ThaiPublica > เกาะกระแส > อิตาลีกับ “ความมหัศจรรย์” ทางเศรษฐกิจ จาก 3 เสาหลัก SME อาหาร และการท่องเที่ยว

อิตาลีกับ “ความมหัศจรรย์” ทางเศรษฐกิจ จาก 3 เสาหลัก SME อาหาร และการท่องเที่ยว

3 ธันวาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Italy#/media/File:Colosseum_in_Rome,_Italy_-_April_2007.jpg

ในหนังสือชื่อ Love, Honor and Jealousy: An Intimate History of the Italian Economic Miracle (2019) เขียนอธิบายถึงชีวิตการแต่งงานของผู้หญิงอิตาลี 2 คน ที่เป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงสังคมของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” (economic miracle) ของอิตาลี ที่เกิดในช่วงปี 1950-1970

ในปี 1950 ผู้หญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่ในชนบทชื่อ อะมาเลีย โมลิเนลลี (Amalia Molinelli) แต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่ง เธอเขียนบันทึกสะท้อนความรู้สึกถึงความกลัวในเรื่องการแต่งงาน ที่ในเวลานั้น การแต่งงานเป็นความผูกผันตลอดชีวิต การหย่าร้างไม่เคยอยู่ในความคิดของผู้หญิงคนใด การมีครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

อีกกรณีหนึ่งเป็นเรื่องราวผู้หญิงอีกคนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่กรุงโรม เมืองหลวง ชื่อว่าลิเวีย โคลาซานติ (Livia Colasanti) ในปี 1960 เธอแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่ง แต่จบลงที่การหย่าร้าง ลิเวียเป็นผู้หญิงทำงานในเมือง มีรสนิยมในเรื่องแฟชั่น ดนตรี และภาพยนตร์ มองการแต่งงานเหมือนละครชีวิตที่เป็นเรื่องตลก ทัศนะของอะมาเลียและลิเวียที่มีต่อการแต่งงาน จึงสะท้อนสังคมอิตาลีในยุคเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม ที่กินเวลาแค่ 20 ปี

ที่มาภาพ : italofile.com

ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานยังยากจน

หนังสือ A History of Contemporary Italy (1990) โดย Paul Ginsborg ที่นักอ่านรอคอยและได้รับการชื่นชมจากนักวิจารณ์มากเขียนไว้ว่า ในกลางทศวรรษ 1950 อิตาลียังเป็นประเทศด้อยพัฒนา แม้ภาคอุตสาหกรรมจะมีการผลิตก้าวหน้าบางส่วน เช่น เหล็กกล้า รถยนต์ พลังงานไฟฟ้า และเส้นใยสังเคราะห์ แต่ยังไม่ใช่ภาคส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และการผลิตอุตสาหกรรมก็อยู่ทางภาคเหนือของอิตาลี

คนอิตาลีส่วนใหญ่ยังมีอาชีพและรายได้จากภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม เช่น ทำงานในบริษัทขนาดเล็ก มีเทคโนโลยีล้าหลัง และใช้แรงงานเป็นหลัก ทำงานในหน่วยงานรัฐ ร้านค้าขนาดเล็ก และในภาคการเกษตร มาตรฐานการครองชีพยังต่ำ ปี 1951 ครัวเรือนเพียงแค่ 7.4% ที่มีไฟฟ้าและน้ำประปา

การเกษตรยังเป็นภาคส่วนจ้างงานมากที่สุด การสำรวจประชากรปี 1951 การเกษตรจ้างงาน 42.2% ของแรงงานทั้งหมด ทางภาคใต้สูงถึง 56.9% การเกษตรของอิตาลีจึงล้าหลัง กลายเป็นแหล่งกองทัพแรงงานสำรองขนาดใหญ่ ทางออกทางหนึ่งคือการอพยพไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนอีกทางหนึ่งคืออพยพไปทำงานทางยุโรปเหนือ

แต่แล้วในปี 1958-1963 คือจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอิตาลี ทำให้ภายในเวลา 2 ทศวรรษ อิตาลีเปลี่ยนจากเศรษฐกิจชาวนา กลายเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของตะวันตก ภูมิทัศน์ของประเทศ และวิถีชีวิตของประชาชน เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

รถ FIAT

จุดเริ่มต้น “ความมหัศจรรย์”

ช่วงปี 1950-1970 ถือเป็นยุคทองการค้าระหว่างประเทศ การค้าสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว การผลิตจำนวนมากและการตลาดขนาดใหญ่ (massive market) สนองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้สร้างและยกระดับระดับความมั่งคั่งที่ไม่เคยมีมาก่อน การผลิตขนาดใหญ่และลัทธิการบริโภค กลายเป็นเทพเจ้าคู่แฝดของยุคสมัย

หนังสือ A History of Contemporary Italy อธิบายว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อิตาลีสามารถเปลี่ยนฐานะจากประเทศที่เคยมีบทบาทไม่มาก กลายมาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อยุคการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้

ประการแรก อิตาลีใช้นโยบายยกเลิกการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ (protectionism) แตกต่างจากสเปนสมัยนายพลฟรังโก แม้โครงสร้างเศรษฐกิจจะคล้ายกับอิตาลี แต่สเปนแยกตัวเองออกจากกระแสการค้าภายในยุโรปนานหลายปี

แต่อิตาลีเป็นหัวหอกการรวมตัวทางเศรษฐกิจของยุโรป มาตั้งแต่ต้นนับจากสมัยตลาดร่วมยุโรป (common market) อุตสาหกรรมอิตาลีมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง การผลิตทางอุตสาหกรรมมีความหลากหลาย ผู้ประกอบการ วิศวกร นักออกแบบ และช่างฝีมือ ที่อยู่ในภาคส่วนเศรษฐกิจก้าวหน้า มีความพร้อมที่จะเผชิญการท้าทายจากการแข่งขัน

แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 1958 ในปี 1953 บริษัท FIAT ได้ทุ่มลงทุนและประสบความสำเร็จในรถยนต์รุ่นใหม่ FIAT 600 ที่เปิดตัวในปี 1957 และต่อมา FIAT 600 กลายเป็นสัญลักษณ์ “ความมหัศจรรย์เศรษฐกิจของอิตาลี” ENI บริษัทพลังงานข้ามชาติ ที่รัฐบาลอิตาลีเป็นเจ้าของ ได้ลงทุนด้านปิโตรเคมี ยางสังเคราะห์ และปุ๋ยเคมี ENI ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดหาและสนองก๊าซธรรมชาติราคาต่ำแก่อุตสาหกรรมต่างๆ ของอิตาลี

ทั้ง ENI และสถาบันฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Institute of Economic Reconstruction) ที่มีชื่อย่อว่า IRI มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจขึ้นมา IRI ตั้งมาปี 1933 สมัยรัฐบาลเผด็จการ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ล้มละลายจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ปี 1932 หลังสงครามโลก IRI มีบทบาทลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง การขนส่งทางอากาศ และระบบโทรคมนาคม หน่วยงานรัฐบาลอิตาลีจึงมีบทบาทสำคัญต่อความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยจากการที่ค่าแรงต่ำในทุกภาคของอิตาลี เนื่องจากในทศวรรษ 1950 อิตาลีมีอัตราการว่างงานสูง ปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวยล้วนเป็นรากฐานทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วงปี 1951-1963 เศรษฐกิจอิตาลีเติบโตปีละ 5.8% และช่วงปี 1964-1973 เติบโต 5.0%

ในช่วงดังกล่าวที่เศรษฐกิจขยายตัวสูง การอพยพแรงงานภายในประเทศมีมากถึง 9 ล้านคน เข้าไปยังพื้นที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมอุตสาหกรรม” คือพื้นที่ระหว่างเมืองมิลาน-ตูริน-เมืองท่าเจนัว ช่วงหลังสงคราม ในบรรดากลุ่มประเทศรายได้สูง OECD อัตราการเติบโตที่สูงของอิตาลีนี้ เป็นรองแค่ญี่ปุ่นและเยอรมัน

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Italy#/media/File:Salumi_e_vino_lucchese.JPG

อุตสาหกรรมที่โดดเด่น

ในช่วงความมหัศจรรย์เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของอิตาลี ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้าแฟชั่น เครื่องพิมพ์ดีด ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เฟอร์นิเจอร์ เส้นใยสังเคราะห์ เครื่องเย็บผ้า รถมอเตอร์ไซค์ Vespa และ Lambretta รถยนต์ FIAT และรถยนต์หรูหรา Maserati บริษัทผู้ผลิตของอิตาลีมีชื่อเสียงมากในเรื่องการผลิตสินค้าที่มีการออกแบบอย่างสง่างาม กับเทคนิคการผลิตที่ทำให้สินค้าราคาไม่แพง

สินค้าที่สะท้อนความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจคือ การเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิตาลี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้มีฐานะเป็นเพียงผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก (SME) แต่ต่อมาสินค้าของบริษัทเหล่านี้ กลายเป็นตราสินค้าที่รู้จักกันทั่วยุโรป

บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า Candy ผลิตสินค้ายี่ห้อ Hoover และ Kelvinator ในปี 1947 ผลิตเครื่องซักผ้าแค่วันละ 1 เครื่อง บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า Ignis มีคนงานไม่กี่สิบคน และ Zanussi มีคนงาน 250 คน ในปี 1951 อิตาลีผลิตตู้เย็น 18,500 เครื่อง ถึงปี 1957 เพิ่มเป็น 370,000 เครื่อง และปี 1967 ผลิตทั้งหมด 3.2 ล้านเครื่อง

ในช่วงเดียวกันนี้ อิตาลีกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดในยุโรป ในด้านเครื่องซักผ้า และเครื่องล้างจาน ในทุกๆ 15 วินาที Candy จะผลิตเครื่องซักผ้า 1 เครื่อง เครื่องพิมพ์ดีดก็สะท้อนภาวะเศรษฐกิจอิตาลี ในปี 1957 บริษัท Olivetti ผลิตเครื่องพิมพ์ดีด 151,000 เครื่อง ถึงปี 1961 ผลิตออกมา 652,000 เครื่อง

นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุตสาหกรรมรถยนต์ที่บริษัท FIAT ครองตลาด ก็กลายเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์กันว่า ในช่วงปี 1963-1964 การลงทุนทั้งหมดในอิตาลี 20% จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตรถยนต์ของ FIAT ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากบริษัท SME การผลิตยางรถยนต์ การสร้างถนน หรือการผลิตเหล็กกล้า

SME อาหาร และท่องเที่ยว

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ The Pillars of the Italian Economy (2016) กล่าวถึงเสาหลัก 3 เสาของเศรษฐกิจอิตาลี ที่ประกอบด้วยอุตสาหกรรมการผลิต อาหาร และการท่องเที่ยว โดยกล่าวว่า ในการวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ จากหลักเกณฑ์ Trade Performance Index ขององค์การการค้าโลก (WTO) อิตาลีครองอันดับ 1 ในการผลิต 3 ด้าน คือ อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องหนัง และสิ่งทอ

แต่สินค้าที่อิตาลีเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามีถึง 235 รายการ จากตัวเลขปี 2012 รองเท้าหนังเป็นสินค้าที่อิตาลีได้เปรียบดุลการค้ามากสุดถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือกระเป๋ามือถือทำด้วยหนัง 2.5 พันล้านดอลลาร์ เส้นพาสต้า 1.8 พันล้านดอลลาร์ แว่นกันแดด 1.8 พันล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ 1 พันล้านดอลลาร์

ในด้านการท่องเที่ยว อิตาลีเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่ม Euro Zone เป็นปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น จีน อเมริกา และออสเตรเลีย มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดอาณาจักรโรมันและยุครุ่งเรืองทางศิลปะ (Renaissance) ในปี 2021 อิตาลีมีแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกมากที่สุด 58 แห่ง ในจำนวนนี้ 53 แห่งเป็นแหล่งวัฒนธรรม ส่วนจีนอันดับสอง 56 แห่ง เยอรมัน 51 แห่ง และสเปน 49 แห่ง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้หลายประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศมั่งคั่งและมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าที่สุด กรณีความสำเร็จของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อาศัยการขับเคลื่อนโดยเครือข่ายบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรม ที่ญี่ปุ่นเรียกว่ากลุ่ม Keiretsu และเกาหลีใต้เรียกว่ากลุ่ม Chaebol

แต่ความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเยอรมัน อิตาลี รวมทั้งไต้หวัน มาจากความเข้มแข็งและความสำเร็จ ที่ขับเคลื่อนโดยภาคส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก (SME)

เอกสารประกอบ
A History of Contemporary Italy: Society and Politics 1943-1988, Paul Ginsborg, Penguin Books, 1990.
The Pillars of the Italian Economy: Manufacturing, Food & Wine, Tourism, Marco Fortis (Editor), Springer, 2016.