ThaiPublica > เกาะกระแส > ในยุคหุ่นยนต์ และ AI ประเทศกำลังพัฒนาจะอาศัยอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตได้อีกหรือไม่?

ในยุคหุ่นยนต์ และ AI ประเทศกำลังพัฒนาจะอาศัยอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตได้อีกหรือไม่?

6 ตุลาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : unsplash.com3

ในบทความเรื่อง AI Could Devastate the Developing World ที่พิมพ์ในเว็บไซต์ Bloomberg ผู้เขียน Kai-Fu Lee กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจมักเน้นหนักสิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่ในฐานะคนทำงานด้านเทคโนโลยี Kai-Fu Lee เห็นว่า ภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงสุดของ AI คือ ผลกระทบที่จะมีต่อประเทศกำลังพัฒนา

ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนและอินเดียเป็นโมเดล 2 แบบที่ประเทศต่างๆ จะใช้ปีนบันไดการพัฒนา โมเดลจีนคือการอาศัยประชากรจำนวนมากและค่าแรงต่ำมาสร้างฐานอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ยกระดับห่วงโซ่คุณค่าไปสู่การผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น และใช้เทคโนโลยีเข้มข้นมากขึ้น

ส่วนโมเดลอินเดีย อาศัยประชากรจำนวนมากที่พูดภาษาอังกฤษและการมีค่าแรงต่ำ มาสร้างตัวเองให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจแบบ outsource สำหรับประเภทงานในสำนักงานระดับล่าง งานเกี่ยวกับกระบวนการทำธุรกิจ และการทดสอบซอฟต์แวร์ หากประสบความสำเร็จ ก็จะอาศัยงานที่ใช้ทักษะต่ำนี้ค่อยๆ ยกระดับสู่งานสำนักงานที่ใช้ทักษะสูงมากขึ้น

ทั้งสองโมเดลล้วนอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นประเทศมีค่าแรงต่ำในการทำงานแบบซ้ำซาก ที่ไม่ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานในโรงงาน หรือทำงานคอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องอาศัยทักษะการรับรู้ แต่ว่า ปัญญาประดิษฐ์คือสิ่งที่กำลังพยายามจะเข้ามาทำงานเหล่านี้ หากไม่ได้ประโยชน์จากค่าแรงถูกอีกต่อไป บริษัทต่างๆ ก็จะนำโรงงานกลับไปยังประเทศตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถปีนบันไดการพัฒนาได้อีกต่อไป

ที่มาภาพ : unsplash.com2

สิ่งที่ชาติกำลังพัฒนาจะต้องทำ

Kai-Fu Lee เห็นว่า สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องทำเป็นอย่างแรกคือการยอมรับว่า เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้ผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบโมเดลจีนหรือโมเดลอินเดีย จีนอาจเป็นประเทศใหญ่ชาติสุดท้าย ที่สามารถก้าวพ้นจากความยากจนโดยอาศัยการผลิตแบบโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องมองหาเส้นทางใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ

Kai-Fu Lee เห็นว่า แนวทางใหม่นี้ ต้องประกอบด้วยกลยุทธ์ 2 ด้าน กลยุทธ์แรกเป็นเรื่องการศึกษา สำหรับประเทศที่มีแรงงานไร้ฝีมือและขาดการศึกษา จะต้องสร้างอุตสาหกรรมบริการที่อาศัยคนเป็นศูนย์กลาง เพราะแม้แต่หุ่นยนต์ที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถจมอบความรู้สึกที่อบอุ่น และการบริการที่ประทับใจ ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพักโรงแรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม สายด่วนคอลเซ็นเตอร์ และการดูแลคนสูงอายุ จะทำให้ประเทศยากจนสามารถมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้อง และเสริมประเทศมหาอำนาจด้าน AI

ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องสร้างตลาดเฉพาะของตัวเอง เศรษฐกิจในยุค AI หุ่นยนต์โรงงาน สามารถจะทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก แต่ปัญญาประดิษฐ์ในเรื่องการปล่อยเงินกู้รายย่อย ที่อัลกอริทึมพัฒนาโดยอาศัยข้อมูลสินเชื่อของผู้บริโภคชาวอเมริกัน จะเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในประเทศเกษตรกรรมอย่างเอธิโอเปีย ที่คนกู้ไม่ได้มีบัตรเครดิตการ์ด

อนาคตการพัฒนาที่อิง “อุตสาหกรรม”

ที่มาภาพ : https://www.worldbank.org

ธนาคารโลกเองก็เพิ่งเผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่อง อนาคตของการพัฒนา ที่มีอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ หรือ Trouble in the Making: The Future of Manufacturing-Led Development (2018) รายงานนี้กล่าวว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาที่อาศัยการผลิตด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดทั้งผลิตภาพและการสร้างงานให้แก่แรงงานไร้ฝีมือ ธุรกิจภาคบริการระดับล่างอาจมีบทบาทที่ช่วยดูดซับแรงงานจากภาคเกษตร แต่ก็เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำ

รายงานของธนาคารโลกกล่าวว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ สร้างดอกผลการพัฒนาได้มากสุดในประวัติศาสตร์ ประเทศที่มีบทบาทด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมกลายเป็นประเทศมั่งคั่งที่สุดของโลก ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียเหนือคือตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ของโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก

แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะประสบความสำเร็จในการอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อปีนบันไดการพัฒนาให้สูงขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเป็นเรื่องที่ว่า จะผลิต “อย่างไร” มากกว่าเรื่องที่ว่า จะผลิต “อะไร” ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การผลิตอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นที่ไหนของโลก ถูกกำหนดจากภาวะปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกับสภาพโลกาภิวัตน์

อนาคตของโมเดล “ฝูงห่านบิน”

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์การผลิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความได้เปรียบในการผลิต (comparative advantage) การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกทำให้เกิดการแบ่งงานการผลิตระหว่างประเทศขึ้นมา ประเทศยากจนส่งออกวัตถุดิบและสินค้าเกษตร แล้วก็นำเข้าสินค้าจากการผลิตแบบอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ที่เกิดจากเครื่องจักรกลและการผลิตแบบโรงงาน อุตสาหกรรมการผลิตใช้แรงงานเข้มข้น ย้ายไปประเทศยากจนรายได้ต่ำ ในโมเดลที่เรียกว่า “ฝูงห่านบิน” (flying geese) ญี่ปุ่นเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมใช้แรงงาน พวกสิ่งทอและเครื่องหนัง เมื่อยกระดับการผลิตที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น ก็ย้ายอุตสาหกรรมดั่งเดิม มายังประเทศค่าแรงต่ำในเอเชีย

แนวคิด “วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์” (product cycle) ก็อธิบายการย้ายการผลิตอุตหกรรมแบบเดียวกับโมเดลฝูงห่านบิน ผลิตภัณฑ์ใหม่ถูกคิดค้นและผลิตขึ้นในประเทศรายได้สูงก่อนเพราะความสามารถด้านนวัตกรรมและกำลังซื้อของตลาด จากนั้นก็มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ เมื่อเทคโนโลยีนั้นมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ก็ย้ายการผลิตสินค้าไปยังประเทศรายได้ต่ำ

ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ความแตกต่างของค่าแรง ทำให้การย้ายการผลิตมาประเทศรายได้ปานกลางหรือต่ำ เพราะสามารถสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจข้ามชาติ ทำให้การผลิตด้านอุตสาหกรรมแยกกระจายออกเป็นส่วนๆ ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก (global value chain) โดยเฉพาะเป็นแหล่งประกอบสินค้าขั้นสุดท้าย ส่วนประเทศรายได้สูงเป็นฝ่ายทำการวิจัยผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และการตลาด

ยุทธ์ศาสตร์ทางออก

ที่มาภาพ : https://www.worldbank.org/en/topic/competitiveness/publication/trouble-in-the-making-the-future-of-manufacturing-led-development

รายงานธนาคารโลกกล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เรียกว่า อุตสาหกรรม 4.0 เช่น AI, หุ่นยนต์, Internet of Things และ 3-D Printing เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าดังกล่าวทำให้การผลิตมีการใช้แรงงานลดน้อยลง อาจส่งผลกระทบต่อช่องทางการผลิตด้านอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาให้มีโอกาสที่จะแคบลงไป หากว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้การผลิตและการวิจัยต้องตั้งอยู่ในจุดเดียวกัน รวมทั้งการที่ธุรกิจจะให้ความสำคัญต่อการผลิตเพื่อสนองความต้องการลูกค้า และความต้องการจะให้สินค้าเข้าสู่ตลาดรวดเร็ว สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตที่กระจายอยู่ในหลายประเทศ

อุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้กลยุทธ์การพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา ที่อาศัยอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ เกิดความไม่แน่นอน และอาจเกิดภาวะชะงักงัน (disruption) ในการรับมือกับสภาพที่เปลี่ยนไปนี้ รายงานของธนาคารโลกให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศกำลังพัฒนาว่า

ประการแรก ความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนต่ำจะลดความสำคัญลง โดยความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะมาจากการสร้างบรรยากาศธุรกิจมากขึ้น

ประการที่ 2 ประเทศกำลังพัฒนา จะต้องสร้างความสามารถของแรงงาน องค์กรธุรกิจ และของประเทศ ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ประเทศต้องมีความสามารถที่จะแปลงเทคโนโลยีใหม่ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาด เทคโนโลยีใหม่หมายถึงผู้บริหารธุรกิจและพนักงานองค์กรธุรกิจจะต้องมีทักษะบางอย่าง รวมทั้งต้องมีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่นี้

ประการที่ 3 ประเทศจะต้องสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดผ่านระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้าเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต้องได้รับการสนับสนุนจากการบริการ กฎระเบียบของประเทศจะต้องผ่อนคลายและลดน้อยลง เพื่อสนับสนับสนุนระบบโลจิสติกส์และการค้าข้ามพรมแดน

รายงานของธนาคารโลกสรุปว่า เทคโนโลยีใหม่ และลักษณะการผลิตอุตสาหกรรมแบบใหม่ของโลกไม่ได้หมายถึงอวสานของการพัฒนาที่อาศัยอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ แต่ยุทธศาสตร์นี้จะมีบทบาทและผลกระทบน้อยลง เช่น บทบาทน้อยลงที่จะทำให้เกิดการเติบโตที่ทุกส่วนได้ประโยชน์ (inclusive growth) แบบความสำเร็จของประเทศเอเชียเหนือ หรือบทบาทในการสร้างงานก็อาจจะลดลง เพราะเทคโนโลยีใหม่จะใช้แรงงานน้อยลง

แต่ประเทศกำลังพัฒนายังสามารถอาศัยอุตสาหกรรมบางอย่างมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งการจ้างแรงงานฝีมือต่ำ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีการใช้ระบบอัตโนมัติน้อย รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการใช้ระบบอัตโนมัติแบบจำกัด

เอกสารประกอบ
AI Could Devastate the Developing World, Kai-Fu Lee, September 18, 2018, Bloomberg.com
Trouble in the Making: The Future of Manufacturing-Led Development, Mary Hallward Driemeir, Gaurav Nayyar, 2018, World Bank Group.