ThaiPublica > สู่อาเซียน > “ห้วยส้าน” … ชุมชน ‘ล้านนา’ กลางสมรภูมิใน “เมียวดี”!

“ห้วยส้าน” … ชุมชน ‘ล้านนา’ กลางสมรภูมิใน “เมียวดี”!

26 มีนาคม 2024


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ชาวบ้านห้วยส้านที่ลี้ภัยจากการทิ้งระเบิดแบบปูพรมของเครื่องบินรบพม่าในเขตติงกานหญี่หน่อง ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่มาภาพ : Than Lwin Times

บรรยากาศในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ยังคงเต็มไปด้วยความตึงเครียด!

ทั้งจากสงครามระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพกะเหรี่ยงและกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเงา บริเวณรอบนอกตัวเมือง

ทั้งจากแรงกดดันจากภายนอกที่ต้องการกวาดล้างธุรกิจสีเทา ทั้งคาสิโน บ่อนการพนันออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ ที่กลุ่มทุนชาวจีนหรือพวกจีนเทา มาเปิดไว้ตามแนวริมฝั่งแม่น้ำเมย ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ลำดับความเคลื่อนไหวคร่าวๆ สถานการณ์ที่มีนัยสำคัญที่เกิดขึ้นในเมียวดีตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา มีดังนี้…

  • วันที่ 1 มีนาคม เขตทหารของกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงกลุ่มที่เคยเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน(BGF : Border Guard Force)เดิม ทั้ง 4 เขต ได้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังติดอาวุธอิสระ ใช้ชื่อว่า”กองทัพชาติกะเหรี่ยง”(Karen National Army : KNA) มีบทบาทดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดเมียวดี และคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธุรกิจตามแนวชายแดน โดยเฉพาะจากกิจการของเหล่าจีนเทาที่ทหารกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เปิดทางให้เข้ามาสร้างกิจการจนใหญ่โตอยู่หลายแห่งในเมืองเมียวดีทุกวันนี้
  • ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่กลางปี 2566 รัฐบาลจีนได้กดดันกองทัพพม่าให้จัดการกับจีนเทาเหล่านี้อย่างเด็ดขาด กองทัพพม่าได้กดดันต่อลงไปยังกองทัพกะเหรี่ยงกลุ่มที่เคยเป็น BGF ในฐานะเจ้าของพื้นที่ แต่ด้วยผลประโยชน์มหาศาล ทหารกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เลือกยืนอยู่ข้างจีนเทา ประกาศแยกทางกับกองทัพพม่าเมื่อกลางเดือนมกราคม 2567 ทั้งที่กองทัพพม่ากับทหารกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมานานถึง 30 ปี

  • ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2567 ทางการจีนจับมือกับตำรวจพม่าและฝ่ายความมั่นของของไทย ร่วมกันเปิดปฏิบัติการลับช่วยเหลือคนจีนที่ถูกหลอกเข้าไปทำงานกับธุรกิจสีเทาในเมียวดีจำนวนมากถึง 996 คน มีการนำตัวข้ามชายแดน นำเครื่องบินจากจีนบินตรงมายังสนามบินแม่สอด เพื่อรับตัวคนจีนเหล่านี้กลับไปยังจีน ตลอดเวลา 3 วัน มีเครื่องบินจีนบินออกจากสนามบินแม่สอดเพื่อลำเลียงคนจีนกลับบ้านมากถึง 15 เที่ยว ถือเป็นปฏิบัติการที่ใหญ่แต่ลับมาก ไม่อนุญาตให้สื่อของไทยทั้งจากส่วนกลางและสื่อท้องถิ่น ได้เข้าไปทำข่าวหรือถ่ายภาพ ทำให้ปฏิบัติการนี้ไม่ถูกเผยแพร่เป็นข่าวจนเอิกเกริก
  • หลังปฏิบัติการลับของจีนเสร็จสิ้นลงไม่ถึงสัปดาห์ วันที่ 7 มีนาคม 2567 ทหารส่วนหนึ่งของกองพลที่ 6 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) สนธิกำลังกับทหารกองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเงา(PDF) ร่วมกันบุกโจมตีเพื่อยึดฐานปฏิบัติการของกองทัพพม่าในเขต”ติงกานหญี่หน่อง” ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเมียวดีออกไปตามทางหลวงเอเซียหมายเลข 1(AH1)ประมาณ 16 กิโลเมตร
  • ทหารพม่าสูญเสียฐานที่มั่น แต่ได้ตอบโต้กลับอย่างรุนแรงด้วยอากาศยานและอาวุธหนัก โดยกองทัพพม่าใช้ทั้งเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ บินมายิงจรวดและทิ้งระเบิดแบบแบบปูพรมถล่มใส่ทหารกะเหรี่ยง KNLA และ PDF ที่อยู่ในเขตติงกานหญี่หน่อง

    ชาวบ้านห้วยส้านที่ลี้ภัยจากการทิ้งระเบิดแบบปูพรมของเครื่องบินรบพม่าในเขตติงกานหญี่หน่อง ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2567 ที่มาภาพ : Than Lwin Times

    ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2567 เสียงไอพ่นของเครื่องบิน เสียงใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ เสียงระเบิด ดังกึกก้อง ต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน คนในพื้นที่โดยรอบเขตติงกานหญี่หน่องได้ยินอย่างชัดเจน และหลายครั้งทีเดียวที่เสียงระเบิดได้ดังข้ามมาถึงฝั่งประเทศไทย คนในตัวเมืองแม่สอดต่างได้ยินกันเต็มสองหู

    การใช้อากาศยานบินมาถล่มแบบปูพรมของกองทัพพม่า ไม่เพียงสร้างความสูญเสียแก่ทหารกะเหรี่ยง KNLA กับ PDF เพียงฝ่ายเดียว แต่ชาวบ้านซึ่งอาศัยหรือตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตติงกานหญี่หน่องและพื้นที่ใกล้เคียง ต่างก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

    Eleven Media Group รายงานไว้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 ว่า นับแต่เริ่มมีการรบหนักระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพกะเหรี่ยง KNLA และ PDF ในเขตติงกานหญี่หน่องเมื่อวันที่ 7 มีนาคมเป็นต้นมา บ้านเรือนประชาชนในเขตติงกานหญี่หน่อง ถูกแรงระเบิดและจรวดที่ยิงมาจากเครื่องบินรบพม่า ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก มีชาวบ้านมากกว่า 3,000 คน ตัดสินใจทิ้งบ้านเรือนของตน อพยพไปอยู่ตามค่ายพักพิงที่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบ เพราะกลัวได้รับอันตราย ในจำนวนนี้ มีประมาณ 1,000 คน หนีมาอยู่ในตัวเมืองเมียวดีที่การสู้รบยังมาไม่ถึง

    ท่ามกลางการสู้รบหนักต่อเนื่องกว่า 3 สัปดาห์ นอกจากเขตติงกานหญี่หน่องแล้ว ยังมีชื่อของอีกชุมชนหนึ่งที่ถูกเอ่ยถึงอยู่ตลอด ทั้งจากสื่อส่วนกลางของเมียนมา สื่อท้องถิ่นในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงชุมชนออนไลน์ของชาวเมียวดี เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งถูกผลกระทบโดยตรงจากการโจมตีของเครื่องบินรบพม่า

    ชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่า…”บ้านห้วยส้าน”

    ……

    ที่ตั้งบ้านห้วยส้าน ชุมชนชาวไทโยนในเมียวดี ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ประมาณ 18.5 กิโลเมตร

    กลางดึกของวันที่ 14 มีนาคม 2567 ระเบิดลูกหนึ่งได้ตกลงใจกลางหมู่บ้านห้วยส้าน แรงระเบิดได้ทำลายบ้านหลังหนึ่งจนพังราบคาบ ชาวบ้านห้วยส้าน 2 คน เสียชีวิต อีก 2 คนได้รับบาดเจ็บ ภาพความเสียหายของบ้านห้วยส้านถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางตามสื่อ สร้างความสะเทือนใจให้กับหลายคน ไม่เฉพาะคนในรัฐกะเหรี่ยงหรือในเมียวดี แต่ยังสร้างความโศกสลดให้กับคนไทยจำนวนมากที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ รวมถึงหลายพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทย!!!

    บ้านห้วยส้านเป็นพื้นที่ปกครองระดับตำบลของเมียวดี อยู่ห่างจากเชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 18.5 กิโลเมตร

    ชื่อ”ห้วยส้าน” เขียนเป็นภาษาพม่าว่า ဝှေ့ရှမ်း คำว่า ဝှေ့ แปลว่า”ขวิด”หรือ”เหวี่ยง” ส่วน ရှမ်း คนไทยออกเสียงคำนี้ว่า”ฉาน” เป็นคำในภาษาพม่าที่ใช้เรียกคนชาติพันธุ์ไตหรือไท รวมถึงเรียกดินแดนที่เป็นรัฐฉานปัจจุบัน

    ชาวบ้านห้วยส้านเรียกตนเองว่าเป็นชาว”ไทโยน” โดย”โยน”เป็นคำที่ร่นมาจากคำว่า “โยนก” ซึ่งหมายถึงดินแดนแห่งแรกที่คนไทเริ่มมาตั้งถิ่นฐานไว้บริเวณลุ่มแม่น้ำกกตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 สืบเนื่องยาวนานจนกลายเป็นอาณาจักรล้านนาในยุคของราชวงศ์มังราย

    เหตุผลที่ชาวห้วยส้านเรียกตัวเองเป็นชาวไทโยน เพราะบรรพบุรุษของพวกเขาล้วนเป็นชาวล้านนา ที่เดินทางไกลจากเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ฯลฯ เพื่อไปทำงานกับบริษัทการค้าของอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของพม่า ตั้งแต่เมื่อกว่า 200 ปีก่อน

    ชาวไทโยนบ้านห้วยส้าน เมื่อ 10 ปีก่อน

    ในยุคนั้น ดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองเมียวดีปัจจุบัน เป็นเหมือนหน้าด่านการค้าระหว่างพม่าที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ กับดินแดนล้านนา ที่มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง

    200 กว่าปีที่แล้ว เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างล้านนากับอาณานิคมของอังกฤษยังใช้สันปันน้ำบนเทือกเขา”ดอนะ” หรือทิวเขาถนนธงชัย ชาวล้านนาที่มาทำงานที่นี่ จึงได้ตั้งบ้านเรือนไว้บริเวณเชิงเขาด้านตะวันออกของเทือกเขาดอนะที่ตอนนั้นยังถือว่าเป็นดินแดนของล้านนา ตั้งชื่อชุมชนของตนว่าบ้านห้วยส้าน ต่อมาประชากรล้านนาที่เดินทางมาทำมาหากินที่นี่มีเพิ่มขึ้น ชุมชนจึงขยายตัว กระจายออกไปกินอาณาบริเวณที่กว้างขึ้น

    กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการกำหนดแนวเขตระหว่างไทยกับพม่าใหม่ มีการขยับพรมแดนกินพื้นที่มาทางทิศตะวันออก โดยเปลี่ยนมาใช้แม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นแบ่งเขตแดน ชุมชนชาวล้านนาที่อยู่ลึกจากแม่น้ำเมยเข้าไปทางทิศตะวันตกจนถึงเชิงเขาดอนะ จึงต้องไปขึ้นกับพม่า ชาวล้านนาที่มาปักหลักทำกินที่บ้านห้วยส้าน จึงถูกแปรสภาพ กลายเป็นประชากรพม่าไปโดยปริยาย

    อย่างไรก็ตาม แม้เวลาผ่านมากว่า 200 ปีแล้ว แต่ความเป็นล้านนาไม่ได้ถูกทำให้สูญหายไป ในชุมชนบ้านห้วยส้านทุกวันนี้ แม้ภาษาทางการยังจำเป็นต้องใช้ภาษาพม่า แต่เมื่อชาวบ้านห้วยส้านพูดคุยกันเอง ก็อู้คำเมือง เด็กๆห้วยส้านมีการเรียนภาษาไทยและตัวอักษรธรรมล้านนา

    ชาวบ้านห้วยส้านรุ่นหลังยังคงมีการติดต่อสัมพันธ์กับญาติมิตร พี่น้องในฝั่งไทยอยู่ตลอดเวลา ช่วงที่สถานการณ์ในรัฐกะเหรี่ยงสงบ ชาวห้วยส้านมีการส่งตัวแทนเดินทางข้ามมากระชับสายสัมพันธ์กับคนในหลายจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย

    วันที่ 7 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันชาติของชาวไทใหญ่ในรัฐฉาน ชาวบ้านห้วยส้านได้อาศัยวันเดียวกันนี้ ตั้งขึ้นเป็นวันชาติของชาวไทโยน ฉนั้น วันที่ 7 กุมภาพันธ์ของทุกปี ในชุมชนบ้านห้วยส้านจึงมีการจัดงาน “บุญชาติ และปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม” ขึ้น ก่อนเริ่มงาน ทุกคนที่มาจะร่วมกันร้องเพลงที่ชื่อว่า “ไตสามัคคี” https://www.youtube.com/watch?v=cQRoydp_bUo เป็นเหมือนเพลงชาติของชาวห้วยส้าน เนื้อเพลงเป็นภาษาคำเมือง รายละเอียดของเนื้อเพลงมีดังนี้…

    “เกิดเป็นคนไต หมู่เฮาต้องฮักจ้าดไต บ่อหื้อใผนั้นมาย่ำยีข่มขี่ จ้าดไตเฮานี้ ต่างคนต่างมีศักดิ์ศรี บ่อหื้อใผมากวี ประเพณีไตเฮา

    น้ำหนึ่งใจเดียว ฮ่วมกันเป็นเกี๋ยว ตวยกันเป็นหมู่ วัฒนธรรมเฮายังอยู่ อยู่กับกู้จ้าดเจี้ยไตเฮา

    หมู่เฮายึดมั่น ในความสามัคคี บ่อหื้อใผมากวี ประเพณีไตเฮา

    ความกล้าหาญ นั้นอยู่ในจิต เฮาบ่อได้คิด สร้างความฮ้ายเสื่อมเสีย คิดสร้างแต่ความดี จะหื้อมีจื้อเสียงดังก้อง

    คิดสร้างแต่ความดี จะหื้อมีจื้อเสียงดังก้อง…โลก”…

    บ้านห้วยส้าน 10 ปีที่แล้ว ในวันงาน”บุญชาติ และปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม” ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557

    10 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้เขียนมีโอกาสไปชมงาน “บุญชาติ และปอยฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม” ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณลานกีฬาของโรงเรียนบ้านห้วยส้าน หลังจากทุกคนร่วมร้องเพลง “ไตสามัคคี” จบแล้ว เด็กๆในบ้านห้วยส้าน ต่างออกมาร่วมกันฟ้อนและร่วมร้องเพลงเพื่อเป็นการต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน https://www.youtube.com/watch?v=4RsLgVjl5tA

    “หนานเอ๊ก” ชาวห้วยส้านรุ่นที่ 4 มัคทายกวัดศรีบุญเรือง ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงานในปีนั้น ได้บอกเล่าความเป็นมาของชุมชนบ้านห้วยส้าน พร้อมให้ข้อมูลว่า ณ เวลานั้น(ต้นปี 2557) มีชาวไทโยนตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตชุมชนบ้านห้วยส้านประมาณ 2 หมื่นคน กระจายตัวตั้งเป็นหมู่บ้าน 7 แห่ง ประกอบด้วย บ้านห้วยส้าน บ้านแม่แปป บ้านปางกาน บ้านห้องห้า บ้านแม่กานใน บ้านผาซอง และบ้านไร่ รวมถึงมีคนไทล้านนาที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองเมียวดี พวกเขาเรียกว่าเมือง”บะล้ำบะตี๋”อีกจำนวนหนึ่ง

    ในชุมชนบ้านห้วยส้าน มีวัดไทเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวห้วยส้านอยู่ทั้งสิ้น 5 วัด ได้แก่ วัดบัวสถาน วัดสว่างอารมย์ วัดสุวรรณคีรี วัดป่าเรไร และวัดศรีบุญเรือง

    (คลิปคำให้สัมภาษณ์ของหนานเอ๊ก https://www.youtube.com/watch?v=WgmaIO3eTwk)

    ปัจจุบัน บ้านปางกาน 1 ใน 7 หมู่บ้านของชุมชนชาวไทโยนบ้านห้วยส้าน ถูกใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยทหารพม่า และเป็น 1 ในพื้นที่เป้าหมายที่ถูกโจมตีโดยทหารกะเหรี่ยง KNLA กับ PDF เมื่อวันที่ 7 มีนาคม หลังจากกองทัพพม่าตอบโต้กลับด้วยอากาศยานและอาวุธหนัก บ้านปางกานก็ตกเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ถูกเครื่องบินรบพม่า บินมาทิ้งระเบิดแบบปูพรม

    นับแต่การโจมตีใหญ่เริ่มขึ้นในวันที่ 7 มีนาคม จนถึงทุกวันนี้ มากกว่า 80% ของชาวบ้านห้วยส้าน ตัดสินใจยอมทิ้งบ้านทิ้งเรือนหนีไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่ห่างไกลจากจุดสู้รบ ส่วนหนึ่งหนีเข้าไปอยู่ในตัวเมืองเมียวดี มีบางส่วนข้ามชายแดนไปหลบภัยในตัวอำเภอแม่สอด

    ส่วนหนึ่งของสภาพความเสียหายในชุมชนบ้านห้วยส้าน

    ผลกระทบจากแรงระเบิด ความสูญเสียต่อทรัพย์สินในชุมชนบ้านห้วยส้าน ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง วันที่ 18 มีนาคม 2567 มีบ้านหลังหนึ่งถูกไฟไหม้วอดไปหมดทั้งหลัง

    ชาวบ้านห้วยส้านจำนวนหนึ่ง ประมาณกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง ได้หนีไปอาศัยวัดที่บ้านแม่แปปเป็นที่หลบภัย พวกเขาเหล่านี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีพ ขาดแคลนอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค เพราะการขนส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ต้องเจออุปสรรคจากเครื่องบินรบพม่าที่บินวนเวียนอยู่เหนือน่านฟ้า มีการยิงจรวดและทิ้งระเบิดลงมาเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

    วันที่ 23 มีนาคม 2567 ตัวแทนชาวไทยจำนวนหนึ่งเดินทางจากเชียงใหม่ ข้ามชายแดนเข้าไปในเมียวดี เพื่อนำข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องนุ่งห่ม เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งได้รับการบริจาคมา ไปมอบให้กับผู้ที่ลี้ภัยอยู่ตามบ้านญาติมิตร พี่น้อง ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยส้าน

    ประกาศเชิญชวนบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือชาวล้านนาพลัดถิ่นที่ประสบภัยจากการสู้รบที่บ้านห้วยส้าน

    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง วัดสวนดอก เป็นองค์กรแกนนำเปิดรับบริจาคสิ่งของเหล่านี้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา

    แต่จนถึงขณะนี้ สถานการณ์ในชุมชนบ้านห้วยส้านและเขตติงกานหญี่หน่องยังไม่สงบ ชาวบ้านห้วยส้านจำนวนมาก ยังไม่สามารถกลับไปยังบ้านเรือนของตนได้…

  • จาก”เล่าก์ก่าย” สู่ … “เมียวดี”?
  • “จุดเปลี่ยน” ชายแดนเมียวดี!!!