ThaiPublica > สู่อาเซียน > ความเป็นอยู่ของชาว “ห้วยส้าน” ที่คนฝั่งไทยควรรู้

ความเป็นอยู่ของชาว “ห้วยส้าน” ที่คนฝั่งไทยควรรู้

7 เมษายน 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์

สิ่งของบรรเทาทุกข์ ที่ทีมประสานงานชายแดนรวบรวมเงินบริจาคไปหาซื้อมาแพ็คแยกเป็นถุง เพื่อส่งไปช่วยเหลือชาวบ้านห้วยส้านที่กำลังขาดแคลน ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Theethat Jaejai

วันที่ 31 มีนาคม 2567 สิ่งของบรรเทาทุกข์ซึ่งถูกรวบรวมมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกขนส่งและลำเลียงข้ามชายแดนแม่สอดด้วยรถปิคอัพ 4-5 คัน ทุกคันต่างเร่งทำความเร็ว เพื่อรีบนำความช่วยเหลือทั้งหมดไปมอบให้กับชาวบ้าน”ห้วยส้าน”กว่า 500 ชีวิต ที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากมานานถึง 1 เดือนเต็มๆ

ชาวห้วยส้านเหล่านี้กำลังขาดแคลน ทั้งข้าวปลาอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันแทบทุกชนิด

ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมเป็นต้นมา พวกเขาจำต้องยอมทิ้งบ้าน ห่างเรือน เพื่อหลีกหนีภัยจากสงครามรอบใหม่ที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในรัฐกะเหรี่ยง

“ชุมชนบ้านห้วยส้าน”อยู่ชานเมืองเมียวดี ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตัวหมู่บ้านอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 18.5 กิโลเมตร

ห้วยส้านเป็นชุมชนชาวไทย พวกเขาเรียกตนเองว่าเป็นคน”ไทโยน” เพราะบรรพบุรุษของพวกเขาเดินทางมาจากดินแดนล้านนา ทั้งจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ฯลฯ เพื่อไปทำงานกับบริษัทการค้าของอังกฤษตั้งแต่ยุคที่เป็นเจ้าอาณานิคมของพม่าเมื่อกว่า 200 ปีก่อน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง แนวเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าถูกบีบให้เปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยใช้สันปันน้ำบนเทือกเขาถนนธงชัย ได้เปลี่ยนมาใช้แม่น้ำเมยเป็นเส้นแบ่งกั้น ชุมชนบ้านห้วยส้านที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเมย บริเวณเชิงเขาถนนธงชัย จึงถูกขีดเส้นแบ่งให้ตกไปอยู่ในดินแดนของพม่า ชาวล้านนาบ้านห้วยส้านถูกแปรสภาพเป็นประชากรเมียนมาไปโดยปริยาย

  • “ห้วยส้าน” … ชุมชน”ล้านนา”กลางสมรภูมิใน”เมียวดี”!
  • ความช่วยเหลือรอบแรกที่ถูกส่งไปจากจังหวัดเชียงใหม่สู่มือชาวบ้านห้วยส้าน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Theethat Jaejai

    70 กว่าปีมานี้ อาจกล่าวได้ว่าชุมชนบ้านห้วยส้านต้องดำรงอยู่ท่ามกลางความข้ดแย้ง

    ทั้งความขัดแย้งในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังอังกฤษให้อิสรภาพแก่พม่า , ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยง และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงด้วยกันเอง

    หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ความขัดแย้งที่แวดล้อมชุมชนบ้านห้วยส้าน ยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้นอีก เพราะมีหลายภาคส่วนต้องการเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่ชายแดนรัฐกะเหรี่ยงที่ติดกับประเทศไทย ทั้งกองทัพพม่า กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าหรือ PDF กองกำลังติดอาวุธของชาวกะเหรี่ยงที่แตกกระจัดกระจายออกเป็นกลุ่มต่างๆ หน่วยงานความมั่นคงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกและสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มทุนชาวจีนที่เข้าไปใช้พื้นที่เมืองเมียวดีทำธุรกิจสีเทา

    ความขัดแย้งเหล่านี้ ชาวบ้านห้วยส้านไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม หรือเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด!!!

    “เราเป็นเพียงชุมชนของคนหาเช้ากินค่ำ”เป็นคำอธิบายสั้นๆของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านห้วยส้านคนหนึ่ง

    วันที่ 7 มีนาคม 2567 การสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและกองกำลังติดอาวุธของชาวกระเหรี่ยง เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้ง การปะทะกันอย่างหนักเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ต่อเนื่องยาวนาน แม้ว่าขณะนี้ย่างเข้าสู่เดือนเมษายนแล้วก็ตาม แต่เสียงปืน เสียงระเบิด ยังคงดังกึกก้องให้ได้ยินอยู่ตลอด

    ชุมชนบ้านห้วยส้านเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งตกอยู่ใจกลางสมรภูมิสู้รบที่รุนแรง จากปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ

    ประการแรก-พื้นที่โดยรอบไม่ห่างไกลนักจากชุมชนบ้านห้วยส้านได้ถูกใช้เป็นที่ตั้งหน่วยทหารของกองทัพพม่า จึงเป็นเป้าหมายของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธของชาวกะเหรี่ยงที่ต้องการโจมตีเพื่อยึดครอง

    ประการที่สอง-ภูมิประเทศที่แวดล้อมชุมชนบ้านห้วยส้าน มีสภาพทางธรรมชาติที่ทหารกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมักเข้ามาใช้เป็นที่หลบซ่อน แฝงตัว ก่อนเริ่มปฏิบัติการ พื้นที่เหล่านี้จึงตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีด้วยอากาศยานและอาวุธหนักจากกองทัพพม่า

    ……

    “สถานการณ์บ่าค่อยจะดีละเน้อ ปี้น้องบ้านเฮา”
    “ถ้าเป็นไปได้ กะควรออกจากบ้านเฮาไปก่อน”
    “ปี้น้องบ้านเฮาให้ระมัดระวังกันนะ ค่ำนี้ลูกปืนตกใส่บ้านคนละหนา”
    “สถานการณ์บ้านห้วยส้าน เมื่อคืนนี้ตาย 2 บาดเจ็บ 2”
    “เสียงปืนตกตางทิศตะวันออกของห้วยส้าน”
    “มันมาแหมแล้ว”
    “ณ เวลานี้ เครื่องบินวนอยู่เหนือน่านฟ้าบ้านห้วยส้าน”
    “วันนี้ ปืนใหญ่ลงแหมหลายลูก”
    “ขอแสดงความเสียใจกับเจ้าของบ้านที่ถูกไฟไหม้ หมู่ 3 ห้วยส้าน”
    “วนทิ้งระเบิดอยู่หั้นหล่ะ บ่ากินข้าวกินน้ำเลย”
    “กว่าจะมีตี้ยู่ตี้กิ๋นวันนี้ มด ลู่กั๋น ปี้น้องจาวบ้านเดียดฮ้อน ละจะอยู่จะไดนี่”
    ฯลฯ

    ประโยคและวลีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ชาวบ้านห้วยส้านพูดคุยกันในชุมชนออนไลน์ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาเขียนคุยกันโดยใช้อักษรไทยและใช้ภาษาเมือง

    ความช่วยเหลือรอบแรกที่ถูกส่งไปจากจังหวัดเชียงใหม่สู่มือชาวบ้านห้วยส้าน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Theethat Jaejai

    1 เดือนมานี้ หัวข้อหลักที่ชาวบ้านห้วยส้านสนทนากัน ล้วนเกี่ยงข้องกับของการสู้รบที่เกิดขึ้นในดินแดนบ้านเกิดของเขา เฟซบุ๊คเป็นช่องทางในการแจ้งข่าว ถ่ายทอดข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆให้แก่กัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ รวมถึงเป็นช่องทางติดต่อกับญาติมิตร คนใกล้ชิดที่อยู่ทางฝั่งไทย เพื่อบอกเล่าความยากลำบากที่กำลังประสบ

    ภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านห้วยส้านตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมเป็นต้นมา สรุปเบื้องต้นได้ดังนี้…

    กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสมทบกับทหารกองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงบางกลุ่ม บุกโจมตีเพื่อยึดฐานที่มั่นของทหารพม่าในเขตติงกานหญี่หน่อง ริมทางหลวงสายเอเซีย(AH1) ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ประมาณ 16 กิโลเมตร และเป็นปากทางแยกของถนนที่นำไปสู่ชุมชนบ้านห้วยส้าน และในเขตติงกานหญี่หน่องเองก็มีชุมชนชาวห้วยส้านตั้งอยู่ด้วย 1 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านปางกาน

    กองทัพพม่าตอบโต้กลับด้วยการยิงอาวุธหนัก รวมถึงใช้อากาศยานบินขึ้นเพื่อยิงจรวดและทิ้งระเบิดใส่ทหารกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านกับทหารกะเหรี่ยงในเขตติงกานหญี่หน่อง อานุภาพของปืนใหญ่และระเบิดที่ถูกยิงลงมาทุกวัน ได้ทำลายบ้านเรือนในชุมชนบ้านห้วยส้าน สร้างความสูญเสียทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน

    ในวงกลม คือบริเวณที่มีการสู้รบหนัก และเป็นพื้นที่เป้าหมายของการทิ้งระเบิดและยิงปืนใหญ่ถล่ม

    ชุมชนบ้านห้วยส้านมีทั้งสิ้น 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านปางกาน บ้านห้วยส้าน บ้านแม่แปป บ้านห้องห้า บ้านแม่กานใน บ้านผาซอง และบ้านไร่ มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้าน 5 แห่ง ได้แก่ วัดบัวสถาน วัดสว่างอารมณ์ วัดสุวรรณคีรี วัดป่าเลไลย์ และวัดศรีบุญเรือง

    มีหมู่บ้านของชาวห้วยส้าน 2 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากสงครามที่เกิดขึ้นรอบนี้ คือ บ้านปางกาน ซึ่งอยู่ในเขตติงกานหญี่หน่อง และเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่า กับบ้านห้วยส้านที่อยู่ลึกขึ้นไปทางทิศเหนือ บ้านเรือนประชาชนใน 2 หมู่บ้านนี้ ถูกระเบิดทำลายจนราบคาบไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านปางกาน บ้านเรือนชาวบ้านสูญหายไปมากกว่าครึ่ง

    หลังสงครามเริ่มปะทุได้ 1 วัน ในวันที่ 8 มีนาคม ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านห้วยส้านกับบ้านปางกาน ตัดสินใจอพยพออกนอกพื้นที่ เพราะกลัวอันตรายที่อาจได้รับจากการสู้รบ ส่วนหนึ่งพากันไปอยู่ในตัวเมืองเมียวดี บางส่วนข้ามไปอยู่ทางฝั่งแม่สอด

    มีชาวบ้านห้วยส้านจำนวนหนึ่งไปขออาศัยอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดป่าเลไลย์ และอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เด็ก กับผู้สูงอายุ จำนวนประมาณ 500 กว่าคน หนีขึ้นไปหลบภัยอยู่ที่บ้านแม่แปป ทางตอนเหนือของบ้านห้วยส้าน ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการทิ้งระเบิด

    วันที่ 14 มีนาคม มีชาวบ้านห้วยส้านเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากระเบิดที่ถูกยิงเข้ามาในหมู่บ้าน ส่งผลให้มีผู้อพยพจากบ้านห้วยส้านหนีไปอยู่ยังบ้านแม่แปปเพิ่มมากขึ้น

    เมื่อการสู้รบยืดเยื้อ กินเวลานาน เสบียงอาหาร เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันที่ผู้อพยพเหล่านี้พกติดตัวมาหมดลง เงินทองที่ช่วยกันรวบรวมเพื่อออกไปหาซื้ออาหารมาเลี้ยงผู้คนนับร้อย ก็ร่อยหลอลงไปทุกวัน…ถึงจุดหนึ่งผู้อพยพจากบ้านห้วยส้านที่หลบภัยอยู่ในบ้านแม่แปป จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก

    ……

    สภาพบ้านเรือนในหมู่บ้านห้วยส้าน ที่มาภาพ : ชาวบ้านห้วยส้าน

    วันที่ 25 มีนาคม 2567 มีขบวนรถบรรทุกนำถุงยังชีพ 4,000 ถุง สำหรับประชาชน 20,000 คน ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง ตามข้อริเริ่ม”ระเบียงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม” หรือ Humanitarian Assistance Corridor ของรัฐบาลไทย (https://www.mfa.go.th/th/content/humanitarianaidbyrc?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b) โดยความร่วมมือของสภากาชาดไทยและหน่วยงานกาชาดเมียนมา

    สื่อของไทยได้ถ่ายภาพ ทำคลิปวิดีโอ เผยแพร่เป็นข่าวออกไปทั่วประเทศ สื่อต่างประเทศ ทั้ง Reuters , BBC , VOA นำเสนอภาพพิธีส่งมอบถุงยังชีพเผยแพร่ไปทั่วโลก

    พิธีส่งมอบถูกจัดในสถานที่แห่งหนึ่งในเขตผะอัน รัฐกะเหรี่ยง เพจทางการของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (https://www.facebook.com/KNUHQKTL/posts/pfbid022UjgZoPZPTf6iBN6BZWuJ9FyYC2fZ1LfgZvcVGYvSESbaH3aKfsGGS8HP2ZyBi6Yl) ระบุว่า ถุงยังชีพได้ถูกมอบให้กับชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้านของผะอัน ได้แก่ หมู่บ้านนะบู หมู่บ้านไป่โจ่ง และหมู่บ้านโด่งยิน หรือตามันยะ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองพลที่ 6 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA)

    ไม่มีสักถุง ที่ถูกส่งไปให้ชาวบ้านห้วยส้าน!!!

    ความช่วยเหลือรอบที่ 2 ถูกส่งไปให้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Theethat Jaejai

    ความช่วยเหลือจากภายนอกที่ชาวบ้านห้วยส้านได้รับ โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังลี้ภัยอยู่ที่บ้านแม่แปป ส่วนใหญ่ได้มาจากสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล ทั้งจากชาวชุมชนบ้านห้วยส้านด้วยกันเองที่อพยพไปอยู่ในตัวเมืองเมียวดีหรือแม่สอด จากเครือญาติ มิตรสหายทั้งที่อยู่ในเมียวดีและในประเทศไทย

    รวมถึงกลุ่มคนไทยที่รู้จักและเคยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ คงไว้ซึ่งความเป็นล้านนาอย่างเหนียวแน่นของชุมชนบ้านห้วยส้านมาก่อน

    ในจังหวัดเชียงใหม่ มีกลุ่มคนเล็กๆ 2-3 คน รวมตัวกันในนาม”ทีมประสานงานชายแดน” เพื่อระดมความช่วยเหลือส่งไปให้ชาวบ้านห้วยส้าน ขอใช้สถานที่วัดบุนนาค ในตำบลทุ่งต้อม กับวัดหนองพันเงิน ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง เป็นจุดรับบริจาค ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค”ชวนพิศ นภตาศัย” กับ”วีรศิลป์ ต๊ะ ภูธร” เป็นศูนย์ติดต่อ แจ้งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงวิ่งจัดหาเจ้าภาพในการนำความช่วยเหลือเหล่านั้น ส่งไปให้ถึงมือชาวบ้านห้วยส้านที่กำลังทุกข์ร้อนอยู่โดยตรง

    มีการรวบรวมสิ่งของบรรเทาทุกข์ส่งไปให้กับชาวบ้านห้วยส้านเหล่านั้นแล้ว 2 รอบ แต่ละรอบมีมูลค่าเพียงหลักหมื่นบาท รอบแรกส่งไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม มีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ มูลนิธิการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง วัดสวนดอก ร่วมเป็นเจ้าภาพ และรอบที่ 2 ที่เพิ่งส่งข้ามช่วยไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา มีคณะศรัทธาจากวัดบุนนาค อำเภอสันป่าตอง เป็นเจ้าภาพ

    การเดินทางข้ามชายแดนเพื่อนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปส่งให้ถึงมือชาวบ้านห้วยส้านทั้ง 2 ครั้ง ทุกคนที่ไปต่างต้องเสี่ยงและผจญกับความลำบาก เป็นการเดินทางบนท้องถนน ท่ามกลางอากาศร้อนจัด เสียงไอพ่นของเครื่องบินรบ เสียงใบพัดเฮลิคอปเตอร์ที่บินวนเวียนอยู่บนท้องฟ้า แทรกด้วยเสียงปืน เสียงระเบิดที่ดังก้องออกมาเป็นระยะ ขบวนรถขนสิ่งของบรรเทาทุกข์ต้องใช้ผู้ขับขี่ที่ชำนาญเส้นทาง เพราะต้องทำความเร็วไปบนถนนคดเคี้ยว ขรุขระ ลัดเลาะไปตามช่องทางต่างๆที่เชื่อว่าปลอดภัย เมื่อถึงที่หมาย ทุกคนมีเวลาไม่มากนักในการส่งมอบสิ่งของและพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้าน เพราะต้องรีบข้ามกลับ

    สิ่งของบรรเทาทุกข์ 4,000 ชุด ตามแผนระเบียงมนุษยธรรมที่รัฐบาลไทยส่งไปให้ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเดือดร้อนจากสงครามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่มาภาพ : Karen National Union

    ……

    “เช้ามืดวันนี้(5 เม.ย.67) เวลา 05.30 น. กลุ่มต่อต้านพยายามเข้าตีที่ตั้งฐานของทหารเมียนมา ที่ค่ายปางกาน จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ส่วนทหารเมียนมาใช้อากาศยานเข้ามาทิ้งระเบิดจำนวน 16 ลูก พร้อมยิงปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มม.จากค่ายผาซอง เข้าสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันฐาน”เป็นเนื้อหาข่าวที่ถูกนำเสนอไว้บนหน้าเพจ”ข่าว สวท.แม่สอด”เมื่อเวลา 09.42 น. ของวันที่ 5 เมษายน 2567

    “สถานการณ์การสู้รบในพื้นที่บ้านปางกาน อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา เมื่อวานนี้(5 เม.ย.67) กลุ่มต่อต้านฯหรือ PDF ได้เข้ายึดกองบังคับการยุทธการ หรือ บก.ยก.ปางกาน ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพฯประมาณ 13 กม. ได้สำเร็จ ส่วนทหารเมียนมาได้ร่นถอย บางส่วนหลบหนี บางส่วนถูก กกล.กลุ่มต่อต้านฯ ควบคุมตัวไว้ โดยกลุ่มต่อต้านสามารถยึดอาวุธและกระสุนได้หลายรายการ ด้าน พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผบ.ฉก.ราชมนู ประเมินว่าขณะนี้ทหารเมียนมายังเหลือที่ค่ายผาซอง ในจ.เมียวดี ซึ่งหากมีการปะทะกันอาจส่งผลกระทบถึงฝั่งไทย”ความคืบหน้าจากเพจเดียวกัน ที่ถูกเสนอเมื่อเวลา 14.13 น. วันเสาร์ที่ 6 เมษายน

    ทั้ง 2 ข่าว ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ สถานการณ์ในเมียวดี โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยส้าน ยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงโดยง่าย

    ชาวบ้านห้วยส้านต้องทิ้งบ้าน ห่างเรือนมานาน 1 เดือนเต็มแล้ว แต่ทุกวันนี้ เขายังกลับไปที่บ้านไม่ได้ ชีวิต ความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นเช่นไร เป็นเรื่องที่คนซึ่งอยู่ในฝั่งประเทศไทยควรต้องได้รับรู้…