ThaiPublica > เกาะกระแส > Evergrande เจริญรุ่งเรืองและล้มพังอย่างรวดเร็ว สะท้อนสิ่งมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน

Evergrande เจริญรุ่งเรืองและล้มพังอย่างรวดเร็ว สะท้อนสิ่งมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน

27 กันยายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Evergrande_Group

Evergrande เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ตั้งขึ้นมาในปี 1996 โดย Xu Jiayin เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาเป็นตัวอย่างคนจีนที่สร้างตัวเองร่ำรวยขึ้นมาจากความมั่งคั่งของธุรกิจแบบใหม่

Evergrande ติดอยู่ในกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก เรียกว่า Fortune 500 ในแต่ละปี Evergrande จะสร้างห้องพักอพาร์ตเมนต์หลายล้านห้อง ขายให้แก่คนชั้นกลางของจีน และผู้ลงทุนรายย่อยที่ต้องการนำเงินออมมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีแนวโน้มจะรุ่งเรืองแบบไม่มีวันสิ้นสุด

Xu Jiayin ยังเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลนครกวางโจวที่ประสบความสำเร็จของจีน คือสโมสร Guangzhou Evergrande ในปี 2015 สโมสรแห่งนี้ชนะเลิศฟุตบอล Asian Champion League แต่ฟุตบอลทีมชาติจีนกลับไม่เข้ารอบฟุตบอลโลกปี 2018 ทำให้แฟนชาวจีนตั้งคำถามว่า ทำไมนักฟุตบอลทีมชาติจีนกลับเล่นไม่ดีได้เท่ากับทีม Guangzhou Evergrande

แต่ปัจจุบัน Xu Jiayin และอาณาจักรธุรกิจ Evergrande กำลังพังทลายลงไป เพราะหนี้สินกว่า 300 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจฟินแลนด์ทั้งประเทศ หลังจากอาศัยการกู้ยืมมาเป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจมานานหลายปี พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงทางการเงินของ Evergrande กลายเป็นสิ่งที่อันตรายเกินกว่าเจ้าหน้าที่จีนจะมองข้าม เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนสั่งให้บริษัทนี้ ยุติวิธีการใช้เงินกู้มาขยายอาณาจักร

จากยากไร้สู่มหาเศรษฐีที่รวดเร็ว

บทความของ theguardian.com ชื่อ The tarnishing of Evergrande’s ‘belt brother’ Xu Jiayin เขียนถึงประวัติการสร้างตัวทางธุรกิจเจ้าของ Evergrande ว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ในงานเปิดตัวธุรกิจรถยนต์ Xu Jiayin บอกถึงปรัชญาการทำงานของเขาว่ามีอยู่ 5 คำ คือ ซื้อธุรกิจอย่างรวดเร็ว ร่วมมืออย่างใกล้ชิด สร้างเครือข่ายกว้างขวาง ขยายขอบเขตใหญ่โต และคุณภาพดี
แต่แล้วภายใน 2 ปีต่อมา อาณาจักร Evergrande ของเขาก็ล้มพังลง มูลค่าหุ้นของ Evergrande ลดจาก 40 พันล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วมาเหลือ 4 พันล้านดอลลาร์ การปรับฐานราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงเกินจริงของจีนทำให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาฯ ต้องแบกรับหนี้สินมหาศาล เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Evergrande ก็ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเงินกู้ของเจ้าหนี้ต่างประเทศเป็นเงิน 84 ล้านดอลลาร์

Xu Jiayin ที่มาภาพ : https://global.chinadaily.com.cn/a/201903/14/WS5c89c058a3106c65c34ee99d.html

ประวัติทางธุรกิจของ Xu Jiayin ที่มีอายุ 62 ปี เป็นอีกเรื่องราวของตำนานการไต่เต้าของผู้ประกอบการจากความยากจนสู่ความมั่งคั่งที่รวดเร็วมาก ความสำเร็จของผู้ประกอบการลักษณะนี้ มักถือเป็น “สัญลักษณ์” อย่างหนึ่งของความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน ที่เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัจจัยที่ยิ่งไปช่วยกระตุ้นบรรดาธุรกิจต่างๆ ให้อาศัยการกู้เงินมาลงทุนอย่างไม่จำกัด ส่วนจุดจบของ Xu Jiayin ก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนทิศทางด้านนโยบายรัฐ จากเดิมที่ปล่อยให้คนส่วนหนึ่งมั่งคั่งขึ้นมาก่อน แล้วก็หันมาสู่เป้าหมายการสร้าง “ความมั่งคั่งร่วมกัน”

Xu Jiayin มาจากครอบครัวยากจน มณฑลเห่อหนาน หลังจากที่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดลงในปี 1977 เขาเข้าศึกษาที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าของอู่ฮั่น หลังจากจบการศึกษา ก็กลับไปทำงานโรงงานเหล็กกล้าที่เห่อหนาน แต่เขาก็เหมือนกับคนหนุ่มสาวของจีนหลายคน ที่ไม่ต้องการจมปลักกับชีวิตที่มีงานมั่นคง หรือการมีงานทำตลอดชีพ เรียกว่า iron rice bowl

ในปี 1992 เติ้ง เสี่ยวผิง เดินทางไปทัวร์ทางใต้ของจีน หลังจากนั้น Xu Jiayin ก็อาศัยเงินเก็บออมเพื่อเดินทางไปเสิ่นเจิ้น ในช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศ เสิ่นเจิ้นเป็นจุดที่สร้างมหาเศรษฐกิจของจีนขึ้นมาหลายคน ปี 1996 เขาตั้งบริษัท Evergrande ขึ้นที่นครกว่างโจว ภายในเวลา 25 ปี Evergrande กลายเป็นยักษ์ใหญ่ธุรกิจด้านอสังหาฯ ของจีน เมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงในปี 2009 สามารถระดมเงินทุนได้ 9 พันล้านดอลลาร์

The Financial Times ระบุว่า ทุกวันนี้ Evergrande มีโครงการที่กำลังก่อสร้างในจีน 776 โครงการ กระจายอยู่ใน 223 เมือง Dexter Roberts ผู้เชี่ยวชาญจีนของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า เป็นเวลานานที่โมเดลธุรกิจของ Evergrande อาศัยเงินกู้จำนวนมาก และการเอาจริงเอาจังในการขายที่พักอาศัย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สร้างเลย สิ่งนี้ก็เป็นหลักฐานที่เอาผิดได้แล้ว (smoking gun)

เก้าอี้หนี้สิน 3 ขาของจีน

หนังสือชื่อ China: The Bubble that Never Pops (2020) บอกว่า ปัญหาหนี้สินของเศรษฐกิจจีนมีลักษณะเป็นเก้าอี้ของหนี้สินที่มี 3 ขา ขาที่ 1 คือหนี้สินของรัฐวิสาหกิจจีน ขาที่ 2 คือหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และขาที่ 3 คือหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์

ที่มาภาพ : amazon.com

เศรษฐกิจฟองสบู่ทุกแห่งในโลกนี้มีลักษณะเหมือนกัน ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของจีนก็มีรากฐานมาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (fundamentals) ในอดีตจนจนถึงทศวรรษ 1990 ในจีนไม่มีตลาดอสังหาริมทรัพย์เอกชนเลย คนจีนทุกคนตั้งแต่ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์มาจนถึงคนกวาดถนน ล้วนอาศัยในบ้านพักของรัฐ

ในเวลา 25 ปีต่อมา เกิดตลาดที่พักอาศัยเอกชนขึ้นมา เพราะบ้านพักของรัฐอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ผู้คนหลายล้านคนอพยพจากชนบทเข้ามาในเมือง และรายได้ของคนในเมืองเพิ่มสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการที่พักอาศัยในเมืองมากยิ่งขึ้น หากการก่อสร้างอสังหาฯ ก้าวคู่ไปพร้อมกับจำนวนความต้องการ ก็จะไม่มีปัญหาความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะระเบิดขึ้นมา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า อุปสงค์ (demand) เพิ่มอย่างรวดเร็ว แต่อุปทาน (supply) กลับเพิ่มเร็วกว่า

หนังสือ China กล่าวว่า ช่วงปี 2010-2017 การก่อสร้างที่พักอาศัยแบบอพาร์ตเมนต์ในจีน มีปริมาณอยู่ที่ 10 ล้านยูนิตต่อปี แต่ความต้องการที่พักอาศัยอยู่ที่ 8 ล้านยูนิตต่อปี เมื่อรวบรวมตัวเลขสะสมของช่องว่างดังกล่าว ในปี 2016 จำนวนที่พักอาศัยในจีนที่ว่างอยู่มีถึง 12 ล้านยูนิต ปริมาณที่มากพอที่จะจัดสรรให้แก่คนแคนาดาทั้งประเทศ

ผลกระทบในวงกว้าง

หนังสือ China กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ จีนเกิดฟองสบู่มีอยู่ 2 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยที่หนึ่งคือ รัฐบาลจีนถือว่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคเศรษฐกิจที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตมั่นคง ช่วยให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยเฉพาะตั้งแต่ที่จีนมีตลาดอสังหาฯ ภาคเอกชนขึ้นมาในปลายทศวรรษ 1990 หรือช่วยประดับประคองเศรษฐกิจ ในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008

ปัจจัยประการที่ 2 คือคนจีนที่ทำธุรกิจครอบครัว นิยมนำเงินออมมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เกิดอุปสงค์ที่เก็งกำไร การสำรวจการลงทุนของครัวเรือนในจีน ปรากฏว่า 30% ของการซื้อที่พักอาศัยมาจากการเก็งกำไร นักลงทุนคนหนึ่งชื่อ Chen บอกกับ theguardian.com ว่า ในเดือนพฤษภาคม 2020 ตัวเขาเองลงทุน 300,000 หยวนในห้องพักอพาร์ตเมนต์ที่เมืองเซิ่นหยาง และคิดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะ Evergrande เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง

แต่เพียงแค่ 16 เดือนต่อมา หลังจากที่นักลงทุนจีนชื่อ Chen ซื้อห้องอพาร์ตเมนต์ Evergrande ก็กลายเป็นบริษัทอสังหาฯ ของจีนที่มีหนี้สินมากที่สุด โครงการก่อสร้างมากมายต้องหยุดชะงักลงไป นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า Evergrande มีห้องพักที่จะต้องส่งมอบแก่ลูกค้า 1.5 ล้านห้อง แต่ยังสร้างไม่เสร็จ

George Magnus จาก China Center ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดให้ความเห็นว่า ในที่สุด รัฐบาลจีนจะเข้ามาแทรกแซง เจ้าหน้าที่จีนต้องการให้ Evergrande เป็นบทเรียนตัวอย่างแก่บรรดาธนาคาร นักพัฒนาอสังหาฯ และนักลงทุนรายย่อย เวลาเดียวกัน ก็ไม่ต้องการให้เกิดสภาพผิดนัดชำระหนี้ ที่เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนรายย่อย และไม่ต้องการให้วิกฤติแพร่ระบาดจากอสังหาฯ ไปภาคเศรษฐกิจอื่น
ในที่สุด จีนคงจะสามารถจัดการปัญหา Evergrande แต่การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจนั้น มีลักษณะตามที่ Rudi Dornbusch นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า…

“วิกฤติใช้เวลามาถึงตัวเรานานกว่าที่เราคาดคิด และจากนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็รวดเร็วมากกว่าที่เราคาดคิดเช่นกัน”

เอกสารประกอบ
How fall of property giant Evergrande sent a shockwave through China, 25 Sep 2021, theguardian.com
China: The Bubble that Never Pops, Thomas Orlik, Oxford University6 Press 2020.