้าคลั่งจนกลายเป็นภาพรวมของสังคมญี่ปุ่นมาจนทุกวันนี้]

ย้อนกลับไปที่ลูกศิษย์ของทาคาชิ อย่าง โช ยานางิซาวะ ผลงานที่โชผลิตให้รถไฟฟ้าสาย Sotetsu ชิ้นที่เราเอ่ยถึงไปแล้วข้างต้น ไม่ใช่ชิ้นแรกที่ฮือฮา เพราะก่อนหน้านี้เขาก็สร้างกระแสฮิตมาแล้วจาก 100 Years Train https://vimeo.com/373498568 ที่เล่าคู่รักข้ามชาติภพในช่วง 100 ปีมาเจอกันบนรถไฟสายนี้ ในวาระครบร้อยปีการรถไฟ อันผลิตขึ้นในวาระเปิดตัวสาย โซเท็ตสึ ชิน-โยโกฮาม่า คือเส้นทางนี้มีอยู่แล้ว ก่อนที่บริษัทเอกชน โซเท็ตสึ จะเข้ามาดูแลเส้นทางนี้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2019 ตัวโฆษณานอกจากจะเล่าถึงคู่รักผ่านเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน ยังย้อนอดีตจากรักในขนบมาสู่ยุคปัจจุบันที่หญิงก็สามารถเป็นฝ่ายรุกในเกมรักได้เช่นกัน โดยได้ 2 ดาราดัง ฟูมิ นิไคโดะ (Scoop!, No Longer Human และ Fly Me to the Saitama) มาประกบ โชตะ โซเมทะนิ (As the Gods Will, Parasyte ทั้ง 2 ภาค และ Bakuman) ซึ่งทั้งคู่เคยแสดงร่วมกันมาแล้วจาก Himizu (2011) หนังที่เปิดตัวในเทศกาลหนังเวนิส และทำให้ทั้งคู่ร่วมกันรับรางวัลนักแสดงดาวรุ่งในปีนั้นด้วย

แต่ชิ้นที่กลายเป็นไวรัลและภาพจำจริง ๆ คือเมื่อชิเซโดจุดประเด็นเพศหลากหลายในผลงานที่ชื่อ High School Girl?(2015) เมื่อโช จับนักเรียนมัธยมชาย(และครูชาย)ทั้งหมดมาแต่งหญิงในลุคละมุนนีเนียนนี(ศัพท์กะเลย แปลว่าเหมือนหญิงไม่มีโป๊ะ)เป็นอย่างยิ่ง ในสภาพที่คนดูจับไม่ได้เลยว่าพวกเขาเป็นเพศชาย ซึ่งทำให้เขาคว้าสองรางวัลใหญ่จาก Cannes Lions เวทีที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคนทำโฆษณาในเวลานี้ ทั้งรางวัล Gold จากสาขา Film Lions และ Film Craft Lions ไปจนถึงรางวัลกรังปรีซ์ จากเทศกาลนิวยอร์ก, กรังปรีซ์ โฆษณายอดเยี่ยม, กรังปรีซ์ กำกับและถ่ายภาพ และ Gold สาขาสินค้าลักชูรี่ อันเป็นรางวัลสูงสุดทั้งหมดจาก Epica อะวอร์ด ในปารีส, Clio อะวอร์ด, Andy อะวอร์ด ในนิวยอร์ก , Spike Asia อะวอร์ด, Design and Art Direction (D&AD อังกฤษ) ในด้านเนื้อหาและงานคราฟต์ด้านการออกแบบ / สามารถชมเบื้องหลังได้ที่ https://youtu.be/CM_uPPvXUXs

ตอกย้ำความสำเร็จต่อมาในแคมเปญ The Party Bus (2018)ของชิเซโดที่เล่าถึงเจ้าหญิงคางูยะ (ตามตำนานเจ้าหญิงจันทราผู้เกิดจากปล้องไม้ไผ่และปฏิเสธผู้ชายทุกคน) เธอลงจากรถบัสเพื่อไปเปิดหน้ากากซอมบี้ซามูไรผู้สง่างาม ก่อนที่ผู้ชมจะพบว่าภายใต้หน้ากากนั้นเป็นหญิง แล้วทั้งคู่ก็จุมพิตกันก่อนจะเต้นรำอย่างเริงร่า ที่เปิดเผยความงามของหญิงที่ไม่ได้จำเพาะที่เพศสภาพเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเพศสภาวะของหญิงรักหญิงด้วยเช่นกัน ทำให้โฆษณาชุดนี้คว้าไปอีก 3 รางวัลใหญ่จาก Epica อะวอร์ด ในปารีส คือ รางวัลกรังปรีซ์, รางวัลGold สาขากำกับและถ่ายภาพ และ Gold สาขาสุขภาพและความงาม และ ADFEST (มหกรรมโฆษณาเอเชียแปซิฟิก) อีก 3 สามสาขา คือ กรังปรีซ์, โกลด์ แอนิเมชั่น และบรอนซ์ สาขาภาพยนตร์ รวมถึงรางวัล Design and Art Direction (D&AD) จากอังกฤษ ในสาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม แอนิเชั่นยอดเยี่ยม สื่อบันเทิงยอดเยี่ยม และกำกับยอดเยี่ยม และรางวัลเหรียญทอง Andy อะวอร์ด จากนิวยอร์ก / เบื้องหลัง https://youtu.be/GwrC5kmXPZk

Gravity Cat (2017) โฆษณาเกมเพลย์สเตชั่น Gravity Daze 2 ที่เอาใจทาสแมวสุด ๆ เมื่อมันเล่าเรื่องของห้องพักหญิงสาวที่พลิกหมุนไปมาตามแรงโน้มถ่วงอันเกิดจากเจ้าแมวเหมียวได้ ซึ่งเป็นภาพเปรียบเทียบในเกมเพลย์นี้ที่ผู้เล่นสามารถล่องลอยไร้แรงโน้มถ่วงได้อย่างมีอิสระ และอีกเช่นกันที่คราวนี้ โช ถ่ายทำในฉากกรีนสกรีน ที่ทำขึ้นอย่างใหญ่ยักษ์ พลิกไปมาได้ อันเป็นไอเดียแบบเดียวกับในหนังของ Inception ของคริสโตเฟอร์ โนแลน และอีกครั้งเช่นกันที่ผลงานของโช คว้ารางวัลมากมาย อาทิ 7 รางวัลจาก Cannes Lions, 2 รางวัลจาก NEW YORK FESTIVALS, D&AD, Andy อะวอร์ดอีก 2 รางวัล, AD Stars อีก 5 รางวัล, Clio อะวอร์ด 4 รางวัล, ACC Creativity อะวอร์ด 2 รางวัล, Spikes Asia 9 รางวัล, LIA อะวอร์ด 5 รางวัล และ Clio Entertainment อะวอร์ด อีก 3 รางวัล1 / เบื้องหลัง https://youtu.be/rpnPb1bPnRc

But I Saw You (2021) โฆษณาน้ำดื่ม Pocari Sweat ที่ใช้ทั้งCG บนกรีนสกรีน และเป็นการถ่ายแบบเทคเดียวจบ เล่าความรักของเพื่อนในวันที่เพื่อนคนนั้นไม่อยู่ ที่โชยังคงกว้านรางวัล อาทิ รางวัลบรอนซ์ จาก CANNES LIONS, กรังปรีซ์จาก CICLOPE ASIA, รางวัลเหรียญทองจาก ONE SHOW นิวยอร์ก, 2 รางวัลจาก D&AD ด้านการออกแบบและกำกับ และอีก 5 รางวัลจาก ACC Creativity อะวอร์ด / เบื้องหลัง https://youtu.be/1z3tIieUYkU

แต่ที่ผู้เขียนทึ่งมากคือ MV ของศิลปิน Nangi เพลง Walk Walk(2010) ที่ดูแฝงปรัชญาด้วยชิ้นส่วนข้าวของแตกหักที่ถูกถ่ายทำในแบบสโลวโมชั่นอย่างช้า ๆ ระหว่างที่แต่ละชิ้นหมุนคว้างกลางอากาศก่อนจะร่วงหล่น มันมีเสี้ยวโมเม้นต์ที่ดูเหมือนมันจะสามารถประกอบเป็นสิ่งใหม่สิ่งอื่นได้

และครั้งหนึ่ง โช เคยกำกับหนังกับเขาด้วย ในผลงานชื่อ Hoshigaoka Wonderland (Lost and Found, 2016) หนังที่เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์โลกมอนทริออล และเทศกาลหนังนานาชาติเซี่ยงไฮ้ว่าด้วยเรื่องของชายคนหนึ่งที่ถูกแม่ทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก จนโตมาเขาเป็นเจ้าหน้าที่แผนกของหายในสถานีรถไฟ แล้วจินตนาการเรื่องราวต่าง ๆ จากของที่ผู้คนทำหายเหล่านั้น พวกมันหล่นหายได้อย่างไร เจ้าของจะหามันเจอได้ไหม ก่อนที่เขาจะพบว่าแม่ของเขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย และเขาควรมูฟออนจากการหมกมุ่นต่อสิ่งที่ถูกทอดทิ้งสักที

“การสร้างสรรค์ผลงานคือการถ่ายทอดความกระตือรือร้น”

โช ยานางิซาวะ

สัมภาษณ์

*บทสัมภาษณ์นี้เป็นการรวบรวมจากแหล่งต่าง ๆ

ด้วยความที่พ่อเคยทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ IBM ทำให้โชต้องย้ายไปใช้ชีวิตวัยเด็ก 3 ปีในรัฐมินนิโซตา สหรัฐตั้งแต่อนุบาล ก่อนจะย้ายตามพ่อแม่กลับมาญี่ปุ่น หลักจากจบมัธยมจากโรงเรียนในจังหวัดคามาคุระ (เมืองรอบนอกโตเกียว) เขาก็ไปร่ำเรียนด้านศิลปะ แล้วมาทำงานสตรีทอาร์ตกับเพลงแนวฮิปฮอป โชเล่าว่า “สมัยนั้นผมคลั่งฮิปฮอปอย่างมาก เคยจัดอีเวนต์แสดงสดกับดีเจชื่อ Rinpa ผมทึ่งมากที่พวกเขาเคลื่อนไหวด้วยอารมณ์ “ชอบ” ของพวกเขาเอง มันบริสุทธิ์และมีพลังมากกว่าตอนเราจ่ายค่าเรียนแพง ๆ เพื่อเรียนวาดภาพในมหาวิทยาลัยเสียอีก จากตรงนันทำให้ผมเริ่มเสพติดกราฟิตีมากขึ้น โดยเฉพาะศิลปินชื่อ Barnstormersเราทำกิจกรรมด้วยกันภายใต้ชื่อ Rinpa Eshidan จนกระทั่งผมได้งานอื่นเลยต้องลาออกจากขบวนการ แต่ Rinpa Eshidan ได้ไปปรากฎใน ABC News ในสหรัฐ ตอนนี้โด่งดังในลอนดอนและจีน”

ผลงานรางวัลเหรียญในงาน GEISAI

“ในคลาสเรียนจิตรกรรม มีเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัย คือการตั้งราคาผลงาน มันควรจะพันเยน หมื่นเยน หรือไม่มีค่าอะไรเลย เพื่อจะได้คำตอบนี้ อาจารย์ของเรา ทาคาชิ มุราคามิ แนะนำให้ผมเข้าแข่งขันในงานชื่อ GEISAI เป็นเหมือนตลาดงานศิลปะที่คุณสามารถเช่าบูธแสดงงานอะไรก็ได้ หนึ่งในกรรมการครั้งนั้นคือ นักแสดงดัง ทาดาโนบุ อาซาโน่ เขาโทรหา คัตสึฮิโกะ ฮิบิโนะ ศิลปินด้านจิตรกรรมปะติมากรรม มาช่วยดู สุดท้ายผลงานชิ้นนั้นได้เหรียญเงิน เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าผลงานของผมพูดอะไรบางอย่างกับสังคม ทั้งที่ตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นอะไรเลย ไม่ได้เป็นศิลปินด้วยซ้ำ จากตรงนั้นเองที่ผมรู้สึกว่าผมอยากทำผลงานที่เชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งต่อมาก็คืองานโฆษณา”

“พอเรียนจบผมเริ่มงานแรกที่บริษัท Tohokushinsha เป็นค่ายจัดจำหน่ายหนัง โปรดัคชั่นผลิตหนัง และพากย์เสียง พวกแอนิเมะกับเกมส์ด้วย ทั้งที่ตอนนั้นผมยังแยกไม่ออกเลยว่า โปรดัคชั่นกับโปรดิวเซอร์ต่างกันยังไง ผมตระหนักได้ตอนนั้นเองว่าผมเข้าสังคมยาก เพราะไม่ฟังคนอื่นพูด ไม่ตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานทั้งหมด และผมก็โดนด่าหนักมากตลอดการทำงานที่นั่นพอผ่านไปปีครึ่งผมก็ลาออก”

“แล้วยังไงไม่รู้ ผมถูกเรียกสัมภาษณ์ 3 ครั้ง ให้ทำแผนงานเกี่ยวกับการถ่ายทำบางอย่าง 3 รอบ จากนั้นจู่ ๆ ผมก็จับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ในโครงการ The Directors Farm ภายใต้การดูแลของ The Directors Guild มีผู้กำกับมือใหม่ 3 คนได้รับคัดเลือก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผม เราต้องผลัดกันไปดูงานกับผู้กำกับจริง ๆ สลับกันคนละ 5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก แต่ข้อเสียคือผมไม่ได้เงินเดือน”

“ตอนนั้นรายได้ต่อปีของผมอยู่แค่ราว สองแสนเยน (เงินเดือนนักศึกษาจบใหม่คือ เดือนละ แสนห้าหมื่นเยน แปลว่าเขามีรายได้น้อยกว่านักศึกษาทั่วไปเกือบสิบเท่า) อายุ 24 ยังหางานไม่ได้ ไม่มีปัญญาจ่ายค่าน้ำค่าแกสค่าไฟ สุดท้ายก็ไปอาศัยกับญาติในย่านคิโมะชิตะซาวะ(ใกล้ชิบุยะ และชินจูกุ แต่ค่าครองชีพถูกกว่ามากทุกวันนี้กลายเป็นย่านศิลปินตกอับอยู่กันเยอะ มีร้านแฮนด์เมด โรงหนังอินดี้ และคาเฟ่มือใหม่ แต่พวกเขามุ่งมั่นกันมาก) ตอนนั้นผมต้องควบคุมกระบวนการผลิตด้วยงบต่ำเตี้ย เช่น ต้องจัดการเงิน แสนห้าหมื่นเยน เพื่อผลิตปกซีดี โปสเตอร์ และต้นทุนการผลิต MV แล้วไงไม่รู้ผมเลือกจะทำวิดีโอสต็อปโมชั่น ทั้งที่เป็นงานที่ยากมาก เพราะไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องจ้างนักแสดง และผมมีเวลา (หัวเราะ)”

“แต่จากตรงนั้นเองกลายเป็นว่าผมได้บัดเจ็ดเพิ่มเป็นทำ MV ชิ้นละหนึ่งล้านเยน หลังจากผลงานชิ้นแรกก่อนหน้านี้กลายเป็นไวรัลบนยูทูบ แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็เข้าสู่แวดวงโฆษณาด้วยงบสิบล้านเย็น ไต่ขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ตอนนั้นเองที่ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งสำคัญที่สุดว่า การวางแผนงานไม่ใช่แค่การชี้นิ้วสั่งการ แต่ต้องลงมือทำไปด้วยกันตั้งแต่ขั้นตอนคิด ผลิต และเบื้องหลังทั้งหมดจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ”

ล่าสุดโชได้เซ็นสัญญากับค่ายโฆษณายักษ์ใหญ่ 4 ประเทศ คือ RSA Films ในสหรัฐ (เจ้าของคือ ริดลีย์ และโทนี่ สก็อต ผู้กำกับหนังชื่อดัง อาทิ Alien, Prometheus, Blade Runner, Top Gun, Crimson Tide) , Blink ในอังกฤษ, Insurrection (ฝรั่งเศส) และ Pretty Bird (อเมริกาเหนือ)

สามารถดูผลงานอื่น ๆ ของโช ยานางิซาวะ ได้ที่ลิงค์นี้ https://vimeo.com/user85044806