ThaiPublica > เกาะกระแส > ชะตากรรมของ เซียส์ โรบัก จากอดีตที่รุ่งเรือง สู่การล้มละลายในยุคดิจิทัล

ชะตากรรมของ เซียส์ โรบัก จากอดีตที่รุ่งเรือง สู่การล้มละลายในยุคดิจิทัล

29 ตุลาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/3b/Sears%2C_Robuck_%26_Co._letterhead_1907.jpg/1200px-Sears%2C_Robuck_%26_Co._letterhead_1907.jpg

เซียส์ โรบัก (Sears Roebuck) ยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าของสหรัฐฯ ยื่นขอการคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลาย หลังจากที่ขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี เซียส์เป็นร้านสรรพสินค้าที่ปฏิวัติการค้าปลีกในปลายศตวรรษที่ 19 ด้วยธุรกิจสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์จากแคตตาล็อก และยังบุกเบิกธุรกิจศูนย์การค้า การยื่นขอล้มละลายเกิดขึ้นเนื่องจากซัพพลายเออร์กว่า 200 บริษัทปฏิเสธที่จะส่งออกให้เซียส์ เพราะมีหนี้สินค้างชำระ 134 ล้านดอลลาร์ ชะตากรรมของเซียส์จึงสะท้อนพัฒนาการของธุรกิจยักษ์ใหญ่ จากที่เคยรุ่งเรืองมากในยุคอุตสาหกรรม สู่การล้มละลายในยุคดิจิทัล

ประวัติศาสตร์ 132 ปี

เซียส์เป็นผู้บุกเบิกและสร้างนวัตกรรม ด้านการค้าปลีกของสหรัฐฯ ในประวัติศาสตร์ 132 ปีของบริษัท จากการริเริ่มการสั่งซื้อสินค้าทางไปรษณีย์ ทำให้เซียส์เปรียบเหมือนกับบริษัทแบบแอมะซอน ในยุคที่เรียกว่า เศรษฐกิจที่ฉาบด้วยทองคำ (Gilded Age) ซึ่งเป็นช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1870-1900 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสงครามกลางเมือง จนถึงก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ก็เป็นช่วงสมัยที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชันทางการเมือง การผูกขาดธุรกิจ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ริชาร์ด เซียส์ (Richard Sears) ผู้ก่อตั้งบริษัท เริ่มต้นธุรกิจจากการขายนาฬิกา ต่อมาในปี 1896 เซียส์เปิดธุรกิจการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ โดย อาศัยประโยชน์จากโครงการส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ไปชนบทฟรี ของการไปรษณีย์สหรัฐฯ แคตตาล็อกสินค้าของเซียส์ที่โด่งดังเคยมีความหนาถึง 1,000 หน้า

หนังสือพิมพ์ New York Times เขียนไว้ว่า แคตตาล็อกของเซียส์ ถือเป็นของที่ทุกคนต้องมีอยู่ติดตัว แม้แต่สายลับของสหรัฐฯ ในโซเวียตและยุโรปตะวันออกก็นำไปให้กับแหล่งข่าว เป็นตัวอย่างสำหรับตัดเสื้อผ้าตามแฟชั่นอเมริกัน ในช่วงสงครามเวียดนาม สายลับอเมริกันที่หาข่าวจากคนท้องถิ่นในลาวเรื่องการเคลื่อนไหวของทหารเวียดนามเหนือ ก็อาศัยสินค้าในแคตตาล็อกของเซียส์มาเป็นสื่อการแลกเปลี่ยนมูลค่าของข่าวกรอง

ในปี 1906 เซียส์เข้าตลาดหุ้นในราคาเสนอขายครั้งแรกหุ้นละ 97.50 ดอลลาร์ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ 2,500 ดอลลาร์ ต่อมา หลังจากทำธุรกิจได้ 40 ปี ในปี 1925 เซียส์ขยายกิจการโดยการเปิดร้านสรรพสินค้าแห่งแรกในนครชิคาโก ตั้งอยู่ในพื้นที่ทำเลชั้นนำของเมือง ที่ประกอบด้วยร้านค้าย่อยกว่า 300 แห่ง จนกลายเป็นร้านค้าปลีกใหญ่สุดของสหรัฐฯ

ความสำเร็จในอดีตของเซียส์มาจากกลยุทธ์การเป็นร้านค้าที่มีสินค้าทุกอย่างแก่ลูกค้าทุกคน เซียส์มีสินค้าตั้งแต่ของเล่น รองเท้า ไปจนถึงแท่นหินหน้าหลุมศพ เซียส์จึงเหมือนกับรูปแบบแรกๆ ของธุรกิจที่มีสินค้าทุกอย่างขาย เหมือนกับร้านออนไลน์แอมะซอนในปัจจุบัน ความรุ่งเรืองของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีส่วนทำให้บรรดาร้านค้าต่างๆ ต้องปิดกิจการ และต้องไปขอการคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลาย

นายเคร็ก จอห์นสัน (Craig Johnson) ผู้บริหาร บริษัทวิจัยการค้าปลีก ชื่อ Customer Growth Partners กล่าวว่า “เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับการค้าปลีกอเมริกา คนอเมริกันหลายรุ่นเติบโตขึ้นมากับเซียส์ แต่ทุกวันนี้เซียส์ไม่มีความหมายอะไร เมื่อคุณทำธุรกิจค้าปลีก หมายถึงคุณต้องอยู่กับสิ่งใหม่ๆ แต่เซียส์ได้ยุติบทบาทการสร้างนวัตกรรม”

ที่มาภาพ: https://money.cnn.com/2018/02/12/news/companies/sears-downfall/index.html
ที่มาภาพ: youtube

เมื่อเซียส์รุ่งเรือง พนักงานก็รุ่งเรืองไปด้วย

หนังสือพิมพ์ New York Times เขียนไว้ว่า เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อพนักงานขายของเซียส์เกษียณ จะมีเงินและหลักทรัพย์มูลค่ากว่า 1 ล้านดอลลาร์ แต่หากคนงานโกดังสินค้าของแอมะซอนทำงานจนเกษียณ จะมีรายได้เพียงบางส่วนของพนักงานในอดีตของเซียส์เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการทำธุรกิจในสหรัฐฯ จากอดีตที่คนชนะได้ไปบางส่วน กลายเป็นคนชนะได้ไปเกือบทั้งหมด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมุ่งสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น แต่ไม่ได้กระจายให้กับพนักงาน ระบบแบ่งผลกำไรและเงินบำนาญจึงกลายเป็นเรื่องที่หาได้ยากสำหรับพนักงานบริษัททั่วไปในปัจจุบัน

ในยุคที่เซียส์รุ่งเรืองมาก บริษัทพยายามกระจายประโยชน์ให้ทั้งผู้ถือหุ้นและพนักงาน เซียส์แบ่งผลกำไร 10% ก่อนหักภาษีเป็นกองทุนเกษียณสำหรับพนักงานประจำ ในทศวรรษ 1950 พนักงานถือหุ้น 25% ของหุ้นเซียส์ทั้งหมด นายอาร์เทอร์ มาร์ติเนซ (Arther Martinez) อดีตผู้บริหารเซียส์ กล่าวกับ New York Times ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นไปเบียดบังผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียอื่นๆ สิ่งนี้ไปโยงกับประเด็นที่ใหญ่สุดในเรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้”

โครงการเพื่อพนักงานของเซียส์ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์อย่างมากแก่พนักงาน แต่ยังยึดหลักเรื่องความเท่าเทียมกัน บริษัทตอบแทนแก่พนักงานตามอายุการทำงาน ไม่ใช่ตามตำแหน่งงาน บริษัทชั้นนำอื่นๆ ของอเมริกาก็มีนโยบายแบ่งปันประโยชน์แก่พนักงานเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Procter & Gamble, Hallmark Cards หรือ U.S. Steel นายโจเซฟ บลาซิ (Joseph Blasi) จากมหาวิทยาลัย Rutgers กล่าวว่า “ผู้บริหารบริษัทในช่วงกลางศตวรรษ 20 เห็นว่า ค่าแรงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ และพนักงานจึงมีสิทธิ์ในส่วนแบ่งที่เป็นดอกผลจากน้ำพักน้ำแรงของพวกเขา”

ที่มาภาพ: https://www.postcrescent.com/story/news/2018/10/15/fate-unknown-fox-river-mall-sears-appleton-grand-chute-buzz/1601121002/

เมื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่คือความงดงาม

นอกจากวัฒนธรรมทางธุรกิจจะเปลี่ยนไปแล้ว โดยให้ความสำคัญแก่ผู้ถือหุ้น สังคมในปัจจุบัน ยังมีท่าทีรังเกียจต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยไปยกย่องให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SME ทัศนะคนทั่วไปมักจะเห็นว่า ธุรกิจ SME สร้างคุณูปการแก่เศรษฐกิจมากกว่าธุรกิจยักษ์ใหญ่ เพราะเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ

ในหนังสือชื่อ Big Is Beautiful ของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง 2 คน ชื่อ Robert D. Atkinson และ Michael Lind กล่าวว่า การที่คนทั่วไปมีอคติต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ เพราะเรื่องอื้อฉาวทางธุรกิจล้วนมาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น การแต่งบัญชีของบริษัท Enron วิธีการครอบงำตลาดอนุพันธุ์ของ Goldman Sachs ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 หรือการโกหกเรื่องการปล่อยมลพิษของเครื่องยนต์ดีเซลของ Volkswagen

ประการต่อมา คนทั่วไปสามารถมองเห็นการดำเนินงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ได้มากกว่าบริษัท SME หากบริษัทยักษ์ใหญ่ปลดพนักงาน 3% เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวไปทั่วประเทศ ถ้าบริษัท SME เลิกธุรกิจ ก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ หรือหาก SME ทำธุรกิจแบบไม่มีธรรมาภิบาล ก็ไม่มีใครสังเกตเห็นหรือจดจำได้

แต่สิ่งที่ทำลายชื่อเสียงธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างมาก คือ ความคิดเรื่องคุณค่าของผู้ถือหุ้น ที่มีอิทธิพลอย่างแพร่หลายนับจากทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ทำให้ธุรกิจต้องไปเน้นเรื่องผลกำไรระยะสั้น เงินทุนของบริษัทถูกใช้ไปในทางที่ให้ผลตอบแทนเร็วที่สุด การให้ผลตอบแทนที่สูงมากแก่ฝ่ายบริหาร ก็สะท้อนทัศนะที่ว่า หน้าที่ของผู้บริหารคือการทำประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น

แต่หนังสือ Big Is Beautiful กล่าวว่า การมองธุรกิจ SME ว่าจิ๋วแต่แจ๋ว ส่วนธุรกิจยักษ์ใหญ่คือสิ่งเลวร้าย ควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่ใช่อคติ เพราะจากข้อเท็จจริง ธุรกิจยักษ์ใหญ่มีความล้ำเลิศกว่าธุรกิจขนาดกลางและเล็ก สิ่งที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะสัมพันธ์กับขนาดขององค์กรธุรกิจ คนงานที่ทำงานในบริษัทขนาดใหญ่จะได้รับค่าแรงสูงกว่า ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า ได้รับการฝึกฝนมากกว่า และสภาพแวดล้อมการทำงานก็สะอาดและปลอดภัยกว่า

ธนาคารโลกเองก็ได้ข้อสรุปจากการศึกษาเกี่ยวกับประเทศกำลังพัฒนาว่า ในประเทศกำลังพัฒนา ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมีอัตราการเติบโตสูงกว่าในเรื่องการจ้างงาน แต่งานในบริษัทขนาดใหญ่ จะยั่งยืนมากกว่า เป็นงานที่สร้างผลิตภาพมากกว่า พนักงานเองก็ได้รับค่าจ้างสูงกว่า มีการฝึกอบรมแก่พนักงานมากกว่า นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ ยังทำให้เกิดเครือข่ายการผลิตที่ทำให้เกิดการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานต่างๆ

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ให้ค่าจ้างสูงกว่าแก่พนักงาน เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่มีฐานะครอบงำตลาด ทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าได้สูง แล้วก็นำรายได้ส่วนหนึ่งไปเป็นค่าจ้างที่สูงขึ้น แต่ในความเป็นจริง บริษัทยักษ์ใหญ่สามารถให้ค่าจ้างสูงกว่า เพราะการผลิตมีผลิตภาพมากกว่า เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ลงทุนในเทคโนโลยีและสินค้าทุน เพื่อนำมาสร้างประสิทธิภาพการผลิต การใช้เทคโนโลยีจะสัมพันธ์กับขนาดของธุรกิจ ธนาคารขนาดใหญ่จึงเป็นสถาบันการเงินแรกๆ ที่มีเครื่อง ATM

ที่ภาพ : MIT Press

ดังนั้น ธุรกิจขนาดใหญ่จะดำเนินงานได้ดีกว่าธุรกิจ SME แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมองข้ามความสำคัญของธุรกิจ SME คนที่เป็นผู้ประกอบการ SME ทำธุรกิจด้วยความเสี่ยง ทำงานอย่างหนัก และให้การสนับสนุนแก่ท้องถิ่น เพราะเป็นธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน

แต่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจะมาจากธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าจากธุรกิจ SME ธนาคารโลกเองก็กล่าวว่า การที่ประเทศกำลังพัฒนาจะยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในประเทศให้สูงขึ้น จะต้องส่งเสริมให้ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น และส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพที่จะเติบโต

เอกสารประกอบ

Sears Went From Gilded-Age Boom to Digital-Age Bankruptcy, The New York Times, October 15, 2018.
When Sears Flourished, So Did Workers. At Amazon, It’s More Complicated, The New York Times, October 23, 2018.
Big Is beautiful, Robert D. Atkinson and Michael Lind, The MIT Press, 2018.