รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ New York Times ได้พิมพ์บทความในหน้าบทบรรณาธิการ ที่เขียนโดยบุรุษนิรนาม เรื่อง “ผมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านภายในฝ่ายบริหารของทรัมป์” New York Times แถลงว่า ที่พิมพ์บทความชิ้นนี้ เพราะการขอร้องของผู้เขียน ที่เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในทำเนียบขาว
บทความกล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังเผชิญหน้ากับการทดสอบการเป็นประธานาธิบดี ที่ไม่เหมือนการทดสอบที่ผู้นำอเมริกาสมัยใหม่คนใดเคยประสบมาก่อน นั่นก็คือ เจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนในรัฐบาลของเขากำลังดำเนินการจากภายในรัฐบาล ที่จะขัดขวางประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ทรัมป์เห็นว่าสำคัญ ตลอดจนความโน้มเอียงที่อันตรายสุดของเขา คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์หลายคน มุ่งมั่นที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นไปได้ เพื่อรักษาสถาบันประชาธิปไตย และขัดขวางความโน้มเอียงที่ผิดพลาด
หนังสือชื่อ Fear
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน สำนักพิมพ์ Simon & Schuster ได้พิมพ์หนังสือชื่อ Fear: Trump in the White House ออกวางตลาด หนังสือเขียนโดย Bob Woodward ที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของ The Washington Post และเคยเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการทำข่าวเปิดโปงกรณีอื้อฉาว Watergate จนนำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน
หนังสือ Fear อาจจะไม่ได้เปิดโปงเรื่องราวใหม่ๆจากการบริหารงานของรัฐบาลทรัมป์ เพราะตั้งแต่วันแรกที่ทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดี ก็มีข่าวรั่วออกมาตลอดว่า การตัดสินใจในทำเนียบขาวเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย นาย Reince Priebus อดีตหัวหน้าคณะทำงานในทำเนียบขาว บอกกับ Bob Woodward ว่า “เมื่อคุณเอางูกับหนู เหยี่ยวกับกระต่าย ฉลามกับแมวน้ำ มาอยู่รวมกันในสวนสัตว์ โดยไม่มีกำแพงแยก เรื่องร้ายแรงและรุนแรงเริ่มเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น”
ตั้งแต่ในบทแรกของหนังสือ Fear ผู้เขียนบรรยายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสับสนของการทำงานในทำเนียบขาว หลังจากที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งมาได้ 8 เดือน วันหนึ่งในต้นเดือนกันยายน 2017 นาย Gary Cohn ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ทำเนียบขาว เดินทางไปทำงาน ที่โต๊ะทำงานมีร่างจดหมายจากทรัมป์ถึงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แจ้งการยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรี สหรัฐฯ-เกาหลีใต้
ร่างจดหมายฉบับนี้ทำให้ Gary Cohn ตกใจมาก ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยขู่จะถอนตัวจากข้อตกลงนี้มาแล้ว ทั้งๆ ที่ข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของรากฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ นอกเหนือจากการเป็นพันธมิตรทางหาร และที่สำคัญสุด คือความร่วมมือด้านข่าวกรองที่ลับสุดยอด
การค้ากับความมั่นคง
ภายใต้สนธิสัญญาของ 2 ประเทศ ที่ทำขึ้นในปีทศวรรษ 1950 สหรัฐฯ มีทหารประจำการ 28,500 นายอยู่ในเกาหลีใต้ และดำเนินงานโครงการข่าวกรองที่ลับสุดยอด เรียกว่า Special Access Program (SAP) โครงการนี้มีสมรรถนะด้านข่าวกรองสูงมาก ขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ ที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ ใช้เวลา 38 นาที ก่อนจะไปถึงลอสแอนเจลิส แต่โครงการนี้ทำให้สหรัฐฯ สามารถตรวจจับการยิงขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือได้ภายใน 7 วินาที ส่วนสถานีตรวจจับของสหรัฐฯ ในที่อลาสกา ใช้เวลาตรวจจับ 15 นาที
ความสามารถในการตรวจจับภายใน 7 วินาที ทำให้ทหารสหรัฐฯ มีเวลาพอที่จะทำลายขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ โครงการนี้จึงเป็นปฏิบัติการสำคัญสุดและลับสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในเกาหลีใต้ จึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญต่อของความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เอง
ส่วนเกาหลีใต้ถือว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของตัวเอง หากสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ อาจจะนำไปสู่การพังทลายของความสัมพันธ์ทั้งหมดของ 2 ประเทศ Gary Cohn ที่เคยเป็น CEO ของ Goldman Sachs มาก่อน ไม่เชื่อว่าทรัมป์จะกล้าเสี่ยงที่จะยอมสูญเสียโครงการข่าวกรอง ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
เรื่องราวทั้งหมดเกิดจากการที่ทรัมป์ไม่พอใจ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ปีหนึ่ง 18 พันล้านดอลลาร์ และยังใช้เงินอีกปีละ 3.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้ทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่ในประเทศนี้ และตอนนี้มีร่างจดหมายฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2017 อยู่บนโต๊ะ หากทรัมป์ลงนามในจดหมายขึ้นมา อาจเป็นผลเสียต่อความมั่นคงของประเทศ
Gary Cohn กังวลว่า ทรัมป์คงจะลงนามในจดหมายหากเกิดเห็นจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา เขาจึงหยิบนำร่างจดหมายนี้ออกไป แล้วเก็บรักษาไว้ในช่องจดหมาย ในสภาพที่ทำเนียบขาวเองอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย ทรัมป์คงจะไม่ได้สังเกตว่ามีเอกสารหายไป
หนังสือ Fear กล่าวว่า ตามปกติ คนที่รับผิดชอบงานเอกสารของประธานาธิบดีชื่อ Rob Porter ที่เรียนจบกฎหมายจากฮาร์วาร์ด มีตำแหน่งเป็นเลขานุการ ของบรรดาเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว และเป็นคนรวบรวมเอกสารเสนอต่อประธานาธิบดี เขาจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ ที่จะร่างจดหมายถึงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แต่ปรากฏว่า ร่างจดหมายดังกล่าวมาจากช่องทางอื่น
Gary Cohn และ Bob Porter จึงร่วมมือกันที่จะหาทางยับยั้งคำสั่งต่างๆ ของทรัมป์ ที่เห็นว่าจะเป็นเรื่องอันตราย วิธีการหนึ่งคือ การดึงเอกสารนั้นออกไปจากโต๊ะทำงานทรัมป์ แล้วทรัมป์เองก็จะลืมเรื่องนี้ไป อีกวิธีหนึ่งคือ การถ่วงเวลา โดยบอกว่ายังมีปัญหาด้านกฎหมาย แม้ทรัมป์จะไม่พูดถึงเรื่อง จดหมายถึงประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่หายไป แต่ทรัมป์ก็ไม่เคยลืมเรื่องที่ตัวเองต้องการจะทำอะไรกับข้อตกลงการค้าเสรีนี้
ต่อมาในการประชุมที่ทำเนียบขาว มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน เรื่องข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ ทรัมป์กล่าวว่า “ผมไม่สนใจ ผมเบื่อกับคำอธิบายเรื่องพวกนี้ ผมไม่ต้องการได้ยินอีกต่อไป เราต้องถอนตัวออกจากข้อตกลงค้าเสรีกับเกาหลีใต้” แล้วทรัมป์ก็เป็นคนที่บอกข้อความในจดหมายฉบับใหม่ ที่ต้องการจะส่งไป
จาเรด คุชเนอร์ ลูกเขยของทรัมป์ ที่นั่งติดกับทรัมป์ในที่ประชุม เป็นคนจดคำพูดของทรัมป์ ที่จะเป็นข้อความในจดหมาย ในที่ประชุม คนที่คัดค้านการยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ให้เหตุผลว่า สหรัฐฯ ไม่เคยถอนตัวจากการค้าเสรีมาก่อน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องทางกฎหมาย ภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงและข่าวกรอง แต่ทรัมป์ก็กล่าวว่า “ให้ไปร่างจดหมายนี้ขึ้นมา ผมต้องการเห็นร่างนั้น”
เนื่องจาก Gary Cohn และ Rob Porter ไม่ได้เป็นคนร่างจดหมายฉบับใหม่นี้ ทำให้เรื่องนี้เงียบไประยะหนึ่ง และทรัมป์เองก็วุ่นวายในเรื่องอื่น แต่ประเด็นเรื่องการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ก็ยังไม่ได้หายไป Gary Cohn จึงหารือกับนายพล James Mattis รัฐมนตรีกลาโหมในเรื่องนี้ James Mattis เป็นรัฐมนตรีที่มีอิทธิพลมากสุดในรัฐบาลทรัมป์ Gary Cohn บอกกับ James Mattis ว่า เรากำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ในเรื่องนี้ และต้องการกำลังหนุน
แม้จะไม่ชอบมาทำเนียบขาวบ่อย แต่นายพล James Mattis เห็นว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน จึงเดินทางมาทำเนียบขาวและกล่าวกับทรัมป์ว่า “ท่านประธานาธิบดี คิม จองอึน เป็นภัยคุกคามโดยตรงที่สุดต่อความมั่นคงของเรา เราต้องการพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้” ทหารสหรัฐฯ และระบบงานข่าวกรองในเกาหลีใต้เป็นส่วนสำคัญสุดในการปกป้องเราจากเกาหลีเหนือ ขออย่าได้ถอนตัวจากข้อตกลงนี้
ทรัมป์ถามว่า ทำไมสหรัฐฯ ต้องเสียเงินปีละ 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD ในเกาหลีใต้ นายพล James Mattis ตอบว่า เราไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อเกาหลีใต้ เราช่วยเกาหลีใต้ เพราะพวกเขาช่วยเรา
หนังสือ Fear กล่าวว่า ในปี 2016 เมื่อทรัมป์ยังเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้กล่าวว่า งานของประธานาธิบดีคือความมั่นคงของประเทศ สิ่งนี้เป็นอันดับหนึ่ง สอง และสาม การทหารจะต้องเข้มแข็ง ไม่ให้สิ่งเลวร้ายที่มาจากภายนอกเกิดขึ้นกับประเทศเรา แต่ความเป็นจริงในปี 2017 ก็คือ เจ้าหน้าที่ของทรัมป์พยายามร่วมมือกัน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดสิ่งที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่อันตรายร้ายแรงของประธานาธิบดี
ในหนังสือเพิ่งพิมพ์ล่าสุดชื่อ Identity นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง Francis Fukuyama ก็กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของทรัมป์ นอกจากเรื่องนโยบายแล้ว อีกปัญหาหนึ่งคือบุคลิกนิสัย สิ่งที่ทรัมป์ขาดไปคือคุณธรรมของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ เช่น ความสัตย์ซื่อพื้นฐาน ความน่าเชื่อถือวางใจได้ การตัดสินใจที่มีเหตุมีผล การทุ่มเทให้กับสาธารณะประโยชน์ และการมีจริยธรรม
เอกสารประกอบ
Fear: Trump in the White House, Bob Woodward, Simon & Schuster, 2018.